จากตำนานปรัมปรา สู่เรื่องราวนิทานนางเงือกน้อยที่อยากขึ้นบก ด้วยความรักอันบริสุทธิ์​ กลายเป็นเรื่องเล่ารุ่นสู่รุ่นยาวนานนับศตวรรษ​ ที่ถูกนำเสนอ​ในหลายรูปแบบ บทความนี้ย้อนดูตำนานของนางเงือกน้อย ‘The Little Mermaid’ จากฉบับนิทานเนื้อหาสุดดาร์กที่แสนจะโหดร้ายและเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม สู่เวอร์ชันนางเงือกน้อยของ Disney ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และฉบับไลฟ์แอ็กชันคนแสดง ที่สร้างข้อถกเถียงมากมายตั้งแต่หนังยังไม่ทันเริ่มฉาย


ตำนานนิทานโศกนาฏกรรมสุดดาร์กของนางเงือกน้อย
สุพรรณมัจฉา Mermaid

นับตั้งแต่ยุคโบราณ นางเงือก แต่เดิมถือเป็นความเชื่อตามนิทานปรัมปรา ที่กล่าวถึงอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งปลา ซึ่งเป็นความเชื่อที่แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งตามตำนานความเชื่อของชาวกรีก ยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชีย เช่นในญี่ปุ่นหรือในประเทศไทย ก็มีเรื่องราวของนางเงือกด้วยเช่นเดียวกัน เช่น นางเงือกในวรรณคดี พระอภัยมณี และนางสุพรรณมัจฉา ธิดาของทศกัณฐ์กับนางปลา ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

นางเงือกได้กลายมาเป็นที่รู้จักในวงศิลปะและวรรณกรรม ในชื่อเรื่อง ‘The Little Mermaid’ นิทานแฟนตาซีที่ที่ประพันธ์โดย ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) นักเขียนชาวเดนมาร์ก ที่เขียนขึ้นในปี 1836 และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมนิทาน ‘Fairy Tales Told for Children’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1837

เนื้อเรื่องนิทาน ‘The Little Mermaid’ ของแอนเดอร์เซน กล่าวถึงเรื่องราวของนางเงือกน้อย 6 คน อาศัยอยู่กับพ่อผู้เป็นเจ้าเมืองในอาณาจักรใต้ทะเลลึก เงือกแต่ละคนมีอายุห่างกัน 1 ปีและมีกฏว่า เงือกที่จะขึ้นไปว่ายบนผิวน้ำ เพื่อมองเห็นโลกบนบกได้ จะต้องมีอายุ 15 ปี แต่เงือกน้อยคนสุดท้องผู้เลอโฉม กลายเป็นนางเงือกคนแรกที่ได้พบ และช่วยชีวิตเจ้าชายจากเหตุเรืออัปปาง ทำให้เธอตกหลุมรักเจ้าชายตั้งแต่แรกพบ ทำให้เธอได้ขอให้แม่มดทะเล เพื่อเปลี่ยนเธอให้มีขาเป็นมนุษย์

The Little Mermaid

แต่สิ่งที่ในฉบับนิยายแตกต่างออกไปจากฉบับที่เราคุ้นเคยกันอย่างสิ้นเชิงนั่นก็คือ เรื่องราวที่เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม และบทสรุปที่แสนจะโหดร้าย ทั้งการยอมถูกตัดลิ้น และถูกกรีดหาง เพื่อเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นมนุษย์ การยอมถูกเจ้าชายพาเข้าวัง อาศัยนอนหน้าห้องนอนของเจ้าชายราวกับว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง เวลาที่นางเงือกน้อยเต้นรำ ก็จะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนเท้าโดนมีดกรีด เพียงเพื่อต้องการให้เจ้าชายรู้สึกมีความสุข นางเงือกน้อยใช้ชีวิตบนบกด้วยความรู้สึกขมขื่น เต็มไปด้วยความทุกข์ภายในใจ แต่ก็ไม่สามารถพูดหรือร้องไห้ออกมาได้

แถมตอนจบก็จบแบบไม่สมหวังอีกต่างหาก เพราะเจ้าชายได้แต่งงานกับหญิงอื่น เหล่าพี่สาวเงือกทั้ง 5 จึงได้มอบมีดของแม่มดทะเลที่ได้สละเส้นผมไปแลก เพื่อหวังให้เงือกน้อยนำไปใช้สังหารเจ้าชาย และนำเอาเลือดมาหยดที่ขา แล้วจะทำให้มนต์ขลังคลายกลายกลับไปเป็นนางเงือกตามเดิม แต่ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ ทำให้สุดท้าย นางเงือกน้อยก็ไม่อาจทำใจสังหารเจ้าชายได้ลง ก่อนจะตัดสินใจยอมกระโดดน้ำตาย เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นพรายฟอง

หลังจากที่เงือกน้อยได้สลายกลายเป็นพรายฟองไปแล้ว ในอีก 300 ปีต่อมา ด้วยจิตใจอันดีงามและเสียสละ เงือกน้อยได้กลายเป็นวิญญาณลม ราวกับวิญญาณของสิ่งมีชีวิตทั่วไป นิทานฉบับของแอนเดอร์เซน จบลงด้วยบทสรุปทิ้งท้ายสอนใจเด็กไว้ว่า วิญญาณลมนี้จะได้ไปขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น หากได้พัดผ่านเด็กดี แต่หากวิญญาณลมพัดผ่านเด็กดื้อ วิญญาณก็จะได้ไปสรวงสวรรค์ช้าลง

hans-christian-andersen

ด้วยเรื่องราวสุดฮาร์ดคอร์ และบทสรุปสุดดาร์ก ตามแบบฉบับของนิทานเด็กโบราณ ทำให้มีการวิเคราะห์วรรณกรรมในภายหลังตามแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งทฤษฎีที่กล่าวว่า เงือกน้อยอาจเป็นตัวแทนของชีวิต และความรักที่ไม่สมหวังของแอนเดอร์เซน กับชายหนุ่มที่ชื่อ เอ็ดเวิร์ด คอลลิน (Edvard Collin) ผู้ปฏิเสธความรักของเขา และหนีไปแต่งงานกับหญิงสาวตามความต้องการของครอบครัว

แอนเดอร์เซนจึงใช้นิทานเรื่องนี้เป็นเสมือนสื่อถึงความแปลกแยกจากโลก ขาดการยอมรับ และถูกกีดกันจากความรัก ด้วยสถานะทางเพศที่ผิดวิสัยของสังคมของตัวเขาเอง ผ่านตัวละครเงือกน้อยที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลก ด้วยความรักอันแน่วแน่ แม้ว่าจะต้องยอมเสียสละมากแค่ไหนก็ตาม

‘The Little Mermaid’ กับเวอร์ชันดัดแปลง และแอนิเมชันที่โลกรักของ Disney

นิทาน ‘The Little Mermaid’ ของแอนเดอร์เซนนี่เอง ที่กลายมาเป็นต้นธาร และแรงบันดาลใจของเรื่องราวเกี่ยวกับนางเงือก ที่มีการแตกแขนงออกมาในอีกหลายสื่อ หลายเวอร์ชันทั้งในรูปแบบละครเวที ภาพวาด รวมทั้งในเวอร์ชันภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน และภาพยนตร์แอนิเมชัน เช่น ‘Русалочка’ หรือแอนิเมชัน ‘The Little Mermaid’ สไตล์จัดจ้านแปลกตาของสหภาพโซเวียต ที่ฉายในปี 1968

‘Anderusen Dowa Ningyo Hime’ นางเงือกน้อยเวอร์ชันอนิเมะ ที่ผลิตโดย โตเอะ แอนิเมชัน (Toei Animation) ของประเทศญี่ปุ่น ที่ฉายในปี 1975 หนังไลฟ์แอ็กชันจากปี 1976 ของสาธารณรัฐเช็ก (Malá mořská víla) และเวอร์ชันของสหภาพโซเวียต ที่นางเงือกน้อยมีสีผมเป็นสีเขียวอมฟ้า

แต่แน่นอนว่า คงไม่มีเวอร์ชันไหนที่โด่งดังเทียบเท่ากับ ‘The Little Mermaid’ ฉบับหนังแอนิเมชันของ Disney ที่ฉายในปี 1989 อีกแล้ว โดยโปรเจกต์ The Little Mermaid เป็นนิทานที่ Walt Disney ต้องการจะหยิบมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชันตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของการก่อตั้งบริษัท แต่ด้วยความไม่พร้อมด้านวิทยาการในเวลานั้น รวมทั้งการวาดภาพใต้น้ำที่ยังไม่สวยงามมากพอ ทำให้โปรเจกต์นี้ถูกลืมไปนาน

จนกระทั่งในปี 1985 รอน คลีเมนต์ (Ron Clements) และ จอห์น มัสเกอร์ (John Musker) ที่กำลังกำกับหนังแอนิเมชัน ‘The Great Mouse Detective’ (1986) ได้นำเสนอโปรเจกต์นี้กับ เจฟฟรีย์ แคสเซนเบิร์ก (Jeffrey Katzenberg) ผู้บริหารของ Walt Disney Studios ในเวลานั้น แต่ก็ถูกปัดตกไป เพราะกลัวจะซ้ำซ้อนกับ ‘Splash’ ภาคต่อหนังรอมคอมที่ว่าด้วยเรื่องความรักของคนกับนางเงือกอยู่พอดี จนสุดท้ายก็ได้รับไฟเขียวให้สร้าง

The Little Mermaid disney

ซึ่งจุดเด่นของแอนิเมชันเรื่องนี้ก็คือ การเล่าเรื่องในแบบมิวสิคัลคล้ายกับการแสดงละครบรอดเวย์ ที่ Disney ไม่ได้ทำมานานแล้ว ทำให้ตัวหนังมีความเป็นมิวสิคัล พร้อมกับการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเงือกน้อยมีการตั้งชื่อใหม่ว่า แอเรียล (Ariel) ที่มีลักษณะเด่นคือ ผมยาวสีแดง ตาสีฟ้า หางสีเขียว มีนิสัยร่าเริง สดใส เอาแต่ใจ ฉลาด มีงานอดิเรกคือ ชอบสะสมข้าวของของมนุษย์ เนื่องจากมีความหลงไหลในโลกบนบก เป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ยุคใหม่ที่มีความคิด และทางเลือกชีวิตเป็นของตัวเอง มีเพื่อนเป็นเหล่าสัตว์ ทั้งปลาน้อย ฟลาวเดอร์ (Flounder) นกนางนวล สกัตเทิล (Scuttle) เซบาสเตียน (Sebastian) ปูแดงนักแต่งเพลง และแม่มดทะเล เออร์ซูลา (Ursula) ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ดีไวน์ (Divine) ศิลปินและนักแสดง Drag Queen ชาวอเมริกัน

หลังจากที่ ‘The Little Mermaid’ ภาพยนตร์แอนิเมชันลำดับที่ 28 ของ Disney เข้าฉายในปี 1989 สามารถสร้างปรากฏการณ์ ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ และได้เข้าชิงเข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขา และชนะ 2 สาขา ได้แก่สาขา สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเพลง “Under the Sea” ส่วนเพลงประกอบอีกเพลงอย่าง “Part of Your World” ก็โด่งดังเป็นพลุแตก รวมทั้งยังเป็นแอนิเมชันของดิสนีย์ที่ทำรายได้อย่างสูง จากการฉีกแนว ด้วยการผสมเรื่องราวโรแมนติก เข้ากับประเด็นครอบครัว แฝงประเด็นเกี่ยวกับเพศทางเลือกที่เบ่งบานในยุค 80s เป็นจุดเริ่มต้นของยุค ‘Disney Renaissance’ หรือยุคสมัยที่ Disney ทำกำไรจากหนังแอนิเมชันได้เป็นกอบเป็นกำอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney)

นอกจากนี้ ‘The Little Mermaid’ ยังถือเป็นแอนิเมชันเรื่องสุดท้ายที่สร้างขึ้นด้วยวิธีดั้งเดิม โดยเฉพาะฟองอากาศใต้น้ำประมาณ 1 ล้านฟอง ที่ต้องวาดขึ้นด้วยมือ ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างแอนิเมชัน ด้วยวิธีการดิจิทัลในเวลาต่อมา ซึ่งซีนสุดท้ายของหนัง ก็คือฉากที่
ทดลองสร้างขึ้นด้วยเทคนิคดิจิทัลนั่นเอง จนกระทั่งมีการสร้างภาคต่อออกมาอีก 2 ภาค ‘The Little Mermaid II: Return to the Sea’ (2000) และ ‘The Little Mermaid: Ariel’s Beginning’ (2008) นำไปดัดแปลงเป็นสินค้า วิดีโอเกม และดัดแปลงเป็นละครบรอดเวย์

ตำนานนางเงือก ‘ผิวดำ-หูหนวก’ คนแรก

นอกจากนี้ก็ยังเคยมีการผลิตในรูปแบบการ์ตูนซีรีส์ 3 ซีซันที่ฉายในปี 1992-1994 อีกด้วย โดยในเวอร์ชันที่ฉายทางสถานีโทรทัศน์ CBS นี้ นอกจากจะยังคงยืดคาแรกเตอร์เดิมจากในหนังแล้ว ก็ยังมีการเพิ่มตัวละครใหม่ที่มีชื่อว่า กาเบรียลลา (Gabriella) ซึ่งเป็นนางเงือกผิวดำหูหนวกที่เป็นเพื่อนของแอเรียล และมีปลาหมึกชื่อ โอลลี คอยทำหน้าที่ล่ามภาษามืออยู่ข้าง ๆ

โดยแรงบันดาลใจของตัวละคร กาเบรียลลา เกิดจากการที่ แพตซี คาเมรอน (Patsy Cameron) ผู้เขียนบทและโปรดิวเซอร์ ได้พบเรื่องราวของเด็กหญิง กาเบรียลลา แองเจลินา บอมมิโน (Gabriella Angelina Bommino) เด็กหญิงวัย 2 ขวบที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมียในระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาลเด็กในซานดิเอโก ในระหว่างการรักษา กาเบรียลลา ชอบดูหนังแอนิเมชัน ‘The Little Mermaid’ วันละ 3-4 รอบ ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยคาเมรอนได้นำภาพถ่ายและชื่อของเธอมาสร้างเป็นคาแรกเตอร์นางเงือกผิวดำ เพื่ออุทิศให้กับกาเบรียลลาผู้จากไป

‘The Little Mermaid’ ไลฟ์แอ็กชัน สร้างความหลากหลาย หรือทำลายคาแรกเตอร์
The Little Mermaid disney

30 ปีหลังจากเวอร์ชันต้นฉบับออกฉาย ปี 2019 Disney ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะมีการนำ ‘The Little Mermaid’ มาทำใหม่ในรูปแบบหนังไลฟ์แอ็กชันโดยอ้างอิงเรื่องราวและคาแรกเตอร์จากฉบับแอนิเมชันที่ฉายในปี 1989 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ บ็อบ ไอเกอร์ (Bob Iger) ซีอีโอในเวลานั้น ที่พยายามนำการ์ตูนสุดคลาสสิกมาดัดแปลงเป็นหนังไลฟ์แอ็กชันที่ใช้คนแสดงจริง หรือผสมผสานกับ CGI

โดยหลังจากที่มีการเปิดตัวทีมนักแสดงที่จะร่วมแสดงและพากย์เสียงในฉบับหนัง ต่างก็เกิดการถกเถียงอย่างหนาหู โดยเฉพาะบทแอเรียล ที่ได้ ฮัลลี เบลีย์ (Halle Bailey) หนึ่งในศิลปินดูโอ ‘Chloe x Halle’ ที่โด่งดังจากการคัฟเวอร์เพลงบน YouTube มารับบทเป็นแอเรียล ซึ่งบางส่วนก็มองว่าเห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับวงการฮอลลีวูด และมองว่าเป็นการดัดแปลงตีความใหม่จากนิทานต้นฉบับได้อย่างน่าสนใจ

จนเมื่อมีการปล่อยคลิปทีเซอร์ตัวแรกของหนังในงาน D23 Expo เมื่อปี 2022 ที่แม้ว่าฮัลลีจะโชว์ขับร้องเพลง “Part of Your World” ได้อย่างทรงพลังประทับใจคนในงาน แต่กลับโดนกด Dislike บน YouTube ไปมากกว่า 1 ล้านครั้ง และพูดถึงกระแสนี้อย่างรุนแรงในแฮชแท็ก #NotMyAriel ในขณะที่อีกหลายส่วนก็มองว่า นี่คือการคัดเลือกนักแสดงโดยไม่สนใจสีผิว หรือ Color-blind Casting ที่ทำลายภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่ ที่มีต่อแอเรียล ผิวขาว-ผมแดง เหมือนในแอนิเมชันที่คนทั้งโลกหลงรักมายาวนานกว่า 30 ปี

และเมื่อ Disney ดำเนินนโยบายนี้ กับหนังหลาย ๆ เรื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ทำให้บริษัทถูกวิจารณ์ว่า นี่เป็นการ Woke หรือการตาสว่าง หรือตื่นตัว ด้วยการเพิ่มความหลากหลาย ทั้งทางเพศ สัญชาติ เพราะต้องการสนับสนุนประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ หรือเป็นเพียงการตาสว่างเพื่อต้องการ เข้าไปอยู่ในเทรนด์ปัจจุบันตามแนวคิดของคนในสังคมยุคใหม่ ที่มองความหลากหลายเป็นเรื่องปกติมีมาตรฐานความงามที่ต่างจากคนยุคเก่าและไม่ได้มองภาพลักษณ์ภายนอกเป็นหลัก เพียงเพื่อต้องการจะโกยกำไรโดยไม่สนใจเรื่องของคุณภาพของคาแรกเตอร์ที่เหมาะสมกับนักแสดงกันแน่

ท้ายที่สุดแล้ว ‘The Little Mermaid’ ในรูปแบบหนังไลฟ์แอ็กชัน รวมทั้งเสียงร้องอันทรงพลังของเบลีย์ จะกุมหัวใจของแฟนคลับจนสามารถมองข้ามต้นฉบับไปได้หมดจดหรือ Disney เองจะติดหล่ม Woke ด้วยคุณภาพของตัวหนัง คงต้องเป็นเรื่องที่คนดูจะต้องตัดสินผลงานด้วยตาของตัวเอง



พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส