คนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่า Standard Drink หรือ ดื่มมาตรฐาน กันสักเท่าไหร่ แม้คนไทยจะมีสถิติป่วยและเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกปี ทั้งทางตรงและทางอ้อม

Standard Drink เป็นปริมาณในการดื่มแอลกอฮอล์ที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์คำนวณมาแล้วว่าคนส่วนใหญ่สามารถดื่มได้โดยส่งผลเสียน้อยที่สุด โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมีปริมาณ Standard Drink ต่างกัน Hack for Health จะพามาดูปริมาณ Standard Drink ของแต่ละเครื่องดื่มและคนแต่ละคนกัน

Standard Drink ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิด

การคำนวณ Standard Drink ของเครื่องดื่มเป็นการคำนวณโดยยึดปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ที่ 10 กรัม/ 1 ดื่ม

  • เบียร์ แอลกอฮอล์ 5 เปอร์เซ็นต์: 330 มิลลิลิตร เทียบเท่า 1 กระป๋อง
  • วิสกี้ / วอดก้า / จิน / รัม / เตกีลา / เหล้าขาว แอลกอฮอล์ 40–43 เปอร์เซ็นต์: 30 มิลลิลิตร หรือ 3 ฝา
  • ไวน์ แอลกอฮอล์ 11–13 เปอร์เซ็นต์: 100 มิลลิลิตร หรือ 1 แก้ว

สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ สามารถดูปริมาณเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์แล้วเทียบปริมาณกับเครื่องดื่มข้างบนนี้ได้

Standard Drink ที่เหมาะสมกับแต่ละคน

Standard Drink ถูกแยกออกตามเพศและน้ำหนักตัว ซึ่งนอกจากเรื่องของปริมาณเครื่องดื่มแล้วระยะเวลาก็มีส่วนด้วย

ผู้ชาย: ดื่มไม่เกิน 4 ดื่มมาตรฐาน/วัน โดยดื่มไม่เกิน 2 ดื่มในชั่วโมงแรก และ 1 ดื่มในชั่วโมงถัดไป และดื่มไม่เกิน 5 วัน/สัปดาห์

ผู้หญิง: 2 ดื่มมาตรฐาน/วัน โดยดื่มไม่เกิน 1 ดื่ม/ชั่วโมง และดื่มไม่เกิน 5 วัน/สัปดาห์

เหตุผลที่ต้องแบ่งตามเพศและระยะเวลาในการดื่มก็เพราะว่าผู้ชายและผู้หญิงมีน้ำหนักตัวและความสามารถในการจัดการแอลกอฮอล์ต่างกัน ส่วนระยะเวลาก็เพื่อช่วยให้ตับและร่างกายที่ทำหน้าที่ในการจัดการกับแอลกอฮอล์ไม่ทำงานหนักจนเกินไป

การดื่มตาม Standard Drink ไม่การันตีความปลอดภัย

แม้ Standard Drink จะเป็นการคำนวณมาแล้วว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยที่สุด แต่นั่นก็เป็นการคำนวณในภาพรวม ร่างกายของแต่ละคนมีความสามารถในการจัดการกับแอลกอฮอล์แตกต่างกัน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพของบางคนที่อาจทำให้ร่างกายได้รับความเสียหายจากแอลกอฮอล์มากกว่าคนอื่น

การดื่มตาม Standard Drink ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เมาเมื่อดื่มในปริมาณนี้ ดังนั้น หากเลือกที่จะดื่ม ไม่ควรขับรถโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม หากคุณชอบดื่ม การดื่มตาม Standard Drink น่าจะช่วยให้คุณผ่อนคลายและดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มที่คุณชอบได้อย่างปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับการดื่มแบบปกติ นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นยังบอกด้วยว่าการดื่มนในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพบางด้านได้ด้วย

ที่มา: กรมอนามัย, NIH

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส