จินดามณี’ เป็นแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นโดยพระโหราธิบดี พระราชครูในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งตรงกับช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย ‘จินดามณี’ ถือเป็นแบบเรียนไทยที่มีเนื้อหาครอบคลุมอักขรวิธีไทยเบื้องต้น ระเบียบของภาษา และการประพันธ์ร้อยกรองแบบต่าง ๆ

คำว่า “จินดามณี” มีความหมายว่า แก้วสารพัดนึก ซึ่งมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ผู้ที่ได้ครอบครองแก้วดังกล่าว หากนึกคิดอะไรอยู่ในใจก็จะสำเร็จตามปราถนา ความหมายดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า ใครที่เรียนหนังสือเล่มนี้จนแตกฉาน ย่อมจะประสบความสำเร็จและมีชีวิตรุ่งโรจน์ โดยนัยของความหมายนี้ถูกบอกไว้ในโครงท้ายเรื่องบทหนึ่งของหนังสือจินดามณี คือ

ลิขิตวิจิตรด้วย ศุภอรรถ
ด่งงมณีจินดารัตน เลอศแก้ว
อันมีศิริสวัสดิ โสภาคย์
ใครรู้คือได้แก้ว ค่าแท้ควรเมือง ฯ

ต้นกำเนิดจินดามณี

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์ด้านการค้าที่ดีกับนานาชาติ ทำให้ชาวตะวันตกเดินทางเข้ามามาก รวมถึงคณะมิชชันนารี ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การทางศาสนาที่ได้ก่อตั้งสำนักหมอสอนศาสนาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อสอนหนังสือและเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวตะวันตก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเผยแพร่ศาสนาไปในตัว

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกังวลว่า ประชาชนจะเปลี่ยนศาสนาและนิยมชาติตะวันตกมากเกินไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระโหราธิบดี พระราชครูในพระองค์แต่งหนังสือเรียน ‘จินดามณี’ ขึ้น เพื่อสอนให้ประชาชนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างเป็นมาตรฐาน และมีความรู้ในการประพันธ์ร้อยกรอง โดยเนื้อหาของหนังสือจินดามณีจะครอบคลุมการสอนอักขรวิธีเบื้องต้น, ระเบียบของภาษา, การประพันธ์ร้อยกรองแบบต่าง ๆ เช่น กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ รวมถึงกลวิธีการประพันธ์

อย่างไรก็ตาม มีการสันนิษฐานว่าหนังสือแบบเรียนในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นอาจมีมากกว่านี้ และอาจมีเล่มที่แต่งขึ้นก่อนหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี แต่ด้วยความที่หนังสือจินดามณีเป็นหนังสือแบบเรียนโบราณเพียงเล่มเดียวที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการจึงถือว่า ‘จินดามณี’ เป็นแบบเรียนไทยเล่มแรก

จินดามณี : หนังสือเรียนภาษาไทยเล่มแรก ถือกำเนิดในสมัยอยุธยา

จินดามณีไม่ได้มีฉบับเดียว

ด้วยความที่หนังสือจินดามณีถูกใช้เป็นแบบเรียนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำให้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปตามยุคตามสมัย ทำให้หนังสือจินดามณีไม่ได้มีแค่ฉบับเดียว โดยได้มีการกำหนดให้ หนังสือจินดามณี เล่มที่ 1 เป็นฉบับที่แต่งขึ้นโดยพระโหราธิบดี

ในขณะที่หนังสือจินดามณี เล่มที่ 2 ถูกกำหนดให้เป็นฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนของพระราชโอรสที่ทรงพระเยาว์ โดยหนังสือจินดามณีฉบับนี้มีเนื้อหาที่ละเอียดกว่าหนังสือจินดามณี เล่มที่ 1

หนังสือจินดามณีอีกฉบับหนึ่งที่โด่งดัง คือ หนังสือจินดามณีของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้มีส่วนสำคัญในวงการการพิมพ์ของไทย ซึ่งหนังสือจินดามณีของหมอบรัดเลย์นั้นเป็นการรวบรวมแบบเรียนไทยจากหลาย ๆ เล่มมาพิมพ์รวมกันไว้ เช่น ประถม ก.กา, แจกลูก, จินดามณี, ประถมมาลา และปทานุกรม

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ยังระบุอีกว่ามีหนังสือจินดามณีฉบับอื่น ๆ อีก เช่น จินดามณีฉบับบสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (ฉบับความแปลก) และบันทึกเรื่องหนังสือจินดามณีของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นต้น

ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม, กรมศิลปากร, กระทรวงศึกษาธิการ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส