โพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เป็นเทรนด์สุขภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอาหารหลายชนิดที่หยิบโพรไบโอติกส์มาชูในแง่ของการตลาด ทั้งตัวโพรไบโอติกส์เอง หรือจะเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ที่เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ รวมถึงในกลุ่มของซินไบโอติกส์ (Synbiotics) และโพสต์ไบโอติกส์ (Postbiotics) ด้วย

คนทั่วไปก็มักจะเข้าใจว่าโพรไบโอติกส์ช่วยเรื่องการทำงานของลำไส้ ผิวพรรณ สมอง และหลาย ๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยลดความเสี่ยง และลดความรุนแรงของการติดเชื้อ แต่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจกลไกที่แท้จริงว่าทำไมโพรไบโอติกส์ถึงส่งผลดีในการจัดการกับเชื้อก่อโรคบางชนิด เพียงแต่เข้าใจว่าการมีสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ดีส่งผลดีต่อระบบนี้

เมื่อเดือนธันวาคม 2023 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ทดสอบเชื้อโพรไบโอติกส์กว่า 100 สายพันธุ์เกี่ยวกับคุณสมบัติในการจัดการกับเชื้อก่อโรค อย่างเคลบเซลลา นิวโมเนีย (Klebsiella Pneumoniae) และซาลโมเนลลาเอนตาริกา (Salmonella Entarica)

ซึ่งจากการศึกษาทีมนักวิจัยก็พบว่าลำพังเชื้อโพรไบโอติกส์เพียงชนิดเดียวไม่สามารถจำกัดการขยายตัวของเชื้อก่อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อใช้โพรไบโอติกส์มากกว่า 50 สายพันธุ์เข้าด้วยจึงจะได้ผลในการยับยั้งการขยายจำนวนของเชื้อก่อโรค โดยลดจำนวนได้กว่า 1,000 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้เชื้อโพรไบโอติกส์เพียงชนิดเดียว โดยงานวิจัยนี้ทำในห้องทดลอง

ทุกวันนี้เราจะเห็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่หยิบเรื่องชนิดของเชื้อที่มีประโยชน์ และจำนวนของจุลินทรีย์มาโฆษณา เพราะว่าเชื้อแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป แต่หากอิงจากงานวิจัยนี้ลำพัง แค่โพรไบโอติกส์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และปริมาณที่เพียงพออาจยังไม่พอสำหรับกลไกการต้านเชื้อโรค แต่ภายในลำไส้ควรมีโพรไบโอติกส์หลายชนิดเพื่อให้จุลินทรีย์เหล่านั้นทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

โดยทีมนักวิจัยเขาก็ได้พูดถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ที่เรารู้จักกันว่ายาฆ่าเชื้อ ที่บางคนเข้าใจผิดว่ายาแก้อักเสบ ว่ายาชนิดนี้สามารถทำลายสมดุลโพรไบโอติกส์ในลำไส้ เพราะจะทำลายทั้งเชื้อก่อโรค และเชื้อดี ส่งผลให้ลำไส้เสียสมดุล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดอื่นได้ง่ายขึ้น

(อ่านบทความ “ยาฆ่าเชื้อ” ไม่ใช่ “ยาแก้อักเสบ” ใช้ผิดชนิด ผิดโรค ไม่หาย)

อย่างไรก็ตาม โลกของจุลินทรีย์ตัวจิ๋วที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ยังมีพื้นที่อีกกว้างที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจ และต้องการสำรวจ ซึ่งอาจมีการค้นพบกลไกในการต้านเชื้อก่อโรคในแง่มุมอื่นนอกเหนือจากที่ทีมนักวิจัยจากออกซ์ฟอร์ดค้นพบ แต่ที่แน่ ๆ คือ การสร้างสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อสุขภาพได้ในหลายด้าน

เราสามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วยการกินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ อย่างโยเกิร์ต กิมจิ เทมเป้ นัตโต และอาหารที่มีพรีไบโอติกส์​ อย่างผัก ผลไม้ ธัญพืช ร่วมกับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการเลี่ยงความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่

ที่มา 1, 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส