“อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นใหม่” หลายคนที่ได้ยินคำนี้อาจจะคิดว่า พูดง่ายแต่ทำยาก 

บางคนบอกยังไม่พร้อมบ้าง หรือกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยบ้าง ทำให้ไม่กล้าลงมือขอเวลาไปพักกายพักใจก่อน สุดท้ายไฟในการเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ก็ค่อยๆ มอดลงไปตามกาลเวลา เหลือทิ้งไว้เพียงความล้มเหลวและความพ่ายแพ้ที่พอย้อนกลับมาคิดถึงมันทีไรก็รู้สึกว่า ตอนนั้นเราน่าจะลองสู้ดูสักตั้ง!! 

เพราะไม่มีใครทำอะไรสำเร็จไปซะทุกอย่าง ทุกคนเคยผ่านความล้มเหลวมาแล้วทั้งนั้น แม้แต่สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) บุรุษผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้คิดค้น iPhone สมาร์ตโฟนยอดฮิตที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ก็เห็นคนเกือบทุกเพศทุกวัยถืออยู่ในมือ จนได้ชื่อว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่ขายดีที่สุดในโลก ก็เคยผ่านจุดนี้มาแล้ว ด้วยแนวคิด ‘โชชิน’ ที่เขายึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด 

รีเซ็ตตัวเองเพื่อการเรียนรู้

โชชิน เป็นแนวคิดจากนิกายเซนในพุทธศาสนาหมายถึง ‘จิตวิญญาณของการเริ่มต้น’ 

เกิดจากการผสมระหว่างคำว่า sho (初) ที่แปลว่าเริ่มต้น และ shin (心) ที่แปลว่าจิตใจ ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหลักการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การพาตัวเองกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้
และรีเซ็ตตัวเองให้พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เมื่อไม่ยึดติด จิตใจของเราจะเปิดกว้างเหมือนกับเด็กที่ต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา 

ไม่กลัวที่จะเริ่มต้นใหม่ 

หนึ่งในความล้มเหลวของจอบส์ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อย ๆ คือ การที่จอบส์ถูกไล่ออกจาก Apple บริษัทที่เขาสร้างมันขึ้นมากับมือ แต่เขากลับมองว่ามันคือเรื่องดีของชีวิต ที่ทำให้เขาได้ลุกขึ้นสู้ต่อ และไม่นานนัก Pixar สตูดิโออนิเมชันที่ผู้อยู่เบื้องหลังการ์ตูนชื่อดังของ Disney หลายเรื่อง ทั้ง Toy Story, Monster, Inc., The Incredible, Finding Nemo ก็ถือกำเนิดขึ้น 

จอบส์ ให้ข้อคิดว่า ไม่ว่าจะประสบการณ์ ความเชื่อ ความมั่นใจจากความสำเร็จในอดีตจะมีอยู่มากมายขนาดไหน แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้คือ ‘ตัวถ่วงชั้นดี’ ต่อการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งหลายครั้งสิ่งเหล่านั้นคือความจริงที่เราต้องยอมรับก่อนที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้

การที่ จอบส์ ยอมทิ้งความสำเร็จของตัวเองไว้ที่ Apple แล้วลุกขึ้นไป ‘เริ่มต้นใหม่’ จากศูนย์อีกครั้ง ทำให้เขากลับมาพร้อมกับชื่อเสียงและแนวคิดใหม่ ๆ ที่พลิกชีวิตให้กับบริษัทที่ตัวเขาเองเป็นคนสร้างขึ้นมาได้สำเร็จแถมมีอนาคตที่มั่นคงกว่าเดิม จนกลายเป็นแบบอย่างของความสำเร็จที่หลาย ๆ คนอยากเดินตาม 

ซึ่งเราก็สามารถนำหลัก ‘โชชิน’ มาปรับใช้กับตัวเองได้ด้วยการนึกย้อนกลับไปถึง “ความรู้สึกแรกในการทำงาน” ตอนนั้นมีความทุ่มเท และตั้งใจกับมันมากแค่ไหน แค่นำความรู้สึกเหล่านั้นกลับมาอยู่กับตัวเองให้ได้

คิดเสมอว่าเราไม่รู้

เมื่อเกิดความอยากรู้ สมองของเราจะเกิดความสงสัยและอยากเรียนรู้สิ่งนั้น ทำให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเอง ทำให้มีพลังและกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่าคิดไปเองคนเดียวว่าเราเคยรู้เรื่องนี้แล้ว เพราะสิ่งที่เรารู้อาจจะยังไม่ใช่ทั้งหมด  

เมื่อคิดแบบนี้จะทำให้เรามีแรงกระตุ้นและพลังในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพราะช่วงเวลาแรกของการเรียนรู้ เรามักจะไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง

ฝึกตั้งคำถาม 

อย่าหยุดอยู่ที่การเรียนรู้สิ่งเดียว เมื่อได้รู้ 1 อย่าง จงสงสัยอีก 1 อย่างอยู่เสมอ
การตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ จะทำให้เรามองเห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ต่างออกไปในมุมมองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน วิธีนี้จะช่วยให้เราอยากเรียนรู้อยู่เสมอและได้โอกาสในการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

โชชิน (Shoshin) เป็นอีกหนึ่งแนวคิดจากญี่ปุ่นที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการใช้ชีวิต แถมยังสามารถต่อยอดไปถึง ‘อิคิไก’ ปรัชญาที่สอนให้เห็นถึง จุดมุ่งหมายของชีวิต หรือ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่โดยการเห็นคุณค่าที่แท้จริงและสิ่งดี ๆ ในตัวเอง พึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่ายและสิ่งที่มีอยู่แล้วได้อีกด้วย เพราะโชชินเป็นแนวคิดที่สร้างความมุ่งมั่นในการทำงาน เมื่อเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจในงานที่ทำ เราจะสามารถสัมผัสกับความสุขในการทำงานได้  

ที่มา : idealbrain fastcompany