วันพฤหัสบดีที่ 24 นี้จะมีคอนเสิร์ตดีๆที่ไม่ควรพลาดอีกหนึ่งงาน จึงอยากมาแนะนำให้เพื่อนๆได้ลองไตร่ตรองดูว่าจะ “ไปดูดีมั๊ย?”

งานที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 นี้ คือ งานคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า “Murmur! show Flamingosis Live in Bangkok” เป็นไลฟ์โชว์ครั้งแรกในเมืองไทยของ Aaron Velasquez หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า “Flamingosis”

เราไปดูรายละเอียดของงานนี้ และมาทำความรู้จักกับหนุ่มคนนี้กันดีกว่าครับ

Murmur! show Flamingosis Live in Bangkok”

Artist : Flamingosis 

Promoter : Murmur! 

Venue : NOMA BKK RCA

Date : 24 มกราคม 2562

Price : 950 บาท (ฟรีหนึ่งดริงค์)

Ticket : www.ticketmelon.com/murmur/flamingosis2019

Aaron Velasquez หรือ “Flamingosis” (ชื่อนี้ได้มาจากจานร่อนที่พ่อของเขาเป็นคนประดิษฐ์ขึ้น) เป็น Electronic Music Producer และ DJ หนุ่มวัยเพียง 28 ปีจากรัฐ New Jersey

เขาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ผู้บุกเบิกแนวเพลง Vaporwave หรือ Future Funk  โดยแรกเริ่มเขาได้รับอิทธิพลแนวดนตรีสไตล์วินเทจฟังก์และดิสโก้จากโปรดิวเซอร์มือเก๋าอย่าง Flying Lotus และ J Dilla ต่อมาเขาได้นำมันมาพัฒนาเป็นแนวทางของตนเองจนได้งานดนตรีที่มีชีวิตชีวิตและเปี่ยมไปด้วยสีสัน และเขาก็พร้อมที่จะระเบิดความมันส์ในทุกไลฟ์โชว์ของเขา

ปัจจุบัน Flamingosis มีอัลบั้มออกมามากมาย และล่าสุดกับอัลบั้ม Flight Fantastic (2018) ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของกรู๊ฟแบบฮิป-ฮอปและรสสัมผัสทางดนตรีสุดคลาสสิคอย่างอิเล็คทรอนิค โซล  ฟังก์ อาร์แอนด์บี และ สมูธแจ๊ซทำให้ Flight Fantastic (2018)  เป็นอีกหนึ่งในอัลบั้มที่ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง

ลองไปฟังตัวอย่างน้ำจิ้มจากอัลบั้มนี้กันก่อนครับ

Play video

มาต่อกันด้วยเพลง  “Flight Fantastic” บทเพลงอัลบั้มชื่อเดียวกันกับอัลบั้มนี้ครับ

 

Play video

ฟังงานเพลงจากอัลบั้มนี้และผลงานของ Flamingosis ได้ที่ https://flamingosis1.bandcamp.com/album/flight-fantastic

Flamingos เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่น่าชื่นชมในพลังของความสร้างสรรค์และความุมานะพยายาม เขาเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะทำเพลงด้วยตนเอง ทำเอง ขายเอง จนกระทั่งพัฒนาฝีมือจนแก่กล้า และในวันที่เขาพร้อมแล้วที่จะมาสำแดงพลังอารมณ์ทางดนตรีให้เราได้ฟังใน Murmur! show Flamingosis Live in Bangkok”

FYI

เวเพอร์เวฟ (Vaporwave) คือแนวดนตรีอิเล็คทรอนิคที่เกิดขึ้นในต้นยุค 2010 โดยเอาส่วนผสมของดนตรีในยุค 80,90 อย่างดนตรีเลานจ์ สมูธแจ๊ซ อาร์แอนด์บี เอเลอเวเทอร์มิวสิค มาผสมเข้าด้วยกัน โดยมีบีทที่มาสร้างแซมเปิ้ลเพลงต่างๆ หรือใช้เทคนิคผ่านการตัดต่อเสียงส่วนท่อนเพลงช้าๆมาใส่ โดยอาจมีการเติมเอฟเฟกต์ต่างๆเข้าไปด้วยปรุงให้มันอร่อยหูมากขึ้น

เวเพอร์เวฟ มีกำเนิดมาจากการทดลองดนตรีฮิปนากอจิกป็อป มีโปรดิวเซอร์บุกเบิก เช่น เจมส์ เฟอร์ราโร, แดเนียล โลพาทิน และเวกทรอยด์ (Vektroid) โดยมีอัลบั้ม Floral Shoppe  (2011) ของ เวกทรอยด์ ศิลปินอิเล็คทรอนิคจากอเมริกาเป็นแนวหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้โปรดิวเซอร์คนอื่นๆมีพลังอยากสร้างสรรค์งานดนตรีใหม่ๆขึ้นมาบ้าง ซึ่งช่องทางในการเผยแพร่เพลงบนโลกออนไลน์อย่าง Last.fmReddit,  4chan และแน่นอน Bandcamp  มีส่วนช่วยในการสร้างกระแสความนิยมให้กับดนตรีเวเพอร์เวฟเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดเป็นแนวย่อยต่างๆมากมายอาทิ Future Funk, Mallsoft, และ Hardvapour

เวเพอร์เวฟเป็นคำที่ใช้เรียกรวมได้ทั้งงานดนตรีและงานศิลปะ สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของเวเพอร์เวฟก็คือ ไซเบอร์พังค์ (cyberpunk) ซึ่งเป็นการขบถทางเทคโนโลยีด้วยการทำเพลงอิเล็คทรอนิคที่หยิบยืมซาวด์ดนตรีมาจากอดีตอย่างเพลงแดนซ์ยุค 80s เป็นต้น โทนดนตรีโดยรวมจะมีความเป็นด้านลบ มืดหม่น และแฝงด้วยความเหงา อันสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการต่อต้านเทคโนโลยีที่มีฉากหน้าคือความสะดวกสบายหรูหรา แต่ทว่ามันซ่อนไว้ด้วยความเหลื่อมล้ำและการพังทะลายลงของความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมด้วยการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีและโซเชียล มีเดีย

ภาพจำของไซเบอร์พังค์ คือภาพของเทคโนโลยี เครื่องจักร เมืองที่เจริญทางวัตถุ แสงนีออนยามค่ำคืน ซึ่งถูกนำเสนออกมาอย่างหม่นมัว อาทิเช่นภาพที่ปรากฏใน แอนิเมชั่นเรื่อง Akira หรือ ภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner เป็นต้น

ภาพมหานครยามค่ำคืนจาก Akira

ส่วนเวเพอร์เวฟนั้นมีลักษณะของศิลปะแบบ retrofuturistic คือมีส่วนผสมของความเก่า (retro) และความใหม่ (future) อยู่ในสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นในงานอาร์ตเวิร์กของศิลปินแนวนี้จึงมักหยิบเอาการออกแบบของศิลปินอิเล็คทรอนิคยุค 80 มาใช้ เช่นการใช้สีพาสเทลสดๆ ฉ่ำๆ สีและลวดลายแบบนีออนจี๊ดจ๊าด เป็นต้น รวมไปถึง การวางเลย์เอาต์แบบเว็บดีไซน์สไตล์ Microsoft ยุค 90 หากเป็นงานวีดิโอก็มักจะมีการใส่ noise ลงไปให้ภาพมันมีความเป็นวีดิโอ VHS อะไรแบบนี้  ซึ่งมันคือแนวคิดแบบยุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modernism) ที่ต้องการยั่วล้อวัฒนธรรมป็อปบริโภคนิยมในโลกยุคสมัยปัจจุบัน ด้วยการหยิบจับเอาองค์ประกอบในอดีตมายำๆกันนั่นเอง

 

ที่มา

http://www.flamingosis.com/about/

https://www.facebook.com/murmurbkk/

https://www.nydailynews.com/entertainment/music/flamingosis-brings-funk-groovy-sample-based-beats-article-1.3642063

https://www.fungjaizine.com/article/guru/vaporwave

https://en.wikipedia.org/wiki/Vaporwave