ปัจจุบัน ความไม่แน่นอนต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น การออมเงินไว้ใช้เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของเราเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ทำให้การเพิ่มบัญชีเงินออมเพื่อสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินจึงถือว่ามีความจำเป็นมากขึ้น เพราะเครื่องการันตีความปลอดภัยทางการเงินให้กับเราได้อีกระดับหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด  

แล้วถามว่า ต้องออมเท่าไรถึงจะปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน ? บทความนี้ beartaiBRIEF มีคำตอบ!

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจถึงคำว่า ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ก่อนว่ามีความหมายอย่างไร ซึ่ง ‘เงินฉุกเฉิน’ คือเงินที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนมาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว หรือเรียกได้ว่าใช้งานได้ทันทีทันใด

แล้วทำไมถึงต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ? ต้องบอกว่าแต่ละคนมีประสบการณ์การเกิดภาวะฉุกเฉินในชีวิตไม่เหมือนกัน ระดับความรุนแรงก็แตกต่างกันไป ตั้งแต่ปัญหาเล็กไปจนถึงวิกฤตใหญ่ เช่น โทรศัพท์พัง รถเสีย เกิดอุบัติเหตุ เข้าโรงพยาบาล ผ่าตัดฉุกเฉิน ตรวจพบโรคร้าย ตกงาน หรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนร่วมอยู่ในวิกฤตเดียวกันคือ โควิด – 19 พวกเราทุกคนถูกล็อกดาวน์ ถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง บางคนต้องปิดกิจการ ซึ่งผลกระทบของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามาตรวัดผลกระทบที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ‘เงินออม’ ยิ่งตัวเลขเงินเก็บสูง ผลกระทบทางการเงินยิ่งน้อยลง

ทั้งนี้ ก่อนหน้าโควิด – 19 เราเคยมองว่าควรมีเงินออมเผื่อไว้ให้เพียงพอในระยะ 3 – 6 เดือนข้างหน้า แต่จากบทเรียนครั้งนี้ทำให้นักวางแผนทางการเงินได้ขยายเวลาสำรองเงินเผื่อใช้ออกไปเป็น 8 เดือน 10 เดือน หรือ 12 เดือนกันเลยทีเดียว หรือถ้าคำนวณเป็นตัวเลข เราจะพบว่าควรมีเงินออมเผื่อไว้ในยามฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น หากเรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 30,000 – 60,000 บาท

แล้วเราควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ไหน ? เมื่อคำนิยามของเงินสำรองฉุกเฉินคือเงินที่มีสภาพคล่องสูง ดังนั้น เครื่องมือทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูงสุดคือ ‘เงินฝากออมทรัพย์’ จึงเป็นคำตอบ ในขณะที่อีกทางเลือกคือ การแบ่งเก็บในบัญชีเงินฝากประจำระยะสั้นที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือหน่วยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือกองทุนรวมหุ้น ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ใน 1 – 2 วัน    

การวางแผนทางการเงินและการสร้างวินัยการออมถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยสามารถเริ่มต้นได้เลยในทุกช่วงวัย และในทางทฤษฎีแล้ว มีหลักการออมให้เลือกใช้หลายสูตร ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือการหัก 10% ของรายได้ในแต่ละเดือนไว้เป็นเงินออม เช่น ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นทำงานด้วยเงินเดือน 15,000 บาท ให้หักเข้าบัญชีเงินออม 1,500 บาทในแต่ละเดือน

หรือถ้ามีรายได้มากขึ้นและต้องการ Up Level ในการออมก็อาจใช้สูตร 80/20 โดยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนของ 80% สามารถนำไปใช้จ่ายได้ ส่วนที่เหลืออีก 20% ให้กันไว้เป็นเงินออม เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 25,000 บาท ควรแบ่งเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ 20,000 บาท เงินเก็บ 5,000 บาท และอาจแบ่งย่อยเป็นเงินที่สำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจริง ๆ อีกก้อนหนึ่ง

เมื่อคุณมีความพร้อมทั้งในส่วนของเงินออมและเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว สิ่งนี้ก็จะเป็นเกราะป้องกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ช่วยให้คุณผ่านพ้นในทุกวิกฤตได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส