[รีวิว] Ticket to Paradise – รอมคอมครอบครัวสูตรสำเร็จที่เด็ดด้วยมุกถูกจังหวะ
Our score
7.5

Release Date

06/10/2022

แนว

โรแมนติก/ตลก

ความยาว

1.44 ช.ม. (104 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

โอล พาร์คเกอร์ (Ol Parker)

SCORE

7.5/10

[รีวิว] Ticket to Paradise – รอมคอมครอบครัวสูตรสำเร็จที่เด็ดด้วยมุกถูกจังหวะ
Our score
7.5

Ticket to Paradise | ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

จุดเด่น

  1. ตัวหนังเป็นหนังรอมคอม-หนังครอบครัวที่ดูง่าย ดูได้เพลิน ๆ เป็นหนังรอมคอมแบบที่เราไม่ได้ดูมานานแล้ว
  2. ตัวบทสอดแทรกแง่มุมเกี่ยวกับความรักและครอบครัวได้ค่อนข้างดี
  3. จอร์จ คลูนีย์ - จูเลีย โรเบิร์ต เป็นคู่กัดคู่ขา MVP ของเรื่อง เคมีเข้ากันดีมาก เวลาเถียงกันทั้งมันทั้งฮา จนอยากจะดูฉากเถียงกันอีกเยอะ ๆ
  4. มุกตลกจังหวะนรกที่จังหวะคม ยิงเข้าเกือบทุกดอก มีกิมมิก ดูแล้วได้ฮาเบา ๆ ไหล่สั่นบันเทิง
  5. เป็นหนังดูเพลินอบอุ่น เหมาะกับคู่รักและครอบครัว แต่ดูคนเดียวก็ไม่น่าเเกลียด

จุดสังเกต

  1. ตัวหนังตามสูตรสำเร็จรอมคอม เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าต้องเดาเรื่องง่าย
  2. การนำเสนอความแปลกใหม่ของเกาะบาหลียังไม่ได้ถึงกับว้าว
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.8

  • คุณภาพโปรดักชัน

    6.3

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    7.3

  • ความบันเทิง

    8.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.7


สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรียกว่าเป็นดาราคู่ขวัญเบอร์ใหญ่อีกคู่ของวงการหนังฮอลลีวูดก็ว่าได้นะครับ สำหรับสุภาพบุรุษหนุ่มหล่อมากฝีมือ จอร์จ คลูนีย์ (George Clooney) และนักแสดงหนังรอมคอมระดับขุ่นแม่ เจ้าของฉายาผู้หญิงบานฉ่ำ จูเลีย โรเบิร์ต (Julia Roberts) ที่ถือว่าเป็นคู่ขวัญที่เหมาะเจาะสมน้ำสมเนื้อด้วยฝีมือการแสดงที่การันตีความตึงด้วยการคว้ารางวัลออสการ์กันมาแล้วทั้งคู่ และทั้งสองคนก็เคยร่วมงานแสดงด้วยกันมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาแวบ ๆ และที่มาปะทะบทบาทกันตรง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ‘Ocean’s Eleven’ (2001), Ocean’s Twelve (2004), ‘Confessions of a Dangerous Mind’ (2002) และ ‘Money Monster’ (2016) แถมทั้งคู่เองก็ไม่ใช่คนอื่นไกลอะไรนัก เพราะจริง ๆ แล้วทั้งสองคนก็เป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ้กนอกจอกันมาตั้งนานแล้ว

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

จะว่าไป ทั้งคู่เองก็เคยผ่านงานหนังรอมคอมกันมาแล้วทั้งนั้นนะครับ แต่ยังไม่เคยมาร่วมงานกันในหนังรอมคอมมาก่อนเลย จนกระทั่งได้มาร่วมงานกันในหนังโรแมนติกคอมมีดี้ (a.k.a. หนังรอมคอม) เรื่องล่าสุด ‘Ticket to Paradise’ หรือ ‘ตั๋วรักสู่พาราไดซ์’ หนังใหม่ของสตูดิโอ Working Title และค่ายหนังลูกโลก ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) โดยได้ โอล พาร์คเกอร์ (Ol Parker) ที่ผ่านงานกำกับหนังรอมคอมมิวสิคัลภาคต่ออย่าง ‘Mamma Mia! Here We Go Again’ (2018) มาแล้ว

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

ซึ่งจริง ๆ แล้ว หนังเรื่องนี้เกือบได้ไปจุติเป็นหนังออริจินัลสตรีมมิงแล้วนะครับ โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดที่ธุรกิจหนังโรงไม่ค่อยปัง คือกะว่าเตรียมหน้าหนังระดับบิ๊กเอาไว้รอดักปั๊มยอดวิวไว้แล้ว แต่ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์สนี่แหละที่ใจกล้า เป็นคนบอกปัดให้เอาหนังเรื่องนี้ไปฉายโรงซะเถอะ เพราะจะว่าไป หน้าหนังเองแม้ว่าจะสู้หนังบล็อกบัสเตอร์ระดับบิ๊ก หรือหนังซูเปอร์ฮีโรที่ครองตลาดหนังยุคนี้ไม่ได้มากนัก ถ้าตอบแบบเอาหล่อก็คือ อย่างน้อยก็สร้างความหลากหลายให้กับตลาดหนังได้คึกคักน่าตื่นเต้นขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าเอาแบบตรง ๆ ผู้บริหารก็คงมองทะลุว่า แม้ว่าตัวหนังอาจจะไม่แมส แต่หน้าหนังก็ถือว่าไม่แย่ มีศักยภาพน่าไว้วางใจมากพอที่จะส่งลงโรงปั๊มเงินได้พอสมควรนั่นแหละ

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

ตัวเรื่องของ ‘Ticket to Paradise’ นั้นว่าด้วยเรื่องยุ่งขิงของ จอร์เจีย คอตตอน (Julia Roberts) และ เดวิด คอตตอน (George Clooney) อดีตสามีภรรยาที่หย่าร้างกันมานานแล้ว แต่ก็ยังต้องเจอกันเพราะยังต้องเลี้ยงลูก แถมเจอกันทีไรก็ได้แต่เถียงจิกกัดตามสไตล์ผัวเมียละเหี่ยใจ ทั้งคู่มีโซ่ทองคล้องใจคือ ลิลี คอตตอน (Kaitlyn Dever) ลูกสาวสุดน่ารักคนเดียวของครอบครัวที่เพิ่งเรียนจบและกำลังจะทำงานเป็นทนายความ เธอและเพื่อนสาว เร็น บัตเลอร์ (Billie Lourd) เลยได้โอกาสเดินทางไปเที่ยวฉลองความสำเร็จกันที่เกาะบาหลี

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

แต่หัวใจเจ้ากรรม ลิลีดันตกหลุมรักหน้ามืดตามัวกับ เกอเด (Maxime Bouttier) หนุ่มชาวเกาะสุดหล่อเพอร์เฟกต์อย่างกับเทพบุตรแบบชนิดมาเร็ว เคลมเร็ว จนถึงขั้นจะแต่งงานกันขนาดนั้นเลย จอร์เจียและเดวิดจึงต้องจำใจจับมือบินตามไปบาหลีเพื่อร่วมกันขัดขวางลูกสาวไม่ให้แต่งงานกันได้สำเร็จ เพราะกลัวว่าชีวิตคู่ของเธออาจจะบัดซบจบไม่สวยเหมือนอย่างที่พ่อแม่เคยเป็น แต่ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมี พอล (Lucas Bravo) กัปตันหนุ่มเจ้าเสน่ห์ แฟนใหม่ของเมียเก่าเข้ามาเป็นก้างขวางคอเข้าให้ซะอีกแน่ะ

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

สำหรับหนังเรื่องนี้ แทบจะไม่ต้องอธิบายจำกัดความให้ยืดยาวเลยครับ คือเรียกแบบรวบรัดได้เลยว่าเป็นหนังรอมคอมแบบแท้ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ย่อยง่าย กินง่าย เป็นหนังรอมคอมผสมหนังครอบครัวที่พึ่งพาสูตรสำเร็จเจ้าเก่าตำรับฮอลลีวูดคลาสสิกกันแบบตรง ๆ ทื่อ ๆ ไปเลย ไม่มีบิดพลิ้วหรือดัดแปลงให้แปลกรสแปลกกลิ่น หรือเน้นบันเทิงหวือหวาเกินกว่าพล็อตที่ควรจะเป็น เป็นหนังรอมคอมครอบครัวที่ดำเนินเรื่องแบบเรียบง่ายตามขนบของหนังรอมคอมคลาสสิกอย่างที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กนั่นแหละ ซึ่งจะว่าไป มันก็เป็นหนังคลาสสิกในแบบที่เราไม่ได้ดู (และหายไปจากโรงหนัง) มาเนิ่นนานแล้วเหมือนกันนะครับ

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

แน่นอนว่า ข้อสังเกตของหนังเรื่องนี้มันก็ชัดเจนในตัวมันเองแล้วว่า ตัวหนังนั้นดำเนินตามขนบหนังครอบครัว และหนังรอมคอมแบบเป๊ะ ๆ เลย ถ้าอาศัยดูหนังรอมคอมมาเยอะ เรื่องราวและบทสรุปก็จะเป็นอย่างที่คุณผู้อ่านนึกออกนั่นแหละครับ ถ้าพูดแบบใจร้ายก็คือ ตัวพล็อตนี่ถือว่าเชยล้าสมัยเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าพูดในเชิงเข้าข้าง ก็ต้องบอกว่าตัวหนังนั้นดูง่าย ย่อยง่าย ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องคิดเยอะหรือคาดหวังว่ามันจะหักมุมหักศอกหรือใส่กิมมิกจัด ๆ เหมือนหนังยุคนี้เสียให้ยาก แม้ว่าตัวบทเองจะสอดแทรกแง่มุมเกี่ยวกับความรักและครอบครัวเอาไว้ได้ค่อนข้างดี ไม่ได้ถึงกับกลวง แต่ก็ไม่ได้ยากเกินที่คนทั่วไปจะเข้าถึง

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

แม้ว่าตัวหนังเองจะออกไปทางเดาง่าย แต่ก็ต้องชมเรื่องของบทหนังว่า สามารถรักษากราฟความบันเทิงและ Vibe ที่ถูกที่ควรของหนังสไตล์นี้เอาไว้ได้อย่างถูกจังหวะ ถูกกาลเทศะ และมีเสน่ห์ที่ชวนให้ดูได้อย่างไม่น่าเบื่ออยู่นะครับ อย่างแรกเลยก็คือการใส่มุกตลกที่ถือว่าคิดมาดีเลยแหละ เป็นมุกตามสถานการณ์ที่เน้นมุกเซ่อ เหตุการณ์พาไป มุกเหนือจริง มุกทื่อ ๆ ตามสไตล์หนังแนวนี้ ซึ่งโอเคแหละว่ามันก็อาจจะทำให้ตัวละครดูคิดน้อยไปหน่อย แต่ก็ยังดีที่ตัวหนังไม่ได้สักแต่จะยัดเยียดมุกมาให้แบบตีหัวเข้าบ้าน ตัวหนังสามารถวางจังหวะมุกตลกได้นรกมาก ๆ เป็นหนังที่ยิงจังหวะมุกได้โดนเส้นเกือบทุกมุก มีแป้กบ้างแต่ก็ถือว่าไม่เสียหาย เป็นการเลี้ยงกราฟให้ตัวหนังยังดูได้แบบเพลิน ๆ เบา ๆ เอาพอไหล่สั่นเรียกยิ้มมากกว่าจะฮาแตกลั่นโรง

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

และอีกเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของนักแสดงคู่ขวัญอย่างคลูนีย์และโรเบิร์ตนี่แหละครับ ทั้งคู่เรียกได้ว่าคือหัวใจสำคัญสำหรับความบันเทิงของตัวหนังอย่างแท้จริง ถ้านี่เป็นการทำอาหาร ทั้งสองคนก็คือวัตถุดิบชั้นดีระดับพรีเมียมจริง ๆ ล่ะครับ ลำพังแค่ฝีไม้ลายมือด้านการแสดง และเคมีของทั้งคู่ในฐานะเพื่อนซี้ทั้งในจอและนอกจอนี่ก็เรียกได้ว่าเชื่อมือได้ในระดับหนึ่งแล้ว พอยิ่งต้องมารับบทในฐานะอดีตผัวเมียคู่กัดที่เจอกันเป็นไม่ได้ ต้องจิกกัดง้องแง้งไม่เว้นวาย ทั้งคู่ก็สามารถเป็นคู่กัดคู่ขาได้ออกมาเข้าขา กลมกล่อมและดูสนุกมาก สำหรับผู้เขียน ตอนได้เห็นทั้งคู่เถียงจิกกัดใส่กันนี่คือสนุกมากซะจนอยากให้ทั้งคู่ต่อปากต่อคำกันอีกเยอะ ๆ ไปเลย หรือไม่ก็สร้างภาค 2 ให้ทั้งคู่จิกกัดกันทั้งเรื่องไปเลยก็ได้นะ (555) แต่เวลามีซีนกุ๊กกิ๊กมุ้งมิ้งกันในฐานะอดีตคู่รักรุ่นใหญ่นี่ก็ถือว่าทำได้น่ารักและมีเสน่ห์สมฐานะคู่ขวัญดารารุ่นใหญ่จริง ๆ

Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

‘Ticket to Paradise’ นี่เรียกได้ว่าเป็นหนังรอมคอมผสมหนังครอบครัวที่แม้ว่าทรงของเรื่องจะคลาสสิกตามขนบจนแอบเดาเรื่องง่ายไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดูได้แบบเพลิน ๆ ได้อยู่นะครับ มีมุกนรกที่ฮาโดนเส้น เป็นหนังฟีลอบอุ่นชวนยิ้มที่หลายคนอาจคิดถึง (เพราะไม่ได้ดูมานานแล้ว) ถ้าเป็นอาหาร นี่ก็คงเป็นเมนูง่าย ๆ ที่อร่อย ย่อยง่าย อิ่มง่าย เป็นหนังไร้พิษภัยที่น่าจะเหมาะสำหรับคู่รักและครอบครัว หรือไม่ก็เป็นหนังเอาไว้ดูแก้ปวดหัวจากเรื่องราววุ่นวายที่อยู่นอกโรงหนังได้ผลชะงัดนักแล หรือจะไปดูคนเดียวก็ยังพอไหว เพราะไม่ได้สวืทหวานเลี่ยนจนเกินงาม หรืออย่างน้อยไปดู จอร์จ คลูนีย์ ปะทะฝีปากง้องแง้งกับ จูเลีย โรเบิร์ต ผู้เขียนเองก็คิดว่าคุ้มอยู่นะครับ


Ticket to Paradise ตั๋วรักสู่พาราไดซ์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส