เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพลงทุกวันนี้มันถึงมีความยาวที่สั้นลง ๆ ไปทุกทีอย่างซิงเกิลใหม่ล่าสุด “Left and Right”  ที่เป็นการร่วมงานกันของ ‘ชาร์ลี พุท’ (Charlie Puth) กับ ‘จองกุก’ (Jungkook) จากวง BTS ก็ยังมีความยาวแค่ 2 นาที 34 วินาที ตามเทรนด์ของเพลงป๊อปยุคนี้ที่มีความยาวสั้นลงไปทุกปี ๆ และก็เป็นเพลงที่มีแนวโน้มว่าจะดังและปังติดหูคนฟังอย่างแน่นอน

หรือว่าเพลงนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้ยาวอย่างนั้นหรือ ? แล้วความยาวโดยเฉลี่ยที่มีมาแต่เดิมอยู่ที่ประมาณ 3 นาทีกว่านั้นมีที่มาอย่างไร จะสั้นกว่านี้หรือยาวกว่านี้ได้ไหมบทความในวันนี้มีคำตอบว่าทำไมที่ผ่านมาเพลงส่วนใหญ่ถึงมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 นาที แล้วทำไมทุกวันนี้ความยาวเพลงถึงได้สั้นลง ๆ

ทำไมถึงต้อง 3 นาที

เหตุผลหลัก ๆ เลยที่ทำไมเพลงส่วนใหญ่ถึงมีความยาวมาตรฐานอยู่ที่ 3 นาที (หรือประมาณ 3 นาที 30 วินาที) เหตุผลแรกก็คือสื่อบันทึกเสียงสมัยก่อนคือแผ่นเสียงแบบที่เล่นด้วยความเร็วรอบ 78 rpm หรือแผ่น 10 นิ้ว หนึ่งด้านจะบันทึกเสียงได้แค่ประมาณ 3 นาทีกว่า ๆ ต่อมาแผ่นแบบ 12 นิ้ว ที่เล่นความเร็วรอบ 33 1/3 rpm ที่เราเรียกว่าแผ่น 12 นิ้วหรือแผ่น LP ได้ทลายข้อจำกัดนี้ไป แต่ก็ยังมีการใช้แผ่นแบบ 7 นิ้วที่เล่นด้วยความเร็วรอบ 45 rpm สำหรับเพลงที่ตัดเป็นซิงเกิลอยู่ทำให้ความยาวในการบันทึกเสียงมีจำกัด (อาจบันทึกเสียงได้ถึง 2 เพลงต่อหนึ่งหน้าซึ่งความยาวต่อเพลงจะอยู่ที่ประมาณ 3 นาทีกว่า) หากเพลงมีความยาวจนเกินไปจะทำให้ไม่สามารถเล่นด้วยเสียงที่ดังได้หรืออาจทำให้เกิดนอยซ์เป็นผลที่ตามมาเพราะฉะนั้นถ้าอยากได้เพลงที่มีคุณภาพดีก็ควรจะมีค่าความยาวที่ไม่เกิน 3 นาที 30 วินาที

เหตุผลต่อมาเป็นเรื่องของ ‘ช่วงความสนใจ’ (attention span) ของผู้ฟัง นักจัดรายการวิทยุรู้ดีว่าหากเพลงนั้นมีความยาวเกินกว่า 4 นาทีแล้วจะเกิดปัญหากับการโฟกัสของผู้ฟังแน่ หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Bohemian Rhapsody’ คงจำได้ถึงฉากที่สมาชิกวงและเจ้าของค่ายถกเถียงกันถึงเรื่องการปล่อยเพลง “Bohemian Rhapsody” สุดแสนเซอร์ที่มีความยาวถึง 6 นาทีกว่า ! มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วใครจะมานั่งฟังเพลงที่ยาวขนาดนี้แถมมีเนื้อหาที่พูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่สุดท้ายแล้วเพลงนี้ก็ทลายกรอบความคิดในยุคนั้นและเป็นปรากฏการณ์เพลงระดับตำนานที่มีทั้งความเซอร์และความยาวแต่ผู้คนก็ชื่นชอบชื่นชมกัน

เหตุผลต่อมานั้นน่าสนใจมากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาเฟียผู้ควบคุมธุรกิจตู้เพลงในยุค 40s-50s ที่เป็นคนคอยควบคุมตู้เพลงที่อยู่ตามร้านอาหารต่าง ๆ ซึ่งหากเพลงมีความยาวเกินไปจำนวนเหรียญที่หยอดเพื่อฟังเพลง (หรือกำไรที่พวกเขาจะได้) ก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงมีการบังคับหรือแอบกดดันด้วยอำนาจอิทธิพลมืดเพื่อให้ค่ายเพลงและศิลปินทำเพลงที่ไม่มีความยาวจนเกินไปเพื่อให้ธุรกิจตู้เพลงของพวกเขานั้นมีกำรี้กำไรนั่นเอง

‘ช่วงความสนใจ’ (attention span) ของผู้ฟัง

เรื่องนี้ต้องขยายเพราะมีความสำคัญมาก ๆ คือช่วงความสนใจของผู้ฟังซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการเพลงหลายประการ ประการแรกคือการตัดท่อนอินโทรหรือท่อนเฟดในท้ายเพลงออกไป เพื่อให้เพลงสามารถดึงดูดความสนใจของคนฟังได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหลาย ๆ เพลงที่เป็นเพลงฮิตถึงเอาท่อนฮุกขึ้นมาเปิดเพลงก่อนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ฟัง และอย่างน้อยก็จะยืดช่วงความสนใจของผู้ฟังไปได้อีกราว ๆ  30 วินาที ยิ่งในยุคของ ‘วัฒนธรรมการกดข้าม’ (skipping culture) ที่การฟังเพลงและดูหนังเกิดขึ้นบนสตรีมมิงที่มีเนื้อหาหลากหลายและการกดข้ามนั้นเป็นไปอย่างง่ายดาย เผลอ ๆ แค่เพียงไม่เกิน 5 วินาทีแรก หากไม่โดนใจคนฟังก็พร้อมที่จะกดข้ามไปในทันที ทำให้เสียโอกาสและเสียรายได้ไปเลย

การมาของระบบสตรีมมิงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ช่วงความสนใจของคนฟังลดลง จากผลการวิจัยของ Samsung พบว่าช่วงความสนใจของคนฟังนั้นลดลงจาก 12 วินาทีไปเป็น 8 วินาทีในปี 2000 ซึ่งแน่นอนว่ามี 2022 นี้จะต้องลดลงไปมากกว่านั้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้บริการสตรีมมิงอย่าง Spotify จะไม่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงหากผู้ฟังกดฟังไม่เกิน 30 วินาทีแรกนั่นจึงเป็นเหตุผลให้ศิลปินและค่ายเพลงต้องมีกลยุทธ์ในการฝ่าปราการ 30 วินาทีนี้ไปให้ได้ มีการพยากรณ์ไว้ว่าราว ๆ ปี 2030 ศิลปินจะมีรูปแบบการทำเพลงเปลี่ยนไป ยิ่งการทำเป็นอัลบั้มยิ่งยากเพราะการจะดึงดูดคนฟังให้ฟังได้จนจบอัลบั้มนั้นเป็นเรื่องยากอย่างแน่นอน ทำให้มีเรื่องต้องคำนึงถึงมากมายทั้งความยาวของแต่ละเพลง รูปแบบของแต่ละเพลง รวมไปถึงการเรียงร้อยเพลงในอัลบั้ม

เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น

หากดูจากสถิติพบว่าความยาวของเพลงที่ติดชาร์ต Billboard Hot 100 นั้นมีการลดลงจาก 4 นาทีในปี 2000 ไปอยู่ที่ประมาณราว ๆ  3 นาที 30 วินาทีในปี 2018 และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้หลายเพลงในชาร์ตมีความยาวอยู่เพียงแค่ประมาณ 2 นาทีครึ่งซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 1% จากเพลงในปี 2015 และเพิ่มขึ้นมากกว่า 6% ในปี 2018

ความยาวของเพลงที่สั้นลงเรื่อย ๆ (ภาพจาก qz.com)
เปอร์เซ็นต์ของเพลงที่มีความยาวต่ำกว่า 2 นาที 30 วินาทีเพิ่มสูงขึ้นจาก 1% ในปี 2015 กระโดดไปสู่ 6% ภายในเวลาเพียง 3 ปี (ภาพจาก qz.com)

ลองดูตัวอย่างความยาวเพลงจากเพลงเหล่านี้ที่มีกาลเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งไม่เพียงแต่ความยาวทั้งเพลงจะลดลงแล้ว ความยาวของท่อนฮุกก็ลดลงไปด้วยเหมือนกัน

  • 1977 : “Hotel California” – The Eagles  (ความยาว 6:30 นาที, ท่อนฮุก 1:44 นาที)
  • 1983 : “Is There Something I Should Know?” – Duran Duran (ความยาว 4:11 นาที, ท่อนฮุก 1:21 นาที)
  • 1998 : “Frozen” – Madonna (ความยาว 6:12 นาที, ท่อนฮุก 0:54 นาที)
  • 2013 :  “Demons” – Imagine Dragons  (ความยาว 2:57 นาที, ท่อนฮุก 0:44 นาที)
  • 2018 : “Someone You Loved” – Lewis Capaldi (ความยาว 3:02 นาที, ท่อนฮุก 0:25 นาที)
  • 2022 : “Left and Right” – Charlie Puth feat. Jungkook BTS (ความยาว 2:34, ท่อนฮุก 0:10 นาที)

อะไรเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ แน่นอนว่าตัวการสำคัญก็คือบริการสตรีมมิงนั่นเอง เพราะว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาบริการสตรีมมิงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีเป็นอย่างยิ่ง แน่นอนว่าศิลปินก็ต้องมีการปรับตัวกับวิธีการบริโภคของผู้ฟังที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะอย่างที่รู้กันว่ายิ่งสตรีมมากเท่าไหร่ก็จะได้เงินมากเท่านั้น ซึ่งเงินที่ได้จากการสตรีมแต่ละครั้งมันน้อยนิดกระจิดริดมาก (ประมาณ 0.004 – 0.008 เหรียญสหรัฐต่อการสตรีมหนึ่งครั้ง) หากอยากได้เงินที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะต้องมียอดสตรีมที่มากเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศิลปินเลือกที่จะทำเพลงให้สั้นลง

อย่างที่เรารู้กันดีว่ายอดสตรีมในทุกวันนี้ถึงแม้จะไม่ได้นำมาซึ่งรายได้มหาศาลแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของศิลปิน ค่ายเพลง และผู้ที่เกี่ยวข้อง การมียอดสตรีมที่มากก็นำมาซึ่งรายได้ที่มากด้วยเช่นกัน หากทำเพลงให้สั้นลงและผู้คนชอบ คนฟังก็อยากจะฟังบ่อย ๆ ทำให้เกิดรายได้ที่มากขึ้นตามไปด้วย

เพลงแต่ละแนวมีแนวโน้มที่จะมีความสั้นไม่เหมือนกัน

หากเราดูชาร์ตด้านล่างนี้เราจะเห็นได้ว่าเพลงแต่ละแนวนั้นมีความยาวที่สั้นลงก็จริงอยู่แต่ก็มีระดับความสั้นที่ไม่เหมือนกัน หากพิจารณาจากชาร์ตนี้จะเห็นว่าเพลงแรปนั้นมีความยาวที่สั้นลงกว่าแนวอื่น ๆ

ความยาวเพลงที่สั้นลงของดนตรีแต่ละแนว (ภาพจาก qz.com)

ซึ่งเหตุผลนั้นก็อาจจะเป็นด้วยว่าเพลงแรปส่วนใหญ่ที่มีความยาวที่สั้นลงมักเป็นเพลงของศิลปินหน้าใหม่ ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการทำบีตเพลง (beat-making culture) ซึ่งจะมีศิลปินที่เป็นคนทำบีทขึ้นมาเพื่อให้คนอื่นเอาบีตนี้ไปใช้ในการทำเพลงแรปของตัวเอง ซึ่งการทำมันออกมาให้สั้นและมีอิมแพคนั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ยิ่งในทุกวันนี้เพลงแรปเป็นแนวเพลงที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่ศิลปินหน้าใหม่จะเข้ามาสร้างสรรค์งานเพลงที่ทั้งสั้นกระชับ ทั้งอิมแพคโดนใจ และกระตุ้นให้มียอดสตรีมที่มากยิ่งขึ้น

ความสั้นของเพลงอาจกลายเป็นจุดขาย

ใช่ว่าความสั้นลงของเพลงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงในช่วงความสนใจของผู้ฟังเท่านั้น แต่มันกลับกลายเป็นโอกาสอันดีที่ศิลปินสามารถใช้เป็นจุดขายในการสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเองในรูปแบบใหม่อาทิอัลบั้ม ‘Whack World’ ของ เทียร์รา แว็ก (Tierra Whack) ซึ่งทำออกมาเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่บรรจุเอาไว้ด้วยเพลงที่ ‘โค-ตรสั้น’ ทั้งหมด 15 เพลงที่มีความยาวโดยเฉลี่ย 1 นาทีต่อเพลง นั่นหมายความว่าเราสามารถฟังอัลบั้มนี้ได้จบภายในเวลาเพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น !! แถมยังทำมิวสิกวิดีโอของแต่ละเพลงออกมาต่างเพลงต่างสไตล์แต่จับมาร้อยเข้าด้วยกัน (และสามารถตัดมิวสิกวิดีโอแต่ละเพลงที่มีความยาวอยู่ที่ 1 นาทีโพสต์ลงในอินสตาแกรมได้ด้วย) ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายของศิลปินเองและเป็นความแปลกใหม่สำหรับคนฟังด้วย ส่วนเหตุผลที่เธอทำเพลงสั้น ๆ นั้นก็เป็นเพราะว่าเธออยากให้ทุกคนเห็นว่าเธอมีด้านที่หลากหลายรวมไปถึงอารมณ์และสไตล์ที่หลากหลายด้วย นอกจากนี้เธอยังคิดว่าคนในรุ่นของเธอมีความอดทนต่ำและเบื่อง่าย มักจะตัดสินอะไรต่อมิอะไรได้ภายใน 30 วินาที การทำเพลงออกมาแบบนี้นี่แหละเหมาะกับคนรุ่นเธอแล้ว (สามารถอ่านเรื่องราวของเทียร์รา แว็กและอัลบั้ม ‘Whack World’ ได้ที่นี่)

เพลงไม่จำเป็นต้องสั้นเสมอไป

ถึงแม้ว่าเพลงส่วนใหญ่จะมีความยาวที่สั้นลง หลาย ๆ เพลงยาวไม่ถึง 3 นาที แต่ยังไงก็ยังมีเพลงฮิตและเพลงดี ๆ อีกมากมายที่มีความยาวมากกว่านั้น เหตุผลหนึ่งตามงานวิจัยที่ได้มีการทดลองกันบ่งชี้ว่าเพลงที่มีความยาวสั้นนั้นอาจจะไม่ดีนักในหลายกรณี เพราะหากเราย้อนกลับไปในสมัยโบราณดนตรีถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมหรือเป็นเครื่องมือในการข้ามผ่านหรือยกระดับทางจิตวิญญาณ ซึ่งระยะเวลาที่สั้นคงไม่เพียงพอสำหรับการยกระดับทางจิตวิญญาณหรือการเข้าสู่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ถึงแม้ทุกวันนี้เราจะไม่ได้ฟังเพลงเพราะการเข้าพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์หรือเพื่อยกระดับทางจิตวิญญาณ แต่การที่ได้หยุดนิ่งและปล่อยใจไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานสักนิดหนึ่ง ก็ช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อหรือมีจิตใจที่สงบขึ้นมาได้อันจะนำมาซึ่งความรู้สึกที่ผ่อนคลายหรือการได้ปล่อยกายปล่อยใจให้สบาย ๆ ส่วนศิลปินเองการได้มีช่วงเวลาที่ยาวนานในการแสดงอารมณ์และถ่ายทอดความคิดลงไปในบทเพลงก็ย่อมเป็นการดีเพราะฉะนั้นแล้วในทุกวันนี้การทำเพลงที่มีความยาวมากก็ยังคงมีอยู่และยังมีศิลปินหลายคนที่เชื่อในวิถีทางนี้

สุดท้ายแล้วไม่ว่าความยาวของเพลงจะยาวหรือสั้นนั้นอาจจะไม่สำคัญ แน่นอนว่าความยาวของเพลงนั้นอาจมีผลกระทบต่อผู้ฟังอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่สำหรับผู้ฟังแต่ละคนแล้วการที่เราจะรู้สึกกับเพลง ๆ หนึ่ง ความยาวอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวแต่ยังเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย หากเราจะชอบเพลง ๆ หนึ่ง ซึ่งมันจะกระทบต่อจิตใจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและชีวิตของเราแล้ว ในช่วงเวลานั้นเราคงไม่ได้คำนึงถึงความยาวความสั้นของมันหากแต่เป็นท่วงทำนองและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เชื่อมร้อยเข้าไปสู่จิตใจของเรานั่นเองและนี่ก็คงเป็นสิ่งที่ศิลปินคำนึงถึงด้วยเช่นกัน เพราะคงไม่มีใครที่อยากทำเพลงออกมาแล้วคนฟังไม่อินแถมบางทีตัวเองก็ยังไม่อินไปด้วยอย่างแน่นอน

ที่มา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส