หากบอกว่าเพลงนี้แต่งให้เธอ..เธอจะเชื่อไหม?

ในปีพ.ศ. 2550 คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดจะสร้างปรากฎการณ์ทางสังคมได้เท่ากับหนังไทยเรื่องหนึ่ง ด้วยชื่อที่ชวนให้ตีความสงสัย ด้วยหน้าหนังที่พาลให้นึกถึงหนังโรแมนติกวัยรุ่นยุคกระโปรงบานขาสั้นยุค พ.ศ. 2530 (อันเป็นจุดตกต่ำของวงการหนังไทย) แต่หลังออกฉายไปไม่นานก็เกิดกระแสตอกกลับทั้งเสียงชื่นชมในแง่ของหนังที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวชีวิต ความรัก ในวัยรุ่นได้อย่างถึงแก่น ดูจริง ปราศจากอารมณ์เสแสร้ง ไปจนถึงเสียงติฉินถึงฉากจูบระหว่างผู้ชายสองคนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ และมักถูกพูดถึงเป็นลำดับต้นๆเมื่อใครก็ตามเอ่ยชื่อหนังเรื่องนี้  “รักแห่งสยาม” ซึ่งก็ถือเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน รวมถึงผมเองก็เป็นแฟนหนังที่เฝ้าติดตามซื้อดีวีดีบ็อกซ์เซ็ตที่ออกแบบเมนูและแพ็คเกจจิงได้อย่างสวยงาม แสดงถึงความรักและตั้งใจของทีมงานคำม่วน บริษัทโปรดักชั่นไฟแรงของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีรกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ และสิ่งที่พิสูจน์ว่าหนังสามารถอยู่ยืนยงข้ามกาลเวลามาได้ก็คงประจักษ์ดีว่าทุกๆวันที่ 22 พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันฉายๆ แฟนหนังและเพจหนังต่างๆก็เฉลิมฉลองวันครบรอบให้มันทุกปี เหมือนดั่งรอคอยให้ มิว และ โต้ง ได้พบสานสัมพันธ์ไปสู่บทสรุปที่หนังได้ทิ้งท้ายเอาไว้ จนกระทั่งปลายเดือน กันยายน พ.ศ. 2561 ทางเพจ คำม่วน ก็ได้ฤกษ์ประกาศให้สั่งจอง รักแห่งสยามฉบับนิยาย ประพันธ์โดย มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์เอง

Play video

มีความจริง อยู่ในความรักตั้งมากมาย

จากคำบอกเล่าของผู้กำกับในคำนำได้ชี้แจงว่า รักแห่งสยาม ฉบับนิยายนี้คืองานประพันธ์ที่เขาตั้งใจเขียนมาจากประสบการณ์ชีวิต ความรัก และการค้นหาตัวตนมาตั้งแต่ปี 2002 ตอนทำหนังเรื่อง ลี้ หนังขนาดยาวที่เป็นงานธีสิสส่งจบที่ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและด้วยความที่อยากทำให้เรื่องเล่าได้ปรากฎบนจอภาพยนตร์ มะเดี่ยวได้พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเคยถูกขอให้เปลี่ยนเป็นบทหนัง Y เพื่อให้ทำการตลาดได้ง่าย แต่ผู้กำกับก็เลือกกัดฟันอดทนรอจนเราได้เห็นหนังที่ออกมาในปี 2550 นั่นเอง และเพ่ื่อให้สมกับการรอคอย ในหนังสือฉบับนิยายจึงได้มีการสอดแทรกบทภาพยนตร์ต้นฉบับ และบทภาพยนตร์ที่ใกล้เคียงกับหนังที่เราได้ดูในปี 2550 มาให้ด้วย ซึ่งเราจะมารีวิวดูกันทีละส่วนไปเลย

Play video

ดั่งในใจความบอกในกวี…ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง

ว่ากันถึงเนื้อหาในนิยายจากที่ได้อ่านแล้วก็ต้องสรุปว่าใจความของเรื่องราวที่พูดถึง ความรักและความหวัง ที่ถ่ายทอดผ่านแต่ละฉากในภาพยนตร์ก็ยังอยู่ครบถ้วน แต่ก็มีบางรายละเอียดเหมือนกันที่มีเราไม่เคยรู้ทั้งเรื่องราวระหว่างมิวกับอาม่าที่อ่านแล้วนึกถึงญาติผู้ใหญ่ใจดีของเราเอง หรือกระทั่งมุมมองความรักของหญิงที่พยายามทำให้มิวสนใจและได้ความผิดหวังเป็นบทเรียนความรักที่กระทบใจเราเป็นอย่างยิ่ง รายละเอียดต่างทำให้เห็นความคิดและเข้าใจการตัดสินใจของตัวละครมากขึ้น และใครที่สงสัยว่าฉากจูบในตำนานบนจอจะเหมือนกับในนิยายหรือไม่ แนะนำให้หาซื้อมาอ่านแล้วเขินกันเองคนเดียวดีกว่า ฮ่าาาาาา และเชื่อว่าใครก็ตามที่เป็นแฟนหนังเวลาอ่านคงอ่านน้ำตาคลอเบ้าไปด้วยไม่ได้แน่นอน

อยากให้รู้ว่าเพลงรัก..ถ้าไม่รักก็เขียนไม่ได้

ในความพิเศษของ รักแห่งสยาม ฉบับนิยายนี้ดังที่กล่าวไปแล้วว่าได้แก่ บทภาพยนตร์ 2 เวอร์ชั่น คือฉบับปี 2004 (พ.ศ. 2548) และ 2006 (พ.ศ.2550) ซึ่งในเวอร์ชั่นแรกก็ได้เห็นถึงความตั้งใจในการถ่ายทอดเรื่องราวให้ใกล้เคียงฉบับนิยายมากที่สุด ส่วนเวอร์ชั่นสุดท้ายคือฉบับที่เราได้เห็นในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานที่มีงบประมาณและทรัพยากรที่ถูกจำกัดมากขึ้น ซึ่งมะเดี่่ยวก็เอาใจแฟนหนังด้วยการแทรกภาพเบื้องหลังการถ่ายทำที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนเป็นหน้าแทรกระหว่างบทภาพยนตร์ได้อย่างสวยสดงดงาม

บทภาพยนตร์ฉบับปี 2004

บทภาพยนตร์ฉบับปี 2006 (ใกล้เคียงกับในหนัง)

ของแถมจากใจ

ด้วยกลัวว่าแฟนๆจะแอบฆ้อนที่จัดส่งของล่าช้า ทางทีมงานคำม่วนเลย สมน้ำหน้าคุณ เอ้ย! สมนาคุณด้วยของแถมสุดเอ็กซ์คลูซีฟทั้งดีวีดี บ็อกซ์เซ็ต หนังเกรียนฟิคชั่น อีก 1 งานหนังดีๆของมะเดี่ยว และพวงกุญแจ ชูพู่ อีก 1 อัน

 

สำหรับใครที่สนใจใน รักแห่งสยาม ฉบับนิยายก็สั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ Studio Commuan (คลิกเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ได้ทันทีจ้า)