I’m still standing in the same place
Where you left me standing
I am easy to find

 

ช่างงดงามและตราตรึงยิ่งนัก เมื่อพลังแห่งเสียงดนตรีมาผสมผสานกับพลังแห่งภาพยนตร์ผ่านงานเพลงชุดที่แปดจากวงอินดี้ร็อค โพสต์พังค์จากโอไฮโอ “The National” ที่ใช้ชื่อว่า “I Am Easy To Find” ที่ออกวางแผงในวันนี้เป็นวันแรก​(วันที่ 17 พฤษภาคม) ซึ่งความพิเศษของงานเพลงชุดนี้คือการได้ ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) ผู้กำกับมิวสิควีดิโอและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ที่ได้ฝากความประทับใจไว้ในผลงานอย่าง 20th Century Women มาผนึกกำลังกับการแสดงสุดลุ่มลึกจากนักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลออสการ์สาขาสมบทหญิงยอดเยี่ยม อลิเซีย วิกันเดอร์ (Alicia Vikander) จากภาพยนตร์เรื่อง The Danish Girl หรือที่หลายคนอาจรู้จักเธอในบทบาทของ ลาร่า ครอฟท์คนใหม่ใน Tomb Raider ที่ได้มาร่วมรังสรรค์งานภาพยนตร์สั้นความยาว 26.45 นาที ที่มีชื่อเดียวกันกับอัลบั้มว่า “I Am Easy To Find”

การได้เห็นภาพชีวิตของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ถูกย่อเอาไว้ภายในเวลา 26 นาทีกว่า นั้นเป็นเรื่องที่ช่างเรียบง่าย งดงามและมหัศจรรย์ ทั้งน่าประทับใจและก็ชวนสะเทือนใจไปในเวลาเดียวกัน มันปลุกเร้าเราให้หวนคำนึงถึงชีวิตของตนทั้งที่ล่วงเลยผ่านมา กำลังจะเป็นไปในอนาคตกาลที่ (อาจ) ยาวไกล กระทั่ง ณ ปัจจุบันขณะที่กำลังดำรงอยู่ ณ ชั่วลมหายใจ

“I’m Easy To Find”  ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบบทเพลงจากอัลบั้มในชื่อเดียวกันของวง “The National” เท่านั้น หากแต่เป็นสองสิ่งที่ดำรงอยู่คู่กัน ต่างเรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันจนเติบโตเป็นสองสิ่งที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง แต่เมื่อมันได้มาดำรงอยู่ด้วยกันแล้วช่างมอบความรู้สึกที่ประทับใจให้แก่เราจริงๆ

The National

 

ไมค์ มิลส์

The National  และ ไมค์ มิลส์ ได้มีโอกาสพบกันครั้งแรกเมื่อปี 2017 จากนั้นพวกเขาก็ถูกชะตาและตกลงที่จะทำงานร่วมกัน ในรูปแบบที่แปลกใหม่และน่าสนใจมาก นั่นคือ ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง The National  ก็ทำอัลบั้มเพลงไป ส่วน  มิลส์ ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดนั่นก็คือภาพยนตร์ เพียงแต่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนไอเดีย ความคิดและแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน เพลงมาสู่หนัง หนังมาสู่เพลง ภาพยนตร์ก็มีการร้อยเรียงด้วยจังหวะและท่วงทำนองราวกับบทเพลง ส่วนบทเพลงนั้นก็มีการประกอบสร้างราวกับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์

งานกำกับของ ไมค์ มิลส์ ชิ้นนี้  สะท้อนให้เห็นฝีมืออันเฉียบขาดของเขาในการกำกับนักแสดงและองค์ประกอบอื่นๆให้อยู่ในวิสัยทัศน์อันชัดเจนของเขา มิลส์เป็นคนที่กำกับนักแสดงได้ดีและถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนได้อย่างเป็นธรรมชาติและงดงาม (เรายังจดจำได้เป็นอย่างดีในบทบาทของแม่ผู้มีความเข้มแข็งแกร่งกร้าวที่รับบทโดย แอนเน็ต เบนนิ่ง กับแววตาอันสับสนในวัยวันของลูกชายเธอ (รับบทโดย ลูคัส เจด ซูมานน์) และเพื่อนสาววัยรุ่นผู้สับสนไม่แพ้กัน (อันเป็นอีกบทบาทหนึ่งในชีวิตนักแสดงของ แอล แฟนนิ่ง ที่น่าประทับใจ) จึงไม่แปลกที่งานนี้ มิลส์เอาเราอยู่หมัดด้วยภาพขาว-ดำ อันมีองค์ประกอบที่เรียบง่ายแต่จัดวางได้อย่างลงตัว เส้นแสงและเงา ล้วนทำหน้าที่ในการสร้างอารมณ์และสื่อความหมายได้ดี งานภาพนี้กำกับภาพโดย Daneil Voidheim ซึ่งในแต่ละช็อตเปรียบได้กับหนึ่งประโยคที่สมบูรณ์ความ สั้นกระชับ แต่สื่อสารชัดเจน ได้อารมณ์

นอกจากนี้ยังมีการใช้ตัวอักษรเพื่อช่วยเติมเต็มในการเล่าเรื่อง ซึ่งมาน้อยๆแต่แน่นอน เฉกเช่นเดียวกับถ้อยอักษรแห่งกวีที่โรยตัวบนผืนกระดาษ  การตัดต่อ (จากฝีมือของ Aaron Beckum) ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญในงานชิ้นนี้ ซึ่งทำหน้าที่ร้อยเรียงหลากช็อต หลากช่วงเวลา ให้มาอยู่ด้วยกัน การจัดวางจากภาพหนึ่งไปภาพหนึ่งนั้นต้องมีการขบคิดมาอย่างละเอียดอ่อน ซึ่งสะท้อนออกมาในจังหวะที่แม่นยำซึ่งได้กำเอาอารมณ์เราไว้ได้อยู่หมัด ในบางครั้งภาพอาจถูกตัดไปที่ภาพสีว่างเปล่าที่เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงอารมณ์และเวลา  ที่ถูกตัดสลับมาวางไว้อย่างมีนัยยะ ก็ยิ่งทำให้งานชิ้นนี้มีมิติที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบงานสร้าง (โดย Victoria Morris) ที่เรียบง่าย ไม่รกเรื้อ งดงามและสื่อความได้ลงตัว ทุกสิ่งถูกจัดวางอย่างพอดี ราวถ้อยอักษรของกวี (อีกแล้ว) อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเครื่องแต่งกาย (ออกแบบโดย Danielle Kays) ซึ่งบ่งบอกยุคสมัยที่เรื่องราวดำเนินไปตลอดช่วงชีวิตตัวละคร อีกทั้งยังมีความสำคัญในการบ่งชี้ช่วงวัยและลักษณะนิสัยของตัวละคร ซึ่งใช้นักแสดงคนเดียวกันตั้งแต่เป็นเด็กน้อย สาวแรกรุ่น วัยรุ่น วัยทำงาน เป็นแม่คน เป็นยายและตราบจนกระทั่งวันตาย หากไม่ได้เสื้อผ้าที่ดีแล้ว ยากนักที่จะสื่อสารออกมาได้ตรงจุด

อลิเซีย วิกันเดอร์ คือนางเอกสาวที่มารับบทบาทนี้ เธอคือนางเอกที่แท้จริงของงานชิ้นนี้ เพราเธอเป็นเพียงคนเดียวที่นำพาเรามารู้จักกับโลกและชีวิตของเธอ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งเธอแสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและสะท้อนลักษณะของคนในแต่ละช่วงวัยได้อย่างน่าทึ่ง (แม้กระทั่งในวัยแรกเกิด และสาวน้อยแรกรุ่น)  เรามองโลกนี้ผ่านห้วงความคิดและหน้าต่างชีวิตของเธอ เธอเติบโต เรียนรู้ ขบคิด สับสน เจ็บปวด ล้ม ลุก เรียนรู้ ก้าวเดิน เป็นวัฏจักรเวียนวนตลอดช่วงชีวิตของคน ซึ่งอลิเซียได้ใช้ประสบการณ์จากการเรียนบัลเลต์เป็นเวลาหลายปีของเธอ มาปรับใช้กับงานชิ้นนี้ ด้วยว่ามันเป็นภาพยนตร์เงียบที่ต้องสื่อสารผ่านสีหน้าและท่าทาง ดังนั้นเธอจึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครในแต่ละช่วงวัยแต่ละช่วงอารมณ์ได้อย่างหมดจดงดงาม

ส่วนการทำงานกับผู้กำกับไมค์ มิลส์นั้น อลิเซีย กล่าวว่า เธอรู้สึกเหมือนกับว่า ไมค์ มิลส์ นั้นเหมือนเข้าไปอยู่ในหัวของเธอ เขาเข้าใจในสิ่งที่อยู่ข้างในนั้นอย่างชัดเจน และนี่ก็คือวิสัยทัศน์อันน่าทึ่งที่ผู้กำกับอย่างมิลส์มี ส่วนมิลส์นั้นก็มองว่าเธอคือนักแสดงเพียงคนเดียวที่เหมาะกับบทบาทนี้ เพราะเธอเข้าใจมันและรู้วิธีที่จะถ่ายทอดมันออกมาได้ดีที่สุด

สุดท้ายคือเสียงดนตรีจาก The National บทเพลงจากอัลบั้ม “I’m Easy To Find” ถูกนำมาใช้งานภาพยนตร์ชิ้นนี้ 7 เพลงด้วยกัน ซึ่ง 7 เพลงนี้นั้นเป็นคนละเวอร์ชั่นกับที่บรรจุไว้ในอัลบั้ม ซึ่งมันได้ถูกเรียบเรียงใหม่ให้มีความสอดประสานกลมกลืนกับตัวงานภาพยนตร์เฉกเช่นเดียวกันกับงานภาพยนตร์ที่แตกยอด เติบโตมาจากแรงบันดาลใจและท่วงทำนองเพลงของ The National อันดำเนินไปพร้อมเสียงขับขานของ Matt Berninger ที่ต่ำ ทุ้ม อุ่น และท่วงทำนองจากกีตาร์ เปียโน และเครื่องดนตรีนานา ที่สอดประสานกันในท่วงทำนองที่เนิบช้า นุ่มนวล ชวนให้เราเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งชีวิตที่น่าครุ่นคิดตรึกตรอง

การเสพย์งานชิ้นนี้เปรียบเสมือนการได้ดำดิ่งสู่ห้วงแห่งการไหลเวียนอันเป็นหนึ่งเดียวกันกับชีวิต (Flow) เราไหลและรับรู้ไปกับเรื่องราวและเสียงเพลง เราไหลไปสู่ห้วงทรงจำของเรา ความคาดหวัง ตื่นกลัว สับสน และความพยายามกลับสู่ความสมดุลของใจ เฉกเช่นเดียวกันเราได้เดินไปพร้อมๆกับตัวละคร ได้ลองหายใจไปในท่วงทำนองเหล่านั้นในแต่ละช่วงวัย และลองหลับใหลไปพร้อมกัน ก่อนที่จะกลับมาสู่ตัวตนของเรา แล้วจึงพบว่ามีบางสิ่งได้ถูกทิ้งเอาไว้ข้างในใจ รอการค้นพบในชั่วลมหายใจต่อไปของชีวิต

รับชมภาพยนตร์สั้นเรื่อง “I’m Easy To Find”   กำกับโดย ไมค์ มิลส์

Play video

 

และฟัง “I’m Easy To Find”  จาก The National ได้แล้ววันนี้ครับ

Apple Music

Spotify