ค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หากินในเวลากลางคืน โดยอาหารหลักของค้างคาวชนิดนี้ คือ ผลไม้ตามชื่อของมัน ซึ่งผลไม้เป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมาก แต่นักวิทยาศาสตร์กลับไม่พบว่าค้างคาวผลไม้ที่กินผลไม้เป็นอาหารหลักนั้นเกิดโรคเบาหวาน

น้ำตาลอาจเรียกได้ว่าเป็นยาเสพติด และยาพิษที่ถูกกฎหมาย และได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะการศึกษาพบว่ามนุษย์สามารถเสพติดน้ำตาลได้จริง แถมการได้รับน้ำตาลมากเกินไปยังส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับภัยพิบัติทางสุขภาพ อย่างฟันผุ โรคอ้วน ความเครียด ปัญหาผิว โรคหัวใจ และโรคอื่นมากมาย แต่ที่ขาดไปไม่ได้ คือ โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราได้รับน้ำตาลปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยที่ร่างกายจะเริ่มตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนที่ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงานได้น้อยลง จนร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ และต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวาน แต่จะดีแค่ไหน ถ้าคุณ และเราสามารถบริโภคน้ำตาลได้มากขึ้นโดยที่ไม่มีผลกระทบตามมา

ไขความลับดีเอ็นเอของค้างคาวเพื่อการรักษาเบาหวานในอนาคต

ทีมนักวิทยาศาสตร์เลยต้องการไขความลับว่ากลไกอะไรที่ซ่อนอยู่ในดีเอ็นเอของค้างคาวผลไม้ที่ทำให้พวกมันสามารถกินน้ำตาลได้แบบไม่อั้นโดยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ในขณะที่มนุษย์ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกราวกับเป็นโรคติดต่อทั้งที่ไม่ใช่ก็ตาม ปัจจุบันมนุษย์ราว 530 ล้านคนป่วยด้วยโรคเบาหวาน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสร้างผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ไปจนถึงค่ารักษาพยาบาลทั้งในระดับบุคคล และระดับประเทศ

ผลลัพธ์วิวัฒนาการต้านโรคเบาหวานจากค้างคาวผลไม้

การศึกษาดีเอ็นเอ และกลไกในการจัดการกับน้ำตาลของค้างคาวผลไม้อาจเป็นการค้นพบที่ช่วยกู้วิกฤตสุขภาพจากการหลงใหลในน้ำตาลของมนุษย์ให้กลับมาเป็นปกติ

จากการศึกษาตับอ่อนของค้างคาวผลไม้ ซึ่งเป็นส่วนที่ผลิตอินซูลินพบว่าตับอ่อนของค้างคาวผลไม้มีเซลล์ผลิตอินซูลินมากกว่ากว่าค้างคาวที่กินแมลงเป็นอาหาร ทั้งยังมีเซลล์ผลิตกลูคากอน (Glucagon) ที่มีส่วนในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ค้างคาวผลไม้สามารถนำน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการกินผลไม้ไปใช้พลังงานได้มากกว่า

นอกจากนี้ ในเวลาที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายขับน้ำตาลออกผ่านการกรองที่ไต ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้มักเสี่ยงต่อโรคไต และไตวาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าไตของค้างคาวผลไม้มีคุณสมบัติในการกรองแร่ธาตุให้ยังคงอยู่ภายในร่างกายเมื่อต้องขับน้ำตาลออกผ่านของเสีย ส่งผลให้มันสามารถขับน้ำตาลออกโดยที่ไตไม่ได้รับความเสียหาย

นักวิทยาศาสตร์ก็พบด้วยว่าค้างคาวที่กินแมลงมีเซลล์พิเศษที่ใช้ในการย่อยโปรตีนมาจากแมลงด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของค้างคาวเพื่อปรับตัวให้เหมาะกับอาหารของพวกมัน โดยการค้นพบทั้งหมดนี้อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นวิธีบำบัด หรือแต่งพันธุกรรมของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีในการจัดการกับน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และปัญหาสุขภาพที่เกิดจากน้ำตาล

ที่มา: SciTechDaily

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส