ทุกคนย่อมเคยทานยาแก้ปวดกันมาแล้วทั้งนั้นละครับ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดที่เกิดจากระบบภายในร่างกายเราเอง เช่นปวดคอ ปวดหัว ปวดท้อง หรือปวดจากการบาดเจ็บฟกช้ำ เช่น ปวดแขน ปวดขา เราก็มักจะถึงยาแก้ปวดเช่น พาราเซตามอล, แอสไพริน หรือ ไอบรูโพรเฟน ซึ่งล้วนเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือถ้าไม่มี 7-11 ก็ยังมีขาย หาง่ายมาก แล้วก็ทำงานได้ดังกับยาวิเศษ เพราะทานไปแค่แพร้บเดียว อาการปวดเหล่านั้นกลับหายเป็นปลิดทิ้ง ชวนให้ฉงนสงสัย เอ๊ะ ! บางทีเราก็ปวดหัว บางทีเราก็ปวดน่อง ห่างกันตั้งไกล ยาแก้ปวดมันรู้ได้อย่างไรว่าเราปวดตรงไหน ทำไมยาเดียวกันมันแก้ปวดได้ทั้งตัวเลยนะ มาครับ บทความนี้จะสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่ายาแก้ปวด หรือ Pain Relievers นี่มันทำงานอย่างไรกัน ?

หลังเราทานยาแก้ปวดสัก 2 เม็ด พร้อมน้ำดื่มเข้าไปแล้ว เอาจริง ๆ แล้ว ตัวยามันไม่ได้ทำการสำรวจแล้ววิ่งตรงไปยังจุดที่เราปวดหรอกครับ แต่ยาแก้ปวดมันวิ่งตรงไปทำงานกับเซลล์ในร่างกายเราต่างหาก ยาแก้ปวดจะทำงานกับระบบประสาท กับส่วนปลายประสาท และสมองเราส่วนที่รับรู้อาการปวด

ทั่วทั้งร่างกายเรานี่เต็มไปด้วยปลายประสาทมากมายอยู่ทั้งบนผิวหนัง และภายในเนื้อเยื่อของเรา หน้าที่ของปลายประสาทเหล่านี้คือรับรู้อาการเจ็บปวด ไม่ว่าจะโดนความร้อน ความเย็น หรือกระแทกกับของแข็งจนฟกช้ำ เมื่อร่างกายเราบาดเจ็บหรือเสียหาย เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นก็จะหลั่งสารที่มีชื่อว่า “โพรสตาแกลนดิน” (prostaglandins) ออกมา ปลายประสาทนั้นก็ไวต่อสารโพรสตาแกลนดินอย่างมาก พอปลายประสาทได้รับสารโพรสตาแกลนดินปั๊บก็จะรับรู้ทันทีว่าเนื้อเยื่อบริเวณนี้เกิดอาการบาดเจ็บแล้ว ก็จะส่งข้อมูลผ่านไปยังระบบประสาทวิ่งตรงไปสู่สมองทันที ข้อมูลนี้จะรายงานละเอียดว่า อาการบาดเจ็บฟกช้ำนั้นรุนแรงแค่ไหน กินพื้นที่เพียงใด พอสมองได้รับข้อมูลแล้ว เราในฐานะเจ้าของร่างก็จะสัมผัสได้ถึงอาการเจ็บปวดนั้นทันที

อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจจะคิดว่า อาการเจ็บปวดนี้ไม่ดีเลย ทรมาน ถ้าตัดระบบการทำงานนี้ไปได้ เราก็จะไม่ทรมาน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าร่างกายเราไม่มีระบบตอบสนองนี้ ร่างกายเราอาจจะเสียหายรุนแรงหรือพิการไปแล้วก็ได้ เพราะอาการเจ็บปวดนี้คือระบบป้องกันอัตโนมัติของร่างกายเรานั่นเอง สมมติว่าเราพลาดเอามือไปจับหม้อที่กำลังร้อน ๆ อยู่ พอเรารับรู้ได้ถึงอาการปวดแสบปวดร้อน เราก็รีบชักมือออกทันทีก่อนที่มือเราจะถูกเผาไหม้ไปมากกว่านี้

แล้วทำไมเรากินยาแล้วถึงหายปวด นั่นก็เพราะยาแก้ปวดไประงับไม่ให้เซลล์หลั่งสารโพรสตาแกลนดินออกมานั่นเอง พอเซลล์หยุดหลั่งสาร สมองเราก็ไม่ได้รับการรายงานข้อมูลอาการเจ็บปวดอีกต่อไป อาการปวดก็หายไปตราบเท่าที่ตัวยายังคงทำงาน แล้วเซลล์บริเวณนั้นก็ยังคงหยุดการหลั่งสารออกมา

แต่ถ้าเราเข้ารับการผ่าตัด และจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงหลังการผ่าตัด ในกรณีนี้แพทย์จะให้เราทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น ยาแก้ปวดรูปแบบนี้จะเข้าแทรกแซงการทำงานระหว่างเซลล์ไม่ให้ส่งข้อมูลหากัน ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกส่งไปยังสมอง ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไปในขณะที่ยาออกฤทธิ์

ยาแก้ปวดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ออกฤทธิ์ได้ผลดี แต่ไม่ควรทานบ่อยจนเกินไป ไม่ควรทานเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน!! โดยถ้าเป็นยาแก้ปวดขนาด 325-500 มิลลิกรัม ควรเว้นระยะห่าง 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นยาแก้ปวดขนาด 1,000 มิลลิกรัม ควรเว้นระยะห่าง 6-8 ชั่วโมง และไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 7 วัน

ที่มา