ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีริค แคลปตัน สุดยอดนักดนตรี มือกีตาร์ในตำนานวัย 72 ปี ได้ออกมาเปิดเผยว่าตนกำลังสูญเสียการได้ยินและกำลังทุกข์ใจจาก “โรคเสียงในหู (Tinnitus)” ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคชนิดนี้จะได้ยินเสียงรบกวน เสียงหึ่งๆ หรือ เสียงกรุ้งกริ้งดังในหูตลอดเวลาไม่ว่าภายนอกจะเงียบเพียงใดก็ตาม จนหลายคนที่เป็นโรคนี้ถึงกับบอกว่าตนเองจำไม่ได้แล้วว่าความเงียบนั้นเป็นเช่นไร

ดูแล้วช่างเป็นโรคที่น่ากลัวจริงๆไม่ว่าจะสำหรับคนดนตรีหรือบุคคลทั่วไปก็ตาม วันนี้ผมก็เลยจะมาเล่าเรื่องราวของเจ้าโรคนี้ให้ได้อ่านกัน พร้อมทั้งยกตัวอย่างศิลปินที่ต้องประสบปัญหากับเจ้าโรคนี้ด้วยครับ


เสียงในหู (Tinnitus) มันเป็นยังไงกันนะ ?


โรคเสียงในหู (Tinnitus) เป็น โรคที่ผู้ป่วยมักจะมีอาการเสียงดังในหู ลักษณะคล้ายเป็นเสียงลมดังในหู ซึ่งอาจจะมีเสียงดังหลายแบบทั้งหึ่งๆแบบแมลงบิน วี้ๆ แบบจิ้งหรีดหรือจั๊กจั่น เป็นต้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจดังตลอดเวลาหรือ ดังหยุด ดังหยุด ยิ่งในที่เงียบหรือเวลากลางคืนจะยิ่งได้ยินชัด  ส่วนอาการข้างเคียงก็จะมี หูอื้อ ปวดหู บ้านหมุนและเวียนศีรษะ 

โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.เสียงดังในหูประเภทได้ยินเฉพาะผู้ป่วย  เช่น ได้ยินเสียงลม เสียงซ่า เสียงวี้ เสียงหึ่ง โดยที่ไม่ได้มีเสียงนั้นจริงๆ  เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของคนเป็นโรคนี้ สาเหตุของโรคมักเกิดจาก การอักเสบ บาดเจ็บของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับเสียงที่ดังมากอยู่บ่อยๆ หรือแม้เพียงครั้งแต่ดังจริงๆก็เป็นอันตรายได้

2.เสียงดังในหูประเภทบุคคลภายนอกได้ยินด้วย หรือเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจริงอยู่ภายในร่างกายของผู้ที่ได้ยิน เช่นเสียงตุ้บๆหรือฟู่ๆตามชีพจรซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด


ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคเสียงในหู


สิ่งต่อไปนี้คือบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ครับ ลองมาดูกันครับเผื่อจะได้ป้องกันตัวกันไว้

  • ทำงาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังโดยไม่มีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง อาทิเช่นนักดนตรี ที่เล่นคอนเสิร์ตกับเสียงที่ดังโดยไม่ได้ใส่ ear plug หรือที่อุดหูสำหรับนักดนตรีที่จะช่วยลดระดับเสียงลงแต่ยังได้ยินรายละเอียดของดนตรีครบถ้วน
  • อายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป
  • คนที่หูได้ยินลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
  • มีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจจากการถูกทำร้ายร่างกาย (Post traumatic stress disorder) โดยผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อมีคนพูดเสียงดัง
  • ผู้ที่เป็นหวัด  ภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันเลือดสูง

เมื่อรู้ความเสี่ยงแล้วเราก็ควรหาวิธีป้องกันเพื่อให้หูเราปลอดภัยอยู่เสมอซึ่งทำได้ด้วยการการงดหรือหลีกเลี่ยงฟังเสียงดังๆ หรือถ้าต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง ต้องมีที่อุดหูป้องกัน หรือถ้าเป็นหวัด หรือภูมิแพ้ ต้องทำการรักษา และงดการดำน้ำในช่วงนั้น รวมไปถึง การดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค


หากเป็นแล้วจะมีวิธีการรักษาอย่างไร


เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้และพบกับปัญหาในที่สุดทางที่ดีคือหาวิธีแก้ไขและรักษา และต่อไปนี้คือวิธีการรักษา

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการต่อไปนี้  

  • มีหูอื้อหลังจากเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือไซนัสอักเสบ ทั้งนี้โดยอาการหูอื้อไม่ดีขึ้น/ไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังอาการจากโรคต่างๆดังกล่าวหายแล้ว
  • มีหูอื้อที่ร่วมกับการได้ยินลดลง หรือมีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน
  • มีหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้/ไม่รู้สาเหตุ เพราะอาจเกิดจากเนื้องอกประสาท หรือโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกได้

รักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงรบกวน เช่น การทำความสะอาดเพื่อเอาขี้หูออก

  • ให้ยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน การให้ยารักษาอาการบวมของท่อปรับความดันหู หรือการให้ยาเพื่อรักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • ใช้สเตียรอยด์ ใบแปะก๊วย หรือยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในชนิดอื่น อาทิ เบต้าฮีสทีน ซึ่งจะช่วยลดเสียงรบกวนได้ประมาณ 60%
  • หากมีเสียงดังในหู จนก่อให้เกิดความรำคาญหรือส่งผลต่อการนอนหลับ ก็อาจจะใช้เสียงอื่นเพื่อกลบเสียง เช่น เปิดเพลงเบา ๆ ก็จะให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นมาก  หรือ เปิดพัดลมที่มีเสียงเบาๆ อาจช่วยกลบเสียงในหูลงได้
  • บางสาเหตุต้องอาศัยการรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน เป็นต้น
  • นอกจากนี้ยังควร งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะมีรายงานว่า อาจทำให้อาการหูอื้อเลวลงได้ รวไมปถึง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้หลอดเลือดยายตัว ส่งผลให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้น/หูอื้อมากขึ้น

10 ศิลปินที่เป็นโรคเสียงในหู


Eric Clapton   

อีริค แคลปตัน เป็นศิลปิน คนดนตรีคนล่าสุดที่ออกมาให้ข่าวว่าตนกำลังประสบปัญหากับโรคนี้อยู่ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงพยายามที่จะทำงานเพลงและเล่นดนตรีต่อไป ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้แคลปตันก็เคยประสบปัญหากับโรคปลายประสาทอักเสบที่ทำให้มือและเท้าอ่อนแรง และส่งผลให้เล่นกีตาร์ได้ลำบากมาก

“ ผมกำลังกังวลว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไรในวัย 70 กว่า ผมจะยังสามารถเล่นดนตรีได้อย่างช่ำชองอยู่หรือเปล่า ตอนนี้ผมกำลังจะหูหนวก ผมเป็นโรคเสียงในหูทั้งๆที่มือผมกำลังจะเข้าที่แล้วแท้ๆ แต่ผมก็ยังคงมีความหวังว่าจะมีคนมาดูผมเล่นดนตรีอยู่ และถึงอย่างนั้นผมก็ยังประหลาดใจที่ในวันนี้ผมยังอยู่ตรงนี้ ยังคงเล่นดนตรีอยู่”

อีริค แคลปตันผู้ที่ตอนนี้อยู่ในวัย 72 ปีแล้ว และกำลังจะมีภาพยนตร์สารคดีที่เล่าถึงประวัติชีวิตและการทำงานบนเส้นทางสายดนตรีของเขาออกฉายในชื่อว่า Eric Clapton: Life in 12 Bars. ซึ่งมีกำหนดฉายวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2018 ผ่านทาง Showtime (ส่วนบ้านเราก็ต้องรอลุ้นต่อไปว่า doc club หรือเจ้าไหนจะนำมาฉายรึเปล่า)

Play video

ส่วนสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินของแคลปตันนั้นเกิดจากการเล่นคอนเสิร์ตโดยไม่ใส่ earplug หรือที่อุดหู ทำให้ทุกวันนี้เพื่อรักษาการได้ยิน แคลปตันจึงมักฟังเพลงคลาสสิคหรือเพลงประกอบภาพยนตร์


Brian Johnson

ไบรอัน จอห์นสัน นักร้องนำของวง AC/DC เป็นหนึ่งในคนดนตรีที่เป็นโรคนี้ ซึ่งต้นเหตุนั้นน่าจะมาจากการแข่งรถที่ Watkins Glen International ในนิวยอร์คเมื่อปี 2008 ซึ่งตอนแรกจอห์นสันประมาทเองที่คิดว่ามันคงไม่เป็นอะไรมาก ในช่วงนั้นเขามีอาการได้ยินเสียง “ป็อป” เบาๆในหู  ซึ่งเขาก็สงสัยว่านี่มันเสียงอะไรกันฟระ! แต่ในที่สุดเขาก็ค่อยๆอาการแย่ลงเรื่อยๆ และต้องทนทุกข์กับมันร่วม 6-7 เดือน หลังจากนั้นเขาได้รับการรักษาและเป็นปกติอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะมาเป็นอีกในปี 2015 จากการเล่นคอนเสิร์ตกลางพายุฝนที่ Winnipeg ทำให้น้ำเข้าไปในหู และจับตัวเป็นก้อนผลึกในเวลาต่อมาและส่งผลต่อการได้ยิน ถึงแม้จะได้รับการผ่าตัดเจาะก้อนในหูแต่ก็ไม่สามารถกลับมาได้ยินเต็มร้อยเหมือนดังเดิมและทำให้ ไบรอัน จอห์นสันต้องออกจากการเป็นสมาชิกวง AC/DC ในที่สุด


John Illsley

“ทั้งๆที่รู้ว่าเราควรจะปรับเสียงให้มันเบาลง ทั้งในเวลาเล่นและในเวลาฟังเพลง แต่ก็นะดนตรีมันจะเร้าใจกว่าหากได้ฟังมันดังๆ”

จอห์น อิลสลีย์ มือเบสของวง Dire Straits เขาสูญเสียการได้ยินราว 30% จากโรคเสียงในหูซึ่งเกิดจากการที่ปรับมอร์นิเตอร์ไปจนสุดตลอดการเล่นคอนเสิร์ต  หลังจากนั้นมาอิลสลีย์ก็จะใช้ earplug แบบลดความแรงของเสียงทุกครั้งที่เล่นคอนเสิร์ต


Will.I.Am

“ผมไม่รู้จักว่าความเงียบเป็นอย่างไรอีกต่อไปแล้ว ดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่เยียวยาความเจ็บปวดของผม ผมอยู่นิ่งไม่ได้ การทำงานทำให้ผมสงบ ผมอยู่เงียบๆไม่ได้ เพราะมิเช่นนั้นผมจะได้ยินเสียงในหูของผมตลอดเวลา”

วิล ไอ แอม หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวง The Black Eyed Peas และดีเจชื่อดัง บอกว่าตนเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นโรคเสียงในหู และดนตรีเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความรำคาญอันเกิดจากเสียงในหูที่ดังอยู่ตลอดเวลาได้ ดังนั้น วิล ไอ แอม จึงมักชอบทำงานให้ยุ่งและเปิดเพลงฟังเบาๆ เพื่อบรรเทาอาการและเพื่อให้ลืมมันไปซะ


Barbra Streisand

ในตอนที่ฉันเข้าทดสอบการได้ยิน ฉันได้ยินมากกว่าปกติ มันน่ารำคาญมาก และฉันก็คิดถึงความเงียบเสียมากๆเลยตอนนี้”

บาร์บรา สไตรแซนด์ หนึ่งในนักร้องหญิงเสียงคุณภาพ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทุกข์ใจกับโรคนี้ ซึ่งสาเหตุของโรคที่เธอเป็นไม่ได้เกิดจากเสียงที่ดัง หากแต่เธอเป็นโรคนี้มาตั้งแต่เก้าขวบแล้ว เธอแนะนำว่าเราควรใส่ earplug หรือ headphone ในเวลาเล่นดนตรีหรือฟังเพลงเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียการได้ยิน


Jeff Beck

เจฟฟ์ เบค หนึ่งในห้ามือกีตาร์ที่เมพที่สุดตลอดกาลก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นโรคเสียงในหู โดยเบคเป็นที่หูข้างซ้ายหลังจากมีเสียงที่ดังมากๆกระแทกเข้าที่หูข้างซ้ายของเขา โดยที่ในตอนนั้นไม่ได้มี earplug คอยป้องกันจากนั้นมาเขาก็มีอาการของเสียงในหูจนถึงทุกวันนี้


 Phil Collins

ฟิล คอลลินส์ นักดนตรีและนักแต่งเพลงชื่อดังหนึ่งในสมาชิกวง Genesis ออกมาประกาศในปี 2011 ว่าเขาจะเลิกการเล่นดนตรีหรือทำเพลงแล้วเนื่องจากปัญหาการได้ยินที่แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันคอลลินส์ก็ยังคงพักฟื้นและรักษาตัวอยู่


Neil Young

นีล ยัง นักร้อง สุดยอดนักร้องนักแต่งเพลงชาวแคนาเดียน ที่ฝากผลงานเพลงในแนวทางโฟล์ค คันทรี่ ร็อคเอาไว้มากมาย (มีผลงานมาแล้วกว่า 30 อัลบั้ม !!!)  ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบปัญหาจากอาการเสียงในหู ซึ่งเขาเป็นมานานแล้วตั้งแต่ช่วงปี 90s  ตั้งแต่นั้นเพลงของนีล ยังจึงซอฟท์ลงอย่างเห็นได้ชัดอาทิเช่นเพลง Harvest Moon ที่ออกในปี 1992 เป็นต้น

Play video


 Pete Townsend

พีท ทาว์นเซนด์ มือกีตาร์และนักแต่งเพลงของวงร็อคในตำนานอย่าง The Who ได้สูญเสียการได้ยินและเป็นโรคเสียงในหูทั้งสองข้างเนื่องจากการได้รับเสียงที่ดังเกินไปในเวลาที่เล่นคอนเสิร์ต ด้วยรู้ว่าโรคนี้มันทุกข์ทรมานแค่ไหน พีทก็เลยก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบปัญหาทางการได้ยินสำหรับชาวร็อคโดยเฉพาะ โดยใช้ชื่อว่า  H.E.A.R. (Hearing Education and Awareness for Rockers). นอกจากนี้เขายังได้ทำมอนิเตอร์สำหรับใส่ในหูไว้สำหรับเวลาเล่นคอนเสิร์ตด้วย


Christ Martin

“การดูแลหูดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่คุณคิดไม่ถึงจนกว่าคุณจะเริ่มมีปัญหากับมัน ผมก็แค่หวังว่าผมน่าจะคิดถึงมันเร็วกว่านี้”

ไม่น่าเชื่อเลยว่า คริส มาร์ติน นักร้องนำวง Coldplay ก็เป็นโรคนี้กับเขาด้วย แต่ก็ไม่น่าแปลกใจหรอก เพราะว่าวง Coldplay นั้นดังตั้งแต่คริส มาร์ติน ยังอายุย่างเข้าสู่วัยเบญจเพสอยู่เลย และในช่วงนั้นคริสก็เริ่มมีอาการปวดหัวและได้ยินเสียงในหู หมอจึงเตือนว่าถ้าไม่ป้องกันตัวเอง หนวกแน่นอน คริสก็เลยต้องใช้ที่อุดหูทุกครั้งที่เล่นคอนเสิร์ต


ช่างเป็นโรคที่น่ากลัวเหลือร้ายเลยนะครับ หากใครเป็นคนที่ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดังหรือเป็นนักดนตรีโดยเฉพาะยิ่งกับขาร็อคทั้งหลายด้วยแล้วยิ่งต้องระวังใหญ่เลย  ก็คงต้องหาอะไรมาป้องกันนะครับ อย่างไรกันไว้ก็ย่อมดีกว่าแก้ หูเรามีแค่สองข้างนี้ จะหาใหม่ที่ไหนก็ไม่ได้ คงต้องรักและถนอมเค้าให้ดีนะครับ เอาไว้ให้ฟังเสียงดนตรี เสียงเพลงเพราะๆ เอาไว้ฟังเสียงหวานๆของคนรักกันดีกว่าครับ  เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลหูให้ดี ไม่งั้นอาจจะไม่มีหูไว้ให้ฟังนะครับ สวัสดีครับ

Source