การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพเป็นการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันหลายคนอาจประสบปัญหาด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนน้อย และนอนไม่พอ แต่ก็มีบางคนที่นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่เวลาที่ตื่นขึ้น กลับรู้สึกไม่สดชื่น ง่วง มึนหัว ปวดหัว หรือไม่มีสมาธิ หากคุณกำลังเจอกับอาการเหล่านี้อยู่ เนื้อหาในบทความนี้อาจช่วยได้

6 สาเหตุที่ทำให้คุณไม่สดชื่นหลังตื่นนอน

อาการไม่สดชื่นหลังตื่นนอนอาจได้เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่ Hack for Health เตรียมมา เรียกได้ว่าพบได้บ่อยสุด ๆ

1. คุณเป็นคนเฉื่อย ๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเป็นนิสัย

ลองสังเกตดูว่าภายใน 1 วัน คุณเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหน หรือคุณมีพฤติกรรมตามนี้รึเปล่า

  • นั่งทำงานหรือเล่นเกมอยู่ที่โต๊ะนานหลายชั่วโมง ไม่ลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือยืดเส้นยืดสาย
  • นอนดูซีรีส์อยู่บนเตียงหรือนั่งเล่นเกมอยู่บนโซฟาตัวโปรดทีละครึ่งค่อนวัน

หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้แสดงว่ากำลังอยู่ใน ภาวะเนือยนิ่ง หรือ Sedentary lifestyle ซึ่งภาวะนี้ใช้อธิบายพฤติกรรมที่ใครคนใดคนหนึ่งอยู่กับที่และไม่ค่อยเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ภาวะนี้ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานน้อย และการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองก็น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า และไม่มีเรี่ยวแรง ในระยะยาวยังทำให้คุณอ้วนง่ายและเสี่ยงโรคเรื้อรังได้มากขึ้นด้วย

ภาวะนี้ไม่ได้เกิดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากคุณได้ก้าวเข้ามาอยู่ในภาวะนี้ระบบเผาผลาญ อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับความดันโลหิตจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงมีละเล็กน้อย คุณเผชิญกับความรู้สึกไม่สดชื่นได้ตลอดทั้งวันเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่ตอนตื่นนอน

2. ความเหนื่อยล้าสะสม

การนอนหลับเป็นรีเซตร่างกายจากความเหนื่อยล้าที่คุณได้รับมาทั้งวัน แต่บางครั้งความเหนื่อยล้าที่สะสมอาจไม่สามารถหายวับไปได้ภายในไม่กี่คืน อย่างคนที่ทำงานหนัก ใช้สมองทั้งวัน ใช้แรงทั้งวัน หรือคนที่เจ็บป่วย อย่างเป็นหวัด เป็นออฟฟิศซินโดรม มีอาการปวดเรื้อรัง หรือแม้แต่โรคเรื้อรัง สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าสะสมได้

วิธีจัดการเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองเพื่อหาต้นตอของความเหนื่อยล้า หากมาจากงานคุณอาจต้องหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้นหรือให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance หรือถ้ามาจากการเจ็บป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะการนอนที่ไม่มีคุณภาพส่งผลให้สุขภาพของคุณแย่ลงไปอีก นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วนอาจช่วยให้ร่างกายคุณฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าได้ดีขึ้น

3. ความเครียดและโรคซึมเศร้า

อารมณ์ด้านลบเป็นตัวการสำคัญที่ลดคุณภาพการนอนจนทำให้คุณรู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอนได้ โดยอารมณ์หรือความคิดที่กวนใจคุณสามารถทำให้คุณนอนไม่หลับ นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ฝันร้าย สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือแม้แต่ทำให้ร่างกายของคุณกระตุกในช่วงกลางดึกโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ร่างกายและสมองไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ จึงไม่แปลกเลยที่ถ้าช่วงไหนคุณเครียดหรือคิดมากกับอะไรบางอย่าง แล้วจะรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอน

สำหรับความเครียด คิดมาก ความกังวล หรือความเศร้าที่ไม่ได้เกิดจากโรค Hack for Health แนะนำว่าให้ลองหากิจกรรมเบา ๆ ทำก่อนนอนเพื่อให้สมองผ่อนคลาย เช่น ฟังพอดแคสต์ที่มีเนื้อหาผ่อนคลาย ฟังได้เพลิน ๆ เปิดเพลงคลอระหว่างนอนหลับ อ่านหนังสือ หรือเปลี่ยนกลิ่นภายในห้องด้วยเทียนหอมหรือสเปรย์ปรับอากาศเพื่อให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้น

ส่วนคนที่เกิดภาวะทางอารมณ์จากโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะโรคทางอารมณ์ส่วนใหญ่มักใช้เวลาในการรักษานาน แต่การเข้าไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้การรักษาง่ายขึ้น

4. การนอนของคุณถูกรบกวนโดยสภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมในการนั้นส่งผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพการนอน สภาพแวดล้อมในห้องนอนหรือระหว่างที่คุณนอนหลับที่ไม่ดีส่งผลต่อการนอนหลับได้ตั้งแต่การผล็อยหลับไปจนถึงระหว่างนอนหลับที่คุณไม่รู้ตัวด้วย หากคุณตื่นมาแล้วไม่สดชื่นอยู่บ่อย ๆ ลองมองไปรอบ ๆ ห้องนอนของคุณในช่วงก่อนนอนดูว่ามีสภาพแวดล้อมต่อไปนี้รึเปล่า

  • เสียงรบกวน ไม่ว่าจะเสียงรถบนถนน เสียงเปิดทีวีของห้องข้าง ๆ เสียงกรนหรือเสียงกัดฟันของคนร่วมห้อง รวมถึงเสียงเพลงหรือพอดแคสต์ที่ดังเกินไป ซึ่งถูกเปิดไว้ระหว่างนอนหลับ
  • แสง ห้องของคุณมืดหรือสลัวเพียงพอต่อการนอนหลับรึเปล่า ม่านที่ใช้อยู่สามารถกันแสงจากภายนอกได้เพียงพอไหม
  • อุณหภูมิ อากาศภายในห้องที่เย็นเกินไป ร้อนเกินไป หรือชื้นเกินไปสามารถทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว นอนหลับได้ยาก หรือต้องควานหาผ้าห่มกลางดึกเพราะหนาวเกินไป หรือต้องดึงผ้าห่มออก เพราะร้อนรึเปล่า
  • ความสะอาด คุณซักปลอกหมอน ผ้าห่ม และผ้าปูครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เครื่องนอนเป็นของใช้ที่มีฝุ่นและเชื้อโรคสะสมได้ง่าย ซึ่งฝุ่นและเชื้อโรคอาจกระตุ้นให้คุณเกิดอาการภูมิแพ้ คันตามใบหน้าหรือผิวหนัง ทำให้ไม่สบายตัวได้

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเหล่านี้สำคัญกับการนอนกว่าที่คุณคิด แม้คุณจะหลับใหลอยู่ในห้วงนิทรา แต่ร่างกายของคุณยังคงกระสับกระส่ายไปมาเพื่อหาตำแหน่งและสภาพแวดล้อมในการนอนที่สบายที่สุดอยู่เสมอ

5. คุณกำลังเผชิญอยู่กับโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ

นอกจากปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์และสภาพแวดล้อมแล้ว ความรู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอนของบางคนอาจมาจากโรคการนอนหลับต่อไปนี้

  • โรคนอนไม่หลับหรืออาการนอนหลับที่ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
  • โรคลมหลับ (Nacolepsy) หรือโรคที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนตลอดทั้งวัน
  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome) และโรคขากระตุกขณะนอนหลับ (PLMD) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ส่งผลให้ขาคุณกระตุกหรือเคลื่อนไหวในระหว่างหลับจนส่งผลต่อการนอน
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการที่หลอดลมถูกปิดไปชั่วขณะระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อย ภาวะนี้ควรได้รับการรักษา เพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังในอนาคตได้

6. คุณไม่ค่อยดื่มน้ำ

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจสงสัยว่าที่อ่านมาทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจริงรึเปล่า การไม่ดื่มน้ำไปเกี่ยวอะไรกับการนอน Hack for Health ขอเริ่มจากข้อมูลที่คุณน่าจะรู้อยู่แล้วว่าร่างกายมนุษย์มีน้ำหรือของเหลวประกอบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งของเหลวในร่างกายจะถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างเหมาะสมเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

หนึ่งในนั้น คือ เลือด เลือดเป็นของเหลวที่คอยนำเอาสารอาหารและ ‘ออกซิเจน’ ไปหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย ดังนั้น หากคุณดื่มน้ำน้อย เลือดเกิดความข้นหนืด และไหลเวียนได้ยาก เซลล์สมองก็ได้รับออกซิเจนและสารอาหารจำเป็นน้อยกว่าที่ควรเป็น ซึ่งการที่สมองได้รับออกซิเจนน้อยจะส่งผลให้คุณรู้สึกมึน ๆ เบลอ ๆ และไม่สดชื่น

การดื่มน้ำน้อยเกินไปจึงทำให้คุณรู้สึกไม่สดชื่นหลังจากตื่นนอนได้ แน่นอนว่าวิธีที่จะแก้ไขปัญหานี้ คือ การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณเฉลี่ยของน้ำที่คนวัยผู้ใหญ่ควรได้รับอยู่ที่ 2–3 ลิตร/วัน

และนี่คือ 6 สาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลีย และไม่ค่อยโฟกัสหลังตื่น นอกจากสาเหตุที่ Hack for Health ได้เอามาเล่าแล้ว อาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดปัญหานี้ได้เหมือนกัน หากคุณลองเช็กตัวเองแล้วไม่ตรงกับสาเหตุที่ได้บอกไป แนะนำว่าไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงจะดีที่สุด

ที่มา: CNN, Sleep Foundation, CDC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส