สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชนในช่วงหน้าฝนให้ระมัดระวัง “กิ้งกือ” แม้จะไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษ ที่ส่งผลให้ผิวหนังระคายเคืองได้  

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่อาจจะพบกิ้งกือได้บ่อย ๆ ในบ้าน หรือสวนสาธารณะ ขอให้ประชาชนระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับกิ้งกือโดยตรง แม้กิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่หากสัมผัสถูกตัว อาจจะสัมผัสสารพิษของกิ้งกือที่ปล่อยออกมาจากข้างลำตัว โดยสารพิษเหล่านี้จะมีฤทธิ์ฆ่าสัตว์เล็ก ๆ ประเภทมด หรือแมลง เท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อผิวหนังของมนุษย์ได้เมื่อสัมผัสโดยตรง 

ด้าน นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  สารพิษของกิ้งกือมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไฮโดนเจน ไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควิโนน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังเป็นแผลไหม้ได้ และบางรายอาจจะมีอาการปวด รวมทั้งการระคายเคืองของผิวหนังร่วมด้วย 

ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดโดยทันที สามารถทายาแก้อักเสบ และให้การรักษาได้ตามอาการ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงให้รีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที

ที่มา : กรมการแพทย์