ถ้าใครได้ดูแอนิเมชันตระกูล Spider-Verse ของ Sony หรือเล่นเกม Marvel’s Spider-Man ของ Insomniac Games แล้วล่ะก็ แน่นอนว่าต้องรู้จัก ไมลส์ โมราเลส (Miles Morales) Spider-Man ผิวดำที่โหนใยตีคู่มากับ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (Peter Parker) กันอยู่เป็นแน่ ยิ่งในปัจจุบันความนิยมของไมลส์ก็พุ่งทะยานขึ้นมาก จนใครต่างเห็นหน้าเขาอยู่เต็มโซเชียลมีเดีย แต่เอาเข้าจริงไมลส์ก็เป็นตัวละครที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อสิบกว่าปีนี้เอง ดังที่เห็นเลยว่า ในหนัง Spider-Man ภาคเก่า ๆ นั้น Sony ไม่เคยกล่าวถึงการมีอยู่ของ ไมลส์ โมราเลสเลย

เมื่อมองกลับมาในโลกความจริงนี้ ไมลส์ โมราเลส ก็เป็น Spider-Man ที่เปิดตัวได้ไม่สวยหรูเท่าไหร่ เพราะกว่าคนจะยอมรับ น้องก็โดนคำครหาเยอะมาก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวละครที่ต้องผ่านบทพิสูจน์มากมายกว่าจะชนะใจคนอ่าน ว่าแต่แนวคิดการกำเนิดไมลส์มาจากไหน? แล้วทำไมตอนแรกแฟนคลับถึงเกลียดเขานักหนา เราจะมาแบไต๋ให้อ่านกันครับ

ต้นกำเนิดของ ไมลส์ โมราเลส เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2011 โดยช่วงนั้น บารัก โอบามา (Barack Obama) กำลังเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอยู่พอดี ซึ่ง อักแซล อาลอนโซ (Axel Alonso) หัวหน้ากองบรรณาธิการของ Marvel Comics ในขณะนั้น รู้สึกว่าคอมิกของ Marvel ควรมีหนังสือที่เชิดชูซูเปอร์ฮีโรแอฟริกันที่เป็นเชื้อชาติเดียวกับโอบามา หลังจากนั้นพวกเขาจึงได้คำตอบว่า Marvel Comics จะสร้าง Spider-Man ผิวดำออกมา

ปู่สแตน ลี (Stan Lee) บิดาผู้ให้กำเนิด Spider-Man เป็นหนึ่งในคนที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงชาติกำเนิดของตัวละครที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปู่คงไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ เป็นคนดำอย่างแน่นอน แต่ถ้าจะหาคนอื่นมาเป็น Spider-Man ให้เป็นตัวแทนเด็กผิวดำ ปู่ลีแกก็ไม่ติดนะ นั่นทำให้ข้อสรุปออกมาที่ Spider-Man ผิวดำคนนี้จะเป็นคนอื่นไปเลย

ความต้องการเชิดชูซูเปอร์ฮีโรผิวดำทำให้ ไมลส์ โมราเลส ได้เกิดขึ้นมา โดย 2 นักเขียนอย่าง ไบรอัน ไมเคิล เบนดิส (Brian Michael Bendis) กับ ซาร่า พิเชลลี (Sara Pichelli) ก็ช่วยกันเข็นโปรเจกต์นี้ออกมา จนสามารถเปิดตัวไมลส์ได้ในปี 2011 โดยไมลส์ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมิก Ultimate Fallout #4 (หนังสือที่มีหัวเรื่องว่า Ultimate เป็นคอมิกส์ที่มีเนื้อเรื่องแยกออกเป็นอีกจักรวาล ซึ่งมักนำไปสู่การสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบในเส้นเรื่องหลัก โดยแฟน ๆ มักเรียกกันว่าจักรวาล Ultimate)

ไอเดียการออกแบบของ ไมลส์ โมราเลส มาจากการที่ผู้สร้างเห็น ดอนัลด์ โกลเวอร์ (Donald Glover) นักแสดงชาวแอฟริกัน-อเมริกันใส่ชุดนอนลาย Spider-Man ในซีรีส์ตลกทางโทรทัศน์เรื่อง Community ซึ่งซีนนั้นได้จุดประกายให้ผู้สร้างนำโกลเวอร์มาออกแบบเป็น ไมลส์ โมราเลส ขึ้นมา 

ดอนัลด์ โกลเวอร์ ใส่ชุดนอนลาย Spider-Man ในซีรีส์เรื่อง Community

ภายหลัง ดอนัลด์ โกลเวอร์ ก็ได้รับเชิญให้มาเล่นเป็นแอรอน เดวิส (Aaron Davis) หรือ Prowler ซึ่งเป็นอาของไมลส์ที่ปรากฏใน Spider-Man: Homecoming โดยหากใครสังเกตดี ๆ ในเรื่องนี้ แอรอน เดวิส ก็จะกล่าวถึงไมลส์ด้วยนะ เรียกได้ว่าไมลส์ก็เป็นหนึ่งในตัวละครที่มีตัวตนใน Marvel Cinematic Universe อยู่แล้วเพียงแค่ยังไม่ปรากฏตัว โดยล่าสุด ดอนัลด์ โกลเวอร์ ก็ได้กลับมารับบท แอรอน เดวิส ใน Spider-Man: Across the Spider-Verse ที่เพิ่งฉายไปด้วย

ดอนัลด์ โกลเวอร์ ในบทแอรอน เดวิส

ในการออกแบบ ไมลส์ โมราเลส สองนักเขียนสร้างโดยคำนึงตั้งแต่บุคลิก รวมถึงภูมิหลังที่มีอิทธิพล และลักษณะเด่นที่เขาจะแสดงออก เช่นเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ ร่างกาย ไปจนถึงสำเนียงการพูด นั่นทำให้เราได้ Spider-Man ที่มีสัญชาติแอฟริกัน ซึ่งอาศัยอยู่ย่านบรุกลินออกมา นอกจากนั้นสองนักเขียนยังออกแบบชุด Spider-Man ของไมลส์ให้มีสีดำ พร้อมโลโก้แมงมุมสีแดงที่ตัดกัน 

ด้วยความสดใหม่กว่า จึงทำให้ไมลส์เป็นหนึ่งในตัวละครที่เรียกไปได้สุดทางกว่า Spider-Man คนก่อนอย่างปีเตอร์ ไม่ว่าจะการอัปเกรดความสามารถอย่างการพรางตัว และยังปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ แถมยังใช้ Venom Beam รวมถึงมีพลังการฟื้นฟูที่สูงกว่ามาก จะมีก็เพียง Spider-Sense, ความฉลาด และประสบการณ์เท่านั้นที่ไมลส์อาจมีสู้ปีเตอร์ไม่ได้ แต่นั่นแหละชนวนเหตุเริ่มต้นมันก็มาจากตรงนี้ เพราะ Marvel Comics ตั้งเป้าหมายไว้ว่าไมลส์จะกลายมาเป็น Spider-Man ตัวหลักของจักรวาล Ultimate แทนที่ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ นั่นจึงทำให้ปีเตอร์ของจักรวาล Ultimate จะต้องถูกฆ่าตายในหัวเรื่อง Death of Spider-Man อย่างเลี่ยงไม่ได้

เหตุการณ์นี้ทำให้อินเทอร์เน็ตแทบลุกเป็นไฟ เพราะมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวเอก แต่เป็นการฆ่าตัวเอกที่คนอ่านรักทิ้งไป แล้วเอาเด็กผิวดำที่ไหนไม่รู้มาเป็นพระเอกแทน แม้ว่าหัวหนังสือ Ultimate จะเป็นจักรวาลแยก แต่แฟน ๆ ก็รู้สึกว่ามันคือการยัดเยียดแบบไม่เข้าท่า ซึ่งเหยียบย่ำหัวใจพวกเขาเป็นอย่างมาก แม้ว่านั่นจะไม่ใช่ครั้งแรกที่ Marvel ทำแบบนั้นก็ตาม

การมาของ ไมลส์ โมราเลส ทำให้สื่อหลักไม่ว่าจะเป็น The Guardian, Fox News และ Culture Map Houston ก็ถึงกับเอาข่าวนี้ไปลง เพราะแฟน ๆ หลายคนมองว่า Marvel พยายามเปลี่ยนตัวเอก เพื่อเกาะกระแสการเมืองมากกว่าจะแสดงความเท่าเทียม เพราะกระแสช่วงนั้นโอบามากำลังจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 นั่นทำให้แฟน ๆ แทบจะบอยคอตไมลส์ไปตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัว

ไมลส์อาจจะเป็น Spidey ที่เด็กกว่า และสดใหม่กว่าปีเตอร์ แต่เขาก็เป็นหนึ่งในตัวละครที่แฟน ๆ เลือกชังตั้งแต่แรกเห็น โดยหลังจากเปิดตัวไมลส์ไม่นานหัวหนังสือคอมิกส์ Ultimate Spider-Man ก็ได้รับความนิยมน้อยลง รวมถึงยอดขายสำหรับคอมิกหัว Ultimate เรื่องอื่น ๆ ก็ลดฮวบฮาบตาม แม้ว่าเหตุการณ์นี้อาจไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ท้ายที่สุดหัวคอมิกส์ Ultimate ก็ถูก Marvel ยกเลิกไป

ถึงแม้ว่าไมลส์จะเป็น Spidey ที่โดนคำครหามากมายก็จริง แต่อีกนัยหนึ่งไมลส์เองก็เป็นหนึ่งในตัวละครที่ภาษีดี และดูมีอนาคต นั่นทำให้ท้ายที่สุด Marvel ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องราว และส่งไมลส์มายังจักรวาลหลักของ Marvel Comics ในที่สุด 

ระยะทางพิสูจน์ม้าฉันใด กาลเวลาก็พิสูจน์คนฉันท์นั้น เมื่อไมลส์ได้ย้ายมาในจักรวาลหลักของ Marvel ความนิยมของตัวละครก็เริ่มดีขึ้น เพราะจักรวาลนี้ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ก็ยังอยู่ แถมทั้งสองคนก็ได้สู่ร่วมกัน ซึ่งความนิยมที่เพิ่มมานั้นทำให้ ไมลส์ โมราเลส ถูกดัดแปลงเป็นสื่ออื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์แอนิเมชันทางทีวีเรื่อง Ultimate Spider-Man หรือ ซีรีส์การ์ตูนแอนิเมชัน Spider-Man ของ Disney XD เองก็ตาม

ผลกระทบของไมลส์ขยายไปไกลกว่าหน้าหนังสือการ์ตูน เขากลายเป็นตัวละครที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอ่านมากมาย โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นเยาว์ที่แสวงหาฮีโรที่เป็นมิตร ซึ่งไมลส์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ใด ๆ คุณก็สามารถสวมหน้ากาก Spider-Man เพื่อแสดงความกล้าหาญออกมาได้ และนั่นทำให้ไมลส์กลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่แฟน ๆ ยอมรับในที่สุด

ความนิยมของ ไมลส์ โมราเลส ได้ไปเตะตา Sony เมื่อพวกเขาคิดจะสร้างแอนิเมชัน ที่ดัดแปลงมาจากอีเวนต์ Spider-Verse ในคอมิก นั่นทำให้ Sony ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ Spider-Verse โดยมีไมลส์ เป็นศูนย์กลางเพื่อแนะนำให้โลกได้รู้จัก Spider-Man ผิวดำคนใหม่นี้

Spider-Man: Into the Spider-Verse นับเป็นก้าวสำคัญของภาพยนตร์แอนิเมชัน และซูเปอร์ฮีโรภาพยนตร์เรื่องนี้ยกย่อง ไมลส์ โมราเลส ในฐานะสไปเดอร์แมนผิวดำคนแรกบนจอเงิน มันโดนใจผู้ชมทั่วโลก ด้วยงานภาพที่เป็นเอกลักษณ์ และการเล่าเรื่องที่จริงใจ รวมถึงธีมการก้าวพ้นผ่านวัยอันทรงพลัง จนทำให้หนังได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมไปครองเลยล่ะ

หลังจากความสำเร็จของ Spider-Man: Into the Spider-Verse ความนิยมของ Miles Morales ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยตัวละครของเขาก็ได้กลับมาอีกครั้งในเกม Marvel’s Spider-Man ที่พัฒนาโดย Insomniac Games และกลับมาใน Marvel Ultimate Alliance 3: The Black ด้วยนะ ซึ่งล่าสุดก็เหมาตัวเอกในหนังแอนิเมชันภาคต่อของ Across the Spider-Verse และ Beyond the Spider-Verse ไปได้อย่างโดนใจผู้ชม จนทำให้ Sony ไฟเขียวให้พัฒนา ไมลส์ โมราเลส เป็นเวอร์ชันคนแสดงในที่สุด

การมาของ ไมลส์ โมราเลส เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับแฟรนไชส์ Spider-Man จากจุดกำเนิดที่แฟน ๆ ต่างครหา จนการปรากฏตัวใน Spider-Man: Into the Spider-Verse ก็เปลี่ยนให้ไมลส์ได้เป็นตัวแทนของซูเปอร์ฮีโรที่ก้าวผ่านขอบเขตเดิม เรื่องราวของ ไมลส์ โมราเลส จะยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านต่อไป โดยทิ้งร่องรอยที่ไว้บนมรดกของไอ้แมงมุมตราบนานเท่านาน

ที่มา: comicbasics, collider, en.wikipedia,

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส