ความสุข ห้วงแห่งอารมณ์ด้านบวกยามที่ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมาหลายรูปแบบ ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ล้วนใฝ่ฝันหา และถูกวางไว้ตรงข้ามกับความทุกข์ราวกับท้องฟ้าและหุบเหว ชีวิตที่มีความสุข ไม่ว่าจะจากเงินทอง ของอร่อย มุกตลก สุขภาพที่แข็งแรง หรือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ความสุขถูกขนานนามว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่ทำให้มนุษย์ยืนยาว ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดี

แต่ความสุขไม่สิ่งจีรังยั่งยืนเช่นเดียวกับความทุกข์ ความสุขสามารถหมดไปได้ และมนุษย์ก็ต้องตามหาความสุขมาเติมเต็มจิตใจของตนเองอยู่เสมอ และความสุขอาจไม่ได้ดีต่อคุณเสมอไป บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับรูปแบบของความสุขที่สร้างปัญหาให้กับคุณได้

รูปแบบของความสุขที่ทำให้ทุกข์กว่าเดิม

ความสุขเป็นนามธรรมที่ไร้รูปร่างหน้าตา แต่เราทุกคนล้วนจับต้องมันได้จากภายในสมอง และจิตวิญญาณ แต่ความสุขบางรูปแบบอาจเป็นขนมแสนหอมหวาน พร้อมสอดไส้มาไซยาไนด์ หรือหมาป่าในชุดนอนของคุณยายใจดี มาดูกันว่าความสุขที่ส่งผลเสียต่อตัวคุณมีแบบไหนบ้าง?

1. ความสุขที่ต้องตามหาแบบไม่สิ้นสุด

เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุขในรูปแบบต่าง ๆ แต่การมีมาตรฐานทางความสุขที่เหนือจริง และไกลเกินไปอาจสร้างความกดดัน ความเครียด และวิตกกังวล ซึ่งกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อคอร์ติซอล (Cortisol) ที่อาจส่งผลต่อการนอนหลับ ระบบภูมิคุ้มกัน และสมอง

การศึกษาพบว่าคนที่มีภาวะเครียด และมีการหลั่งคอร์ติซอลบ่อย ๆ เสี่ยงต่อโรคทางอารมณ์ โรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอีกหลายอย่าง และต่อให้ไม่ได้เครียดมาก แต่เครียดบ่อยก็ส่งผลเสียได้ไม่ต่างกัน นอกจากนี้ การเลือกที่จะสัมผัสแต่ความสุขอาจทำให้ภูมิต้านทานต่อความทุกข์น้อย เมื่อต้องเจอกับความทุกข์ความผิดหวัง อาจสร้างผลกระทบต่อจิตใจได้มากกว่าที่ควรจะเป็น

ตัวอย่างของการตามหาความสุขที่ไม่สิ้นสุดก็อย่างเช่น คนที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ที่ไม่สามารถทนต่อความผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งสามัญที่มนุษย์เจออยู่ในทุกวัน หรือจะเป็นการทำตัวให้มีความสุขตามมาตรฐานโซเชียลมีเดีย โดยที่ตัวเองไม่ได้อยากทำ แค่คิดว่าอยากจะทำบ้าง แต่สุดท้ายกลับรู้สึกว่างเปล่า ไปจนถึงการมีมายด์เซตที่ยึดติดกับเป้าหมายอะไรบางอย่างที่อยู่ไกลมาก ๆ จนลืมความสุขจากความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง

2. ความสุขที่ใช้กลบเกลื่อนความทุกข์

บางคนอาจมีคาแรกเตอร์เป็นคนตลก ยิ้มแย้ม และสร้างความสุขให้กับคนอื่น ๆ จนบางทีอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกอนุญาตให้ทุกข์แบบคนอื่นเขา สิ่งที่ทำได้ก็เพียงการหาความสุขเพิ่มมากขึ้นเพื่อฉาบความทุกข์ หรืออารมณ์ด้านลบไว้หลังกำแพง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถมีความสุขได้อย่างเต็มที่ หรืออาจระเบิดอารมณ์ด้านลบเหล่านั้นออกมาในสักวันหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ และสภาพจิตใจได้

นอกจากนี้ การฝืนยิ้มเป็นเวลานาน ๆ ยังทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าตึงตัว และเกิดอาการปวดหัวได้ด้วย เพราะแบบนี้เก็บโคต้าการยิ้มไว้ตอนที่มีความสุขจริง ๆ จะดีกว่า

แม้ว่าความสุขสามารถลบเลือนความทุกข์ได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมดเสมอไป เพราะอารมณ์ด้านลบ หรือความคิดบางอย่างเปรียบเหมือนกับของเสียที่ร่างกายจำเป็นต้องกำจัดทิ้งเท่านั้น ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล หรือว่าหายวับไปเองได้ การเก็บสิ่งปฏิกูลทางความคิด ทางอารมณ์เหล่านี้ไว้จึงไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก

ลองเปิดใจ และหาพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเขียนไดอารี่ระบายเรื่องราวในใจ การเปิดใจคุยกับเพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจเพื่อปลดปล่อยสิ่งคั่งค้างเหล่านั้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เพราะทุกคนมีสิทธิที่สุข และทุกข์ได้ไม่ต่างกัน

3. ความสุขของคนอื่นที่ต้องมาก่อนเสมอ

การแบ่งปัน และสร้างความสุขให้กับคนอื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อย่าลืมว่าตัวเองก็ต้องมีความสุขด้วย ซึ่งอาจสำคัญกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ผู้เขียนเคยดูรายการ Rupaul’s Drag Race ทีวีโชว์ฝั่งอเมริกาที่โฮสต์รายการจะมีวรรคทองที่ว่า “If you can’t love yourself, how the hell you gonna love somebody else?” หรือ ถ้าคุณไม่รักตัวเอง คุณจะไปรักคนอื่นได้อย่างไรล่ะ?

ซึ่งก็จริงตามนั้น การสร้างความสุขให้กับตัวเองเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เรามีพลังงานด้านบวกเพื่อส่งผลต่อให้คนรอบข้าง และถ้าคุณชื่นชอบการแบ่งปันความสุข คุณควรเติมความสุขให้ตัวเองอยู่เสมอ และบางครั้งก็ควรปล่อยให้คนอื่นไขว่คว้าความสุขด้วยตัวของเขาเองบ้าง

เพราะถ้าหากคุณสร้างความสุขให้กับคนอื่นเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ทำความต้องการของตัวเองเลย คุณอาจเสี่ยงต่อภาวะเครียดเรื้อรัง และภาวะหมดไฟ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และทำให้คุณไม่อยากทำอะไรเพื่อใครอีกเลย

4. ความสุขจากอะไรที่มากเกินไป

ที่มาของความสุขของคนเรานั้นแตกต่างกัน แต่ก็มีบางที่มาที่มวลมนุษยชาติเห็นพ้องต้องกัน เช่น การกินอาหารอร่อย การดื่มสังสรรค์ การนอน การไม่ต้องทำอะไร ไปจนถึงการใช้สารเสพติด ซึ่งแน่นอนว่าการสิ่งนี้ในระดับที่มากเกินไปนำมาซึ่งผลเสีย อย่างปัญหาสุขภาพจากน้ำหนักตัว อุบัติเหตุจากการความมึนเมา ความขี้เกียจ หรือปัญหาด้านสุขภาพ สังคม การเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย

ความสุขรูปแบบนี้เป็นสิ่งมนุษย์เจอได้ทุกวัน แน่นอนว่าความสุขเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรเข้าไปยุ่ง แต่เอาเป็นว่าการรับรู้ไว้อาจพอช่วยให้เรามีข้อมูลว่ามีความเสี่ยงจากความสุขประเภทนี้อาจเป็นอันตรายต่อเราเอง หรืออาจเป็นภาระคนรอบข้างในสักวันหนึ่ง

5. ความสุขล้นปรี่ที่อาจทำให้อายุสั้น

ความสุขมาก ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าสุขจนทะลุปรอทอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจได้ ข้อมูลจาก University Hospital Zurich ได้ศึกษากลุ่มอาการหัวใจแตกสลาย (Takotsubo Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนเฉียบพลัน ส่งผลต่อการทำงานหัวใจ และการสูบฉีดเลือดได้ โดยปกติสัมพันธ์กับความเครียด หรือความเศร้าแบบสุดขีด

ข้อมูลชุดนี้พบว่าคนที่มีกลุ่มอาการหัวใจแตกสลาย 96 เปอร์เซ็นต์จาก 485 คนเป็นผลมาจากความเศร้า ส่วนอีก 4 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นผลมาจากความรู้สึกดีใจ หรือมีความสุขแบบสุดขีด ดังนั้น ความสุขที่มากเกินก็เสี่ยงจะส่งผลเสียได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าความสร้างสรรค์ของมนุษย์จะลดลงเมื่ออยู่ในภาวะที่มีความสุขมาก ๆ ด้วย รวมถึงความสามารถในการใช้เหตุ การตัดสินใจ และความคิดรอบคอบที่ลดลงด้วย

สุขแบบไหนให้พอดี?

รูปแบบ ที่มา และเพดานความสุขของมนุษย์แตกต่างกันไปตามความชอบ และปัจจัย ซึ่งไม่มีใครสามารถระบุความสุขที่เป็นกลาง และพอดีได้สำหรับทุกคน แต่ละคนเองต่างหากที่อาจลองตั้งคำถามกับตัวเองสักครั้งว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร แล้วเราสุขกับสิ่งนั้นจริงไหม หรือแค่คนรอบตัวบอกว่าสิ่งนี้คือความสุข

เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต่างต้องการความสุข และเสพความสุข แต่ไม่เคยทำความเข้าใจอารมณ์นี้แบบจริงจัง การทำความรู้จักกับความสุขอาจทำให้เราเห็นแง่มุม และความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น โดยอาจช่วยให้เราวางแผนการมีความสุขแบบไร้ความเสี่ยง และคุ้มค่ากับเงิน กับความเหนื่อยล้า เวลาที่เสียไป และไม่ต้องวิ่งไล่ตามหาไปตลอดชีวิต

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส