แตกแตนไปเลยค่ะกับภาพยนตร์แห่งชาติที่แฟนคลับรอคอย ฟาดเหนาะ ๆ ไปแล้วที่ตัวเลข 51.19 ล้านบาท เพียงวันแรกที่เปิดฉาย เอาซี้ กระแสคุณพี่ขุนกับแม่นายเกสรทะลุร้อยล้านเร็ววันนี้ แน่นอน และก็เป็นไปตามแบบฉบับของละครหรือภาพยนตร์ ที่หยิบบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์มาเป็นหัวเชื้อในการสร้างสรรค์ ที่ตัวเอกหรือตัวแสดงสำคัญในเรื่อง มักมีตัวตนอยู่จริงเสียด้วยสิ ซึ่งบุพเพสันนิวาส 2 นอกจาก หลายตัวละครจะมีชีวิตอยู่จริงในครั้งกระโน้นแล้ว คุณพี่ภพ พระเอกของเราอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญอยู่ในกาลก่อนด้วยหนา ออเจ้า

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะคะว่า ภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส 2 ไม่ใช่ภาคต่อของละครเรื่องบุพเพสันนิวาสแต่อย่างใด ความเชื่อมโยงที่สามารถเกี่ยวพันกันได้จึงเป็นเพียง การกลับชาติมาเกิดใหม่และเป็นคู่กันดังบุพเพสรรค์สร้างของพระ-นางเท่านั้น และรอมแพงผู้เขียนนวนิยายได้ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษาในการเขียนบท แต่จุดสังเกตของเรื่องนี้ที่เคยมีมาก่อนแล้วในภาคละคร ยังคงนำมาใช้ในภาคภาพยนตร์จนต่อเรื่องต่อราวออกมาได้เป็นคุ้งเป็นแควอีกนั่นเอง คือการที่พระเอกของเรื่อง อาจมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

ในชาติภพที่แล้ว ‘ออกขุนศรีวิสารวาจา’ พระเอกของเรื่องเป็นหนึ่งใน 3 ราชทูตที่เดินทางไปยังฝรั่งเศส นำโดย ‘ออกพระวิสุทธสุนธร’ ซึ่งรู้จักกันต่อมาในนาม ‘พระยาโกษาธิบดี (ปาน)’ เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต โดยมีผู้ติดตามไปอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลักฐานนี้สามารถอ้างอิงได้จาก ‘หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงเมอร์สิเออร์ เดอ ลายี’ ได้กล่าวถึงรายนามคณะทูตไว้ในหนังสือฉบับนั้น และเรื่องราวของออกขุนศรีวิสารวาจาก็มีการกล่าวถึงเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นจุดที่ให้รอมแพงหยิบมาคลี่คลายเป็นนิยายจนโด่งดัง และเป็นการนำหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์มาเขียนนิยายที่ฉลาดไม่เบา เพราะผลกระทบไปถึงผู้ที่มีตัวตนจริงนั้น แทบไม่มี ในทางกลับกันได้สร้างความฟินระดับ 5 ดาวให้แฟนนิยายและละครเสียด้วยสิ

หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงเมอร์สิเออร์ เดอ ลายี Cr.ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

กลับมาคราวนี้อีตาหมื่นขี้เก๊กของแม่นายการะเกดก็กลับชาติมาเกิดใหม่ เป็นคุณพี่ภพ หรือขุนสมบัติบดี ซึ่งอาจเป็นใครคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกแล้วค่ะท่าน ถึงแม้ว่าคุณพี่ภพนั้นจะไม่มีตัวตนจริง แต่คุณูปการโดดเด่นนั้นได้ไปพ้องกับบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีบทบาทในประวัติศาสตร์จากความตอนหนึ่งของหนังสือ ‘ทวีปัญญา เล่ม 5’ ที่ได้เอ่ยถึงเรื่องราวที่เป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า

หนังสือ ทวีปัญญา เล่ม 5 Cr. กรมศิลปากร

พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นอินทอัมเรศร์ได้ทรงขบคิดเรื่องเรือกลไฟที่นายห้างหันแตรนำมาขายร่วมกับ ‘มหาดเล็กหลวงนายหนึ่ง’ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการช่างและเป็นลูกศิษย์ของหมอเฮาส์ (นพ.ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ /Reynolds Samuel House) หมอฝรั่งคนใหม่ที่เดินทางมาสยามในช่วงที่หมอบรัดเลย์กลับประเทศชั่วคราว และเป็นแพทย์ที่ใช้ยาระงับความรู้สึกเป็นครั้งแรกในสยาม และชาวสยามในสมัยนั้นเรียกขานคุณหมอแกว่า ‘หมอเหา’ เอิ่ม ก็ไม่ทราบว่าสมัยนั้นคุณหมอแกจะดีใจหรือคันหัวดีเมื่อมีคนเอ่ยถึงแกด้วยชื่อนั้นนะคะ

แต่จุดสังเกตของคุณพี่ภพยังมีอยู่อีกนิดหนึ่งว่า บรรดาศักดิ์ขุนสมบัติบดีนั้นมีจริงในประวัติศาสตร์นะจ๊ะ ไม่ใช่การแต่งตั้งขึ้นมาลอย ๆ แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนคนเดียวกัน จากกฎหมายตราสามดวงในสมัยอยุธยา ขุนสมบัติบดีเป็นขุนนางที่กินศักดินา 600 สังกัดกรมท่ากลางซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมพระคลัง ดำรงตำแหน่งเป็นกองชนะสุด ซึ่งก็คือผู้ช่วยของ ‘ขุนสมบัติจำบำเรอ’ ศักดินา 800 ซึ่งเป็นเจ้ากรมฎีกาในสมัยนั้น

เมื่อมีความโยงใยที่น่าจะเกี่ยวข้องกันอย่างนี้ ผู้เขียนก็ขอเดาใจคนเขียนบทและที่ปรึกษาชั้นดีอย่างรอมแพงเอาไว้ว่า พี่ภพอาจจะเป็นคนคนเดียวกันกับมหาดเล็กหลวงนายนั้น ที่ถูกผู้เขียนบทหยิบยกนำมาขยายผลให้กลายเป็นคุณพี่ภพหน้ายิ้มอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์ ซึ่งในประวัติศาสตร์เป็นผู้เชี่ยวชาญการช่างที่จัดว่าโดดเด่นทีเดียวแหละ แต่ไม่ใช่ขุนสมบัติบดีที่มีตัวตนจริงในสมัยนั้น เพราะสังกัดคนละหน่วยงานและคนละหน้าที่อย่างชัดเจน

ก็มาในรูปแบบเดิมอีกแล้วที่ ประวัติของมหาดเล็กหลวงผู้นั้น มีให้สืบเสาะเพียงเท่านี้จริง ๆ แถมยังเอาบรรดาศักดิ์ของขุนสมบัติบดีมาผสมรวมให้กลายเป็นคนคนเดียวกันได้อย่างพระเอ้กพระเอก ซึ่งทำหน้าที่แจกดอกไม้เกี้ยวหญิงอยู่ในเรื่องให้เฟี้ยวเล่นนั่นแหละจ้ะ เรียกว่ารอบนี้เป็นการผนวกสองร่างคือมหาดเล็กหลวงและขุนสมบัติบดีให้กลายเป็นคุณพี่ภพสุดหล่ออย่างที่เราเห็น ผู้เขียนขอเดาทางอย่างนี้แหละ คล้ายคลึงกับกับประวัติของออกขุนศรีวิสารวาจาที่มีให้สืบอยู่เพียงน้อยนิด อย่างไรก็อย่างนั้นกันทีเดียวเชียว

แต่แหม ก็ช่างเกิดมาประวัติน้อยเหมือนกันแบบนี้ จักรวาลบุพเพเขาก็หยิบมาเล่นได้ฉลาดอีกแล้วสิคะ เพราะทำให้เราสงสัย อยากรู้และอยากติดตามดูต่อ ๆ ไปว่ารอมแพงและท่านผู้สร้างท่านอื่น ๆ ในอนาคต จะหยิบเอาแง่มุมจากบันทึกแง่มุมไหน มาเขียนให้เราบันเทิงกันอย่างคราวนี้อีกหนา ออท่าน

อ้างอิง [1] [2] [3]

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส