ลูกอมรสธาตุเหล็กถูกพัฒนาขึ้นมาจากคอมเปโต (Kompeito) เป็นลูกอมดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นที่มีต้นแบบมาจากประเทศโปรตุเกสที่เคลือบไปด้วยสีและรสชาติที่หวานมาก เพราะส่วนผสมที่ใช้มีเพียงน้ำตาลอย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักข่าวมาซานุกิ ซูนะโคมะ (Masanuki Sunakoma) ได้ค้นพบรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับลูกอมคอมเปโต นั่นคือรสธาตุเหล็กนั่นเอง

ลูกอมรสธาตุเหล็กอาจฟังดูแปลกและไม่ค่อยน่าดึงดูดใจให้ลองกินเท่าไหร่ แต่นักข่าวท่านนี้ลงทุนเดินทางไปยังเมืองคิตะคิวชู ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อลองชิมลูกอมรสธาตุเหล็ก เขาจึงไปที่โรงแรมชิกูสะ ที่ขายลูกอมรสธาตุเหล็กนี้อยู่ ถึงแม้โรงแรมจะขายลูกอมรสชาติที่มีความแปลกประหลาดนี้ แต่เหตุผลที่โรงแรมกล้าที่จะขายเพราะเมืองคิตะคิวชูมีโรงงานถลุงเหล็กที่มีชื่อเสียงคือโรงงานเหล็กยาวาตะ

โรงงานเหล็กยาวาตะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1896 และเมื่อจู่ ๆ โรงงานต้องรับผิดชอบการผลิตเหล็กให้กับประเทศถึง 90% ทำให้โรงงานแห่งนี้เป็นที่รู้จักในเรื่องของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นให้มีความทันสมัยและการเติบโตในด้านเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ในปี 2015 โรงแรมชิกูสะ ได้ตัดสินใจทำลูกอมรสธาตุเหล็กขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับโรงงานเหล็กยาวาตะที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

เมื่อนักข่าวท่านนี้ได้ลองชิมและกัดลูกอมรสธาตุเหล็กนี้ ความรู้สึกเหมือนเขากำลังกัดกินเหล็กอยู่ จนเขาคิดว่าตัวเองเหมือนถูกวิญญาณของพนักงานโรงงานถลุงเหล็กที่ทำงานเพื่อพัฒนาญี่ปุ่นครอบบงำจริง ๆ

แต่ถ้าให้พูดถึงรสชาติจริง ๆ มันก็ไม่ได้แย่นะ แต่สำหรับนักข่าวท่านนี้คิดว่าตัวเองกำลังกินเลือดตัวเองอยู่เลย เขาจึงนำลูกอมรสนี้กลับมาให้เพื่อนร่วมงานลองชิมกัน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าลูกอมธาตุเหล็กรสชาติคล้ายเลือดจริง ๆ พวกเขาไม่รับรู้ถึงความหวานของลูกอมเลย จนบางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนเหงือกกำลังเลือดออกอยู่เลย

ยกเว้นเซจิ นากาซาวะ (Seiji Nakazawa) ที่บอกว่าเขาสัมผัสได้ถึงรสเปรี้ยวจาง ๆ ของรสบ๊วย “มันรสชาติเหมือนขนมที่คุณย่าจะให้ผมเลย พูดจริง ๆ นะ ถ้ามันอยู่บนโต๊ะอาหารที่บ้านคุณย่า ผมก็คงกินมันเข้าไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร”

เมื่อคุณมาเที่ยวที่เมืองคิตะคิวชูแล้วอยากได้ของฝากที่ไม่เหมือนใคร ก็ลองเอาลูกอมรสธาตุเหล็กนี้กลับไปฝากดูสิ นอกจากโรงแรมชิกูสะแล้ว ยังหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าอิซึสึยะ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและมนุษย์คิตะคิวชู ได้อีกด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส