“มีใครทำ CPR เป็นบ้างคะ / ครับ ?” 

“ช่วยด้วย ๆ มีคนหมดสติ ช่วยโทรเรียก 1669 และนำเครื่อง AED มาด้วย”

คุณอาจต้องพบเจอหรือต้องใช้ประโยคร้องขอความช่วยเหลือเหล่านี้ ในกรณีที่มีบุคคลกำลังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคุณมีเวลาเพียง 4 นาทีในการกู้ชีวิต

“สถานการณ์ฉุกเฉิน” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่คาดคิด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินที่หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าจะเป็น คนจมน้ำ คนถูกไฟฟ้าดูด ฟ้าผ่า คนที่มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ สำลักควันไฟ ผู้ป่วยหัวใจวาย ไปจนถึงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

AED กู้ชีพฉุกเฉิน 

“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” หรือ SCA (Sudden Cardiac Arrest) คร่าชีวิตผู้คนในประเทศไทยโดยเฉลี่ยกว่า 50,000 รายต่อปี จากการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วย SCA ที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการช็อกกระตุ้นการเต้นของหัวใจจากผู้เห็นเหตุการณ์ 

อัตราการรอดชีวิตของผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้น จะเพิ่มขึ้นมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ที่เห็นเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือทันที ด้วยการช่วยฟื้นชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอก หรือ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) พร้อมด้วย “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” หรือ AED (Automated External Defibrillator) แต่หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โอกาสรอดชีวิตจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ในทุก ๆ นาทีที่ผ่านไป ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันถึงความสำคัญของการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบัน เราจะเห็นเครื่อง AED ถูกติดตั้งอยู่ตามพื้นที่สำคัญต่าง ๆ เช่น สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ส่วนราชการ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมไปถึง อาคารสูง และสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) ของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ภายในตัวอาคารที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย SCA และบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือนาทีวิกฤต ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพหรือรถพยาบาลจะมาถึง

โดยเครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่สามารถ “อ่าน” และ “วิเคราะห์” คลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งโอกาสที่จะรอดชีวิตของบุคคลนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใด และควรตระหนักว่าเวลาทุก ๆ นาทีที่ผ่านไปนั้น มีค่าอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย

กู้ชีพด้วยการกู้หัวใจ โดยใช้ AED ร่วมกับ CPR

“เมื่อใดก็ตามที่หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ หากมีใครสักคนรีบเข้าไปช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานตามหลักการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอด และมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองเพียงพอ ที่สมองจะทำงานต่อไปได้โดยไม่ทำให้เกิดภาวะสมองตาย คนผู้นั้นก็ยังมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมามีชีวิตเป็นปกติได้”

เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้แนะนำขั้นตอนการแจ้งเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 การช่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐาน รวมถึง การใช้เครื่อง AED ระหว่างที่ทีมกู้ชีพ หรือรถพยาบาลยังเดินทางไปไม่ถึง โดยมีขั้นตอนและวิธีดังนี้

  1. เมื่อพบคนหมดสติ ควรตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือเสมอ
  2. ปลุกเรียกด้วยเสียงดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง
  3. เรียกขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้ง 1669 พร้อมนำเครื่อง AED มาเตรียมไว้ (กรณีที่มีเครื่อง)
  4. ประเมินผู้หมดสติ หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้กดหน้าอกทันที
  5. เริ่มทำการช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ด้วยวิธีการดังนี้
  • จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย โดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย
  • วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก
  • วางมืออีกข้างหนึ่งทับประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรง แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย
  • เริ่มกดหน้าอก CPR ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
  • ถ้ามีหน้ากากเป่าปาก ให้เป่า 2 ครั้ง สลับกับการกดหน้าอก 30 ครั้ง
  • ถ้าไม่มีหน้ากากเป่าปาก หรือ ไม่เคยฝึกเป่าปาก ให้ทำการกดหน้าอกอย่างเดียว ต่อเนื่องกัน
  • กดหน้าอกและเป่าปากอย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

ส่วนขั้นตอนในการช่วยชีวิตเมื่อมีเครื่อง AED มีดังนี้

  1. เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้หมดสติออก (หากจำเป็นต้องตัดเสื้อผ้า ก็สามารถใช้กรรไกรที่อยู่ในกล่องชุดเครื่อง AED ได้)
  2. ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย (ดูคำแนะนำจากเครื่อง AED ประกอบ) 
  3. เครื่องจะวิเคราะห์จังหวะการเต้นของใจ โดยห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด
  4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED 
  5. กดหน้าอกต่อทันที หลังทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง AED
  6. ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรโทรแจ้ง 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจึงรีบให้การช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขความผิดปกติของทางเดินหายใจและการหายใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้นก่อนถึงมือแพทย์นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังสามารถค้นหาจุดติดตั้งเครื่อง AED ในประเทศไทย และอาสาสมัครผู้ทำ CPR ในระยะใกล้ ๆ คุณ พร้อมทั้งการสอนวิธีการใช้งานเครื่อง AED และวิธีการทำ CPR ได้จากเว็บไซต์ https://aed.redcross.or.th/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “AED กระตุกหัวใจ” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS

หากเป็นไปได้ควรเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “การปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน” เพราะเราอาจต้องพบเจอผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่คาดคิด และคน ๆ คนนั้น อาจเป็นคนใกล้ตัวของคุณเอง… ฝึกทำ CPR และหัดใช้เครื่อง AED กันเถอะครับ