A Prayer Before Dawn คือหนังร่วมทุนสัญชาติฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่นำเนื้อหามาจากหนังสือชื่อ A Prayer Before Dawn: A Nightmare In Thailand ซึ่งเป็นเรื่องจริงของฝรั่งอังกฤษนามว่า บิลลี่ มัวร์ ที่เคยมาติดคุกเรือนจำกลางคลองเปรม หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า บางกอก ฮิลตัน ด้วยข้อหายาเสพติดกว่า 3 ปี และที่นั่นเขาต้องเผชิญโลกที่แสนอันตรายและยากลำบาก จนได้เข้าร่วมฝึกมวยไทยในคุกในโครงการวิวัฒน์พลเมืองของกรมราชทัณฑ์และสามารถค้นพบแสงสว่างของชีวิตได้

หนังได้หนุ่มอังกฤษ โจ โคล (Green Room  (2015) ที่ไม่ใช่นักฟุตบอลชื่อดังมารับบทนำเป็น บิลลี่ มัวร์ และตอนแรกหนังจะได้ ชาร์ลี ฮันนัม ที่ตอนนี้กำลังดังจาก King Arthur: Legend of the Sword (2017) มาแสดงนำ แต่ก็มีการเปลี่ยนนักแสดงในท้ายสุด นอกจากนี้ยังได้ บิลลี่ มัวร์ ตัวจริงมารับเชิญในบทพ่อที่ชอบใช้ความรุนแรงของตัวเองในหนังอีกด้วย

โจโคล

บิลลี่ มัวร์

เพราะหนังมีฉากหลังอยู่ในไทย หนังเลยมีนักแสดงไทยไปร่วมแสดงกันอย่างคับคั่ง ที่เด่นเลยอย่าง ปู-วิทยา ปานศรีงาม ที่เคยร่วมงานอินเตอร์มาแล้วมากมายทั้ง The Hangover Part II (2011) และ  Only God Forgives (2013) รับบท พัศดีปรีชา ผู้คุมนักโทษคลองเปรมที่คอยส่งยาเสพติดให้บิลลี่, เฟรม-พรชนก มาบกลาง ไกด์สาวข้ามเพศที่ลงมาแสดงหนังครั้งแรก รับบท เฟม แฟนสาวของบิลลี่ที่มีร้านขายของอยู่ในคุกคลองเปรม

นอกจากนี้ยังมีนักมวยตัวจริงเสียงจริงอย่างอดีตเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ คำสิงห์ มารับบทครูมวย สุทิน, ปฐมศึก ปฐมโพธิ์ทอง หรือ คมสัน พลแสน แชมป์มวย WBC เอเชีย ในบท ปฐมศึก, ไทรโยค (พุ่มพันธ์ม่วง) วินดี้สปอร์ต หรือ ศักดา เนียมหอม ยอดนักมวยไทยไฟท์ ในบท ไทรโยค และ เฉลิมพล สวัสดิ์สุข หรือ เอ็ม สิงห์วังชา แชมป์มวยสากลแห่งสหพันธ์มวยแห่งเอเชีย ที่ตัวจริงเคยต้องโทษจำคุกและได้รับโอกาสฝึกชกมวยจนกลายเป็นแชมป์โลกมารับบท เอ็ม ด้วย

และอีกหนึ่งนักแสดงที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ปัญญา ยิ้มอำไพ หรือ เก่ง ลายพราง ที่มารับบท เก่ง หัวหน้ากลุ่มคนคุกที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของบิลลี่ เป็นคนที่ดุแลบิลลี่ในเรื่องต่าง ๆ

หนังได้ผู้กำกับฝรั่งเศสอย่าง ฌอง-สเตฟาน ซูแวร์ มากำกับ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่หนังของเขาได้รับคัดเลือกมาเยือนคานส์ ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่อง Johnny Mad Dog (2008) หนังทหารเด็กในแอฟริกาที่เข้าชิงในสายรางวัล Un Certain Regard Award ด้วย แม้เรื่อง A Prayer Before Dawn จะไม่ได้รับคัดเลือกเข้าสายประกวดในปีนี้ แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างมากทีเดียวเพราะได้รับคัดเลือกมาฉายโชว์ในหมวด Midnight screenings ที่คัดเลือกจากหนังกว่าพันเรื่องที่ส่งเข้ามาที่คานส์ แต่จะมีเพียง 3-5 เรื่องเท่านั้นที่ได้จัดฉายในหมวดนี้ โดยจะคำนึงถึงคุณภาพของหนังและสเน่ห์ที่น่าจะเป็นที่นิยม (เรียกว่าหมวดนี้น่าจะป๊อปสุด แมสสุดในสายหลักของงานแล้วล่ะ)

Play video

เก่ง ลายพราง กับประวัติศาสตร์เมืองคานส์

อย่างที่บอกว่านี่เป็นการแสดงหนังโกอินเตอร์ครั้งแรกของเน็ตอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีคนติดตามเกือบ 2 ล้านคนในเฟซบุ๊กอย่าง เก่ง ลายพราง และเป็นปีรุ่งพุ่งแรงของเขาเหลือเกินที่หนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ ทำให้เขาเป็นนักแสดงชาวไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยได้ไปเดินพรมแดงในงานนี้แบบมีผลงานเข้าฉาย (เพราะถ้านับแค่เคยไปเดินพรมแดงจะมีเยอะครับ คนที่ลงทะเบียนเข้าดูหนังรอบพิเศษพวกนี้ก็จะได้เดินพรมแดงหมด แต่เวลาออกข่าวเขาก็คัดมาแค่ที่เป็นคนดังหรือเกี่ยวข้องกับหนังเท่านั้นเอง)

เก่งได้เข้ามาคัดบทในรอบที่ 2 ราว ๆ กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2015 และหนังได้ถ่ายทำจริงเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยมีการถ่ายทำทั้งในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และในฟิลิปปินส์สำหรับฉากการชิงแชมป์ที่คุกเซโบ แต่เหตุการณ์หลักของเรื่องโดยเฉพาะฉากคุกคลองเปรมนั้นได้ใช้สถานกักกันเก่าที่จังหวัดนครปฐมในการถ่ายทำ หลังจากเรื่องนี้จบ เก่งจึงได้ไปถ่ายหนังไทยเรื่อง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ต่อ จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้จะฉายทีหลัง (แน่นอนล่ะ ใครจะทำหนังแข่งเรื่องเวลากับพี่พชร์ได้) นี่ก็น่าจะเรียกว่าเป็นหนังโรงเรื่องแรกของเก่งเลยก็ว่าได้

การคัดเลือกรอบที่ 2 ยังเห็น เน วัดดาว อยู่ทางขวาของกลุ่มด้วย

การยืนอาลัยบนพรมแดงครั้งแรกในประวัติศาสตร์หนังเมืองคานส์ตลอด 70 ปีนี้

หนังได้ฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่โรงหนัง Grand Théâtre Lumière ซึ่งจัดว่าเป็นโรงหลักหนึ่งของเทศกาล และในระหว่างการเดินพรมแดงนี้ นักแสดงชาวไทย 3 คนคือ ปู-วิทยา ปานศรีงาม, เฟรม-พรชนก มาบกลาง และ เก่ง ลายพราง ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ของงานยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 89 วินาที อุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งผู้กำกับ ฌอง-สเตฟาน ซูแวร์ และนักแสดงนำโจ โคล ตลอดจนเจ้าของเรื่องอย่าง บิลลี่ มัวร์ ตัวจริงเมื่อทราบก็ขอเข้าร่วมด้วย นี่จึงนับเป็น การยืนอาลัยบนพรมแดงครั้งแรกในประวัติศาสตร์หนังเมืองคานส์ตลอด 70 ปีนี้ เลยด้วยครับ (ชมคลิปนาที่ที่ 06.55)

Play video

หลังหนังฉายจบ ผลตอบรับถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการยืนปรบมือแสดงความชื่นชมนานกว่า 10 นาทีทีเดียว หลายคนคงได้เห็นภาพของเก่ง ลายพราง และทีมงานหนังโผกอดและร้องไห้ในความสำเร็จนี้ไปแล้วเช่นกันครับ หลังจากหนังฉายจบเก่งก็ได้ไลฟ์ผ่านหน้าเฟซของเขา นอกจากดีใจจนพูดไม่ออกในความสำเร็จเกินฝันของอดีตคนที่เคยติดคุกมากว่า 9 ปี แต่วันนี้ได้ยืนท่ามกลางเทศกาลระดับโลกและมีคนปรบมือให้ล้นหลามครั้งนี้แล้ว เรายังได้เห็นว่าตลอดทางที่เดินกลับเขาถูกแฟนหนังต่างชาติตลอดทางเลยด้วย นี่สิที่เรียกว่าไปคานส์จริง ๆ

Play video

ได้ลงปกนิตยสารแจกฟรีที่คานส์ด้วย

First Reviews

ตอนนี้ก็มีรีวิวหนังออกมาจากหลายสำนักแล้ว ส่วนใหญ่พูดในทางเดียวกันว่าหนังนำเสนอความรุนแรงและป่าเถื่อนของคุกเมืองไทยได้น่ากลัวมาก ทั้งเรื่องการใช้กำลัง การข่มขืนเพศเดียวกัน ยาเสพติดและอื่น ๆ ด้วยฉากต่อสู้แบบลองเทคสมจริงราวกับสารคดี การปล่อยให้ตัวละครอื่นพูดไทยและไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไรก็เสริมมิติความลึกลับและน่าสะพรึงของการอยู่คนเดียวได้มากด้วย ทั้งยังพูดว่าเป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนกลับตัวกลับใจได้ดี ก็ขอเลือกรีวิวที่เด่น ๆ มาเล่าให้ฟังครับ

  • ก้อง ฤทธิ์ดี (นักวิจารณ์จากบางกอกโพสท์) บอกว่า “หนังดิบ โหด ไม่ยั้งมือในการแสดงความโสโครกของชีวิตคนคุก คือหนังนักมวย หนังคุก ก็มีคนทำกันมาเยอะ และมันก็มีสูตรของมันอยู่ เรื่องนี้ก็ตามนั้น เอาหนังมวยหนังคุกมาผสมกัน แต่มันก็ไปสุดทางได้ สไตล์สารคดี realism มาก ไม่ลีลา ลุยกันเลยแต่ต้นจบจบ ถ่ายฉากต่อยมวยลองเทคนานๆได้น่าตื่นเต้นดี” 

  • Indie Wire ให้คะแนน B- และบอกว่า “One of the most unrelentingly intense symphonies of testosterone and rage ever put onscreen.” ดูจะชื่นชมในการนำเสนอความรุนแรงสุดเร้าใจมาก ๆ นอกจากนี้ยังว่าถึงจะน่าชื่นชมแต่ก็ยังไม่ประทับใจเท่า Bronson (2008) ของ นิโคลัส เวนดิ้ง เรฟิน (ด้วยฉากหลังเป็นไทย และเน้นความรุนแรง หนังเรื่องนี้ก็เลยมักถูกเอาไปเทียบกับหนังของนิโคลัสเป็นธรรมดาครับ)

  • The Hollywood Reporter บอกว่า “The cusp between stylized arthouse exoticism and pulpy genre thrill ride. Dwells with almost swooning rapture on the bodies of young men as they mete out brutal violence on one another, and features a cast composed mostly of unknowns, impressively coached in order to deliver arresting turns onscreen.” หนังคือจุดสูงสุดระหว่างความมีสไตล์และความรุนแรงสุดประหลาด เต็มไปด้วยมัดกล้ามของหนุ่ม ๆ ที่ปลดปล่อยความโหดร้ายใส่กัน ค่อนข้างประทับใจกับนักแสดงในเรื่องด้วย

  • The Guardian บอกว่า “Sauvaire’s drama is lean and trim and unwavering in its task. You know its moves; you can see it coming. But when the punches are thrown, they rock you back on your heels.” นอกจากพูดถึงความน่ากลัวราวกับนรกของคุกไทยแล้ว ยังเสริมท้ายว่ามันไม่ได้ใหม่อะไร แต่ก็ชัดเจนในทางของมัน คุณรู้ว่ามันจะเล่ายังไง แต่ถึงจะรู้ล่วงหน้าเวลาที่หนังปล่อยของ คุณก็จะจะโดนเต็ม ๆ จนลงไปกองกับพื้นอยู่ดี

  • Screen Daily บอกว่า “Key to the film’s success is the authenticity of its settings in Thailand, and of its completely non-professional cast outside Cole (the climactic final bout was shot in Cebu in the Philippines). The viewer is plunged into Southeast Asia in a way Only God Forgives dreamed of.” การที่หนังมีฉากหลังเป็นเมืองไทย และใช้นักแสดงมือสมัครเล่นยกเว้นนักแสดงนำ คือหนึ่งในกุญแจสำคัญของความสำเร็จ ผู้ชมถูกพาไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแบบที่หนัง Only God Forgives ได้แต่ฝันว่าจะไปถึง (มีแขวะ)

หนังขายให้ A24 เจ้าพ่อหนังอินดี้ถือสิทธิ์ฉายในอเมริกาเรียบร้อย ส่วนบ้านเราหนังก็ได้รับการซื้อมาฉายแล้วเช่นกันครับ แต่น่าจะได้ฉายเมื่อไรคงต้องรอทางค่ายเจ้าของลิขสิทธิ์ในไทยประกาศครับ