น่าจะตั้งใจเอาดีกับแนวผีอย่างเดียวแล้วล่ะสำหรับผู้กำกับจิม โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ เพราะรู้สึกจะไปได้ดี จิมจึงสร้างหนังผีเฉลี่ยทุก ๆ 3 ปี ตั้งแต่ โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต (2551) ลัดดาแลนด์ (2554) และ ฝากไว้ในกายเธอ (2557) แล้วก็มาถึง “เพื่อน..ที่ระลึก” ผลงานกำกับเรื่องที่ 4 ซึ่งจิม ยังคงพ่วงหน้าที่เขียนบทเองเช่นเคย จิมรับไอเดียมาจากพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ที่เห็นข่าวว่าบรรดาฝรั่งในไทยขนานนามตึก “สาทรยูนิคทาวเวอร์” ว่า “Bangkok Ghost Tower”ก็เลยมาคุยกับจิมว่าน่าสร้างหนังเกี่ยวกับผีตึกร้างนะ บวกกับ วัน วรรณฤดี ผู้อำนวยการสร้างก็ซื้อลิขสิทธิ์ไอเดียเรื่อง เพื่อนสองคนนัดกันไปฆ่าตัวตายด้วยกัน แต่อีกคนกลับกลัวแล้วไม่ฆ่าตัวตายตาม จิมก็นำทั้ง 2 ไอเดียผนวกกันออกมาเป็นบทภาพยนตร์ “เพื่อน..ที่ระลึก”

หน้าหนังมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นจุดน่าสนใจ ทั้งพลอตเกี่ยวกับผีอาฆาตทวงสัญญาที่ว่าจะฆ่าตัวตายไปด้วยกัน เป็นชื่อภาษาอังกฤษของหนังด้วย “The Promise” ก็เป็นพลอตที่เหมาะมากสำหรับหนังผีซักเรื่อง และการที่ทีมงานได้รับอนุญาตจากเจ้าของตึก “สาทรยูนิคทาวเวอร์” ให้ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำได้ ยิ่งเข้ากับธีมเรื่อง ตึกเองก็มีความสยองอยู่มาก เพราะเคยเป็นมีข่าวดังตอนปี 2557 ที่ช่างภาพไปเจอศพฝรั่งผูกคอตาย และเรื่องนี้ก็เป็นการกลับมาร่วมงานกันของเมนเทอร์บี และลิลลี่ ลูกทีมของเธอเองจาก The Face Thailand Season 2  เป็นการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของทั้งคู่ด้วย

จิม ดึงความน่ากลัว ทัศนียภาพของตึกสาทรยูนิค มาใช้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ทั้งภาพโดรนจากภายนอกตึก กล้องบินวนรอบ ถ่ายจากมุมสูง ทำให้เราได้เห็นมุมแปลก ๆ ของตึกที่คุ้นตาคนกรุงเทพฯ มาตลอด 20 ปี มีทั้งความสวยและน่ากลัว รวมถึงฉากภายใน ก็ดึงซอกหลืบ ทางเดิน มืด ๆ น้ำแฉะ ๆ มาใช้ในฉากสยองได้ดีเช่นกัน ดูแล้วเห็นพ้องกับที่ทีมงานได้เกริ่นไว้ว่า ตึกสาทรยูนิคทาวเวอร์ เปรียบได้กับอีก 1 ตัวละครของเรื่องนี้ ตัวตึกทำหน้าเชื่อม 2 ช่วงเวลาที่ห่างกัน 20 ปีได้ตรงโจทย์ที่สุด เป็นจุดที่ทำให้เกิดเรื่อง และจบเรื่อง

ชอบบทนำของหนังครับ กับการเล่าเรื่องในปี 2540  ชนวนเหตุจาก อิ๊บ กับ บุ๋ม 2 เพื่อนรักลูกสาวมหาเศรษฐีที่รวมหุ้นกันสร้างตึก”สาทรเสตท” (ชื่อตึกในเรื่องนี้) แล้วพ่อของทั้งคู่ก็อยู่ในกลุ่มเจ้าของธุรกิจที่ร่วงไปพร้อมกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ชีวิตของอิ๊บ กับ บุ๋ม พลิกจากสุขสบายมาลำบาก ความบีบคั้นรอบด้าน ทำให้ 2 สาวคิดสั้นและเลือกชั้น 47 สูงสุดของตึกเป็นที่นัดปลิดชีวิตด้วยกัน ฉากนี้ถือว่าช็อคคนดูได้โหด ได้แรงมาก เรื่องราวในปี 2540 เป็นจุดที่ต้องชืนชมทีมงานที่ทำให้คนเคยผ่านยุคนั้นได้หวนคิดถึงบรรยากาศทั้งที่น่าจดจำและไม่น่าจดจำ ด้านความรู้สึกดี ๆ ทำให้เราได้หวนคิดถึงช่วงวันเวลาเคยวนเวียนกับ เพจเจอร์ ตู้สติกเกอร์ สเก็ตซ์น้ำแข็ง ส่วนด้านความทรงจำอันเลวร้ายก็คือบรรดาภาพฟุตเตจของวิบากกรรมที่บางคนได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในวันนั้น ก็ถือว่าทีมงานทำการบ้านตรงนี้มาได้ละเอียดดีครับ

จุดหนึ่งที่ชื่นชมสปิริตของ GDH ในขณะที่เป็นค่ายหนังของแกรมมี่ แต่กลับเลือก “เดียวดายกลางสายลม”ของ นรีกระจ่าง คันธมาส ซึ่งเป็นผลงานของค่ายวอร์เนอร์มิวสิคมาใช้เป็นเพลงธีมของหนัง เป็นตัวเลือกที่เหมาะมากครับ เพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม “ราชินีพระจันทร์” ออกมาปี 2537 ใกล้กับเหตุการณ์ในหนังปี 2540 อารมณ์เพลงหลอนเข้ากับบรรยากาศหนัง เนื้อหาก็หดหู่ ท้อถอยหมดหวัง เป็นเพลงในอันดับต้น ๆ ที่คนฟังแล้วอยากฆ่าตัวตาย ก็เข้ากับเนื้อหาของหนังที่อิ๊บฟังเพลงนี้ก่อนเข้าฉากฆ่าตัวตาย  บี น้ำทิพย์ คัฟเวอร์เพลงนี้มาใช้เป็นเวอร์ชั่นโปรโมตหนังด้วย อารมณ์ต่างจากต้นฉบับอยู่มากนะ

Play video

หนังยาวเกือบ 2 ชั่วโมง แต่เดินเรื่องได้เร็ว พอตัดเข้าเรื่องราวในปีปัจจุบัน ก็ใช้เวลาไม่นานกับการกลับมาของ “อิ๊บ” ที่จัดเต็มตอบสนองคอหนังผีได้อย่างอิ่มเอม เพราะผีอิ๊บถือว่าแค้นและดุมาก ยิ่งเพิ่มโจทย์เรื่องกรอบเวลา ที่ผีอิ๊บจะต้องเอาชีวิตของเบลไปให้ได้ก่อนที่เบลจะอายุครบ 15 ปี ในอีก 6 วันข้างหน้า เพราะอิ๊บและบุ๋มก็อายุ 15 ในวันที่ทั้งคู่นัดกันฆ่าตัวตาย เราก็เลยได้ดูการรังควานของผีอิ๊บที่ตามแม่ลูกมาถึงที่พัก ก็เปิดโอกาสให้ใส่ฉากลุ้นผีได้ถี่ ๆ มีทั้งหลอกให้ลุ้นเก้อ และลุ้นแล้วก็เจอตุ้งแช่แรง ๆ หนังเขียนมาให้แม่ลูกอยู่กันแค่ 2 คนในคอนโดหรู สถานะผู้หญิง 2 คนโดนผีหลอกกลางดึก จัดได้ว่าเป็นเหยื่อที่น่าสงสารในหนังผี แต่ขณะเดียวกันจุดนี้ก็กลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ในบทหนังที่ไกลความเป็นจริง ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมไม่หาใครมาอยู่ด้วยในสภาวะเช่นนี้

จุดแตกต่างอย่างหนึ่งที่ “เพื่อน..ที่ระลึก” เลือกใช้ให้แตกต่างจากขนบหนังผี คือการเล่นกับจินตนาการคนดู “เพื่อน..ที่ระลึก” เป็นหนังผีที่แทบไม่เห็นผี ตลอดเรื่อง เราเห็นร่างของผีอิ๊บน้อยมาก ไม่มีภาพผีน่ากลัวพุ่งเข้าใส่กล้อง แต่ใช้ประโยชน์จากเสียง แสง ฉาก สร้างบรรยากาศหลอนได้สัมฤทธิ์ผล และที่สำคัญคือการแสดงของลิลลี่ ที่รับหน้าที่สื่ออารมณ์หลอนเองล้วน ๆ เพราะบทเขียนให้เบล สื่อสารกับผีอิ๊บได้ หลาย ๆ ฉากคนดูก็ได้หลอนไปกับตัวเบลเนี่ยแหละ ไม่ใช่ผีอิ๊บหรอก บางทีเบลก็พูดกับอิ๊บ บางทีเบลก็อยู่ในอากัปกิริยาที่เหมือนโดนผีเข้า จัดเป็นงานแรกที่ยากสำหรับลิลลี่ แต่เธอก็ทำได้ดีครับ

นอกจากตึกสาทรยูนิคทาวเวอร์ ทำหน้าที่สำคัญในหนังแล้ว บรรดาอุปกรณ์สื่อสารเองก็มีบทบาทอย่างมาก ตอนต้นก็คือ “เพจเจอร์” ที่อิ๊บและบุ๋มสื่อสารกัน มีข้อความที่ทั้งคู่ส่งหากันค้างอยู่ในเครื่องเป็นสิ่งตอกย้ำคำสัญญา ผ่านมา 20 ปี โทรศัพท์มือถือก็รับหน้าที่สำคัญต่อ มันทำหน้าที่ทั้งในส่วนดราม่าและฉากหลอนของหนัง แม่ลูกโทรหากันหลายครั้งมากทั้งในยามแฮปปี้กุ๊กกิ๊ก และในยามคับขันลุ้นระทึก ในทางตรงกันข้าม ผู้กำกับจิมก็ใช้มันทำหน้าที่ได้ดีมากในฉากหลอน ชอบมากกับฉากในห้องมืด ๆ แล้วตัวละครมองอะไรไม่เห็นจึงต้องมองภาพผ่านกล้องมือถือแทน เป็นฉากที่ชวนลุ้นมากจริง ๆ อีกฉากที่ชอบมากคือฉากของ “หม่อน” ไม่บอกรายละเอียดครับ ไปลุ้นกันเองเถอะฉากนี้ โคตรสงสารเด็ก

ผู้กำกับ จิม โสภณ ศักดาพิสิษฐ์

สิ่งหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำกันไว้ ว่าแม้ผีจะดุหนังจะหลอนรุนแรง แต่ปริมาณความหลอนของหนังก็ไม่ได้กลบเนื้อหาอารมณ์ในส่วนของดราม่าที่คลออยู่กับเรื่องราวตลอด ความรักความผูกพันของเพื่อนทั้งตอนเป็นและตอนตายที่กลายมาเป็นประเด็นของเรื่องราว และความรักของแม่ลูกที่มีต่อกัน สื่อให้เรารับรู้ผ่านการแสดงของบีและลิลลี่ โดยมีสื่อต่าง ๆ อย่างอัลบั้มภาพเก่า จดหมาย วอยซ์เมล ที่ทั้งคู่ต่างส่งหากันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งหมดล้วนถูกใช้เป็นแรงขับเน้นพลังของตัวละครแม่ลูกให้ฮึดสู้กับผีอิ๊บ ทั้งยังเป็นการเปิดประเด็นให้คนดูคาดเดาว่าหนังจะลงเอยด้วยแม่ยอมเสียสละให้ลูก หรือจะพลิกเป็นลูกยอมเสียสละให้แม่ หนังลากช่วงท้ายต่ออีกยาวเหมือนหาทางออกสวย ๆ ไม่ได้ ไปดูเองแล้วกันว่าหนังจะหาทางออกกับโจทย์นี้ยังไง บทเขียนมาให้ตัวละครบุ๋มต้องทำหน้าที่เหนื่อยมาก เป็นบทที่ใช้งานบีได้คุ้มค่ามาก บทบุ๋มมีดิ่งลงสุดหดหู่ ฟูมฟาย ยอมแพ้ แล้วก็มีช่วงลูกบ้าขึ้น เดิมพันกับผีแบบที่เราก็คาดไม่ถึง มองเห็นถึงความทุ่มเทตั้งใจของบีจริง ๆ ครับ เล่นแบบไม่ห่วงสวยเลย

เป็นหนังผีที่เต็มไปด้วยฉากผีหลอก ทั้งหลอนทั้งตุ้งแช่ โดยไม่ต้องมีภาพผีแหวะ ๆ น่ากลัวให้เห็น แม้ผลลัพธ์จะยังไม่ถึงขั้นงานระดับต้น ๆ ของ GDH แต่ก็จัดได้ว่าเป็นงานในกลุ่มด้านบวกที่ควรค่าแก่เวลาและค่าตั๋วครับ

Play video