ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพบเจอผู้คนหรือการมองหาเพื่อนหรือแฟนสักคน เรามักจะมองที่รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างแรก จนลืมในเรื่องนิสัยใจคอ หรือทัศนคติของบุคคลนั้น ๆ ไปโดยปริยาย เพราะเมื่อไหร่ที่เราเจออะไรที่ดูดี หน้าตาดี หรือมีผิวพรรณที่ดี เรามักจะใช้เหตุผลในการตัดสินใจน้อยลง และคิดว่าคนนั้นจะต้องเป็นคนดีโดยไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ซึ่งตามหลักจิตวิทยาจะเรียกว่า “Halo Effect” 

รู้จักกับ Halo Effect คืออะไร

สำหรับคนว่า Halo Effect จะหมายถึง แสงสว่างที่เป็นวงกลมอยู่เหนือศีรษะของนักบุญในคริสต์ศาสนา หรือบางคนอาจจะคุ้นเคยกับวงกลมเหนือหัวเทวดาในการ์ตูนหลาย ๆ เรื่อง ที่จะเป็นตัวสื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นคนดี หรือความน่าชื่นชม เป็นต้น โดยคำนี้ได้ถูกนำมาใช้โดย เอ็ดเวิร์ด ธอนไดค์ (Edward Thorndike) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เขาเป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นมาด้วยการทดสอบโดยใช้นายทหาร 2 คน ประเมินทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งในด้านกายภาพ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นระเบียบ เสียง รูปร่าง หน้าตา และความแข็งขัน รวมทั้งด้านความฉลาด ทักษะความเป็นผู้นำ และคุณลักษณะส่วนตัว

และผลที่ออกมามีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะเขาได้พบว่าลักษณะข้างต้นมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจสูงเป็นอย่างมาก เพราะคนที่ดูดีมักจะทำให้คนเชื่อว่าบุคคลนี้ดี และนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ชี้ว่า บุคลิกภาพภายนอกมีผลต่อการตัดสินใจสูงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ Halo Effect มีผลต่อการตัดสินจากความเชื่อว่าดี เพียงเพราะหน้าตาดี โดยไม่ดูเหตุผลด้านอื่น ๆ

รู้หรือไม่ Halo Effect เกิดขึ้นได้อย่างไร

โดยปกติแล้วสมองของเรามีเรื่องที่จำเป็นต้องตัดสินใจจำนวนมาก ดังนั้นสมองจึงหาวิธีลัดในการตัดสินใจ ด้วยการอิงจากประสบการณ์ หรือความรู้สึกชอบและไม่ชอบของตัวเราเอง เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ในการตัดสินใจจากประสบการณ์หรือความรู้สึกนั้น จะมีความรู้สึกอคติ ลำเอียง และรีบด่วนสรุปโดยไม่สนใจตรรกะหรือเหตุผลในด้านอื่น ๆ ที่ถูกต้อง เราจะรู้จักกันดีในชื่อที่ว่า stereotype halo effect ซึ่งจะเป็น stereotype รูปแบบหนึ่ง ที่จะมีผลต่อสิ่งที่เรารู้สึกชอบหรือรู้สึกดีด้วย จนทำให้การตัดสินใจของเราเอนเอียง และประเมินสิ่งเหล่านั้นดีกว่าความเป็นจริง ลืมมองข้ามเหตุผลหรือไม่พิจารณาข้อเสีย

ซึ่ง halo effect ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน จะเป็นเรื่องของการให้คุณค่าของคนมักถูกตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอก หรือคนเรามักจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินคนในสังคม ด้วยการใช้มาตรฐานในด้านความงามของคน ที่ในสังคมตัดสินขึ้นมาเองว่าแบบนี้สวย แบบนี้หล่อ แบบนี้ขี้เหร่ หรือแบบนี้ไม่น่าเกลียด จนทำให้หลาย ๆ คนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานความงามในปัจจุบัน

Halo Effect ที่สามารถพบได้บ่อยในปัจจุบัน

ต้องยอมรับเลยว่า Halo Effect ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันนั้น โดยส่วนใหญ่จะตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งในเรื่องของหน้า รูปลักษณ์ ผิวพรรณ รวมถึงการแต่งกายด้วยเช่นกัน อย่างเช่น คนที่หน้าตาดี บุคลิกภาพดีน่าจะเป็นคนฉลาดหรือทำงานเก่ง คนที่ใส่แว่น แต่งตัวเรียบร้อยหรือแต่งตัวดูมีภูมิฐาน จะดูเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ส่วนคนที่เป็นเพศทางเลือกจะดูเป็นคนที่มีปัญหาในด้านอารมณ์ เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ประทับใจในบุคลิกภาพพิเศษบางประการที่ตัวเองชื่นชอบ อย่างเช่น มนุษยสัมพันธ์ดี เรียนจบจากสถาบันเดียวกัน มีนิสัยหรือคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับตัวเอง เรามักจะประเมินว่าบุคคลนั้นมีความฉลาด และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี

จนทำให้เราลืมดูเหตุผลอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของลักษณะนิสัยที่แท้จริง การเข้าสังคมได้ดีหรือไม่สามารถเข้าสังคมได้ หรือข้อเสียในด้านอื่น ๆ เพราะเราได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวพิจารณาจากหน้าตา หรือรูปลักษณ์ภายนอกไปแล้ว ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมปัจจุบัน และทุกคนต่างมีนิยามคำว่าหน้าตาดีในแบบฉบับของตัวเอง จนลืมไปว่ามาตรฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตัวเองกำหนดขึ้นมาทั้งสิ้น จนอาจจะทำให้มาตรฐานของเราทำร้ายคนอื่นได้โดยไม่รู้ตัว

Halo Effect ก่อให้เกิดความลำเอียง

คนที่เกิดมาแล้วหน้าตาดี รูปลักษณ์ดี หรือผิวพรรณดี จะถือเป็นคนที่โชคดีมาตั้งแต่เกิด เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเลือกช่วยเหลือคนที่หน้าตาดีก่อนเสมอ หรือในด้านการทำงานคนที่หน้าตาดี หน้าตาตรงมาตรฐาน มักจะเป็นคนที่ถูกเลือกร่วมงานด้วย ซึ่งคะแนนความลำเอียงที่เราต่างให้กันในแต่ละบุคคล มักจะเป็นแค่การเลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่สิ่งน่ากลัวกว่านั้น คือ ต่อให้เราเลือกคนที่หน้าตาดี หรือหน้าตาฉลาดเข้ามาทำงานด้วย แต่เขาอาจจะไม่ได้ทำงานได้ดีอย่างที่เราต้องการ แต่เราก็มักจะสรรหาข้ออ้างอื่น ๆ เพื่อให้โอกาส เพราะเชื่อว่าเขาจะต้องเป็นคนฉลาดเท่านั้น

ในสังคมไทยปัจจุบันต่างแฝงไปด้วยการตั้งมาตรฐานอย่างมากมาย รวมทั้งการดูถูกเหยียดหยามกันเพราะหน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้ จนทำให้เราลืมนึกถึงเหตุผลด้านอื่น ๆ ทั้งลักษณะนิสัย หรือข้อเสียของบุคคลเหล่านั้น และหากเรายังปล่อยให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยความงาม หรือรูปลักษณ์ภายนอกอยู่เรื่อย ๆ เราจะตกหลุมพรางความคิดที่บิดเบี้ยว จะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด และทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัวได้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส