ช่วงนี้เราจะได้เห็นหลาย ๆ เพจทำมีมเกี่ยวกับ “เดือนมกราคมช่างยาวนาน” กันเยอะมาก ที่จริงแล้วเรื่องความรู้สึกเช่นนี้ มีการพูดถึงกันมายาวนานแล้ว และเป็นความรู้สึกที่เหมือนกันทั้งโลก ไม่ใช่แค่คนไทยเราเท่านั้น เพียงแต่ว่าปีนี้เริ่มมีคนทำมีมเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วได้รับความสนใจ หลาย ๆ เพจก็เลยทำตามกันกลายเป็นกระแสขึ้นมา

ถ้าว่ากันด้วยหลักการและเหตุผลแล้วนั้น เดือนมกราคมก็ไม่ได้ยาวนานไปกว่าเดือนใด ๆ ในปฎิทินเลย มี 31 วัน เช่นเดียวกับเดือนที่ลงท้ายด้วย “คม” อีกหลาย ๆ เดือน แต่เพราะเหตุใด ‘มกราคม’ ในฐานะเดือนแรกของปี จึงทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกว่ามันยาวนานเป็นพิเศษ ในโลกโซเชียลถึงกับตั้งฉายาให้กับมกราคมว่า “เดือนที่ยาวนานที่สุดในแต่ละปี” พอเริ่มรู้สึกเหมือน ๆ กัน บางคนก็ใช้วิธีการบ่นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียกัน ก็เถือว่าเป็นช่องทางระบายออกอย่างหนึ่งจนกว่าเดือนมกราคมจะผ่านพ้นไปจริง ๆ

นอกเหนือจากเดือนมกราคมแล้ว ก็เคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่ชาวโลกรู้สึกว่ายาวนานเช่นกัน อย่างเช่นเดือนมีนาคม เมื่อปี 2020 เพราะเป็นช่วงระยะแรก ๆ ที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด และเป็นเดือนที่มี 31 วันด้วย ก็เลยทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกว่ามีนาคมในปีนั้นมันช่างยาวนานเสียเหลือเกิน เหตุที่มนุษย์เรามีความรู้สึกต่อช่วงเวลาที่ผ่านไปเช่นนี้ มีศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า “การรับรู้ช่วงเวลา” หรือ ‘Time Perception’ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่ามนุษย์หลายคนบนโลกต่างรู้สึกไม่ชอบใจที่มกราคมเป็นเดือนที่ยาวนานและกลายเป็นประเพณีประจำปีไปเสียแล้ว

นักจิตวิทยามีเหตุผลอธิบายว่าเพราะเหตุใดกัน ทำไมเดือนมกราคมถึงรู้สึกยาวนาน

ความหดหู่หลังเทศกาลรื่นเริง

ดร.โคลอี คาร์ไมเคิล

โคลอี คาร์ไมเคิล (Chloe Carmichael) นักจิตวิทยาและเป็นผู้เขียนหนังสือ ‘Nervous Energy: Harness the Power of Your Anxiety’ อธิบายว่า เดือนธันวาคม นั้นเปรียบเสมือนเดือนแห่งเทศกาลรื่นเริง มีวันหยุดเยอะมาก และเต็มไปด้วยเทศกาลเฉลิมฉลอง คริสต์มาส และขึ้นปีใหม่ และสารเคมีแห่งความสุขจะหลั่งไหลออกมามากในช่วงเทศกาลวันหยุดเหล่านี้
“เราได้รับของขวัญหรือไม่ก็ให้ของขวัญผู้อื่นและได้ดูผู้คนที่ต่างก็มีความสุขร่วมกันในเทศกาลวันหยุด และนั่นทำให้สารโดปามีนหลั่งออกมาท่วมท้น ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี”
“ดังนั้นพอผ่านพ้นวันหยุดไปแลว สารเคมีเหล่านั้นก็หมดลง เหมือนมีใครดึงอารมณ์ความสุขออกไปจากตัวเรา มันเป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันชัดเจนมากจากช่วงความสุขที่สุดในช่วงวันหยุด”

อากาศหนาวเย็น วันที่มืดครึ้ม

บรรยากาศรอบตัวเราก็มีผล เพราะมกราคมยังอยู่ในช่วงฤดูหนาวและเป็นช่วงที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน บรรยากาศก็เลยมืด ๆ ทึม ๆ ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราให้ผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ในบางประเทศที่มีอากาศหนาวจัด หิมะตก ผู้คนก็เลือกที่จะซุกตัวอยู่ในบ้าน นั่งหน้าเตาผิงอุ่น ๆ แทนที่จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนมีความสุข

หนี้ที่ตามมาหลังใช้จ่ายสนุกมือ

คาร์ไมเคิลเล่าถึงเหตุลต่อไปว่า ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมากในช่วงเทศกาลปลายปี และต้องเผชิญกับใบแจ้งหนี้หลังเทศกาลแห่งความสุขผ่านพ้นไปแล้ว
“ผู้คนจำนวนมาก อาจจะจับจ่ายใช้สอยกันเกินความจำเป็น ซึ่งก็ส่งผลมาให้เราต้องรู้สึกแย่ในภายหลัง”

กลับสู่กิจวัตรเดิม ๆ

เพาลีน วอลลิน (Pauline Wallin) นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า หากคุณไม่รู้สึกยินดีกับกิจวัตรประจำวันของคุณในช่วงก่อนวันหยุดอยู่แล้ว การต้องกลับมาสู่ชีวิตประจำวันเดิม ๆ หลังได้หยุดยาวนั้นก็เลยทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากเย็น และทำให้แต่ละวันรู้สึกยาวนานขึ้น อย่างเช่นการต้องกลับไปออกกำลังกายอีกครั้งหลังเว้นไปในช่วงเทศกาลรื่นเริง และการที่เราเว้นช่วงจากการออกกำลังกายไปเช่นนี้ ก็จะทำให้เราไม่ได้รับสารเอ็นโดรฟีนที่มักจะหลั่งออกมาหลังการออกกำลังกาย

ปีใหม่ ความกดดันใหม่ ๆ

คาร์ไมเคิล เล่าถึงอีกสาเหตุว่า “สำหรับบางคนนั้น อาจจะรู้สึกกดกันจากการตระหนักรู้ถึงวันเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกปี เพราะมกราคมที่เดือนแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ พวกเขาอาจจะรู้สึกกดดันมากขึ้น เมื่อเขาได้มองย้อนกลับไปถึงปีที่ผ่านมา ถึงเรื่องที่พวกเขาทำไม่สำเร็จในปีที่แล้ว และทำให้รู้สึกกดดันถึงเป้าหมายในปีต่อ ๆ ไป”

ที่มา : Yahoo!