ทำไมถึงห้ามใจไม่ค่อยได้จริงจริ๊ง! ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากทำ คุณเคยรู้สึกเช่นนี้หรือไม่? วันนี้เราจะมาพูดถึงหลักจิตวิทยาว่าทำไมเมื่อคนเราถูกห้ามมักจะยิ่งอยากทำ ยกตัวอย่างเช่น เช่น บางครอบครัวห้ามลูกเที่ยวกลางคืน แต่ลูกก็ยิ่งหนีเที่ยว หรือคุณเจอป้ายที่เขียนในสถานที่ท่องเที่ยวหรือพิพิธภัณฑ์ ที่เขียนว่า “Don’t touch” ยิ่งทำให้อยากสัมผัสเข้าไปอีก หรือเจอป้ายที่เขียนว่า “อย่าเดินลัดสนาม” เท้าเจ้ากรรมยิ่งอยากเดินไปสัมผัสต้นไม้ใบหญ้าแบบเต็ม ๆ เสียเหลือเกิน วันนี้เรามีคำตอบของเรื่องนี้มาฝากกัน 

ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Reactance” 

ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า รีแอกแตนซ์ (Reactance) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรู้สึกว่าเสรีภาพหรือความเป็นอิสระของตนกำลังถูกคุกคามหรือถูกจำกัด ซึ่งอาจนำไปสู่ความปรารถนาที่ทำพฤติกรรมต้องห้ามมากขึ้น 

เมื่อมีคำสั่งต้องห้าม สิ่งนี้มักจะกระตุ้นปฏิกิริยาทางจิตวิทยาที่ทำให้บุคคลต้องการยืนยันเสรีภาพของตนเอง และทำสิ่งต้องห้าม ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นจากความต้องการโดยธรรมชาติของเรา เพราะมนุษย์ต้องการความเป็นอิสระและต้องการควบคุมชีวิตของเราเอง และเมื่อเรารับรู้ว่าเสรีภาพของเราถูกจำกัด ทำให้มักเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากต่อต้านข้อจำกัดนั้น

ยิ่งห้ามยิ่งเร้าใจ อยากท้าทายสุด ๆ 

ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์แห่งหนึ่งมีการประกาศเตือน ด้วยป้าย POP UP ห้ามผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกดคลิกเข้าไปใช้งานเว็บเด็ดขาด! และจากการประกาศเตือนเช่นนี้ บางคนก็อาจรู้สึกอยากไปดูมากขึ้น เนื่องจากความอยากรู้อยากเห็นหรือความปรารถนาที่จะท้าทายอำนาจในการสั่งห้าม ในทำนองเดียวกัน เมื่อพ่อแม่สั่งห้ามไม่ให้ลูก ๆ ออกไปเที่ยวกลางคืน ก็อาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกถูกจำกัด และเด็กบางคนอาจลงมือฝ่าฝืนกฎของพ่อแม่เพื่อยืนยันความเป็นอิสระของตนเอง 

ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีปรากฏการณ์ รีแอกแตนซ์ (Reactance)

สิ่งสำคัญคือไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบกับภาวะนี้ในลักษณะเดียวกัน หรือมีความรู้สึกอยากฝ่าฝืนคำสั่งในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะบุคลิกภาพส่วนบุคคล เช่น ความชอบในการปกครองตนเอง การต่อต้านผู้มีอำนาจ หรือแนวโน้มการแสวงหาความรู้สึกอิสระ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อความรุนแรงของปฏิกิริยาโต้ตอบที่บุคคลต่าง ๆ ประสบพบเจอ 

การศึกษาและความเป็นมาของ ปรากฏการณ์ รีแอกแตนซ์ (Reactance)

Jack Brehm, Ph.D. เป็นผู้เผยแพร่ทฤษฎีปฏิกิริยาทางจิตวิทยาในปี 1966 โดยทฤษฎีนี้เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่มักสังเกตเห็นว่าผู้คนต่อต้านอิทธิพลทางสังคมมากแค่ไหน (Brehm, 1966; Miron & Brehm, 2006) เป็นการศึกษาปฏิกิริยาทางจิตวิทยาพยายามที่จะตอบคำถามว่า ทำไมบางคนถึงต่อต้านคำแนะนำ แนวทาง หรือกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้  

ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บุคคลเชื่อว่าเสรีภาพในการรู้สึก คิด หรือประพฤติบางอย่างของตนเอง กำลังถูกคุกคามหรือถูกกำจัด สิ่งนี้สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรงได้ และการกระตุ้นด้วยการตอบสนองทางอารมณ์นี้ บุคคลอาจมีแรงจูงใจที่จะสร้างอิสรภาพที่ถูกคุกคามขึ้นมาใหม่ (Steindl et al., 2015) และยิ่งหากบุคคลเชื่อว่าเสรีภาพที่สำคัญของตนเองกำลังถูกคุกคาม ก็จะยิ่งมีแนวโน้มที่จะต่อต้านเป็นพิเศษ (Brehm & Brehm, 2013) และยิ่งรู้สึกว่าเสรีภาพหลายด้านกำลังถูกคุกคาม ก็จะยิ่งมีการต่อต้านมากกว่า หากถูกคุกคามเสรีภาพเพียงด้านเดียว หรือถูกกำจัดเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 

สาเหตุและกระบวนการของปฏิกิริยาทางจิต รีแอกแตนซ์ (Reactance)4

มี 4 องค์ประกอบที่สำคัญในทฤษฎี รีแอกแตนซ์ (Reactance) ได้แก่ เสรีภาพที่รับรู้, การคุกคามต่อเสรีภาพ, รีแอกแตนซ์ และการฟื้นฟูเสรีภาพ 

  1. เสรีภาพในการรับรู้: ปฏิกิริยาทางจิตรีแอคแตนซ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลเชื่อว่าตนมีอำนาจในการควบคุมตัวเอง หรือเชื่อมั่นในเรื่องของอิสระในการใช้ชีวิต 
  2. ภัยคุกคามต่อเสรีภาพ: เมื่อใดที่มีการคุกคามต่อเสรีภาพ เมื่อนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ โดยความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถมีส่วนร่วมในพฤติกรรมบางอย่างได้ นอกจากนี้ภัยคุกคามต่อเสรีภาพก็อาจเกิดขึ้นได้หาก รู้สึกว่ามีคนพยายามชักจูงให้คุณมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่คุณไม่ต้องการทำ
  3. รีแอกแตนซ์: ภาวะนี้คือการตอบสนองเชิงกระตุ้น เป็นการกระตุ้นให้บุคคลลุกขึ้นเพื่อเรียกคืนเสรีภาพของตนเองให้กลับมา
  4. การคืนอิสรภาพ: มีพฤติกรรมในการเรียกคืนอิสรภาพ เช่น ไม่ทำตามคำสั่ง หรือแหกกฎที่ตั้งไว้ 

ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งมีนโยบายให้นักเรียนแต่งกายได้แบบอิสระ แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนคำสั่ง ให้นักเรียนแต่งกายด้วยเครื่องแบบของโรงเรียนและทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นักเรียนหลาย ๆ คนก็อาจจะรู้สึกอารมณ์เสียและรู้สึกว่าเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการเลือกเสื้อผ้าถูกจำกัด ดังนั้นจึงลุกขึ้นมาต่อต้านเครื่องแบบ ด้วยการทำลายระเบียบการแต่งกายและแต่งกายตามที่อยากแต่ง เป็นต้น 

การลดผลกระทบของปฏิกิริยารีแอกแตนซ์

เพื่อลดผลกระทบของปฏิกิริยารีแอกแตนซ์ การให้ทางเลือกอื่น ๆ ที่ยังคงช่วยทำให้บุคคลสามารถรักษาความรู้สึกเป็นอิสระตัวเอง ได้ภายใต้กฎที่มีจะเป็นประโยชน์มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ให้ลูกไปเที่ยวกลางคืนได้ แต่ต้องกำหนดเวลาในการกลับบ้านที่ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ให้ลูก ๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องของเวลา หรือเลือกวันที่จะเลือกออกไปเที่ยวได้เอง การให้อิสระในระดับหนึ่งภายในขอบเขตเหล่านั้น จะทำให้การต่อต้านลดลง

สรุป การทำความเข้าใจกับปฏิกิริยารีแอกแตนซ์ และค้นหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างความอิสระและข้อจำกัด จะสามารถช่วยในการจัดการพฤติกรรมต่อต้าน และในขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้นได้ และช่วยลดแรงปะทะในการทะเลาะเบาะแว้งที่อาจเกิดขึ้น 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ