“ดำสนิท” เป็น MV ตัวใหม่จากอัลบั้มในชื่อเดียวกันของ ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ แท้จริงคือ แทร็คแรก และแทร็คที่สำคัญของอัลบั้มนี้ เป็นเพลงที่ครอบคลุม คอนเซปต์ของงานเพลงในอัลบั้มนี้ทั้งหมดและ เป็นเพลงที่แฝงแง่คิดเชิงปรัชญา สะท้อนมุมมองของฮิวโก้ที่มีต่อสังคม ผสานกับสไตล์ดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ “ดำสนิท” คว้ารางวัลเพลงยอดเยี่ยมจากเวทีของคนดนตรีคุณภาพสีสันอวอร์ด ครั้งที่ 29” 

“คนเราเกิดมาเป็นผ้าขาว สะสมรอยยับรอยเปื้อนจนเก่า

จนมันเป็นสีเทา จนมันดำสนิท”

เนื้อหาของเพลงเพลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในสังคม ที่ทุกคนเริ่มต้นจากความขาวสะอาดเปรียบเสมือผ้าขาวที่ไร้รอยยับ รอยหม่นหมอง แต่แล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็สะสมรอยยับรอยย่น รอยเปื้อน จากขาวกลายเป็นเทาและเป็นสีดำสนิทในที่สุด

ซึ่งเหตุผลของการกลายเป็นสีดำของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไป จนไม่สามารถตัดสินลงไปได้ว่า ดำนั้นคือดีหรือเลวกันแน่ ขึ้นอยู่กับมุมมอง ขึ้นอยู่กับบริบท และขึ้นอยู่กับการตีความของเรา เฉกเช่นเดียวกับบทเพลงนี้ ที่มีความหมายชวนให้เราเข้าไปตีความ

ภาคดนตรีนั้นทำออกมาได้น่าสนใจ ด้วยสัดส่วนการเรียบเรียงที่ไม่รกรุงรัง มีพื้นฐานมาจากดนตรีร็อคที่เติมส่วนผสมของดนตรีอิเล็คทรอนิคเข้าไปได้อย่างลงตัว ทำให้ดูมีความแปลกใหม่ร่วมสมัยและสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของบทเพลงได้ดี ไม่ห่มน ไม่มืด แต่ลึกลับชวนฟัง

เพลงนี้เนื้อร้องแต่งโดย ฮิวโก้เอง และ มี เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ และ ที สุขโพธิ์เพชร มาร่วมเขียนด้วย ส่วนทำนองนั้น ฮิวโก้เป็นคนแต่งเอง แต่ผ่านการเรียบเรียงและโปรดิวซ์โดย เจ มณฑล จิรา ซึ่งก็มาร่วมเล่นใน MV เพลงนี้ด้วย

งานมิวสิควีดิโอนั้นทำออกมาได้ดี น่าดู ผ่านการกำกับของ จีน คำขวัญ ดวงมณี ผู้กำกับหญิงเก่งที่ฝากผลงาน MV ดีๆไว้มากมายอาทิเช่น ปะติดปะต่อ ของ Greasy Cafe งานนี้จีนได้บรรจงสร้างโลกบรรยากาศแบบดิสโทเปียขึ้นมา อันเป็นโลกที่ทุกคนต้องสวมชุดสีขาว ซึ่งหากใครมีสัดส่วนของความดำเข้ามาปนเปื้อนก็จะต้องถูกทหารนำตัวแยกออกไป บางคนก็ถูกขังไว้ บางคนก็หายไปตลอดกาล

ตัวละครนำของเรื่องเป็นเด็กสาวที่วันนึงได้ไปพบเห็นเหตุร้ายโดยชายชุดดำ จนเป็นเหตุให้สีดำปนเปื้อนตัวเธอ และชีวิตของเธอก็ได้เปลี่ยนไปตั้งแต่นั้นมา…

สีขาวและสีดำถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายของเรื่องราวและบทเพลง นอกจากนี้ งาน MV ยังมี reference มาจากงานคลาสสิคมากมาย ซึ่งพอเท่าที่พอจะสังเกตได้ก็มีดังนี้

บรรยากาศของโลกดิสโทเปีย และ รูปแบบของชุดที่ตัวละครใส่ เหมือนที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง “1984” เขียนบทและกำกับโดย  ไมเคิล แรดฟอร์ด  สร้างจากผลงานวรรณกรรมสุดคลาสสิคของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่ว่าด้วยเรื่องของความน่ากลัวของระบอบการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จของสังคมในโลกอนาคตปี 1984 อันเป็นโลกที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการสูงจนกลุ่มผู้มีอำนาจนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อควบคุมจิตใจมนุษย์

1984

ในฉากที่เด็กหญิงวิ่งหนีกลุ่มคนที่ตามเธอ จนผ่านมาในห้องหนึ่ง เราจะเห็นชายหญิงยืนจูบกันภายใต้ผ้าคลุมสีขาว ซึ่งชวนให้เราคิดถึงงานจิตรกรรมแนวเหนือจริง (Surrealism) ของ เรอเน มากริต (Rene Magritte) จากปี 1928 ที่มีชื่อว่า “The Lovers 2” 

The Lovers 2 , Rene Magritte

เรอเน มากริต (1989-1967) เป็นจิตรกรชาวเบลเยี่ยม ที่มีชื่อเสียงจากการวาดภาพแนวเหนือจริง หรือ เซอร์เรียลลิซึ่ม โดยผลงานของมากริตนั้นทักทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกสะดุดตา และท้าทายชวนให้ผู้ชมตกอยู่ในโลกหลังภาพวาดนั้นอันเป็นโลกที่ลึกลับ เหนือจริง แต่ทว่างดงาม ผลงานที่มีชื่อเสียงอื่นๆของเขาก็มีอาทิเช่น “The Son of Man (1964)” ที่เป็นรูปผู้ชายใส่สูทยืนอยู่โดยมีลูกแอปเปิ้ลสีเขียวบดบังใบหน้าเอาไว้

The Son of Man

ต่อมาในช่วงท้ายของเพลงเราจะเห็น reference อีกอันหนึ่งปรากฏอยู่ ซึ่งภาพในช่วงนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก งานภาพยนตร์สุดคลาสสิคของ “อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก” ผู้กำกับอันเป็นตำนานของโลกภาพยนตร์ เจ้าพ่อหนังลึกลับ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า “Vertigo”

โดยในหนังเรื่องนี้ได้มีการสร้างนัยลงไปในรายละเอียดของหนังด้วยการใช้ลายเส้นขดม้วนซึ่งปรากฏอยู่ใจุดต่างๆของเรื่อง อาทิเช่นในดวงตาหญิงสาวระหว่างเครดิต อันเป็นศิลปะแบบไซคีเดลิคของซอล เบสส์ สื่อความหมายถึงความลึกลับซับซ้อน วกวนอย่างน่าพิศวง ซึ่งสอดคล้องกับบรรยากาศของหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีการจัดรูปแบบของฉากและการเคลื่อนกล้องที่สะท้อนให้เห็นถึงการคดเคี้ยว ขดม้วนอาทิเช่น บันไดเวียนที่โค้งตัวอยู่ในหอระฆังโบสถ์ ปอยผมขดม้วนบนศีรษะของแมดเดลีนตัวละครสำคัญของเรื่อง เส้นรอบวงอายุของต้นไม้  ซึ่งชวนให้ผู้ชมปวดเศียรเวียนเกล้ากับเรื่องราวและภาพที่ถูกนำเสนอยิ่งนัก

ซึ่งแนวคิดการใช้ภาพตรงจุดนี้ก็สอดคล้องและสะท้อนความหมายของบทเพลง “ดำสนิท” ได้เป็นอย่างดี

ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานเพลงคุณภาพ ที่ไม่ว่าจะด้านเนื้อร้อง ทำนอง งานมิวสิควีดิโอก็ถือว่าทำออกมาได้ดี และ พิถีพิถัน