บทเพลงที่เปิดระหว่างที่เรากำลังรับประทานอาหารนั้นมีความสำคัญมาก ในขณะที่ปากเรากำลังรับรสของอาหารผ่านทางปากและลิ้น หูเราก็รับรู้รสทางเสียงด้วยในขณะเดียวกัน ถึงแม้มันอาจจะไม่ได้ทำงานในระดับของจิตสำนึก แต่ในจิตใต้สำนึกนั้นร่องเสียงที่ไหลผ่านเข้าไปในหูมีผลต่อความรู้สึกและอารมณ์สุนทรีย์ในระหว่างมื้ออาหารได้อย่างแน่นอน หลายครั้งเรารู้สึกได้เลยว่าอาหารที่เราทานนั้นจะอร่อยขึ้นเมื่อมีเพลงที่เข้ากันกับบรรยากาศของร้าน และ รสชาติของอาหาร
เรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของ “ริวอิจิ ซากาโมโต” นักดนตรี และนักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่นชื่อก้องระดับสากล เจ้าของงานเพลงสุดคลาสสิคที่ใครได้ยินแล้วจะต้องว้าวอย่าง “Merry Christmas Mr.Lawrence”


ปัจจุบันซากาโมโตในวัย 66 ปี อาศัยอยู่ที่เวสต์วิลเลจในนิวยอร์คกับครอบครัว เขามักจะไปรับประทานอาหารในร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “คาจิสึ” (Kajitsu) ในเมอร์เรย์ฮิลล์ หลังจากต้องทนฟังเพลงที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ในที่แห่งนี้ เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปหาเชฟและพูดว่าเขาไม่อาจทนเพลงเหล่านี้ที่เปิดให้กับแขกผู้มารับประทานอาหารในร้านแห่งนี้ได้อีกต่อไป มันไม่ได้เป็นเรื่องของเสียงที่ดังไป แต่มันเป็นเรื่องของการจัดเพลงมาแบบไม่ได้ผ่านการคิดมาก่อน ดังนั้นเขาขอเป็นคนจัดทำเพลย์ลิสต์ให้กับร้านได้หรือไม่ โดยเขาจะไม่คิดเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว เพราะผลที่ได้สำหรับเขาก็คือการได้รับประทานอาหารในร้านนี้อย่างเป็นสุข ซึ่งเชฟก็ตกลงและให้ซากาโมโตจัดทำเพลย์ลิสต์นี้ขึ้นมา ซึ่งในเพลย์ลิสต์นี้ไม่มีเพลงของเขาอยู่เลยแม้แต่เพลงเดียว เพราะจุดประสงค์ที่แท้ของเขาไม่ได้เป็นการเผยแพร่เพลงของตัวเอง
ริวอิจิ ซากาโมโต เป็นคนดนตรีที่ละเอียดอ่อน เขาไม่ได้มองแต่การทำเพลงเท่านั้น แต่มองไปถึงขั้นตอนของการฟังด้วย นอกจากนี้เขายังมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการเลือกใช้เพลงและการแชร์
ซากาโมโตเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงปลายยุค 70 จากการก่อตั้งวงดนตรีอิเล็คทรอนิคป็อป 3 ชิ้นนามว่า Yellow Magic Orchestra (YMO) ตั้งแต่นั้นมาเขาได้ทำเพลงเพื่อวัตถุประสงค์อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงสำหรับแดนซ์ฟลอ คอนเสิร์ตฮอล์ ประกอบภาพยนตร์ วีดิโอเกมส์ ริงโทนโทรศัพท์ นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในคนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการเมืองอีกด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์สารคดีนามว่า “Coda” อันว่าด้วยเรื่องราวในชีวิตของซากาโมโตและการข้ามผ่านปัญญาใหญ่ในชีวิตคือการเป็นมะเร็ง ด้วยการทุ่มเทความมุ่งมั่นในการทำเพลง
ร้านอาหารแห่งนี้มีการจัดตกแต่งและสร้างบรรยากาศของร้านรวมไปถึงเมนูอาหารบนพื้นฐานแนวคิดสุนทรียแห่งเซน เพลงจากเพลย์ลิสต์ของซากาโมโตดูเข้ากันได้ดีกับสถานที่แห่งนี้ มันมีความเนิบช้า หรือ ไม่ก็เป็นเพลงเดี่ยวเปียโนที่มีสำเนียงเสียงแตกต่างกันตามแต่ละวัฒนธรรมที่บทเพลงนั้นก่อกำเนิดมา บางเพลงก็เป็นธีมเพลงประกอบภาพยนตร์ บางเพลงก็เหมือนจะเป็นการด้นสด (Improvisation) หากเป็นเพลงร้องก็มักจะไม่ใช่เพลงร้องภาษาอังกฤษ


เพลงเหล่านี้ไม่ใช่เพลงที่เปิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเพิ่มระดับของการจับจ่าย หากแต่มันเป็นเพลงที่เพิ่มระดับของการตระหนักรู้ ความละเอียดอ่อน และลุ่มลึก
ซากาโมโตกล่าวว่าหากเป็นปกติแล้ว เมื่อเขาเข้าไปรับประทานอาหารในร้านใดแล้วไม่ชอบบทเพลงในร้านนั้น เขาจะเดินออกทันที แต่ร้านนี้เป็นร้านที่เขาชอบและประทับใจในตัวของเชฟ ฮิโรกิ โอโดะ เขาจึงเลือกที่จะเดินเข้าไปหาตรงๆเพื่อบอกความต้องการของเขา
แต่เดิมนั้นเพลย์ลิสต์ของร้านได้ถูกส่งมาจากฝ่ายบริหารที่ญี่ปุ่น ซึ่งซากาโมโตมองว่า เพลงเหล่านี้เป็น BGM หรือ Background Music ที่ไม่เหมาะกับร้าน มันมีทั้งเพลงป็อปบราซิลแย่ๆ และ เพลงโฟล์คอเมริกันเก่าๆ และบางเพลงก็เป็นเพลงแจ๊ซ แม้กระทั่งของนักดนตรีแจ๊ซระดับพระกาฬอย่างไมล์ เดวิสก็มีด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเพลงที่ไม่ดี หากแต่มันอาจจะไม่เข้ากันกับบริบท
(ลองดูลักษณะการจัดเพลย์ลิสต์แบบ BGM ทั่วๆไปได้ด้วยการอยาก search ใน youtube แล้วพิมพ์คำว่า “BGM” ลงราจะพบกับเพลย์ลิสต์ที่ยิงยาวเป็นชั่วโมงๆที่เราใช้เปิดเพื่อสร้างบรรยากาศในระหว่างรับประทานอาหาร พักผ่อน ทำงาน หรือ อ่านหนังสือ)
เรามักมองว่าการเปิดเพลงในร้านไม่ได้มีความสำหลักสำคัญเท่าใดนัก “เท่านี้ก็เพราะแล้ว” เรามักคิดแบบนั้น แต่แท้จริงแล้วเราต้องมองไปไกลว่า “เท่านี้ก็เพราะแล้ว” เพราะดนตรีนั้นเป็นปราการด่านแรกที่แข็งแรงในการสร้างการรับรู้ของลูกค้าว่าร้านเราเป็นร้านอาหารแบบใด นอกจากนี้เพลงที่ดียังช่วยให้ลูกค้าออกจากร้านไปด้วยความรู้สึกที่ดีกว่าตอนเข้ามา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับคาจิสึ ซากาโมโตมองว่าเพลงที่เปิดแต่เดิมนั้นมันมืดเกินไปสำหรับร้านที่มีการตกแต่งที่ให้ความรู้สึกสว่างสดใส ไม่ว่าจะมาจากสีของกำแพง พื้นผิวของเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งห้อง ซึ่งไม่เข้ากันกับดนตรีแบบดาร์คๆเลย สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้อยู่แต่เพียงเรื่องของอาหาร หรือ ช่วงเวลาที่เราเข้ามาในร้านเท่านั้น หากแต่มันอยู่ที่บรรยากาศ สีสัน และการตกแต่งด้วย




โดยสรุปแล้ว ซากาโมโตมองว่าร้านอาหารที่มีความงดงามราวกับพระตำหนักคัทสึระ (Katsura Rikyu) ในเมืองเกียวโตแห่งนี้ ไม่ควรเปิดเพลงที่ห่วยราวกับตึกทรัมป์ทาวเวอร์ นั่นเอง!!! ผ่างงง
และต่อไปนี้คือตัวอย่างเพลงในเพลย์ลิสต์ของซากาโมโต เพื่อนๆลองเอาไปเปิดระหว่างรับประทานอาหารดูก็ได้นะครับ
Above The Treetops , Pat Metheny
เพลงนี้บอกได้เลยคำเดียวว่าสุดยอด เพลงนี้มีกลิ่นอายดนตรีของทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแรง โดยเฉพาะในแถบบ้านเราและผู้มีวัฒนธรรมทางดนตรีใกล้เคียงกันอย่างเขมร แค่เริ่มมาด้วยเสียงฉิ่งกับการร้องในแบบที่เราคุ้นเคยจากเพลงไทยเดิม ก็ชวนให้ขนลุกแล้ว นี่ยังผสมผสานไปด้วยสุ้มเสียงสำเนียงของดนตรีแจ๊ซผ่านท่วงทำนองในแบบของ แพ็ท เมเทนี ด้วยแล้ว โอ้วบอกเลย ถือช้อนค้างไม่ได้ทานข้าวหรอกครับ 55
Peace Piece , Bill Evans
แค่ชื่อเพลงก็รู้แล้วว่าฟังแล้วจะสงบแค่ไหน งานเพลงบรรเลงเปียโนแจ๊ซแบบสุขสงบล้ำลึก นุ่มเบาฟังสบายโดยมือเปียโนในตำนานที่ใครก็ไม่ควรพลาด บิล อีแวนส์ เพลงนี้เหมาะสำหรับการฟังในระหว่างรับประทานอาหาร และจากนั้นก็เปิดต่อระหว่างกำลังจะเข้านอนได้เลยรับรองฉ่ำ
The Flat, Johann Johannsson
ผลงานสุดล้ำลึกจาก โยฮาน โยฮานส์สัน นักประพันธ์เพลงที่ควรย่ายิ่งแห่งการจดจำและการเสพย์ซ้ำในบทเพลงของเขา โยฮาน โยฮานส์สันเพิ่งจากโลกนี้ไปได้ไม่นาน เขาได้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้มากมาย รวมไปถึงบทเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมหลายเรื่อง อาทิเช่น Prisoners, Sicario และ Arrival (ทั้งสามเรื่องเป็นผลงานการกำกับของ เดนิส วิลเนิร์ฟ ทั้งนั้นเลย)
Is that what everybody wants, Cliff martinez
https://www.youtube.com/watch?v=QFffae7CcDA
Soundtrack จากภาพยนตร์เรื่อง Solaris ผลงานการกำกับโดย สตีเฟ่น โซโดเบิร์ก (เวอร์ชั่นแรกกำกับโดย ผู้กำกับสายกวี อังเดร ทาคอฟสกี) เป็นผลงานการประพันธ์ของ คลิฟ มาร์ติเนซ ผู้เคยฝากผลงานอันลือลั่นไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Drive , Only God Forgives และ Neon Demon เป็นต้น (ทั้งสามเรื่องกำกับโดย นิโคลาส เวนดิ่ง เรฟฟิน ทั้งนั้นเลย) ซึ่งก่อนนี้พี่คลิฟเค้าเคยเป็นมือกลองให้กับวงร็อคสุดแนว Red Hot Chili Peppers ด้วยนะเออ
Four Walls : Act I , Scene I , John Cage
งานบรรเลงเปียโนของ จอห์น เคจ นักประพันธ์เพลงแนวทดลองที่สร้างสรรบทเพลงจากแรงบันดาลใจในแนวคิดของเซน ผู้มีผลงานอันลือลั่นนาม 4’33”
หากใครอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจอห์น เคจ และบทเพลงนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านได้ใน ที่นี่ ครับ
สำหรับเพลง Four Walls : Act I , Scene I เวอร์ชั่นในเพลย์ลิสต์นี้เป็นผลงานการบรรเลงเปียโนโดย อากิ ทาคาฮาชิ
Light Drizzle , Chichei Hatakeyama
นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลง ambient จากศิลปินชาวญี่ปุ่น Chihei Hatakeyama ที่ผมขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งหากใครชอบงานดนตรี ambient แบบนิ่งๆน้อยๆ แต่เน้นๆ งานของคนนี้เยี่ยมไปเลยซึ่งเพลงที่ซากาโมโตเลือกมาใส่ในเพลย์ลิสต์นั้นมีชื่อว่า “Light Drizzle” (เพลงนี้ใน youtube เปิดฟังไม่ได้เพราะเป็น “วีดิโอที่ถูกบล็อกในประเทศ” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุใดเหมือนกันครับ) ผมก็เลยจัดหามาหนึ่งเพลงของ ชิเฮอิ ฮาทาเคยามา เพื่อให้ได้ฟังกันครับ
Alone By The Sea
สำหรับเพลย์ลิสต์แบบเต็มๆนั้น เพื่อนๆสามารถเข้าไปฟัง ได้ที่นี่ เลยครับ
ที่มา