ความฝันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในสมองระหว่างเราหลับ ความฝันสามารถแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ โดยฝันทำนายอนาคตที่จะพูดถึงในบทความนี้ คือ Vivid Dream หรือฝันที่ชัดเจน ซึ่งอาจบอกได้ถึงความเสี่ยงของโรค และภาวะสุขภาพ

ความฝัน และการทำนายอนาคตเป็นความเชื่อที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งบางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าความฝันบางรูปแบบทำนายอนาคตของคุณได้ การทำนายอนาคตที่ว่า คือ การทำนายโรคหรือปัญหาสุขภาพ

Doctor Sleep (2019)

Vivid Dream คืออะไร?

Vivid Dream ไม่มีคำแปลในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ถูกเรียกในหลายชื่อด้วยกัน อย่างฝันแจ่มชัด ฝันเด่น หรือ ฝันติดตา รูปแบบของ Vivid Dream คือลักษณะการฝันที่สมองรับรู้ถึงเหตุการณ์ในฝันได้ชัดเจน และคุณยังสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำเมื่อตื่นขึ้น แต่ขณะฝันเราจะไม่ตระหนักรู้ว่าเรากำลังฝันอยู่

Vivid Dream สามารถเกิดในลักษณะของสถานการณ์ในชีวิตจริง หรือแฟนตาซีก็ได้ สามารถเป็นได้ทั้งฝันดี และฝันร้าย ลองถึงความฝันที่ดีมาก ๆ จนคุณอยากนอนเพื่อฝันถึงเรื่องนั้นต่อ

Vivid Dream กับการทำนายสุขภาพ

Vivid Dream และความฝันส่วนใหญ่เป็นปรากฏการณ์ในสมองที่เกิดขึ้นในระหว่างที่คุณอยู่ในช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM Sleep) เมื่อร่างกาย หรือสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์ความฝันในสมองได้

โดยข้อมูลทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์พบว่า Vivid Dream อาจเป็นร่องรอยของช่องโหว่ด้านสุขภาพที่คุณกำลังเผชิญอยู่ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ มาดูกันว่า Vivid Dream สามารถทำนายสุขภาพของคุณได้แม่นยำแค่ไหน?

คุณกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของชีวิตสามารถสร้างความเครียด และวิตกกังวลให้กับสมอง และร่างกายของคุณได้แบบไม่รู้ตัว เช่น กำลังจะแต่งงาน ย้ายบ้านใหม่ ย้ายงานใหม่ กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย หรือเกิดเหตุการณ์ที่คุณต้องใช้ความคิดกับมันอย่างมากอาจทำให้ช่วงนั้นคุณเกิด Vivid Dream ได้

คุณอยู่ในภาวะอดนอน และโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ

คนที่อยู่ในภาวะอดนอนอาจนอนหลับลึกมาก ๆ ชนิดที่ว่าปลุกเท่าไหร่ก็ไม่ตื่น แต่ในบางคนความเหนื่อยล้าจากการอดนอนสะสมสามารถส่งผลต่อการทำงานของสมอง และระบบประสาทจนทำให้เกิด Vivid Dream ได้ เพราะศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่มีภาวะอดนอนอาจมีระยะหลับฝันยาวนานกว่าปกติ และเพิ่มโอกาสที่จะฝันระหว่างคืนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ คนที่มีโรคเกี่ยวกับการนอนหลับก็มักมีโอกาสที่เกิด Vivid Dream ระหว่างหลับได้มากขึ้น เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy) และโรคนอนไม่หลับ

คุณอยู่ในภาวะวิตกกังวล

ความเครียด และความวิตกกังวลเป็นสาเหตุของปัญหา และปรากฏการณ์ของร่างกายหลายอย่าง รวมถึงความฝันด้วย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าคนที่ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลในช่วงกลางวัน อย่างเกิดความเครียด วิตกกังวล และกระวนกระวายเสี่ยงที่จะเกิด Vivid Dream ในระหว่างการนอนหลับได้

คุณกำลังตั้งครรภ์

ในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายอย่างภายในร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอีกหนึ่งชีวิตที่จะเติบโตในร่างกาย ซึ่งระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง และเพิ่มโอกาสในการฝันได้ด้วย นอกจากนี้ ช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจรู้สึก กังวล หรือนอนหลับได้ไม่ดี เลยอาจเกิด Vivid Dream ได้มากขึ้น

คุณกำลังเป็นโรคสมอง

ผู้ป่วยโรคสมอง อย่างโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรคอัลไซเมอร์ (Alzeimer’s disease) มีความเสี่ยงที่จะเกิด Vivid Dream ได้มากกว่าคนทั่วไป ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของสมอง ระบบประสาท และการหลั่งฮอร์โมนโดปาร์มีน (Dopamine) ที่เพี้ยนไปจากเดิม อย่างผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน การฝันขณะนอนหลับถือเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย โดยยาที่ใช้รักษาโรคเหล่านี้ส่งผลต่อระดับโดปามีนในสมอง และเกิดความฝันรูปแบบดังกล่าวได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คุณเกิด Vivid Dream ได้มากขึ้น เช่น

  • เจ็ตแล็ก
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่
  • การใช้สารเสพติด
  • โรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการนอน
  • การใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยารักษาโรคความดันสูง ยาต้านเศร้า และยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ที่ใช้รักษาโรคเรื้อรังหลายโรค

Vivid Dream อาจส่งผลเสียได้

ในแต่ละค่ำคืน มนุษย์เราใช้เวลาไปกับความฝันที่เกิดขึ้นภายในสมองเฉลี่ย 2 ชั่วโมง/คืน แต่เราไม่สามารถจำได้ ซึ่งความฝันเป็นปรากฏการณ์ทางร่างกายที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และมักไม่ส่งผลเสีย ส่วน Vivid Dream เป็นความฝันที่คุณสามารถจำได้ โดยหากเป็นฝันดีคงช่วยให้คุณรู้สึกดีเมื่อได้ฝันถึง 

แต่หากเป็นฝันร้ายที่ต่อเนื่องกัน หรือเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทำให้คุณตื่นกลางดึก สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และคุณภาพการนอนหลับได้ หากคุณกำลังเผชิญกับความฝัน ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตามติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้สึกเหนื่อยล้าหลังตื่นนอน หรือรู้สึกหลับไม่สนิท นั่นอาจเป็นร่องรอยของปัญหาบางอย่างได้ แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์

รับมือกับ Vivid Dream

แม้ว่าจะฝันดี แต่เชื่อว่าบางคนอยากนอนหลับโดยไม่ต้องฝัน และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากฝันร้ายในช่วงนอนหลับที่แสนจะมีค่า ซึ่งบางวิธีอาจช่วยลดโอกาสที่เกิด Vivid Dream เป็นความฝันที่ติดตาตามคุณมาในยามตื่นได้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นประจำ
  • หาวิธีจัดการกับความเครียด เช่น ปรับมายด์เซต หรือทำกิจกรรมผ่อนคลาย
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
  • เข้ารับการรักษาโรคจากแพทย์อย่างเหมาะสม
  • ปรึกษาแพทย์ หากเกิดปัญหาด้านการนอนหลับ และการฝันหลังจากเริ่มใช้ยา

ที่มา: 1, 2, 3, 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส