วันนี้ 24 ก.ค. 2025 เราต่างได้เห็นการพูดถึง ‘อนุสัญญาเจนีวา’ โดยเฉพาะอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นผลมาจาการโจมตีทางทหารของทางฝั่งกัมพูชาหลังพบกระสุนตกใกล้โรงพยาบาลพนมดงรัก แม้ว่ากัมพูชาและไทยเองล้วนอยู่ในภาคีอนุสัญญาเจนีวา
ในบทความนี้ เราจะพามาทำความรู้จักกับอนุสัญญาเจนีวา ที่ช่วยค้ำจุนมนุษยธรรม แม้ในยามศึกสงคราม ว่าคืออะไร และคุ้มครองใครบ้าง ?
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1859 ณ สมรภูมิซอลเฟริโน (Battle of Solferino) ในอิตาลี นักธุรกิจชาวสวิสนามว่า อังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) คนเดียวกันกับชื่อของแยกอังรีดูนังต์ในย่านปทุมวัน เขาได้เผชิญหน้ากับภาพความโหดร้ายของสงคราม ผ่านการเห็นทหารบาดเจ็บล้มตายนับหมื่นคนถูกทอดทิ้งในสนามรบโดยปราศจากการรักษา ทำให้เขาเกิดความคิดที่ว่าแม้ในยามสงคราม มนุษยธรรมก็ยังต้องคงอยู่
เขาเชื่อว่าทหารที่บาดเจ็บไม่ใช่ศัตรูอีกต่อไป แต่เป็นเพียงมนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือ ความคิดนี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การก่อตั้ง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และการร่าง อนุสัญญาเจนีวาฉบับแรกขึ้นในปี ค.ศ. 1864 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการวางกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดความโหดร้ายของสงครามเป็นครั้งแรก
แม้จะมีอนุสัญญาฉบับแรก แต่ความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพลเรือนนับล้านชีวิตโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ชนชั้น หรือฐานะ ทำให้ประชาคมโลกตระหนักว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1949 ทั่วโลกจึงร่วมกันสร้าง อนุสัญญาเจนีวา 4 ฉบับ ซึ่งถือเป็นหัวใจของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า แม้แต่ในสงครามก็ยังมีขอบเขต การกระทำบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยเด็ดขาด และบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบจะต้องได้รับการคุ้มครอง
อนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับนี้ ได้วางเสาหลักแห่งการคุ้มครองไว้สำหรับกลุ่มบุคคลแต่ละกลุม่ในช่วงสงคราม ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
อนุสัญญาฉบับที่ 1: ผู้บาดเจ็บบนสมรภูมิรบ
– คุ้มครองทหารที่บาดเจ็บและป่วยในสนามรบภาคพื้นดิน
– กำหนดให้ทุกฝ่ายต้องรวบรวมและดูแลรักษาผู้บาดเจ็บโดยไม่เลือกปฏิบัติ
– ให้ความคุ้มครองแก่บุคลากรและหน่วยพยาบาล รวมถึงยานพาหนะทางการแพทย์ภายใต้สัญลักษณ์กาชาดหรือเสี้ยววงเดือนแดง
อนุสัญญาฉบับที่ 2: ผู้ประสบภัยในสมรภูมิทางทะเล
– ขยายการคุ้มครองจากฉบับแรกไปสู่กองทัพเรือ
– ให้ความคุ้มครองแก่ทหารที่บาดเจ็บ ป่วย หรือเรืออับปางในทะเล รวมถึงเรือพยาบาล
อนุสัญญาฉบับที่ 3: เชลยศึก
– กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่อเชลยศึกอย่างมีมนุษยธรรม
– เชลยศึกต้องได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรง การข่มขู่ และการดูหมิ่น
– พวกเขามีสิทธิได้รับอาหาร ที่พักพิง เครื่องนุ่งห่ม และการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ และต้องถูกส่งกลับประเทศหลังสิ้นสุดสงคราม
อนุสัญญาฉบับที่ 4: พลเรือนผู้บริสุทธิ์
– ต้องให้ความคุ้มครองพลเรือนอย่างเป็นทางการและครอบคลุม
– ห้ามการโจมตีพลเรือนโดยเจตนา การจับเป็นตัวประกัน หรือใช้เป็นโล่มนุษย์ รวมถึงการโจมตีพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ทางทหาร อย่างชุมชน และสถานพยาบาล
– ห้ามการลงโทษคนทั้งกลุ่ม การบังคับย้ายถิ่นฐาน และการทำลายทรัพย์สินโดยไม่มีความจำเป็นทางทหาร
การมีอยู่ของกฎหมายจะไร้ความหมายหากปราศจากการบังคับใช้ รัฐภาคีเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ มีพันธกรณีที่จะต้องออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำการละเมิดอย่างร้ายแรง หรือที่เรียกว่า “อาชญากรรมสงคราม” (War Crimes) โดยการลงโทษอาชญากรสงคราม สามารถทำได้ตั้งแต่ทหารที่ละเมิดกฎ ไปจนถึงผู้นำการรบ อย่างไรก็ตาม การพิพากษาหรือตัดสินต้องอาศัยกลุ่มประเทศในภาคีเพื่อยืนยันเจตนาในการละเมิด
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมรายละเอียดกำกับตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อย่าง พิธีสารเพิ่มเติม (Additional Protocols) อีก 3 ฉบับในภายหลัง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของอนุสัญญาฯ ให้ครอบคลุมถึงสงครามกลางเมืองและการต่อสู้รูปแบบใหม่ ๆ
ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดต่อไปว่าการโจมตีเข้ามายังพื้นที่ชุมชนและสถานพยาบาลของทางกัมพูชาจะถูกพิพากษาหรือลงโทษในฐานะอาชญากรรมสงครามหรือไม่