หลายต่อหลายครั้งที่ร่างกายของเราเกิดความผิดปกติ ทั้งที่มั่นใจว่าดูแลสุขภาพอย่างดี ออกกำลังกายเป็นประจำ อาหารการกินก็ถูกหลักทุกอย่าง! แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารการกินนี่แหละที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ร่างกายของคุณเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ 

คุณเคยได้ยินอาการแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝงหรือไม่ ? อาการเหล่านี้ทำให้เกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย Hack for Health จะพาทุกคนไปรู้จักกับอาการแพ้อาหารทั้ง 2 ประเภทนี้ เพื่อให้คุณได้หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่เหมาะกับร่างกายของตนเอง

อาการแพ้อาหาร

การแพ้อาหาร คือการที่คุณมีปัญหาในการย่อยอาหารหรือส่วนผสมบางอย่างในอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยปกติอาการจะเกิดขึ้นภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร เช่น รู้สึกไม่สบาย ผื่นขึ้น ปากบวม ไปจนถึงหายใจติดขัด ช็อก บางรายอาจอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต 

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองแพ้อาหาร ?

หากคุณแพ้อาหาร คุณมักจะมีอาการภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารหรือส่วนผสมที่คุณแพ้เข้าไป โดยอาการทั่วไป ได้แก่

  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด
  • ปากบวม ตาบวม
  • ปวดท้อง

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เป็นไปได้อีกมากมาย เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย ท้องผูก หรือมีผื่นขึ้น โดยอาการอาจคงอยู่ไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจนานหลายวัน

ภูมิแพ้อาหารแฝง

ภูมิแพ้อาหารแฝง คือ การแพ้อาหารแบบเรื้อรัง แตกต่างจากการแพ้อาหาร ส่วนมากอาการที่แสดงออกจะไม่รุนแรง และอาจไม่เกิดขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่อาจเกิดขึ้นภายใน 4 ชั่วโมง หรือเกิดอาการในวันถัดมา อาการต่าง ๆ เช่น หายใจมีเสียงหวีด บวมที่ริมฝีปาก ใบหน้า และดวงตา

อาการภูมิแพ้อาหารแฝง

อาการของภูมิแพ้อาหารแฝง จะไม่เกิดขึ้นเฉียบพลันเหมือนอาการแพ้อาหาร แต่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นในบางรายอาจมีอาการในวัดถัดไป ซึ่งอาการภูมิแพ้อาหารแฝง มีดังนี้

  • ปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือปวดตามข้อ
  • มีสิวขึ้นตามใบหน้า และร่างกาย
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • ปวดศีรษะ หรือปวดไมเกรน
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ผายลมบ่อย

สาเหตุของภูมิแพ้อาหารแฝง

ภูมิแพ้อาหารแฝง เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน (Antibody) ชนิด IgG (Immunoglobulin G) ที่ร่างกายสร้างมาต่อต้านอาหารที่รับประทานเข้าไป ทำให้ร่างกายของคุณไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดหรือส่วนประกอบในอาหารได้ การแพ้อาหารแฝงที่พบบ่อยที่สุดคือการแพ้แลคโตส ร่างกายไม่สามารถย่อยแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบมากในนม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีสและโยเกิร์ต

นอกจากนี้ คุณยังสามารถแพ้อาหารหรือส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่

  • กลูเตน (ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์) พบในอาหารอย่างขนมปัง
  • ฮีสตามีน พบในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไวน์และชีส
  • คาเฟอีน พบได้ในกาแฟ ชา และเครื่องดื่มซ่าบางชนิด
  • แอลกอฮอล์
  • ซัลไฟต์ พบในเบียร์ และไวน์
  • ซาลิไซเลต พบได้ในผลไม้ ผัก สมุนไพร และเครื่องเทศบางชนิด
  • โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) พบในผลไม้สุก เนื้อหมัก และอาหารคาว

การทดสอบภูมิแพ้อาหารแฝง

  • ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์อาจให้คุณลองหยุดรับประทานอาหารที่คุณคิดว่าตนเองน่าจะแพ้ เพื่อดูว่าอาการของคุณดีขึ้นหรือไม่ หลังจากผ่านไป 2-3 สัปดาห์ จะให้คุณเริ่มกินอาหารอีกครั้งเพื่อดูว่าอาการแพ้ของคุณกลับมาอีกหรือไม่
  • การตรวจเลือดหาสารก่อภูมิแพ้

นอกจากนี้ คุณยังอาจต้องเก็บบันทึกรายการอาหาร และอาการแพ้เพื่อช่วยในการค้นหาว่าอะไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการของคุณ

อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการแพ้อาหาร หรือเป็นภูมิแพ้อาหารแฝง ให้พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการกินอาหารที่คุณแพ้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ เนื่องจาก หากคุณหยุดรับประทานอาหารบางประเภทไปอาจทำให้ไม่ได้รับวิตามิน และแร่ธาตุบางชนิด ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกาย

ที่มา clevelandclinic , mayoclinic , phyathai