กลุ่มนักวิจัยในโครงการการศึกษาดีเอ็นเอโบราณขนาดใหญ่ได้ค้นพบข้อมูลใหม่ที่สามารถอธิบายที่มาของโรคทางระบบประสาทในเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน อย่างโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และโรคอัลไซเมอร์ได้

ทีมนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจำนวนกว่า 175 คนได้ร่วมกันศึกษาดีเอ็นเอจากกระดูก และฟันของมนุษย์โบราณทั่วทวีปยูเรเซียจำนวนกว่า 5,000 ชิ้นจากพิพิธภัณฑ์ในแต่ละประสาท ซึ่งแต่ละชิ้นมาจากแต่ละยุคสมัยต่างกัน ตั้งแต่สมัยยุคกลาง (ค.ศ. 500-1,500) ย้อนกลับไปถึง 34,000 ปีในช่วงยุคหินเก่า

แล้วนำข้อมูลดีเอ็นเอที่พบมาเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคปัจจุบันจำนวน 400,000 คน จนพบความเป็นไปได้ที่บ่งบอกว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นผลจากการวิวัฒนาการเพื่อรับมือกับเชื้อโรคในยุคโบราณที่มาจากสัตว์

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งจัดเป็นหนึ่งในโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติชนิดหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันจะโจมตีปลอกประสาท และเส้นประสาทจนทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลต่ออวัยวะหลายระบบ ทั้งสมอง ดวงตา การกลืนอาหาร ลำไส้ กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาได้ และเป็นต่อเนื่องกันตลอดชีวิต

สมมติฐานของนักวิจัยคาดว่าที่ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีปลอกประสาทเป็นผลมาจากดีเอ็นเอโบราณชนิดหนึ่งที่มนุษย์ในอดีตนั้นวิวัฒนาการมาเพื่อจัดการกับเชื้อโรคบางชนิด เพราะการดำเนินชีวิตในสมัยโบราณ มนุษย์ทั่วโลกนั้นอยู่อาศัยแบบชนเผ่าเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรค ร่างกายจึงพัฒนาภูมิคุ้มกันนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันร่างกาย

โดยผลการเปรียบเทียบดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณกับมนุษย์ยุคปัจจุบันพบว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันมีร่างกายที่อ่อนแอกว่า ซึ่งดีเอ็นเอในการต่อต้านเชื้อโรคที่สืบทอดมานี้จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการด้านภูมิคุ้มกัน และการโจมตีเซลล์ของร่างกายจนเกิดการอักเสบขึ้นได้

กลุ่มนักวิจัยคาดว่าดีเอ็นเอโบราณนี้เป็นของกลุ่มยัมนายา (Yamnaya) ชนเผ่าเร่ร่อนในแถบยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงแถบเอเชียกลางในอดีต เพราะจากการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์พบว่าชาวยัมนายาเป็นชนเผ่าที่เริ่มขี่ม้าเป็นกลุ่มแรก ที่มีการเลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์เพื่อดำรงชีวิต โดยนักวิจัยก็คาดว่าชนเผ่านี้วิวัฒนาการภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มีสัตว์เลี้ยง อย่างแกะ และวัวเป็นพาหะ

ในยุคหลังชนเผ่านี้ได้ย้ายรกรากไปยังแถบยุโรปเหนือ ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มคนยุโรปเหนือเป็นชนชาติที่มีความเสี่ยงต่อโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมากที่สุดในโลก โดยก่อนหน้านี้แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายว่าทำไมคนยุโรปแถบนี้ถึงเสี่ยงต่อโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งได้มากกว่าคนในพื้นที่อื่น

ส่วนโรคอัลไซเมอร์ที่พบในผู้สูงอายุ ที่เป็นผลจากการเสื่อมของโปรตีนในสมอง ผลงานวิจัยครั้งนี้ก็พบข้อมูลที่เชื่อมโยงด้วยเช่นเดียวกันว่าตัวแปรทางพันธุกรรมที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็อาจเป็นผลมาจากดีเอ็นเอที่ถูกวิวัฒนาการขึ้นในสมัยโบราณ โดยดีเอ็นเอนี้พบในกลุ่มชาวยุโรปตะวันออกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นกลุ่มชนเผ่านักล่า และหาของป่าเช่นเดียวกัน

ล่าสุดทีมนักวิจัยเตรียมไขคำตอบเพื่อหาที่มาของโรคเรื้อรังโรคอื่นที่เกิดขึ้นยุคปัจจุบัน อย่างโรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น และโรคจิตเภทเพิ่มเติม

การถอดรหัสดีเอ็นเอโบราณครั้งนี้ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจการเดินทางของดีเอ็นเอที่ปรับตัวผ่านกาลเวลา และสภาพแวดล้อมตามยุคสมัยที่ส่งต่อมายังคนยุคปัจจุบัน ช่วยสร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคของคนในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญในการนำไปพัฒนาการรักษา และป้องกันโรคในอนาคต

ที่มา: Sceincedaily

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส