Play video

หนังเรื่องนี้พี่ดูระบบไหนดี สัปดาห์นี้เราจะมาพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของหนังสงครามว่าด้วยการเอาชีวิตรอดของทหารอังกฤษที่ดันเคิร์ก ช่วงสงครามโลกครั้งที่2 กันใน DUNKIRK ผลงานล่าสุดของ “เด็จพ่อ” คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่คราวนี้จัดหนักจัดเต็มถ่ายด้วยกล้องไอแมกซ์  ใช้ฟิล์ม 65 มม.ในการถ่ายทำและนำมาพรินต์เป็นฟิล์ม 70 มม.ฉายในระบบไอแม็กซ์โดยข้อมูลหนังแจ้งว่าจากความยาวทั้งหมด 106 นาที จะมีอัตราส่วน ไอแมกซ์  อยู่ถึง 79 นาที วันนี้ WHAT THE FACT เลยขอพิสูจน์ซะตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉายเลย

 หนังเหมาะกับ IMAX มั้ย

จากข้อมูลทางเทคนิคในเว็บไซต์ IMDB ได้ระบุกล้องที่ใช้ถ่ายทำได้แก่ IMAX MSM 9802, Panavision Sphero 65 และ Panavision 65 HR Camera ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้ถ่ายฟิล์มขนาด 65 มม. ทั้งหมดจึงทำให้เห็นว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน และ ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา ตากล้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการถ่ายทำมหากาพย์สงครามการเอาชีวิตรอดครั้งนี้ด้วยกล้องและเลนส์ที่สามารถให้ภาพใหญ่โต และถ่ายทอดด้วยอัตราส่วนที่เป็นไอแม็กซ์คือ 1.43:1 (1.90:1 ในกรณีโรงไอแมกซ์ ดิจิตอล) และ 2.20:1 , 2.35:1 สำหรับฉากที่ไม่ได้ถ่ายด้วยกล้องไอแมกซ์  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวในส่วนของเรือเล็กของมิสเตอร์ ดอว์สัน (มาร์ค ไรแลนซ์ ผู้ได้ออสการ์จาก Bridge of Spies) พลเรือนผู้กล้าหาญและซีนเอาชีวิตรอดใต้ท้องเรือตอนท้ายเรื่อง นอกนั้นคนดูจะได้เต็มอิ่มกับภาพอัตราส่วนไอแมกซ์  แบบเต็มจอเต็มเฟรมเสีย 80% ของเรื่องทำให้การชมในโรงภาพยนตร์ กรุงศรีไอแมกซ์  สาขาพารากอนซีนีเพล็กซ์ กลายเป็นความจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ของ DUNKIRK จากเว็บไซต์ http://www.imdb.com/title/tt5013056/technical?ref_=tt_dt_spec

ซับไตเติ้ลจางมั้ย?

เนื่องจากทางเมืองนอกส่งพรินต์ฟิล์ม 70 มม. มาให้แบบไม่ได้ฝังซับไตเติ้ล ซึ่งถ้าใครเคยดูหนังฟิล์มไอแมกซ์ มาตั้งแต่ต้นปี 2000 จะรู้ดีว่า ทางโรงต้องใช้เครื่องฉาย ซับไตเติ้ล หรือ คำบรรยายภาพส่องไปที่จอภาพ ซึ่งผลลัพธ์คือ หากในฉากนั้นแบ็คกราวด์ส่วนใหญ่เป็นพื้นขาว คนดูจะไม่สามารถอ่านซับไตเติ้ลได้เลย แต่โชคดีที่หนัง DUNKIRK ไม่ได้มีบทพูดมากเท่าไหร่เนื่องจาก “เด็จพ่อ” คริสโตเฟอร์ โนแลน ต้องการท้าทายการเล่าเรื่องด้วยงานภาพ ความจางของซับไตเติ้ลจึงไม่เป็นปัญหานัก และส่วนใหญ่ซับไตเติ้ลก็ปรากฏบนฉากสีเข้ม ทำให้ยังสามารถอ่านซับไตเติ้ลได้คมชัดอยู่ จะมีหักคะแนนก็ตรงที่เมื่อภาพเป็นสีเข้มและไม่มีบทพูด  เราจะเห็นกรอบสี่เหลี่ยมจางๆจากโปรเจคเตอร์ค้างอยู่ ทำให้ภาพเหมือนมีรอยตำหนิอย่างน่าเสียดาย

ความสบายตา

ถึงเป็นหนังสงครามและดำเนินเรื่องได้ตื่นเต้นเร้าใจทุกวินาที แต่ขอโทษ! ระดับ ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา ปั้นช็อตได้ทุกเฟรมครับ แถมการออกแบบการเคลื่อนกล้องยังชดช้อย ช่วยถนอมสายตาคนดูเป็นอย่างมาก ประกอบการออกแบบการตัดต่อที่เรียกได้ว่าแม้จะเร่งจังหวะของเรื่อง แต่มีความเลื่อนไหลและกลมกลืมเป็นอย่างมาก คนดูจะไม่รู้สึกสะดุดเลยแม้ว่าหนังจะดำเนินเรื่องด้วยลีลาการเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลาที่คราวนี้ “เด็จพ่อ” โนแลน สำแดงอิทธิฤทธิ์เสียจนน่าจะกลายเป็นกรณีศึกษาของนักเรียนหนังต่อไป จึงไม่ต้องห่วงว่าดูแล้วจะปวดเศียรเวียนเกล้าแต่อย่างใด

ระบบเสียง

สำหรับ DUNKIRK เรียกได้ว่าเป็นหนังที่ “สั่งทำ” มาในระบบไอแมกซ์  ก็ไม่ปาน เพราะนอกจากภาพที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์มไอแมกซ์  แล้ว ระบบเสียงยังมีการมิกซ์ในระบบ 12 แทร็ค ลิขสิทธิ์เฉพาะของไอแมกซ์   จึงทำให้ 106 นาทีของหนังเต็มไปด้วยรายละเอียดเสียงที่ผ่านการดีไซน์มาอย่างดี ทั้งความกระหึ่มของฉากระเบิด สุนทรียะในการเร้าอารมณ์ด้วยสกอร์จากประพันธกร ฮานส์ ซิมเมอร์ หรือแม้แต่การอัดเสียงบทสนทนาและเอฟเฟกต์ต่างๆก็ถูกนำมาร้อยเรียงและผสมผสานจนทำให้การชมในโรงไอแมกซ์  กลายเป็นประสบการณ์ร่วมเหมือนได้เข้าไปอยู่เหตุการณ์เอาชีวิตรอดที่ DUNKIRK อย่างสมบูรณ์แบบ

ความเหมาะกับระบบไอแมกซ์    10/10

ความคมชัดของซับไตเติ้ล            8/10

ความสบายตา                              10/10

ระบบเสียง                                   10/10

รวม                                             38/40

สรุป

หมดข้อสงสัยสำหรับ DUNKIRK ว่าหากคุณไม่ชมในระบบฟิล์ม 70 มม.ของ ไอแมกซ์ แล้วล่ะก็ คุณจะพลาดประสบการณ์ร่วมที่หาไม่ง่ายนัก เพราะเนื่องจากการถ่ายทำด้วยกล้องฟิล์มไอแมกซ์ ที่หนักถึง 50 ปอนด์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมซึ่งใน DUNKIRK ยิ่งทดสอบขีดจำกัดของกล้องด้วยการผูกติดกับเครื่องบินเก็บภาพเหินเวหาสร้างความตื่นตาตื่นใจในระบบบ้าระห่ำมาเสริฟคนดูชนิดไม่กลัวกล้องพัง และในขณะเดียวกันการใช้กล้องไอแมกซ์ ของฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมาแทบไม่ต่างจากศิลปินที่เจอพู่กันที่ใช่ เพราะ ฮอยเตมา สามารถรังสรรค์ช็อตดราม่ามหัศจรรย์ที่ทั้งงดงามและโหดร้ายของสงครามการเอาชีวิตรอดครั้งนี้

DUNKIRK ในระบบไอแมกซ์ ฟิล์ม 70 มม. มีฉายที่ โรงภาพยนตร์กรุงศรีไอแมกซ์ สาขาพารากอน ซีนีเพล็กซ์ ที่เดียวในประเทศไทย