แฟรนไชส์ภาพยนตร์จูราสสิค (Jurassic) ที่ทำให้คนดูตกหลุมรักไดโนเสาร์มายาวนานกว่า 29 ปี (ตั้งแต่ปี 1993) กับภาพยนตร์กว่า 6 เรื่อง ได้เดินทางมาสู่บทสรุปของแฟรนไชส์ในภาคล่าสุดอย่าง ‘Jurassic World: Dominion’ หรือชื่อไทย ‘จูราสสิค เวิลด์ ทวงคืนอาณาจักร’

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Jurassic World: Dominion’

ย้อนกลับไปช่วงยุค 90s คงไม่มีใครเชื่อว่าการจะทำหนังที่มีไดโนเสาร์โผล่มาไล่ล่าคนสักเรื่องจะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเขาสามารถคืนชีพไดโนเสาร์ให้กลับมามีชีวิตบนจอภาพยนตร์ได้อีกครั้ง แม้ว่าเทคโนโลยีในสมัยนั้นจะยังไม่มีความก้าวหน้าและทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ แต่สปีลเบิร์กทำได้อย่างไร? วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันว่าไดโนเสาร์จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์จูราสสิคสร้างขึ้นมาได้อย่างไร?

สปีลเบิร์ก และ หุ่นไดโนเสาร์จำลอง (Animatronics)

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าไดโนเสาร์ที่เห็นกันในแต่ละฉากนั้น ผ่านการสร้างโดยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ อย่าง CGI ทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วไดโนเสาร์เหล่านั้น สร้างขึ้นโดยการผสมผสานกันระหว่างการสร้างหุ่นไดโนเสาร์จำลอง (Animatronics) และ CGI ที่มีการออกแบบให้ไดโนเสาร์สมจริงมากที่สุด จนทำให้ไดโนเสาร์เหล่านี้ออกมาสมบูรณ์แบบราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตจริง ๆ ทั้งนี้เพื่อความเป๊ะและความสมจริง ไดโนเสาร์แต่ละตัวจะผ่านการดูแลและรับรองจากนักบรรพชีวินวิทยา ตั้งแต่ลักษณะท่าทาง ผิวหนัง สีผิว และอื่น ๆ

ทีเร็กซ์ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Jurassic Park’

บริษัทที่เป็นทีมงานสร้างไดโนเสาร์จำลอง คือ Stan Winston Studio ที่ก่อตั้งโดย สแตน วินสตัน (Stan Winston) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแต่งหน้าเอฟเฟกต์ และหุ่นอนิเมทรอนิกส์ ซึ่งเขาเคยร่วมสร้างผลงานระดับตำนานไว้มากมาย เช่น ‘Predator’, ‘Terminator’, ‘Iron Man’, ‘Alien’ รวมไปถึง ‘Jurassic Park’ ที่ทำให้ภาพยนตร์ภาคแรกของแฟรนไชส์นี้คว้ารางวัลออสการ์ไปได้

วินสตัน และ หุ่นทีเร็กซ์

ครั้งหนึ่งในระหว่างการทดสอบหุ่นจำลองไดโนเสาร์ เคยมีเหตุการณ์ที่ทีมงานเกือบเสี่ยงตายในขณะนั้น เพราะในช่วงที่กำลังจะทดสอบหุ่น ต้องมีการเช็กและซ่อมบางชิ้นส่วนของหุ่นให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน จึงมีทีมงานบางคนที่ยังอยู่ด้านในของโครงสร้างแต่ไม่มีใครทราบ ทีมงานที่อยู่ด้านนอกจึงกดเปิดระบบเพื่อทดสอบหุ่นไดโนเสาร์จำลอง แต่ทันใดนั้นพวกเขาก็ได้ยินเสียงตะโกนออกมาจากด้านในของตัวหุ่น คือมีคนอยู่ด้านในนั้น แต่ถือเป็นความโชคดีที่ในครั้งนั้นไม่มีใครได้รับบาดเจ็บสาหัส

หุ่นทีเร็กซ์

นอกจากการสร้างหุ่นไดโนเสาร์จำลองแล้วนั้น ต่อไปเราจะมาพูดถึงการทำ CGI ที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนที่เติมเต็มไดโนเสาร์ของสปีลเบิร์กให้ออกมาสมจริงยิ่งขึ้น อีกหนึ่งบริษัทที่เข้ามามีบทบาทและดูแลการสร้างไดโนเสาร์ให้มีความสมบูรณ์และสมจริง คือบริษัท ILM หรือ Industrial Light & Magic

ILM เป็นบริษัทออกแบบงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1975 ก่อตั้งโดย จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ผู้สร้างมหากาพย์ตำนานแห่งจักรวาล ‘Star Wars’ โดย ILM ถือเป็นบริษัทแกนนำที่ใช้เอฟเฟกต์พิเศษต่าง ๆ ในการสร้างภาพยนตร์ และเคยสร้างเอฟเฟกต์พิเศษในหนังเรื่องต่าง ๆ มาแล้วกว่า 350 เรื่อง

การสร้างไดโนเสาร์ด้วยคอมพิวเตอร์โดยเทคนิคพิเศษ (Visual effects)

ย้อนกลับไปใน ‘Jurassic Park’ ภาคแรก สมัยนั้นการสร้างไดโนเสาร์เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องไหนทำมาก่อน การจะสร้างตัวละครให้สัตว์ดูมีชีวิตและดูเสมือนจริงมากที่สุดจึงเป็นงานที่ท้าทายกับทีมงานอย่างมาก ทีมงานผู้สร้างเทคนิคพิเศษ (Visual Effects Team) ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนา และสร้างภาพจำลองแบบ 3 มิติ พร้อมกับทดลองใช้กล้องจับภาพเคลื่อนไหวตามลักษณะการเคลื่อนที่ของไดโนเสาร์ จนสุดท้ายไดโนเสาร์นั้นออกมาดูมีการเคลื่อนไหวที่สมจริง ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยเทคนิคดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Digital Dinosaurs’

ส่วนภาพยนตร์ไตรภาคหลัง หรือ ‘Jurassic World’ ได้มีการใช้ Animatronics น้อยลง เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทำให้การสร้างไดโนเสาร์ถูกแทนที่ด้วยการทำ CGI ช่วงขั้นตอนหลังจากการถ่ายทำ (Post-production) ส่วนในภาคล่าสุดได้มีแหล่งข้อมูลเปิดเผยถึงการสร้างไดโนเสาร์ว่า Stan Winston Studio ยังคงเป็นหนึ่งในทีมงานผู้ร่วมสร้าง Animatronics อยู่ และบริษัท Industrial Light & Magic ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในเรื่องการทำเอฟเฟกต์พิเศษเหมือนเดิม

การประกาศรางวัลบนเวทีออสการ์ ปี 1993

ทั้ง 2 บริษัทนี้จึงเป็นเหมือนทีมงานยุคบุกเบิก ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างไดโนเสาร์และวิชวลเอฟเฟกต์ของแฟรนไชส์ภาพยนตร์จูราสสิคมาโดยตลอด ไม่แน่ว่าการคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์อย่าง สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects) อาจเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ภาคล่าสุดอย่าง ‘Jurassic World: Dominion’ อีกครั้งก็เป็นได้ ยังไงก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

ที่มา: ILM, YouTube, Stan Winston School

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส