หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease: IBD) แต่โรคนี้พบบ่อย และคนก็เป็นเยอะมาก แถมในปัจจุบันเป็นโรคที่พบมากขึ้นทั่วโลก โรคลำไส้อักเสบแบ่งออกมาได้อีก 2 โรค คือ โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)

อาการหลักของโรคนี้ คือ เกิดการอักเสบที่ลำไส้เรื้อรังแบบไม่ทราบสาเหตุ เกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง ปัญหาการขับถ่าย เลือดจาง ดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี อ่อนเพลีย และอาการอื่นอีกเยอะเลย ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิตได้

ด้วยความที่ว่าไม่รู้สาเหตุ คนส่วนใหญ่ก็เป็นเรื้อรัง ทำได้เพียงรักษาตามอาการ แถมยังต้องเลี่ยงอาหารหลายชนิดเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กพบว่าหนึ่งในวิธีที่ลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ คือ การเลือกอาหารที่ดี และมีประโยชน์ให้ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในช่วง 1 ขวบแรก

โดยทีมวิจัยได้ศึกษาในเด็กเล็กถึง 81,280 คน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1997 ถึง 1999 และติดตามผลตามหลังเมื่อเด็กเหล่านั้นมีอายุเฉลี่ย 21 ปี ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่ยาวนานมากชิ้นหนึ่ง โดยเขาพบว่าเด็กที่ได้รับประทานปลาเป็นจำนวนมากในช่วงอายุ 1 ปีมีความเสี่ยงของโรคลำไส้อักเสบถึง 54 เปอร์เซ็นต์ และการรับประทานอาหารที่ใยอาหารสูง อย่างผักและผลไม้จำนวนมากมีความเสี่ยงของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังลดลงด้วย

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ คือ การให้เด็กดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อย่างน้ำอัดลม หรือน้ำหวานรูปแบบอื่น ๆ สัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นถึง 42 เปอร์เซ็นต์

ทีมนักวิจัยคาดว่าเหตุผลที่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่วัยเด็กช่วยลดความเสี่ยงของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังก็เพราะว่า อาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างสมดุลที่ดีของจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือที่เรียกกันว่าโพรไบโอติกส์ ซึ่งในช่วงขวบปีแรกเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ลำไส้กำลังพัฒนา และตอบสนองต่อการเติบโตของโพรไบโอติกส์ การให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในช่วงวัยเด็กจึงส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ที่ดีในตอนโตได้

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องอาหาร และสมดุลลำไส้ในผู้ใหญ่ที่พบว่าการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงช่วยให้จุลินทรีย์มีประโยชน์ในลำไส้เติบโตได้ดี สุขภาพลำไส้แข็งแรง ในทางตรงกันข้ามการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจลดจำนวนจุลินทรีย์ดีภายในลำไส้ และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพลำไส้ได้มากขึ้น

ดังนั้น ถ้าหากคุณเตรียมตัวเป็นพ่อเป็นแม่ หรือมีเด็กเล็กในบ้าน การสร้างแผนโภชนาการที่ดีให้กับเด็กเล็กจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจส่งผลดีต่อเนื่องมาจนถึงอนาคตได้

แต่สำหรับคนที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังไปแล้ว การรับประทานอาหารบางชนิดที่เหมือนจะดีต่อสุขภาพ อย่างผัก หรือนมอาจส่งผลเสียต่อโรคได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น และรักษาอาการต่อไป

ที่มา: ScienceDaily

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส