รถยนต์อาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตใครหลายคน แต่หากการผ่อนรถยนต์กำลังเป็นภาระด้านการเงินของคุณแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้คุณใช้วิชาตัวเบา เอาตัวให้รอดก่อนที่รถยนต์จะเป็นห่วงผูกคอคุณจนหายใจหายคอไม่ออก

ก่อนจะเปิดตำราวิชาตัวเบา เราอยากแนะนำให้คุณ “ตั้งสติ” และทบทวนตัวเองให้ถี่ถ้วน หากพบว่าไปต่อไม่ไหว อย่าบอกไหว รู้ตัวให้ไว ยอมรับความจริง ว่ารถคือของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ เวลานี้ต้องรีบหาทางออกให้ตัวเอง ย้ำ! อย่าดันทุรังไปจนค้างค่างวดครบ 3 เดือน หรือเข้าข่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ เพราะผลลัพธ์อาจได้ไม่คุ้มเสีย 

เพราะนอกจากจะโดนไฟแนนซ์ยึดรถสุดที่รักไปแล้ว เรายังต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมให้ไฟแนนซ์ ทั้งหนี้ที่คงค้างอยู่ รวมถึงชดใช้ค่าขาดราคา และค่าขาดประโยชน์ให้กับไฟแนนซ์ด้วย หากรถของเราที่โดนยึดไปขายได้ราคาต่ำกว่าตลาด  

และอาจบานปลายถึงการฟ้องร้องคดีแพ่งกับเรา แม้จะเจรจาในชั้นศาลเพื่อไกล่เกลี่ยเจรจาขอลดหนี้ลง ซึ่งหากลดได้ก็ดีไป แต่ถ้าเจรจาไม่ลงตัวและเราแพ้คดีก็ต้องจ่ายค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว บวกดอกเบี้ย 5% ต่อปีอีกด้วย

เมื่อผ่อนรถต่อไม่ไหวควรทำอย่างไร

เอาล่ะ วันนี้เรามาลองฝึกวิชาตัวเบากัน เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดของการผิดสัญญาเช่าซื้อ หรือค้างชำระนานเกิน 3 งวดติดกัน เราขอให้คุณเริ่มจากทบทวนการผ่อนของตัวเองย้อนหลังสักนิด หากพบว่าเราผ่อนจ่ายแบบงวดเว้นงวดมาสักระยะแล้วล่ะก็ ยอมรับความจริงเสียเถิดว่าไปต่อไม่ไหว แล้วเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองสักข้อ ดังนี้

1. ขายรถคันงามออกไปก่อน

แล้วเอาเงินมาปิดยอดหนี้ที่เหลือทั้งหมดกับไฟแนนซ์เสีย โดยข้อควรระวัง คือเราต้องได้เงินมาปิดหนี้กับไฟแนนซ์ก่อน แล้วค่อยให้กุญแจรถกับผู้ซื้อคนใหม่ไป

2. ยอมมอบรถเสีย

หากไม่สามารถหาผู้ซื้อรายใหม่ต่อได้ก็นำรถที่อยู่ในสภาพดีกลับไปคืนไฟแนนซ์ และจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่จนถึงวันที่คืนรถทั้งหมด แบบนี้จะเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ไม่ถือเป็นการผิดสัญญา เราก็จะไม่ต้องชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์เหมือนกับกรณีที่ผิดสัญญาแล้วไฟแนนซ์ต้องนำรถไปขายต่อเอง

ซึ่งข้อนี้ก็ขอโน้ตไว้นิดนึงว่า เมื่อนำรถไปคืนไฟแนนซ์ เราควรทำหนังสือไว้เป็นหลักฐานว่า นำรถยนต์มาคืนเรียบร้อยแล้ว และทางไฟแนนซ์ไม่ติดใจที่จะเรียกค่าชดใช้เงินใด ๆ อีก พร้อมทั้งถ่ายรูปหรือวิดีโอตอนคืนรถเก็บไว้เป็นหลักฐานอีกชั้นหนึ่งด้วย เผื่อว่ามีปัญหาฟ้องร้องกันในวันหน้าก็จะได้มีหลักฐานไปใช้ต่อสู้ในศาล

3. รีไฟแนนซ์หรือขอปรับโครงสร้างหนี้

รีไฟแนนซ์กับเจ้าหนี้เดิมหรือเจ้าหนี้รายใหม่ก็ได้ เพื่อลดยอดผ่อนต่องวดลงมาให้เหมาะกับกระแสเงินสดที่มี โดยวิธีนี้อาจจะเหมาะกับผู้ที่ผ่อนมานานพอสมควรแล้ว แต่การเลือกใช้วิธีนี้อาจจะต้องคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ดี ให้มั่นใจว่าไหวจริง ๆ เพราะอย่าลืมว่ายอดผ่อนที่ลดลง หมายถึงเราต้องเป็นหนี้นานขึ้น และภาระดอกเบี้ยก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน หากไม่ไหวอาจต้องกลับไปเลือกวิธีที่ 1 หรือ 2 อาจจะเหมาะกว่า

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกในการเดินทางทุกวันนี้มีความหลากหลายและสะดวกสบายมากขึ้น หากเราจะกลับมาใช้ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะของเมืองไทยก็อาจไม่ได้ทำให้ชีวิตแย่เกินไปนัก เมื่อเทียบกับการแบกหนี้หลังแอ่น