In your head, In your head,
Zombie, zombie, zombie-ie-ie,

ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่เติบโตมาในยุค 90s คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินบทเพลงเพลงนี้ Zombie  บทเพลงฮิตระดับตำนานจากวงร็อคสายเลือดไอริช The Cranberries ที่มีนักร้องนำเป็นสาวเสียงทรงพลังนามว่า โดโลเรส โอริออแดน (Dolores ORiordan)

เป็นอีกหนึ่งเรื่องเศร้าของวงการดนตรี สำหรับการจากไปของ โดโลเรส โอริออแดน ในเช้าวันจันทร์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาด้วยวัยเพียง 46 ปี ในขณะที่เธอกำลังพักอยู่ที่โรงแรม Hilton ใน Park Lane กรุงลอนดอนเพื่อบันทึกเสียงเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ของเพลง Zombie ร่วมกับวงร็อค Bad Wolves 

วง The Cranberries เริ่มมีชื่อเสียงจากบทเพลงที่มีชื่อว่า Lingerที่ไต่ชาร์ตถึงอันดับ 10 ในสหรัฐอเมริกาและ อันดับ 14 ในอังกฤษ อัลบั้มแรกของวง Everybody Else is Doing It, So Why Cant We?ในปี 1993 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและยิ่งพุ่งกระฉูดเมื่อตามติดมาด้วยอัลบั้มที่สอง No Need to Argueในปี 1994 ที่มีเพลงฮิตอย่าง Zombieอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วย

ในวันที่เจ้าของเสียงร้องและผู้รังสรรค์ถ้อยคำแห่งบทเพลงนี้ได้จากโลกนี้ไปเราอาจจะยังไม่เคยรู้ความหมายที่แท้จริงและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบทเพลงเพลงนี้เลย

เพื่อเป็นการรำลึกต่อการจากไปของ โดโลเรส โอริออแดน นักร้องนำของวง The Cranberries เจ้าของบทเพลง Zombieผมจะพาไปรับรู้เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงเพลงนี้กันครับ

ปกซิงเกิ้ล Zombie

ซิงเกิ้ล Zombieออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 1994 บันทึกเสียงที่ Windmill Lane Studios บทเพลงมีอยู่ด้วยกัน 3 เวอร์ชั่น  LP version ยาว 5:06 นาที

International edit ยาว 4:11 นาที และ U.S. radio edit ยาว  3.52 นาที

เพลงนี้ โดโลเรส เป็นคนแต่งทั้งเนื้อร้องและคอร์ดของเพลง โดยเธอได้แต่งขึ้นในระหว่างออกทัวร์ในอังกฤษกับวง The Cranberries ในปี 1993 เพลงนี้อยู่ในคีย์ E minor ซึ่งเป็นคีย์ที่ให้อารมณ์หม่นเศร้าสอดคล้องกับเนื้อหาของบทเพลงอันมีที่มาจากการเสียชีวิตของเด็กผู้บริสุทธิ์สองคนคือ โจนาธาน บอล อายุ 3 ขวบ!!! และ ทิม พาร์รีอายุ 12 ขวบ จากเหตุวางระเบิดโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายในไอร์แลนด์นาม IRA ที่วอร์ริงตัน, ลิเวอร์พูลในเดือนมีนาคมปี 1993

โจนาธาน บอล และ ทิม พาร์รี เด็กน้อยผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องเสียชีวิตไปเพราะเหตุก่อการณ์ร้ายในครั้งนี้

ระเบิดสองลูกถูกวางไว้ในถังขยะโลหะบนถนนของเมืองวอร์ริงตันมีพ่อค้าแม่ขายบาดเจ็บหลายสิบคนและมีผู้เสียชีวิตสองคนก็คือ เด็กน้อย บอล และ พาร์รี นั่นเอง ระเบิดถูกวางโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย IRA ที่ต้องการจะกดดันให้อังกฤษถอนทัพออกจากไอร์แลนด์เหนือ

ข่าวการเสียชีวิตของเด็กทั้งสองคน ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และในเดือนต่อมาก็มีการเดินขบวนรณรงค์เพื่อสันติภาพในดับลินด้วยซึ่งเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับบทเพลง Zombie ดังเนื้อเพลงที่ว่า

Another head hangs lowly
อีกหนึ่งหัวที่ถูกห้อยลงมา
Child is slowly taken
เด็กน้อยถูกพรากไปอย่างช้าๆ
And the violence, caused such silence
และความรุนแรง อันก่อให้เกิดความเงียบงัน
Who are we mistaken?
ใครกันเล่าคือคนผิด

Another mothers breaking Heart is taking over
หัวใจของผู้เป็นมารดาต้องแตกสลาย
When the violence causes silence
เมื่อความรุนแรงนำมาซึ่งความโดดเดี่ยว เงียบงัน
We must be mistaken
เราคงต้องรับชะตากรรม

Its the same old theme
มันเป็นดั่งเช่นที่เคยเป็นมา
Since 1916
ตั้งแต่ปี 1916
In your head, in your head, theyre still fighting
ในหัวของคุณสงครามยังไม่สิ้นสุด
With their tanks, and their bombs
ด้วยเหล่ารถถังและลูกระเบิด
And their bombs, and their guns
เหล่าลูกระเบิดและห่ากระสุนปืน
In your head, in your head, they are dying
ในหัวของคุณหลายชีวิตค่อยๆตายจากไป

โดโลเรส กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวไอริช อันนำมาซึ่งความรุนแรงนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุด มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่ปี 1916 ซึ่งเป็นปีที่มีเหตุการณ์ที่ชื่อว่า Irish Easter Risingซึ่งเป็นการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของอังกฤษนั่นเอง

“ฉันจำได้ว่าตอนนั้นมีระเบิดหลายครั้งในลอนดอนและปัญหานั้นยิ่งจะแย่ลงไปเรื่อยๆ” “ฉันจำได้ว่าตอนที่มีข่าวการเสียชีวิตของเด็กทั้งสองคน ฉันกำลังออกทัวร์กับวงอยู่ในอังกฤษ ฉันรู้สึกเศร้าเป็นอย่างมากกับเหตุการณ์นี้ ระเบิดพวกนี้มันสุ่มไปตามที่ต่างๆ มันอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ คุณรู้มั๊ย?”

บทเพลงนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงตามมามากมายด้วยประเด็นทางการเมืองและเนื้อหาของมันซึ่งโดโลเรสได้กล่าวว่าในตอนนั้นเธอไม่ได้คิดทบทวนถึงการปล่อยเพลงออกไปเลยว่ามันอาจจะทำให้เธอไปอยู่ในใจกลางของปัญหา

มันเป็นเรื่องที่หนักใจเหมือนกันสำหรับการร้องเพลงที่พูดเรื่องพวกนี้ แต่เวลาที่เรายังเด็กเราไม่คิดมากนักหรอก เราก็แค่ทำมันเลย แต่เมื่อเราโตขึ้น เราเริ่มที่จะกลัว เริ่มที่จะประหวั่นใจ แต่ตอนที่เราเป็นเด็กเราไม่เคยกลัวอะไรนักหรอก

มิวสิควีดิโอเพลง Zombieออกเผยแพร่ในเดือนตุลาคมปี 1994 กำกับโดย Samuel Bayer ในเอ็มวีเราจะเห็นโดโลเรสมาพร้อมกับสีทองที่ถูกทาทับทั่วตัวเธอโดยปรากฏตัวต่อหน้ากางเขนและกลุ่มเด็กชายที่ก็ตัวสีทองด้วยเช่นกัน

แซมูเอล เบเยอร์ ลงทุนบินไปถึงกรุงเบลฟาสท์ ประเทศไอร์แลนด์เพื่อเก็บฟุตเทจของสถานการณ์ในพื้นที่นั้น ในเอ็มวีทหารนั่นเป็นทหารของอังกฤษจริงๆ และเด็กก็เป็นเด็กในพื้นที่จริง เบเยอร์ตัดสลับภาพฟุตเทจที่เก็บมากับภาพของโดโลเรสและกลุ่มเด็กชายตัวสีทองที่ยืนอยู่ตรงหน้ากางเขน ซึ่งทั้งการทาตัวสีทองและการยืนหน้ากางเขนยักษ์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นไอเดียของโดโลเรสที่ต้องการให้มันเป็นสัญลักษณ์ที่สือถึงความเจ็บปวดต่อเหตุการณ์นี้และสื่อถึงศาสนาด้วย

แซมูเอล เบเยอร์

เบเยอร์นั้นเคยเป็นจิตรกรมาก่อน และหนึ่งในผลงานเอ็มวีที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาก็คือเพลง “Smells Like Teen Spiritของ Nirvana

ฉันคิดว่าผู้กำกับนั้นเป็นคนที่กล้าหาญมากโดโลเรสกล่าว

เขาพลุ่งพล่านมาก อะดรีนาลีนนั้นสูบฉีดไปทั่วตัวเขาเลย เขาเฃ่าให้ฉันฟังถึงความรู้สึกที่เขามีต่อเรื่องทั้งหมดนี้ เขาได้ฟุตเทจของเด็กๆที่กระโดษข้ามจากตึกหนึ่งไปยังอีกตึกหนึ่ง และเขายังได้ฟุตเทจภาพทหารมาอีกต่างหาก เขาช่างเป็นผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

Play video

ณ ขณะนี้ วีดิโอเพลงนี้มียอดวิวถึง 670 ล้านวิวบนยูทูบ และเป็นหนึ่งใน 250 วีดิโอที่มีผู้ชมมากที่สุดของยูทูบ

โดโลเรสนั้นไม่คิดว่าเพลงจะประสบความสำเร็จและดังไปทั่วโลกขนาดนี้เธอค่อนข้างตกใจกับความสำเร็จในครั้งนี้มากเลยทีเดียวและผลที่ตามมานั้นก็สุดยอดมาก

ในเดือนสิงหาคมปี 1994 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากเพลง Zombie ได้ถูกเผยแพร่ออกไปทางกลุ่ม IRA ได้ประกาศ การหยุดรบหลังจากความขัดแย้งอันยาวนานกว่า 25 ปี ซึ่งนักวิจารณ์หลายสำนักมองว่า การประกาศสงบศึกชั่วคราวในครั้งนี้ของกลุ่ม IRA ก็เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าวง Cranberries จะไม่เขียนเพลงเกี่ยวกับพวกเขาอีก (ฮาาา)

หลังจากที่เพลงได้เผยแพร่ออกไป Zombie ก้ไต่ชาร์ตขึ้นถึงอันดับหนึ่งในหลายๆประเทศรวมไปถึงชาร์ตเพลงร็อคในสหรัฐอเมริกา (แต่ในอังกฤษขึ้นถึงเพียงอันดับที่ 14) ส่วนในออสเตรเลียและเยอรมนีนั้นยอดขายไปถึงระดับแพลตินั่มกันเลย นอกจากนี้ในการประกาศผลรางวัล MTV อวอร์ด The Cranberries ยังได้รับรางวัลเพลงยอดเยี่ยมโดยเอาชนะตัวเต็งอย่าง ไมเคิล แจ็คสันและ TLC ไปได้ อีกทั้งทางวงยังถูกเชิญให้ไปเล่นเพลง Zombie ในงานประกาศผลรางวัลโนเบลของปี 1998 อีกต่างหาก

อัลบั้ม No Need To Argue ทำยอดขายได้ถึง 17 ล้านก็อปปี้และทำให้โดโลเรสและวงกลายเป็นเศรษฐีไปเลย

ฉันคงจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับมันทั้งสิ้น เพราะว่ามันดีอยู่แล้ว

มันถูกเรียงร้อยถ้อยคำมาเป็นอย่างดี เรียบเรียงมาเป็นอย่างดี ฉันคิดว่ามันดีมากแล้ว และฉันก็ยังคงชอบเพลงนี้อยู่เสมอ

ความสำเร็จของบทเพลงนี้ผมคิดว่าหลักๆมาจากองค์ประกอบ 3 ประการ ด้วยกัน หนึ่งก็คือ เนื้อเพลง สองคือ การเรียบเรียงดนตรี และ สาม คือ วิธีการร้องของ โดโลเรส

คอร์ดเพลง Zombie

(ขอขอบคุณคอร์ดจากเว็บ www.chordtabs.in.th)

ถ้าดูจากผังคอร์ดนี้จะพบว่า ตัวเพลงมีการใช้ทางเดินคอร์ด (Chord Progressions) 4 คอร์ด คือ Em C G และ D/F# วนไปจนจบเพลง และมีเปลี่ยนเล็กน้อยตอนท่อน outro เท่านั้นเอง

เพลงอยู่ในคีย์ E minor ซึ่งคอร์ดทั้ง 4 ล้วนแล้วแต่เป็นคอร์ดที่อยู่ในคีย์ทั้งหมดเลยจึงทำให้เพลงฟังง่ายและไม่มีเสียงกระด้าง (Discordant)

อีกทั้งเมื่อลงพิจารณาจากการเรียบเรียงพาร์ทของเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆจะพบว่ามีความเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนแต่ทว่าทรงพลัง

ไลน์เบสของเพลง Zombie

(ขอขอบคุณภาพแทบเบสจากเว็บ www.chordtabs.in.th)

จากในรูปเป็นไลน์เบสในท่อนอินโทรของเพลง จะพบว่าไลน์เบสเล่นไปเรียบๆง่ายๆ แต่ยึดเกาะไปตามจังหวะของเพลง ด้วยโน้ตเขบ็ตหนึ่งชั้นที่ในปลายบีทของบางช่วงจะมีการเบิ้ลเป็นเขบ็ตสองชั้น และโน้ตที่ใช้เดินเบสก็เป็นโน้ตที่เป็นเจ้าของชื่อคอร์ดด้วย (เรียกว่า root note) อาทิเช่น คอร์ด Em ก็เล่นโน้ต E , C major ก็เล่น โน้ต C ส่วน D/F# ชื่อคอร์ดก็บอกอยู่แล้วว่าตัวเบสคือ F#  ก็เลยเล่นเป็นตัว F#  เป็นต้น

นอกจากนี้ในการบันทึกเสียงเพลงนี้ทางวงยังใช้การบันทึกแบบเล่นสดตามอารมณ์โดยไม่ใช้เครื่องกำกับจังหวะหรือ Metronome ทำให้อัตราจังหวะของเพลงมีการเปลี่ยนไปตามอารมณ์โดยอยู่ในช่วงจังหวะ 80-88 bpm  ผลที่ได้คือ เพลงมีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติและอารมณ์ที่ปล่อยออกมาผ่านบทเพลงนั้นมีพลังเป็นอย่างยิ่ง

และปัจจัยสุดท้าย คงเป็นด้วย น้ำเสียงของ โดโลเรส  โอ’ริออแดน นั่นเอง

ในเพลงนี้ โดโลเรส ได้ใช้พลังเสียงของเธอถ่ายทอดเรื่องราวของบทเพลงที่มีที่มาจากความรุนแรงและโศกนาฏกรรมที่มนุษย์เข่นฆ่ากันอย่างแสนเจ็บปวด เสียงของเธอหนักแน่น และกรีดแทงเข้ามาในโสตประสาทของเรา เสียงนั้นดังก้องอยู่ข้างในปลุกเร้ากระตุ้นให้อยากลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ เสียงของโดโลเรสยังคงดังก้องอยู่ในหัวของเรา ราวกับเนื้อเพลงท่อนที่ว่า “In your head ,In your head”

ในเพลงนี้โดยเฉพาะตรงท่อนที่ เธอร้องว่า Zombie, zombie, zombie-ie-ie,  โดโลเรสได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Yodel” หรือการร้องเพลงโห่ ซึ่งคล้ายกับเวลาคาวบอยร้องว่า “โยว โลล เล ฮี้ ฮูว” นั่นล่ะครับ มันเป็นการร้องแบบสลับช่วงเสียงอย่างรวดเร็ว ระหว่างเสียงหลบ (falsetto) กับเสียงที่ออกมาจากช่วงอกหรือ chest tone  ซึ่งโดยปกติแล้วการร้องแบบโยเดล นี้มักจะใช้กับเพลงคันทรี่ หรือ พวกเพลงลูกทุ่งฝรั่งนั่นเอง แต่ไทยเราก็มีเพลงที่ร้องด้วยการโยเดลเหมือนกันนะครับ นักร้องเพลงไทยที่ได้รับยกย่องว่าเป็นคนร้องเพลงโห่คนแรกก็คือ คุณ เลิศ ประสมทรัพย์ แห่งวงสุนทราภรณ์ นั่นเอง

ที่มันเป็นความล้ำสำหรับ Zombie นั้นก็เพราะว่า เพลงนี้เป็นเพลงร็อค และเพลงร็อคมักจะไม่ใช้การร้องแบบโยเดล ดังนั้นการดีไซน์วิธีการร้องในเพลง Zombie ของโดโลเรสนั้นจึงเป็นอะไรที่มหัศจรรย์และน่าประทับใจยิ่งนัก

และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมเพลงนี้ถึงได้กลายเป็นเพลงดังระดับตำนาน และเป็นเพลงที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักและจดจำ วง The Cranberries และ โดโลเรส โอ’ริออแดน

และแน่นอนที่ถึงแม้ในวันนี้ที่เธอจากไปแล้ว  แต่เสียงร้องของเธอนั้นยังคงดังก้องอยู่ในหัวของเราไม่รู้ลืม

In your head, In your head,

Zombie, zombie, zombie-ie-ie,