Play video

หลังจากนำเสนอสารคดีอย่าง They’ll Love Me When I’m Dead ไป วันนี้มาขอเสนอหนังที่เกี่ยวกันเป็นฝาแฝดเรื่องนี้บ้าง กับ The Other Side of the Wind ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าหนังเรื่องสุดท้ายของ ออร์สัน เวลส์ ผู้กำกับที่ในร้อยปีถึงจะมีสักคนกัน ออร์สัน เวลส์ คือผู้กำกับระดับตำนานของฮอลีวู้ดและของโลก หนังอย่าง Citizen Kane (1941) ติดอันดับหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลแทบทุกสถาบัน ทั้งยังถูกยกย่องให้เป็นหนังที่ดีที่สุดของอเมริกาจวบจนปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่นักเรียนหนังและคนทำหนังแทบทุกคนในโลกต่างต้องเคยดูเคยเรียนมา นี่เป็นการยกย่องแบบพอสังเขปเท่านั้นสำหรับสิ่งที่เวลส์ทิ้งไว้ให้แก่วงการหนัง

หนังเรื่องนี้เริ่มถ่ายทำจริงตั้งแต่ช่วงปี 1970 และหยุด ๆ ถ่าย ๆ เปลี่ยนโลเกชั่นย้ายประเทศ และเปลี่ยนนักแสดงอยู่เรื่อย ๆ ตัวหนังเชื่อว่าถ่ายสมบูรณ์แล้วในช่วงปี 1985 ซึ่งออร์สัน เวลส์ เสียชีวิต หากแต่ว่าม้วนฟิล์มของหนังติดปัญหาคาราคาซังด้านการเมืองระหว่างประเทศ เพราะทุนสร้างส่วนหนึ่งมาจากพระญาติของราชวงศ์อิหร่าน ซึ่งต่อมาถูกโค่นล้มเปลี่ยนระบอบการปกครอง และทรัพย์สินทั้งหลายที่เกี่ยวข้องก็ถูกยึดไว้ รวมถึงหนังของเวลส์ด้วย เวลส์เองก็มีความพยายามต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อทวงสิทธิ์ของม้วนฟิล์มคืน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งเขาเสียชีวิต  ต่อมาหลายปีจากนั้นจึงมีความพยายามของคนใกล้ชิดเวลส์ที่จะเอาหนังมาตัดต่อแต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ และในปี 2017 นั่นเองที่เครือหนังสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ็ได้ประกาศคว้าสิทธิ์วัตถุดิบของหนังเรื่องนี้มาสานต่อ และหนังก็เพิ่งออกฉายผ่านเน็ตฟลิกซ์ไปไม่นานนี้เอง เรียกว่าต้องใช้เวลากว่า 50 ปีทีเดียวกว่าจะได้ชมกัน

หนังเล่าเรื่องแบบหนังซ้อนหนัง ที่ตั้งใจยั่วล้อวงการฮอลลีวูดในสายตาของเวลส์ เมื่อผู้กำกับรุ่นใหญ่นาม เจด แฮนนาฟอร์ด (แสดงโดยผู้กำกับรุ่นเก๋าเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์อย่าง จอห์น ฮิวสตัน) ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนในการทำหนังเรื่องสุดท้ายให้จบ จึงหวังจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนโดยการจัดฉายตัวหนังแบบลับเฉพาะในงานวันเกิดของตัวเอง โดยเชิญดารา ผู้กำกับ นักวิจารณ์ รวมถึงนักข่าว เหยี่ยวข่าวมาทั่ววงการ ยังรวมถึงผู้กำกับดาวรุ่งที่ถือเป็นลูกศิษย์ของเจดอย่าง บรู้ก ออตเตอร์เลก (แสดงโดยผู้กำกับมือทองที่เหมือนลูกศิษย์ของออร์สัน เวลส์ อย่าง ปีเตอร์ บอกดาโนวิช) ด้วย โดยยังตัดสลับกับเนื้อหาในหนังที่ว่าด้วย ชายหนุ่มคนหนึ่งที่บังเอิญพบ สาวสวยปริศนา (แสดงโดย โอจา โกดาร์ แฟนสาวของเวลส์) ที่มีแฟนแล้ว เขาต้องมนตร์สะกดของเธอและเฝ้าติดตามไปทุกหนแห่งตลอดเวลา จนกระทั่งได้มีเซ็กกับเธอในรถโดยมีแฟนของเธอนั่งอยู่ข้าง ๆ และในงานวันเกิดของเจด ทุกคนต่างก็พูดถึงนักแสดงนำชายในหนังคนดังกล่าวที่ชื่อ จอห์น เดล อยู่เป็นระยะแม้เขาจะไม่ยอมมาร่วมงานวันเกิด จนเจดต้องสั่งให้ช่างทำหุ่นแทนเดลวางไว้ทั่วทุกมุมของงานก็ตาม

แม้จะเป็นหนังซ้อนหนัง แต่ตัวหนังจากที่อ่านเรื่องย่อก็ถือว่ามีเนื้อเรื่องที่ดูซับซ้อนไม่มากนัก แต่ทว่าาาา.. หนังอย่าง The Other Side of the Wind กลับเป็นหนังที่ดูยากมาก เข้าถึงยากมาก ด้วยวิธีการตัดต่อ เคลื่อนกล้อง กระชากซูม การใช้ฟิล์มขาวดำผสมฟิล์มสี อัตราส่วนหนังที่โดดไปมา และเล่าประหนึ่งภาพงานคอลลาจที่แปะนู่นแปะนี่จนเราต้องใช้สมาธิสูงมากในการติดตามเรื่อง ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเพราะนี่คือความในใจของเวลส์ และเวลส์ได้ชื่อว่าผู้กำกับที่ไม่ชอบให้ใครมาวิเคราะห์ตัวตนเขาผ่านผลงาน เขาเลยซ่อนมันทั้งจากทีมงานและนักแสดงที่ไม่เคยมีใครรู้เนื้อหาและเรื่องราวจริง ๆ ของหนังเลยตลอดการถ่ายทำ เพราะเวลส์เขียนบทด้นสดไปเรื่อย ๆ และบ่อยครั้งปล่อยให้นักแสดงรับเชิญทั้งหลายด้นสดประหนึ่งนั่งคุยอยู่กับเวลส์เสียมากกว่า ซึ่งในสารคดี They’ll Love Me When I’m Dead เราจะได้เห็นความวายป่วง และการอธิบายถึงหนังอย่างสุดอินดี้ของเวลส์ด้วย ยิ่งไม่แปลกใจเลยว่าหนังมันจะผลักคนดูออกห่างได้ขนาดไหน ถ้าผู้กำกับตั้งใจไม่ให้ใครเข้าใจความในใจของเขาขนาดนี้

แต่กระนั้นเรายังจะเห็นจุดเน้นอยู่หลายประเด็นที่แฟนคลับของเวลส์น่าจะสนุกในการรู้จักมุมลึกลับของเขา เช่น ความอิจฉาในความสำเร็จของลูกศิษย์ตนเองยามเมื่อตนตกต่ำ ประเด็นเรื่องเพศที่มีนัยยะถึงประเด็นเกย์ซึ่งผุดบานขึ้นในยุค 1970 นั้นด้วย หนังยังมีประเด็นเรื่องชาย-หญิงอยู่บ่อยครั้งโดยเหมือนหนังจะอยู่ฝั่งผู้หญิง แต่ในตัวหนังก็มีการฉายภาพเรือนร่างของหญิงสาวอย่างประเจิดประเจ้อรวมถึงฉากรักเร่าร้อนอยู่ด้วย ส่วนตัวหนังนั้นชื่อว่าเป็นแนวหนังที่เขาจะไม่มีวันทำแน่ ๆ ทำให้หนังในหนังนั้นมีความเสียดสีอยู่ไม่เบาทั้งการให้เห็นผู้หญิงแก้ผ้าตลอดเรื่อง การเล่าเรื่องอันหาสาระไม่ได้มีแต่เรื่องรักและความใคร่อยู่ตลอดเวลา ประหนึ่งว่านี่ไงฉันทำหนังแบบที่ฮอลลีวู้ดโปรดปรานแล้วไง แต่ก็ไม่มีใครสนใจฉันเลย

นอกจากนั้นเรื่องความสัมพันธ์ของเจดกับเดล ดาราดังที่ถูกชุบชีวิตใหม่จากเด็กหนีออกจากบ้านขึ้นมาโดยผู้กำกับใหญ่ก็เป็นเหมือนวาระซ่อนเร้นหรือการเปรียบเปรยที่ครอบคลุมหนังอยู่ทั้งหมดอีกด้วย การตีความผ่านสายตาและชีวิตของออร์สัน เวลส์ จึงจะควรค่าแก่ชื่อเรื่องอย่าง The Other Side of the Wind มากที่สุด

หนังเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตของออร์สัน เวลส์ อีกทีเสียมากกว่า มีความเป็นหนังส่วนตัวสูง และจะเรียกให้ถูกมันคือ หนังซ้อนหนังที่ซ้อนชีวิตจริงอีกชั้นหนึ่ง เป็นปรัชญาได้ด้วยตัวของมันเองอย่างสมบูรณ์ และเราอาจได้เห็นว่าอีกฝั่งของสายลมคืออะไร

ใครเป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์แล้ว ชมหนังได้ที่นี่เลย https://www.netflix.com/watch/80085566