ความน่าสนใจ น่าติดตาม และของภาพยนตร์ ‘Prey’ นอกจากความสนุกจากเรื่องราวของ ‘นารู’ (Naru) หญิงสาวแห่งโคแมนชี (Comanche) ชนเผ่าพื้นเมืองของอเมริกาในศตวรรษที่ 17 ที่มีอาวุธเพียงแค่มีด ธนู หอก ขวาน และจิตใจแห่งความเป็นนักล่า ที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามจากนอกโลกอย่างพรีเดเตอร์ สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเผ่าพันธ์ุ ‘ยวตจา’ (ํYautja) ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและอาวุธล้ำสมัยแล้ว

อีกความน่าสนใจ ก็คงหนีไม่พ้นการที่ตัวมันเองเป็นหนังภาพยนตร์พรีเควล (Prequel) จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ไซไฟแอ็กชัน ‘พรีเดเตอร์’ (Predator) ที่อิงมาจากตำนานของเหล่ายวตจาที่ถูกเล่าขานว่า พวกมันเคยมาเยือนโลกตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตกาลแล้ว ทำให้ตัวเนื้อเรื่องตามไทม์ไลน์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการบุกของพรีเดเตอร์กลางป่าในภาพยนตร์ ‘Predator’ (1987) ที่นำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) มากถึง 300 ปี

Predator Prey
‘Prey’ (2022)

ด้วยความสำเร็จของภาคแรก จึงทำให้มีการสร้างภาพยนตร์ภาคอื่น ๆ ต่อมาอีกหลายภาค และ ‘Prey’ ก็ได้เลือกที่จะใช้ความคุ้นเคยจากแฟรนไชส์พรีเดเตอร์ ด้วยการหยิบเอา Easter Egg หรือจุดสังเกตจากหนังภาคก่อน ๆ เอามาผสานกับเรื่องราวจากโลกยุคโบราณได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ ไม่หลุดโทนจากการเล่าเรื่องและยุคสมัย ทำให้หนังเรื่องนี้นอกจากจะผสานเรื่องราวที่ดูง่ายสำหรับทุกคนแล้ว ก็ยังมี Easter Egg ที่ชวนให้แฟน ๆ ได้ร้องอ๋อและกรี๊ดกันอย่างไม่ขัดเขิน


SPOILER ALERT! – เนื้อหาในบทความนี้ มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ‘Prey’ (2022) และอาจมีการเปิดเผยเรื่องราวภาพยนตร์จากแฟรนไชส์พรีเดเตอร์ ได้แก่ ‘Predator’ (1987), ‘Predator 2’ (1990), ‘Predators’ (2010), ‘The Predator’ (2018), ‘Alien vs. Predator’ (2004) และ ‘Aliens vs. Predator: Requiem’ (2007)


รูปลักษณ์ของพรีเดเตอร์

Predator Prey

แม้รูปร่างของพรีเดเตอร์จะปรากฏแบบเต็ม ๆ ก็ปาเข้าไปกลาง ๆ เรื่องแล้ว (เพราะตอนแรกมักจะปรากฏตัวในโหมดล่องหนเสียเป็นส่วนใหญ่) แต่ถ้าสังเกตดูดี ๆ จะพบว่า แม้ภาพลักษณ์ของพรีเดเตอร์ในเรื่องนี้จะยังคงมีความคล้ายคลึงพรีเดเตอร์ภาคภาคก่อน ๆ ทั้งใน ‘Predator’ (1987) และ ‘Predator 2’ (1990) แต่ก็มีการปรับแปลงในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความดุดันและว่องไวที่มากขึ้น

แดน แทชแทนเบิร์ก (Dan Trachtenberg) ผู้กำกับภาพยนตร์ได้เปิดเผยเกี่ยวกับดีไซน์และการออกแบบของพรีเดเตอร์ใน Prey ว่า “สำหรับเวอร์ชันนี้ ผมอยากทำให้พรีเดเตอร์เป็นเวอร์ชันที่มีความดุมากขึ้น ดูมีความเป็นสัตว์ที่ดุร้ายกว่าเวอร์ชันที่เคยเห็นมาก่อน มันฉลาดและมีเทคโนโลยีทันสมัยจนยากที่จะมีคนมาเอาชนะมันได้”

“แต่ด้วยความที่หนังนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อนในอดีต เทคโนโลยีพวกนั้นเลยต้องทำให้มีความรู้สึกเก่ากว่าสิ่งที่เราเคยเห็นกัน แต่ก็ยังคงล้ำสมัยกว่าสิ่งที่เราคิดว่ามนุษย์จะรับมือมันได้ ผมอยากให้พรีเดเตอร์เวอร์ชันนี้มีส่วนหัวที่ได้สัดส่วนกับร่างกายมากขึ้น มีความเพรียวมากขึ้น และมีเกราะน้อยชิ้นกว่าเวอร์ชันก่อน ๆ มีความเป็นสัตว์ประหลาดที่ตัวใหญ่และดุร้าย”


พรีเดเตอร์อาบเลือด

Predator Prey

นารูพบกับพรีเดเตอร์ (แสดงโดย เดน ดิลิเอโกร (Dane DiLiegro)) ตัวเป็น ๆ ครั้งแรกตอนที่เธอหนีการไล่ล่าของหมีกรีซลีตัวใหญ่ที่กำลังกินกวางอยู่ริมแม่น้ำ ‘นารู’ (นำแสดงโดย แอมเบอร์ มิดธันเดอร์ (Amber Midthunder)) และสุนัขของเธอที่ชื่อว่า ซารี (Sari) แอบซุ่มอยู่ไม่ไกล นารูจึงตัดสินใจใช้ธนูยิงหมี แต่สายธนูกลับขาด ทำให้หมีกลับพบเห็นเธอเข้า นารูจึงต้องวิ่งหนีหมีเข้าไปแอบซ่อนในกองซากไม้ซึ่งเป็นรังของตัวบีเวอร์ใกล้ ๆ บึงน้ำ

แต่กลายเป็นว่า หมีตัวยักษ์นั้นกลับโดนพรีเดเตอร์ (โหมดล่องหน) บุกเข้ามาฆ่าหมีด้วยมือเปล่า และแบกยกขึ้นเหนือหัว ในขณะที่เลือดของหมีกำลังไหลอาบทั่วร่างกาย ทำให้นารูได้มีโอกาสเห็นร่างของพรีเดเตอร์ที่ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นครั้งแรก ฉากนี้สามารถอ้างอิงไปถึงฉากที่พรีเดเตอร์ปรากฏตัวอย่างน่าสยดสยองเป็นครั้งแรก หลังจากที่มันถูกเลือดมนุษย์อาบร่างใน ‘The Predator’ (2018)


ว่ายหนีตายลงน้ำตก

Predator Prey

หลังจากที่นารูได้พบพรีเดเตอร์ที่กำลังสังหารหมีกรีซลี นารูจึงกระโดดลงไปยังแม่น้ำเพื่อว่ายน้ำหลบหนี แต่แล้วพรีเดเตอร์ก็สแกนพบคลื่นความร้อนของเธอจนได้ เธอพยายามว่ายตามกระแสน้ำไปยังลำธารที่เป็นน้ำตกก่อนจะขึ้นฝั่งได้สำเร็จ ซึ่งฉากน้ำตกนี้ สามารถอ้างอิงถึงฉากที่ผู้พันดัตช์หลบหนีด้วยการกระโดดลงไปในน้ำตก ที่ปรากฏครั้งแรกใน ‘Predator’ (1987) และฉากที่ตัวละครหลัก ๆ กระโดดหนีลงน้ำตกอีกครั้งใน ‘Predators’ (2010)


พรางตัวด้วยโคลน

Predator Prey

ในฉากหนึ่ง นารูที่กำลังตามล่าหาพรีเดเตอร์ในป่า ได้เดินพลัดหลงเข้าไปในพื้นที่ปกคลุมด้วยหญ้า แต่กลับกลายเป็นว่าใต้พื้นหญ้านั้นมีบึงโคลนอยู่ เธอเกือบโดนบึงโคลนดูดจนเกือบจมน้ำ จึงได้ใช้ขวานที่ผูกเชือกโยนเข้ากับซากไม้เพื่อดึงตัวเองออกมา

ซึ่งฉากนี้สามารถอ้างอิงไปถึงฉากของ ‘พันตรีอลัน “ดัตช์” เชฟเฟอร์’ (Alan “Dutch” Schaefer) ใน ‘Predator’ (1987) ที่ว่ายน้ำหนีออกมาจากน้ำตก ตัวของเขาเต็มไปด้วยโคลน ก่อนที่จะขึ้นฝั่งมาหลบอยู่ที่ซากต้นไม้ แต่พรีเดเตอร์กลับมองไม่เห็นเขา ดัตช์จึงได้ค้นพบว่า โคลนที่มีความเย็น สามารถใช้ปกปิดร่างกายเพื่อพรางตัวจากตัวตรวจจับคลื่นความร้อนของพรีเดเตอร์ได้


รอยกรีดของทาเบ

Predator Prey

ในภาพยนตร์ ‘Prey’ ขณะที่นารูกำลังหลบหนีการตามไล่ล่าของผู้รุกรานชาวยุโรป (ที่โดนพรีเดเตอร์ไล่ล่าอีกที) เธอพบว่า ผู้รุกรานได้จับตัว ‘ทาเบ’ (Taabe) (นำแสดงโดย ดาโกตา บีเวอร์ส (Dakota Beavers)) พี่ชายของเธอเอาไว้ พวกเขาบังคับให้เธอพูดทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอรู้เกี่ยวกับพรีเดเตอร์ เธอปฏิเสธ ผู้รุกรานจึงได้ใช้มีดกรีดที่หน้าอกของทาเบตามแนวทแยงจนเกิดบาดแผล

แฟน ๆ พรีเดเตอร์ที่เห็นการกรีดนี้ น่าจะจำได้ว่า ใน ‘Predator’ (1987) ก็มีการกรีดในรูปแบบเดียวกัน โดยตัวละครอย่าง ‘บิลลี’ (Billy) (นำแสดงโดย ซันนี แลนดัม (Sonny Landham)) หนึ่งในทีมผู้ติดตามของผู้พันดัตช์ ที่ตัดสินใจใช้มีดกรีดหน้าอกตัวเองเป็นแนวทแยง เพื่อเอาตัวเองเป็นเหยื่อล่อพรีเดเตอร์ ซึ่งผู้กำกับอย่างแทชแทนเบิร์กเผยว่า เขาประทับใจกับตัวละครของบิลลีเป็นพิเศษ เลยใส่เข้ามาเป็น Easter Egg เล็ก ๆ


“ถ้าเลือดมันไหลได้ เราก็ฆ่ามันได้”

Predator Prey

อีกหนึ่ง Easter Egg ใน ‘Predator’ (1987) ที่ถูกหยิบเอามาใส่ใน ‘Prey’ ก็คือประโยคที่ทาเบ ได้พูดกับนารู ตอนที่ทั้งคู่ถูกผู้รุกรานชาวยุโรปจับผูกติดกับต้นไม้เพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อพรีเดเตอร์ ในตอนนั้น นารูได้ระบายกับพี่ชายของเธอว่า เธอไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับพรีเดเตอร์อย่างไร ทาเบจึงตอบกลับเธอว่า “ถ้าเลือดมันไหล เราก็ฆ่ามันได้”

ประโยคนี้เป็นประโยคดัง (และแน่นอนว่ากลายเป็นมีม) ที่อ้างอิงมาจากภาพยนตร์ ‘Predator’ ภาคแรก หลังจากที่ผู้พันดัตช์ได้เห็นเลือดสีเขียวของพรีเดเตอร์กระจายเลอะตามใบไม้ ต้นไม้ในบริเวณป่า

เขาตระหนักได้ว่า พรีเดเตอร์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่สามารถบาดเจ็บได้เหมือนกัน ไม่ใช่เทพเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตที่ทรงอำนาจเก่งกาจจนไม่อาจจะต่อกรได้ เขาจึงพูดประโยคนี้เพื่อปลุกใจแก่ทีมของเขาว่า “ถ้าเลือดมันไหลได้ เราก็ฆ่ามันได้” (“If It Bleeds, We Can Kill It”)


กะโหลกที่ระลึก

Predator Prey

ตามธรรมเนียมของพรีเดเตอร์ หรือนักล่าแห่งเผ่ายวตจา เมื่อทำการล่าสังหารสิ่งมีชีวิตแล้ว ก็มักจะเก็บกะโหลกของสิ่งมีชีวิตที่มันล่าได้ไว้เสมือนเป็นรางวัลหรือของที่ระลึก ใน ‘Prey’ เราจะได้เห็นพรีเดเตอร์ที่สังหารสุนัขป่าอย่างโหดเหี้ยมด้วยการเฉือนร่างกายจนเหลือแต่กระโหลกและกระดูกสันหลัง พรีเดเตอร์นำเอาหัวของสุนัขป่าตัวนั้นมาฉีดด้วยสารบางอย่างที่มีลักษณะเป็นละอองเพื่อละลายเนื้อ หนัง ไขมันออกไปจนเหลือแต่เพียงกะโหลก ก่อนที่พรีเดเตอร์จะเอากะโหลกนั้นมาแขวนประดับไว้กับตัว

ในธรรมเนียมนี้ก็มีปรากฏในภาพยนตร์ ‘Predator 2’ (1990) ด้วยเช่นกัน บนยานของพรีเดเตอร์ เราจะได้เห็นกะโหลกของสิ่งมีชีวิตที่ถูกประดับประดาเอาไว้ รวมถึงกะโหลกมนุษย์ (ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีกะโหลกเอเลียนด้วย) ใน ‘Prey’ จะเห็นได้ว่า กะโหลกของสุนัขป่าตัวนั้นไม่ได้รับการทำความสะอาดและตกแต่งอย่างเงางามมากนัก ต่างจากกับกะโหลกมนุษย์ใน ‘Predator 2’ ที่ดูสะอาดเงางามกว่ามาก ซึ่งก็มีความสมเหตุสมผลที่พรีเดเตอร์ในยุคนั้น อาจจะเพิ่งเรียนรู้การสะสมกะโหลกของเหยื่อไว้เป็นรางวัล และยังไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือภูมิปัญญาในการขัดตกแต่งกะโหลกให้สะอาดเงางามมากขึ้นได้เหมือนกับคอลเล็กชันกะโหลกใน ‘Predator 2’


(อ่านต่อได้ที่หน้า 2)

อาวุธสำคัญและความสามารถของพรีเดเตอร์

Predator Prey

อาวุธและเทคโนโลยีล้ำยุคถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเผ่ายวตจา หรือพรีเดเตอร์ ซึ่ง ‘Prey’ ก็ยังคงเอกลักษณ์และความไฮเทค และความสามารถขั้นพื้นฐานที่มันใช้ในการไล่ล่าเหยื่อไม่ต่างจากภาคอื่น ๆ ในแฟรนไชส์ ทั้งระบบการพรางตัว ถุงมือดาบสองคม ที่คมมากจนสามารถแทง เฉือน ตัดร่างเหยื่อจนเหลือแต่กะโหลกติดกระดูกสันหลังได้อย่างง่ายดาย

รวมทั้ง *หน้ากากชีวภาพ (Bio Mask) ที่มีการออกแบบใหม่ให้ดูมีความเก่ากว่าเวอร์ชันก่อน ๆ แต่ก็ยังมีความสามารถหลากหลาย ทั้งระบบสแกนคลื่นความร้อน และเลเซอร์สามจุดสำหรับใช้วิเคราะห์เป้าหมายและเล็งศูนย์ยิง

นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่ผู้กำกับตั้งใจให้ ‘Prey’ เล่าเรื่องในช่วงเวลาก่อน ‘Predator’ ทุกภาค จึงทำให้อาวุธที่พรีเดเตอร์ในยุคนี้ใช้ ยังไม่ทันสมัยเท่ากับอาวุธของพรีเดเตอร์ในภาคอื่น ๆ เช่นไม่มีปืนพลาสมาติดที่หัวไหล่ แต่มีปืนยิงธนูที่นำทางด้วยระบบเลเซอร์สามจุดนำวิถีใช้แทน ธนูนี้จะวิ่งไปแบบไม่หยุดจนกว่าจะแทงทะลุเป้าหมายอย่างแม่นยำ

‘Combistick’ หรือหอกที่สามารถปรับขนาด แยกเป็นสองชิ้น และมีปลายที่แหลมคม ซึ่งปรากฏครั้งแรกใน ‘Predator 2’ (1990) ปืนยิงตาข่ายลวดสำหรับจับเหยื่อ ตัวตาข่ายสามารถกระชับพื้นที่และปล่อยหนามแหลมเพื่อบดย่อยทะลุร่างของเหยื่อได้ ปรากฏครั้งแรกใน ‘Predator 2’ (1990) และถูกนำมาใส่ในถุงมือใน ‘Alien vs. Predator’ (2004)

ปลอกมือที่สามารถปล่อยดิสก์ขนาดเล็ก ที่สามารถบินไประเบิดเป้าหมายได้ในระยะไกล และโล่กลมที่มีความแข็งแกร่ง กันกระสุน และมีความคมสูงมากจนสามารถโค่นต้นไม้ ตัดผ่านก้อนหิน และตัดคอมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย และที่เหนือกว่านั้นคือ พรีเดเตอร์ยังสามารถเรียนรู้และปรับใช้อาวุธของมนุษย์ เช่น ขวาน และกับดักสัตว์เพื่อจัดการเหยื่อได้อย่างชำนาญ


ชุดปฐมพยาบาลของพรีเดเตอร์

Predator Prey

ซีนการเยียวยารักษาอาการบาดเจ็บของตัวเอง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นฐานของพรีเดเตอร์ที่ปรากฏในหลาย ๆ ภาคด้วยเช่นกัน ใน ‘Prey’ เราจะได้เห็นพรีเดเตอร์หยิบเอาสารสีเขียวบางอย่างเทเข้าไปที่แผล ทำให้แผลสมานและหายสนิทในเวลาอันรวดเร็ว

ในภาคแรก ‘Predator’ (1987) พรีเดเตอร์จะมีชุดปฐมพยาบาลส่วนตัว และสารบางอย่างที่ใช้เป็นยาสำหรับรักษาแผลกระสุนปืนให้หายได้ ส่วนใน ‘Predator 2’ (1990) เซอร์กว่านั้น เพราะพรีเดเตอร์รักษาแผลของตัวเองด้วยการทุบกระเบื้องห้องน้ำอะพาร์ตเมนต์ เอามาบดผสมกับตัวยาแล้วเผาไฟ ก่อนจะเอามาป้ายรักษาแผลแบบเซอร์ ๆ


กองไฟล่อพรีเดเตอร์

Predator Prey

ในตอนท้ายของ ‘Predator’ (1987) กัปตันดัตช์ได้ลุยเดี่ยววางกับดักจะสังหารกับพรีเดเตอร์ และทาตัวเองด้วยโคลนเพื่อพรางตัวเอาไว้แล้ว จากนั้นเขาจึงล่อให้พรีเดเตอร์เข้ามาหาเขาด้วยการจุดคบเพลิง ตะโกนโห่ร้องอย่างอาจหาญ ก่อนจะโยนคบเพลิงเข้ากองไฟ

ฉากนี้ชวนให้คิดถึงนารูใน ‘Prey’ ตอนท้ายเรื่อง ที่แม้ว่าจะไม่ได้จุดคบเพลิงเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีการใช้ไฟในการล่อพรีเดเตอร์มาติดกับ พร้อมกับล่ามผู้รุกรานที่ถูกตัดขาเอาไว้ใกล้ ๆ เพื่อล่อให้พรีเดเตอร์เข้ามาสังหาร ก่อนที่นารูจะใช้ปืนยิงที่หัว และฉก *หน้ากากชีวภาพ (Bio Mask) ของพรีเดเตอร์มาได้ก่อนจะหลบหนี เพื่อล่อให้พรีเดเตอร์ไล่ตามเธอ

*หน้ากากชีวภาพ (Bio Mask) เป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ของพรีเดเตอร์ มีไว้สำหรับช่วยในการหายใจ สแกนคลื่นความร้อน เครื่องช่วยการมองเห็น ระบบกันแก๊สพิษ ฯลฯ และทำงานร่วมกับอุปกรณ์และอาวุธอื่น ๆ ของพรีเดเตอร์ด้วย


กับดักล่าพรีเดเตอร์

Predator Prey

อย่างที่ทราบว่า ฉากไคลแม็กซ์ใน ‘Prey’ นั้น ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Predator’ (1987) แบบชัดเจน ในขณะที่ ‘Predator’ ภาคแรก ผู้พันดัตช์เน้นใช้ตัวเขาเอง (ที่พรางตัวด้วยโคลน) เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้พรีเดเตอร์เข้ามาหาเขา ก่อนที่พรีเดเตอร์จะโดนกับดักของเขาเล่นงาน จนสุดท้าย พรีเดเตอร์ก็เปิดระบบระเบิดตัวเอง (Self-Destruct Device) ระเบิดตัวเองตายลั่นป่าในที่สุด (ส่วนผู้พันดัตช์ก็หนีรอดออกมาแบบเท่ ๆ ตามสูตร)

ส่วนใน ‘Prey’ นารูได้สร้างกับดักขึ้นแบบง่าย ๆ และเน้นใช้ลักษณะภูมิประเทศป่าและโคลนเลนเป็นหลัก นารูได้เหลาไม้เป็นหนามแหลมด้วยเช่นกัน แต่ที่ต่างออกไปคือ เธอใช้ขาของหัวหน้าผู้รุกรานมาเป็นเหยื่อล่อ และเธอได้กินดอกไม้ที่เรียกว่า ท็อตสิยาสีส้ม (Orange Totsiyaa) ที่มีฤทธิ์ทำให้ตัวเย็น เพื่อให้พรีเดเตอร์ไม่สามารถจับคลื่นความร้อนในร่างกายได้

นารูได้ต่อสู้กับพรีเดเตอร์จนสามารถผลักมันตกลงไปยังบ่อโคลนดูดได้ ก่อนที่เธอพูดขึ้นว่า “เร็วสิ เอาเลย ๆๆ ” เพื่อล่อให้พรีเดเตอร์ยิงสังหารเธอ แต่กลายเป็นว่า พรีเดเตอร์กลับโดนเซนเซอร์สามจุดจากหน้ากากชีวภาพชี้เป้ามาที่ตัว ปืนนั้นเลยสะท้อนชิ่งกลับมาสังหารตัวเองแทน

ซึ่งคำพูดนี้ของนารูก็สามารถอ้างอ้งไปถึงการล่อให้พรีเดเตอร์มาติดกับดักใน ‘Predator’ ภาคแรก ที่ผู้พันดัตช์พูดยั่วเย้าให้เข้ามาจัดการเขาด้วยประโยคที่ว่า “เอาเลย! เข้ามาฆ่ากูเลย กูอยู่นี่โว้ย!” (“Do it!, Come On! Kill Me Now!, I’m Here!”) ก่อนที่ผู้พันจะปล่อยปั้นจั่นลงมาทับพรีเดเตอร์


Easter Egg ที่ (ไม่ได้) ใช้ในหนัง

Predator Prey

แม้ว่าใน ‘Pray’ จะมีการใส่ Easter Egg จากแฟรนไชส์พรีเดเตอร์เข้ามามากมาย แต่ก็ใช่ว่าสักแต่จะยัดใส่เพื่อแฟนเซอร์วิสอย่างเดียว เพราะ แดน แทชแทนเบิร์ก ผู้กำกับได้เผยว่า มี Easter Egg จำนวนหนึ่งที่เขาตัดสินใจ “คัดออก” ไม่ใส่ในหนังเพื่อความเหมาะสมของตัวเนื้อเรื่อง ความเป็นจริงตามสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมของชนเผ่าโคแมนชีด้วยเช่นกัน

สิ่งนั้นก็คือ Easter Egg ที่มาจากประโยคฮิตในภาคแรก ‘Predator’ (1987) ที่กลายเป็นมีมบนอินเทอร์เน็ตไปแล้ว นั่นก็คือประโยคที่ว่า “กลับไปที่ช็อปเปอร์!” (“Get to the Chopper !.”) ที่ ‘ผู้พันดัตช์’ พระเอกของเรื่องที่ตะโกนไล่ให้ ‘แอนนา’ (รับบทโดย เอลปิเดีย คาร์ริลโล (Elpidia Carrillo)) นางเอกของเรื่องหนีไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ หลังจากที่เขาโดนพรีเดเตอร์ซุ่มโจมตี (ที่กลายเป็นมีมตลก ๆ ก็เพราะว่าสำเนียงของลุงอาร์โนลด์ที่พูดว่า “Get to the Choppa!” นี่แหละ)

ในคราวแรก แทชแทนเบิร์กก็เลยมีไอเดียว่า จะเอาคำว่าช็อปเปอร์ (ชื่อลำลองของเฮลิคอปเตอร์) ซึ่งมาจากประโยคดังที่กลายเป็นมีมนี้ไปตั้งชื่อให้กับม้าที่ปรากฏในหนัง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ใส่ลงไป เพราะเขามองว่ามันจะขัดกับวิสัยทัศน์ของหนังไปเสียเปล่า ๆ

“มันมีเรื่องตลกในกองถ่ายเยอะแยะเลยที่เรามักจะเรียกม้าว่าช็อปเปอร์ ประมาณว่าให้นักล่าหนังสัตว์พูดว่า ไปที่ช็อปเปอร์กัน ซึ่งอันนี้ผมว่ามันดูเลอะเทอะเกินไปหน่อย ถ้าพูดตามตรงก็คือ มันไม่มี Easter Egg หรืออย่างน้อยก็สักอันหนึ่งที่ผมเคยคิดจะยัดเยียดมันเข้าไป เราแค่กำลังโอบรับตำนานและเรื่องราวจากภาพยนตร์ต้นฉบับเข้ามาในโครงเรื่องเท่านั้นเอง”

“นั่นก็เลยทำให้ผมได้เห็นจังหวะเหมาะควรที่จะใส่ Easter Egg ได้ชัดขึ้น มันไม่ใช่ความคิดแบบที่ว่า “เราจะต้องยัดอันนี้ใส่ลงในหนังด้วยนะ” เพราะถ้าเป็นแบบนั้น มันจะไปขัดขวางเจตนารมณ์ของตัวหนังได้ “

Easter Egg เล็ก ๆ อีกจุดที่แทชแทนเบิร์กตัดออกไปในหนังก็คือ การตัดอาวุธบางอย่างของพรีเดเตอร์ออกไป หากย้อนไปดูหัวข้อการออกแบบลักษณะของพรีเดเตอร์ จะพบว่า ทีมงานต้องการออกแบบตัวของพรีเดเตอร์ให้มีความเก่ากว่าพรีเดเตอร์ที่เรารู้จักกัน เพราะฉะนั้นก็เลยมีการตัดอาวุธบางอย่าง เช่น ปืนยิงระเบิดของพรีเดเตอร์ออกไป เพื่อไม่ให้คนดูรู้สึกได้เปรียบฝั่งของชนเผ่าโคแมนชีที่มีอาวุธเพียงแค่ขวาน หอก ธนู จนเกินไปนัก


ปืนคาบศิลา ‘ราฟาเอล อะโดลินี 1715’

Predator Prey

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนหนัง อาจงงกับฉากที่ นารูได้รับปืนกระบอกหนึ่งมาจาก ‘ราฟาเอล อะโดลินี’ (Raphael Adolini) (นำแสดงโดย เบนเน็ตต์ เทย์เลอร์ (Bennett Taylor)) ล่ามชาวฝรั่งเศสที่ติดตามมากับกลุ่มชาวยุโรปที่อพยพเข้ามารุกรานชนพื้นเมือง

หลังจากที่นารูได้มอบสมุนไพรเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บขาขาดให้แก่อะโดลินีแล้ว อะโดลินีได้มอบปืนกระบอกนี้ให้ตามคำขอ และได้สอนวิธีใช้ปืนคาบศิลากระบอกนี้เพื่อเป็นการตอบแทนด้วย หลังจากที่นารูสามารถเอาชนะพรีเดเตอร์ ตัดหัวของพรีเดเตอร์มามอบให้กับหัวหน้าเผ่าตามธรรมเนียมของพิธีกรรมคะห์ตะเมีย (Ku̵htaamia) ได้สำเร็จ เธอได้มอบปืนกระบอกนี้ไว้ให้กับหัวหน้าเผ่าโคแมนชี กล้องตัดให้เห็นตัวอักษรที่แกะสลักอยู่ที่ตัวปืนว่า ‘Raphael Adolini 1715’

สำหรับแฟน ๆ ย่อมต้องจำปืนโบราณกระบอกนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะปืนคาบศิลา หรือปืนฟลินต์ล็อก (Flintlock) กระบอกนี้ เป็นปืนกระบอกเดียวกับที่ปรากฏในภาพยนตร์ ‘Predator 2’ (1990) นั่นเอง โดยในตอนท้ายเรื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจแฮร์ริแกน (นำแสดงโดย แดนนี โกลเวอร์ (Danny Glover)) ได้บุกไปถึงยานอวกาศที่ซ่อนอยู่ในใต้ดินเพื่อกำจัดพรีเดเตอร์ที่มีชื่อว่า ซิตีฮันเตอร์ (City Hunter) ได้สำเร็จ ก่อนที่ฝูงของพวกยวตจาจะปรากฏขึ้นเพื่อมารับศพของซิตีฮันเตอร์กลับไปที่ดาวบ้านเกิด แต่ก่อนที่พวกมันจะไป มันได้มอบปืนกระบอกนี้ให้กับแฮร์ริแกนเสมือนเป็นรางวัลในการล่า พร้อมกับพูดภาษามนุษย์ว่า “เอาไป” (“Take it.”)

ที่มาของปืนกระบอกนี้ทำให้แฟน ๆ ต่างก็ตั้งทฤษฎีและที่มาของมันว่า มันมาจากไหน และ ราฟาเอล อะโดลินี นั้นเป็นใคร เวอร์ชันที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็น่าจะเป็นเวอร์ชันใน ‘Predator: 1718’ พรีเดเตอร์เวอร์ชันคอมิกที่ตีพิมพ์ในปี 1996 ที่เคยมีการกล่าวถึงว่า อะโดลินีคือโจรสลัดที่ต่อสู้เคียงข้างกับพรีเดเตอร์ และได้มอบปืนกระบอกนี้ให้กับพรีเดเตอร์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

ถ้าหากจะลองไล่ลำดับเหตุการณ์ตามไทม์ไลน์ จะพบว่า นารู (Prey) ได้รับปืนคาบศิลากระบอกนี้มาก่อนเกือบ 300 ปี ก่อนที่พรีเดเตอร์จะมอบปืนนี้ให้เป็นของขวัญแก่แฮร์ริแกน ซึ่งก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า ปืนกระบอกนี้ไปตกอยู่ในมือของพรีเดเตอร์ได้อย่างไร ช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับพรีเดเตอร์และมนุษย์บ้างก่อนหน้านั้น

หากจะโยงเข้ากับช็อตสุดท้ายชองฉากท้ายเครดิต ที่ปรากฏภาพวาดโบราณ หลังจากที่นารูมอบปืนให้หัวหน้าเผ่าแล้ว ท้องฟ้ากลับมีสิ่งที่เรียกว่าธันเดอร์เบิร์ด (Thunderbird) เกิดขึ้นอีกครั้งเหมือนกับที่นารูได้เห็นในตอนแรกของเรื่อง แต่ดูเหมือนว่าคราวนี้จะต่างออกไป เพราะมีอะไรบางอย่างที่หน้าตาคล้ายกับยานอวกาศของพรีเดเตอร์ โผล่ออกมาจากกลุ่มเมฆพายุที่มีฟ้าแลบแปลบปลาบ บินตรงเข้ามายังพวกเขา เกิดอะไรขึ้นกับนารูและเผ่าโคแมนชี

หรือ ‘Pray’ อาจจะมีภาคต่อ ?


ที่มา: ScreenRant, Yahoo!, CNET, Screen Crush, Digital Spy, Insider, Inverse, Know Your Meme, IGN, Fansided, TimeOut, Wikipedia, ScreenRant

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส