สมาร์ตวอตช์เป็นแกดเจ็ตที่คนยุคใหม่และให้ความสนใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยแจ้งเตือนให้คุณไม่พลาดข้อความหรือข่าวสารแล้ว สมาร์ตวอตช์ยังถูกวางให้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคุณได้ด้วย เช่น การติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ หรือแม้แต่ระดับความเครียด 

สถาบันวิจัยภาวะสมองเสื่อมแห่งราชสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) ได้เก็บข้อมูลความเร็วในการเคลื่อนไหวจากผู้ใช้สมาร์ตวอตช์ 103,712 คนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในช่วง 2556–2559 แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วย AI

ซึ่งทีมวิจัยพบว่าข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วอาจช่วยในการทำนายการเกิดโรคพาร์กินสันได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะใช้ข้อมูลจากสมาร์ตวอตช์มาใช้ในการตรวจคัดกรองโรคนี้ได้

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคสมองที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมร่างกายได้หรือร่างกายเคลื่อนไหวไปเอง ทำให้เกิดอาการมือสั่น ตัวสั่น กล้ามเนื้อแข็ง เกิดปัญหาในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว

ในการเกิดโรคพาร์กินสัน เซลล์สมองของผู้ป่วยจะถูกทำลายและเสียหายต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี ในระหว่างนั้นอาจยังไม่เกิดอาการ ทำให้กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวและตรวจพบโรค เซลล์สมองส่วนใหญ่ก็ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ และเกิดอาการของโรคพาร์กินสันขึ้นแล้ว

ดร.ซินเธีย แซนเดอร์ (Dr.Cynthia Sandor) บอกว่าสมาร์ตวอตช์ที่ผู้คนสวมใส่อาจเป็นตัวช่วยในการตรวจจับสัญญาณของโรคพาร์กินสันระยะแรกที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ โดยดร.ซินเธียยังบอกอีกด้วยว่าเพียงการวิเคราะห์ข้อมูลความเร็วในการเคลื่อนไหวที่ถูกเก็บจากสมาร์ตวอตช์ใน 1 สัปดาห์สามารถทำนายการเกิดอาการโรคพาร์กินสันได้ล่วงหน้าถึง 7 ปี

โดยการเคลื่อนไหวที่ผลมาจากโรคพาร์กินสันบางส่วนมาจากอาการสั่นและการเคลื่อนไหวแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งจะต่างจากอาการในลักษณะเดียวกันที่เกิดในโรคที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุโรคอื่น อย่างโรคข้อเสื่อม ภาวะเปราะบาง (Frailty) รวมถึงโรคที่เกิดจากการเสื่อมของระบบประสาทและโรคทางการเคลื่อนไหวชนิดอื่น

ข้อมูลการเคลื่อนไหวจากสมาร์ตวอตช์และ AI อาจช่วยให้คนที่มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการของโรคพาร์กินสันสามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาได้ทันเวลา ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและความรุนแรงของโรคพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ยังคงให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องตรวจสอบความแม่นยำของขั้นตอนนี้ต่อไป

ที่มา: BBC, NIH

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส