บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้แบรนด์ ‘เถ้าแก่น้อย’ ได้ออกมาเปิดเผยกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือจะมีการทบทวนเพื่อเปิดสาขาเถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land) เพิ่ม หวังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land) คือหนึ่งในธุรกิจของเครือ TKN ซึ่งเป็นธุรกิจร้านขายของฝากเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ประกอบไปด้วยสินค้าสาหร่ายและขนมขบเคี้ยวของเถ้าแก่น้อย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าฝากขายและสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวโดยเฉพาะ

นายจิระพงษ์  สันติภิรมย์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นับเป็นปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญต่อการเติบโตบริษัทฯ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนหรือนักท่องเที่ยวชาติประเทศอื่น ๆ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในหมวดต่างเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน อาทิ หมวดอาหาร เครื่องดื่มและหมวดของฝาก 

ดังนั้น เถ้าแก่น้อยจึงได้กลับมาเปิดสาขา ‘เถ้าแก่น้อยแลนด์’ อีกครั้งหนึ่ง โดยจะเริ่มที่เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์ (Asiatique The Riverfront) ซึ่งเป็นศูนย์การค้าเปิดโล่งขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์นับเป็นร้านของฝากแบบ One Stop Shopping และถือเป็นหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อของฝากก่อนกลับประเทศไปทุกครั้ง

ทั้งนี้ เป้าหมายการดำเนินงานปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% สร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

  1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย (Product Mix) เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีแผนออกสินค้าใหม่ด้านนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูง โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสาหร่าย (Seaweed) ไม่ต่ำกว่า 10 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์นอกเหนือกลุ่มสาหร่าย (Non-Seaweed) ได้แก่ เครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ ‘จัสท์ดริ้งค์ (Just Drink)’ ซึ่งจะมีรสชาติใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาไม่ต่ำกว่า 2-3 รายการ
  2. เพิ่มช่องทางการขายใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นขยายช่องทางร้านค้าท้องถิ่น (Traditional Trade) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปัจจุบันตลาดในประเทศมีจำนวน Traditional Trade เพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 1,000 ร้านค้า เพื่อกระจายสินค้าเข้าสู่ผู้บริโภค ส่วนตลาดต่างประเทศได้มีการจัดกิจกรรมออนไลน์ โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ของแต่ละประเทศเข้ามาทำกิจกรรมร่วมด้วย
  3. เดินหน้านโยบาย ‘3GO’ ต่อเนื่อง ประกอบด้วย ‘GO Firm’ ปรับองค์กรให้กระชับ (Lean) คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ‘GO Broad’ หรือการขยายฐานธุรกิจให้กว้างขึ้นและมีคุณค่า ผ่านการพัฒนาสินค้านวัตกรรมกลุ่มใหม่ ๆ (Innovation Food) เข้าสู่ตลาด รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามากขึ้น และ ‘Go Global’ การขยายตลาดในต่างประเทศที่มีศักยภาพ ผลักดันยอดขายให้เติบโตต่อเนื่อง