Play video

สำหรับหนังเด่นสัปดาห์นี้ คงไม่มีใครเกินหน้า มหาสงครามพิภพวานร หรือ War for the Planet of the Apes บทสรุปของไตรภาคปฐมบทพิภพวานรเรื่องนี้ไปได้ โดยอันที่จริงตัวหนังเองก็โปรโมตว่ามีฉายในระบบ 3 มิติด้วย แต่ก็ไม่ทราบว่าเกิดเสมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนอีท่าไหนถึงได้รอบฉายน้อยเหลือเกิน แต่เพื่อคุณผู้อ่าน WHAT THE FACT ไม่ย่อท้อจนได้รอบฉายระบบ RealD3D และบัดนี้คือบทพิสูจน์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ หากอยากดูสงครามของเหล่าวานร แบบทะลุจอ

เตรียมตัวก่อนชม

อันนี้ทาง WHAT THE FACT ใช้บริการโรงเมกาซีนีเพล็กซ์ ในเครือเมเจอร์ ซึ่งจะแยกเก็บค่าตั๋วในราคาเดียวกับการดูแบบ 2 D ซึ่งหากไม่มีแว่นทางโรงมีจำหน่ายราคาอันละ 50 บาท แต่เนื่องจากเป็นคนสะสมแว่น 3  มิติ เลยเสียเฉพาะค่าตั๋วหนัง

    เหมาะมั้ยกับระบบ 3D

พิจารณาตั้งแต่การเลือกกล้อง Alexa65 ซึ่งให้ภาพขนาดใหญ่แบบลาร์จฟอร์แมต (Large Format) แล้ว เจตนาของผู้สร้างชัดเจนว่าต้องการให้เราดูหนังบนจอใหญ่มากกว่า อีกทั้งในตัวอย่างภาพยนตร์ยังมีสัญลักษณ์ Large Format ปรากฎอยู่ด้วย ซึ่งในไทยทางผู้จัดจำหน่ายไม่ได้นำหนังฉายในไอแมกซ์ แต่นำหนังฉบับแปลงภาพเป็น 3 มิติ และใส่พากษ์ไทยออกฉายแบบจำกัดโรงและรอบ ซึ่งผู้เขียนเลือกชมในระบบ เรียลดีทรีดี (RealD3D) ซึ่งในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์จะมีให้บริการบางสาขา โดยคราวนี้ผู้เขียนเลือกสาขา เมกาซีนีเพล็กซ์ ซึ่งในวัดจากสายตาในภาพรวมของหนังถือว่าคุ้มค่าทีเดียว จะติดก็แค่ผู้เขียนชอบดูหนังซาวด์แทร็ค เลยรู้สึกว่าเวลาดูฉบับพากษ์ไทยอาจเสียอรรถรสไปบ้างโดยเฉพาะการพากษ์เหล่าตัวละครวานรทั้งหลาย

ข้อมูลเทคนิคจาก เว็บไซต์ IMDB

        หนังลิง(ภาพ)จะลึกสักแค่ไหน

ด้วยการออกแบบการถ่ายภาพที่เปี่ยมมิติของ ไมเคิล เซเรซิน (Michael Seresin) ผู้กำกับภาพของหนังเรื่องนี้ ที่เน้นให้ตัวละครมักปรากฎโดยมีฉากหน้า (foreground) อย่างต้นไม้ ไหล่วานร หิมะโปรยปราย หรือแม้กระทั่งตุ๊กตา ปรากฎเสมอทำให้การแปลงภาพเป็นสามมิติใช้ประโยชน์ในการเติมความลึกให้ภาพได้แทบทุกช็อต และผลพลอยได้ของมันคือการทำให้ฉากดราม่าทวีคูณพลังในการดึงให้คนดูมีอารมณ์ร่วมได้อย่างน่าอัศจรรย์

        หนังอ่ะมันส์แต่มีอะไรเด้งมั้ย

ความคาดหวังคนดูในการดูหนังสามมิติ คือหวังจะได้เห็นสิ่งของหรือตัวละครเด้งทะลุจอให้ได้ตื่นเต้นกันหน่อย สำหรับ War for the Planet of the Apes ก็มีทั้งภาพมุมสูงของหอกนับร้อยกำลังพุ่งจู่โจมศัตรู  หรือแม้กระทั่งฉากที่ซีซาร์นำหอกชี้มาทางหน้าคนดูตอนขู่ตัวละครคนในเรื่อง คือสองฉากที่ชัดเจนที่สุดในการทำซีจีให้ลอยออกมาจากหน้าจอเพื่อให้เหมาะกับการชมแบบ3มิติ แต่เนื่องจากปริมาณฉากรบของเรื่องไม่ได้เยอะมาก และมักเน้นบทดราม่ามากกว่าการห้ำหั่นกันเอาเป็นเอาตายแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่ ดังนั้นเราจึงพอได้เห็น หิมะตกเป็นม่านลอยออกมาจากจอ หรือฝนตกอยู่หน้าตัวละครบ้างเป็นครั้งคราว เลยอาจทำให้รู้สึกว่าปริมาณความเด้งในหนังอาจยังไม่สะใจ แต่ในภาพรวมก็ถือว่าผ่านอยู่ดี

       ถอดแว่นออกแล้วเป็นไง

แต่ถึงตัวหนังจะไม่ได้นำ 3D มาเป็นจุดขายหลักแต่การแปลงภาพหรือ คอนเวอร์ชั่น (Conversion) ก็ถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม วัดจากการถอดแว่นชมในแต่ละฉากเป็นระยะ จะพบว่าตัวละครวานรที่เป็นซีจีจะเบลอทุกช็อต รวมถึงตัวละครมนุษย์ด้วย และนอกจากนี้หนังยังมีศิลปะในการสร้างมิติ โดยในบางช็อตหนังอาจไม่ได้เบลอหน้าตัวละครแต่เบลอส่วนอื่นเพื่อให้เกิดมิติและทำให้คนดูสนใจดราม่าที่เกิดขึ้นในหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

      ลิงโดดไปโดดมาไม่เวียนหัวเหรอ

แม้ภาพของหนังจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ต้องยอมรับว่าทาง ผู้กำกับภาพอย่าง ไมเคิล เซเรซิน สามารถควบคุมการวางเฟรมแต่ละช็อตได้อย่างลื่นไหล แม้กระทั่งการเคลื่อนกล้องยังมีความประณีตเพื่อคงเฟรมให้สวยงามได้สัดส่วนดังนั้น ผลดีคือเราจะไม่ได้เห็นภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนน่าปวดหัวหรือทำร้ายสายตาเราเลยสักนิด ดังนั้นวางใจได้ว่าการชม War for the Planet of the Apes ปลอดภัยต่ออาการคลื่นใส้แน่นอน

สรุป

     วัดจากตาทีละข้อ คะแนน
หนังเหมาะกับระบบฉาย 8/10
ความลึกของภาพ 10/10
ความเด้งของภาพ 8/10
ถอดแว่นมองภาพเบลอ 10/10
ความปลอดภัยต่ออาการคลื่นไส้ 10/10
สรุป 46/50

 

ถ้าตัดเรื่องการถูกบังคับให้ดู หนังพากษ์ไทยและการหารอบฉายยากแสนยากแล้ว ถือว่า War for the Planet of the Apes คุ้มค่ามากในการชมระบบสามมิติ โดยเฉพาะระบบ RealD3D ที่ให้ภาพสว่างและมีมิติดีกว่าระบบ สามมิติแบบ สเตอริโอสโคปิค (Stereoscopic 3D)ทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ให้บริการหลายสาขาดังนี้

กรุงเทพ: พารากอนซีนีเพล็กซ์ เมกาซีนีเพล็กซ์ เอสพลานาดซีนีเพล็กซ์ สาขารัชดา เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์สาขาสุขุมวิท(เอกมัย)-รัชโยธิน

เชียงใหม่ : เซ็นทรัลแอร์พอร์ต และเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่

หาดใหญ่: หาดใหญ่ซีนีเพล็กซ์