สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประกาศปรับลดประมาณการผลิตรถยนต์ปี 2566 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 1,900,000 คัน แบ่งเป็นส่งออก 1,050,000 คัน และจำหน่ายในประเทศ 850,000 คัน โดยจะลดลงมาเหลือ 1,850,000 คัน ซึ่งจะจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน ส่วนการส่งออกยังคงเป้าหมายเดิม คือ 1,050,000 คัน ดังนั้น การผลิตรวมจะลดลงจากปี 2565 ประมาณ 1.78% ที่ผลิตได้ 1,883,515 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น หลังหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์เครดิตบูโร ประกอบกับไฟแนนซ์บางแห่งปรับการวางเงินดาวน์ขึ้นไปสูงถึง 30 – 40% เหมือนเป็นการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไปโดยปริยาย เดิมที สอท. คาดว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะดีขึ้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่ แต่เหตุการณ์กลับตรงกันข้าม

เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยเดือนกันยายน 2566 ที่ขายได้ 62,086 คัน ลดลง 16.27% ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายรถกระบะที่ลดลงถึง -45% จากการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดมาก ประกอบกับเดือนกันยายน 2565 มีฐานสูงเพราะเริ่มได้รับไมโครชิป ทำให้ 9 เดือนแรกมียอดขาย 586,870 คัน ลดลง 7.39%

ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 97,476 คัน เพิ่มขึ้น 2.90% และ 9 เดือนแรกส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 821,899 คัน เพิ่มขึ้น 16.34% มีมูลค่าการส่งออก 519,435.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.27% ทำให้การส่งออกทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสต้องไม่บานปลายขยายวงกว้างไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยยอดจดทะเบียนรถใหม่ในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 6,839 คัน เพิ่มขึ้น 542.16% ส่งผลรวม 9 เดือนแรกปีนี้ มียอดขายรถอีสีรวมสะสมอยู่ที่ 50,000 คัน เพิ่มขึ้น 757.63%

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส