เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุคานสะพานโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช – ลาดกระบังถล่มลงมา บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส ลาดกระบัง แยกวัดพลมานีย์ ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 20 ราย ในขณะที่อาคารพาณิชย์และรถยนต์โดยรอบได้รับความเสียหายหลายรายการ

ล่าสุด วันนี้ (11 ก.ค. 66 ) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวกรณีดังกล่าวโดยชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช – ลาดกระบัง มีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการ และกิจการร่วมค้า ธาราวัญ – นภา ประกอบด้วย บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ประมูลโครงการฯ ได้ วงเงินตามสัญญา 1,664.55 ล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 900 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2566

ลักษณะของโครงการก่อสร้างคิดเป็นระยะทางประมาณ 3,500 เมตร แบ่งเป็นการก่อสร้างทางยกระดับจำนวน 4 ช่องทาง, การก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามคลอง, การก่อสร้างระบบระบายน้ำ ไฟฟ้า แสงสว่าง และอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง คือ แก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนอ่อนนุช – ลาดกระบัง และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ว่าฯ กทม. อธิบายว่า Box Segment หรือโครงสร้างสะพานเกิดการวิบัติ ขณะดึงลวดอัดแรง ส่งผลให้ Launching Truss หรือตัวที่ใช้ยึดคานสะพานชั่วคราวระหว่างก่อสร้างเสียสมดุลและถล่มลงมา โดยคิดเป็นความเสียหายประมาณ 1 ช่วงสะพาน รวมถึงมีอาคารพาณิชย์และรถยนต์โดยรอบได้รับความเสียหายหลายรายการ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ วิศวกรผู้ควบคุมงานดึงลวด 1 ราย และคนงาน 1 ราย ในขณะที่ผู้บาดเจ็บ ยอดรวมล่าสุด คือ 20 ราย แบ่งเป็นคนงานชุดปฏิบัติการดึงลวด 13 ราย และคนงานชุดปฏิบัติการติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน 7 ราย สำหรับบุคคลทั่วไปไม่มีรายงานว่าเสียชีวิต แต่มีอาการบาดเจ็บบ้าง สำหรับภาพเหตุการณ์ที่มีชิ้นส่วนสะพานทับรถยนต์นั้น นายชัชชาติระบุว่า ผู้ใช้รถและผู้ที่โดยสารมาด้วยกันสามารถหนีออกมาได้ทันเวลา

สำหรับการร้องเรียนก่อนหน้าที่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น นายชัชชาติระบุว่า นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก. เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย เคยยื่นกระทู้ถามในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2566 ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้รับเรื่องไว้และเร่งรัดการดำเนินการอยู่

ในส่วนของการกู้ภัยและกู้ซากนั้น เมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ได้มีการปูพรมค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ใต้ซากชิ้นส่วน ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มี ทางกรุงเทพมหานครจึงจะดำเนินการเคลียร์พื้นที่ต่อไป โดยต้องประเมินความปลอดภัยทางวิศวกรรมก่อน เนื่องจากโครงสร้างได้รับความเสียหายมาก มีความไม่เสถียร อาจมีการพังถล่มต่อเนื่องได้ ดังนั้น การเข้าพื้นที่ต้องมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น

สำหรับระยะเวลาในการกู้ภัยและกู้ซากนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 7 วัน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ถนนหลวงแพ่ง – ลาดกระบัง และบริเวณโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการกู้ภัยและกู้ซากได้อย่างสะดวก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส