Chernobyl : มาสเตอร์พีซของ HBO
Our score
9.7

chernobyl

จุดเด่น

  1. บทภาพยนตร์ให้ทั้งสาระและความบันเทิง
  2. ทีมนักแสดงนำเยี่ยมยอดไม่มีที่ติ
  3. ทีมงานทุกส่วนทำการบ้านอย่างดี
  4. หลาย ๆ ฉากทรงพลังน่าจดจำ
  5. ทำให้ตระหนักรู้ถึงพิษสงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่น่ากลัวกว่าที่คิดมาก

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของบท

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    10.0

  • ความน่าติดตาม หยุดดูไม่ได้

    9.5

  • คุ้มเวลาดู

    10.0

นี่คือมินิซีรีส์ที่ควรค่ากับคำว่า”ยอดเยี่ยม”
นี่คือมินิซีรีส์ที่มาพร้อมกับสาระและความบันเทิง
นี่คือมินิซีรีส์ที่เปี่ยมไปด้วยฉากทรงพลัง
นี่คือมินิซีรีส์ที่เผยให้โลกรู้ถึงความน่ากลัวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เข้าใจง่าย ชัดเจน และเป็นจริง
นี่คือมินิซีรีส์ที่เพียบพร้อมด้วยนักแสดงคุณภาพ
นี่คือมินิซีรีส์ที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของบทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด
นี่คือมินิซีรีส์ที่ไม่มีดาราสวย-หล่อ ไม่มีฉากซีจีตระการตา ไม่ต้องมีฉากแอ็คชั่น แต่เล่าเรื่องราวที่โลกรู้จักอยู่แล้วได้อย่างสนุกและน่าติดตาม

Chernobyl หยิบภัยพิบัติช็อคโลกเมื่อ 33 ปีที่แล้วกลับมาเตือนสติให้โลกได้ตระหนักรู้ถึงพิษสงของ “นิวเคลียร์” ที่เกือบจะคร่าชีวิตมนุษย์กว่า 50 ล้านชีวิต และทำอันตรายต่อโลกได้อย่างรุนแรงและยาวนาน เชื่อว่าซีรีส์นี้จบไปแล้ว แต่ก็ทำให้ชาวโลกตั้งคำถามว่ายังคงมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่บนโลกอีกกี่แห่ง คำตอบคือ 454 โรงทั่วโลก ในจำนวนนี้ 60 โรงอยู่ในสหรัฐอเมริกา และอยู่ในระหว่างสร้างอีก 54 โรง เห็นได้ชัดว่าการที่เชอร์โนบิลส่งคำเตือนเมื่อ 33 ปีที่แล้ว และอีกครั้งที่ ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ก็ไม่ได้มีผลต่อสถานะการเพิ่มจำนวนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่อย่างใด

Chernobyl เป็นมินิซีรีส์จำนวน 5 ตอนจบ ตอนละ 1 ชั่วโมง สร้างโดย HBO แพร่ภาพเมื่อ 6 พฤษภาคม และจบเมื่อ 3 มิถุนายน 2019 ชื่อเรื่องก็บ่งบอกเนื้อหาของหนังกันแบบตรง ๆ ว่าเล่าเรื่องราวของภัยพิบัตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เป็นซีรีส์ที่สื่อถึงความหม่นของเนื้อหามาตั้งแต่โปสเตอร์หนัง ที่เป็นภาพของเจ้าหน้าที่ในชุดกันรังสีกำลังพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เรียกได้ว่าหนังแทบไม่มีจุดขายเอาซะเลย เพราะดารานำ 3 คนก็ไม่ใช่ดาราระดับแม่เหล็กเอาซะเลย แจเร็ด แฮร์ริส , สเต็ลแลน สการ์สการ์ด และ เอมิลี่ วัตสัน ถ้าคอหนังเห็นชื่อนี้ก็จะรู้กันดีว่านี่คือนักแสดงสายฝีมือล้วน ๆ แต่เมื่อหนังได้แพร่ภาพไป 2 – 3 ตอน เสียงกล่าวขวัญถึงความเข้มข้นของเนื้อหาและคุณภาพของซีรีส์ก็เริ่มแพร่สะพัดไปบนโลกโซเชียล และที่เห็นเป็นภาพชัดเจนก็เมื่อคุณภาพของซีรีส์ถูกกำหนดวัดออกมาเป็นคะแนนบน rottentomatoes ที่ 95% และ IMDB 9.7 นับว่าเป็นคะแนนที่สูงมาก ถ้านับถอยหลังไปก็ 11 ปีก่อน ที่ Breaking Bad เคยทำไว้เมื่อปี 2008

เมื่อซีรีส์ประกาศศักดาด้วยคุณภาพแบบนี้ ทำให้ต้องมองไปที่ผู้อยู่เบื้องหลัง แล้วก็ยิ่งเซอร์ไพรส์เมื่อเจอชื่อของ เครก มาซิน ถ้าไม่อ๋อ ไม่รู้จักก็ไม่แปลกอะไร เพราะเขาไม่ใช่คนดังหรือมีรางวี่รางวัลอะไรมาการันตีฝีมือมาก่อนนี้เลย เครก มาซินคือผู้รับผิดชอบหน้าที่หลักของ Chernobyl เป็นผู้สร้าง และผู้เขียนบทแบบเหมาเดี่ยว แต่ที่บอกว่าเซอร์ไพรส์เพราะเครกมาจากสายคอมมีดี้ ผลงานก่อนหน้าของเขาที่เรารู้จักก็คือ ไตรภาค The Hangover หนังที่เล่าการผจญภัยของแก๊งเมารั่วที่มาถ่ายทำในเมืองไทย แถมก่อนหน้านั้นยังเขียนบทพวกหนังล้อเลียนตระกูล Scary Movie อีกด้วย แล้วคนแบบเนี้ยนะที่เปลี่ยนแนวมาเขียนบทหนังภัยพิบัติจริงในประวัติศาสตร์ได้อย่างละเอียดและโทนหม่นได้แบบนี้ พลิกแนวแล้วทำได้ยอดเยี่ยมเกินคาดจริง ๆ ส่วนผู้กำกับนั้น โยฮัน เร็นค์ เหมาคนเดียวทั้ง 5 ตอน โยฮัน นั้นมาจากสายมิวสิควีดีโอแต่เคยผ่านงานกำกับซีรีส์ดัง ๆ มาครบถ้วน The Walking Dead , Breaking Bad , Vikings ,bates Motel ฉะนั้นฝีมือหายห่วง

หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้น่าจะสงสัยว่า ซีรีส์เล่าเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ มีฉากหลังเป็นโซเวียตแบบนี้มันจะมีอะไรให้สนุกวะ ก่อนดูผมก็คิดแบบนั้นล่ะครับ หน้าหนังดูยังกะสารคดี เครี้ยดเครียด ไม่ชวนให้ดูเอาเสียเลย แต่สิ่งที่ทำให้เราตรึงอยู่กับหนังได้คือเรื่องราวความจริงที่น่ากลัว และวิธีการแก้ปัญหาที่เหมือนมวยต่างรุ่น ปัญหานี่เทียบเท่าวิกฤตระดับโลก แต่คนที่ถูกส่งเข้าไปแก้มีแค่ 3 คน และเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประเทศที่เทคโนโลยียังล้าหลังและไม่ยอมรับความช่วยเหลือ ต้องประดิษฐ์คิดค้นการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือเครื่องใช้เท่าที่มี และที่โหดร้ายที่สุดเมื่อไม่มีอุปกรณ์ไฮเทคที่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ วิธีสุดท้ายก็คือการปลุกระดมความรักชาติ เพื่อให้ได้อาสาสมัครที่ยอมเข้าไปทำหน้าที่ในจุดที่กัมมันตภาพรังสีรุนแรง หรือการส่งเข้าไปพลีชีพนั่นเอง

มองเผิน ๆ แล้วเหมือนว่าตัวร้ายของเรื่องก็คือ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ระเบิดแล้วพ่นพิษร้ายที่กินอาณาเขตกว้างไกล แต่หนังลงลึกกว่านั้นให้เห็นว่า ตัวร้ายจริง ๆ ของเรื่องนี้ก็คือ นักการเมืองและผู้บริหารที่ละโมภในตำแหน่งหน้าที่ โกหกเพื่อปิดบังความผิดพลาดของตัวเอง ตั้งแต่มันยังไม่ระเบิดแต่เพิกเฉยจนมันกลายเป็นวิกฤตการณ์ แม้แต่ตอนที่ระเบิดแล้วก็ยังโกหกมาตั้งแต่ระดับล่างว่าไม่เป็นไร ไม่ร้ายแรง ควบคุมได้อยู่ จนลุกลามไปเกินควบคุม และนี่คือ “ราคาของคำโกหก” เป็นอีกหนึ่งความสวยงามของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ หนังเปิดเรื่อง และ ปิดเรื่องด้วยคำนี้ที่เป็นหัวใจของเรื่อง “What is the cost of lies?”

สิ่งที่ต้องแนะนำอย่างมากคือ ต้องผ่านตอนที่ 1 ไปให้ได้ก่อน ย้ำว่าอย่าหยุดแค่ตอนแรกเพราะบรรยากาศตอนแรกกับที่เหลืออีก 4 ตอนค่อนข้างต่างกันมาก เนื้อหาตอนแรกจะอยู่แค่ในโรงไฟฟ้าที่ 4 เปิดเรื่องมา โรงไฟฟ้าระเบิดไปแล้ว คนงานโกลาหลวุ่นวายกันยกใหญ่ พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เราจะเจอคนงานออกมาเต็มจอไปหมด ใส่ชุดคล้าย ๆ กัน ที่ยากมากคือชื่อรัสเซียที่ฟังยากและจำยาก แนะนำว่าให้พยายามโฟกัสไว้แค่ 3 คนคือ ดีอัตลอฟ ผู้ช่วยหัวหน้าวิศวกร , บรูคานอฟ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้า และฟอร์มิน หัวหน้าวิศวกร ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อไป ส่วนรายละเอียดในโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นปล่อยผ่านไปเลย ไม่ต้องลงลึกเพราะหนังจะถูกอธิบายอย่างละเอียดยิบแบบเข้าใจง่าย ๆ ในตอนท้าย

ตอนที่ 2 คือการปรากฏตัวของ ศาสตราจารย์วาเลรี เลกาซอฟ รองผู้อำนวยการสถาบันคูร์ชาทอฟ (เป็นสถาบันทางวิชาการที่ค้นคว้าและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์) ตั้งแต่นาทีที่เลกาซอฟปรากฏตัว หนังก็เหยียบคันเร่งเดินหน้าอย่างรู้สึกได้ สถานะของเลกาซอฟคือพระเอกขี่ม้าขาว เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิวเคลียร์ตัวจริง และรู้ซึ้งถึงความรุนแรงของภัยพิบัตินี้ เลกาซอฟได้รายงานถึงความเสียหายต่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่มาพร้อมกับปานแดงบนหัว ที่เป็นโลโก้ประจำตัวเขา ในขณะนั้นมิคาอิลยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ มิคาอิลจึงส่งเลกาซอฟไปที่เชอร์โนบิลเพื่อดำเนินการกู้สภาวะวิกฤตโดยเร็วที่สุด

ตอนที่ 2-3-4 คือจุดเข้มข้นของหนังที่เลกาซอฟลงพื้นที่เชอร์โนบิล บริหารจัดการแก้ไขวิกฤตการณ์ก่อนจะสายเกินแก้ หนังลงละเอียดในทุก ๆ ขั้นตอน และการแก้ปัญหาแต่ละขั้นตอนสนุกมาก เพราะนี่คือปัญหาใหม่ที่โลกไม่เคยเผชิญ เลกาซอฟต้องแก้ปัญหาใหญ่ในประเทศที่พยายามปิดบังทุกอย่างเป็นความลับไม่ให้โลกภายนอกรับรู้ และเป็นประเทศที่ขาดแคลนเทคโนโลยีและปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติ เมื่อ 2 วันก่อนเพิ่งได้ดู Kursk อีกหนังจากเหตุการณ์จริงของเรือดำน้ำบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียตที่จมอยู่ก้นทะเลพร้อมกับลูกเรือหลาย 10 ชีวิตกำลังรอคอยความช่วยเหลือ แต่เรือดำน้ำกู้ชีพก็โบราณและไม่สมประกอบ เบื้องบนก็ปฎิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติจนสายเกินแก้ ทั้ง 2 วิกฤตการณ์นี้เจอปัญหาเดียวกันที่มาจากระบอบการปกครองที่ยึดถือศักดิ์ศรีของประเทศเป็นใหญ่ ยอมหักไม่ยอมงอ

หนังวางตัวละครฝ่ายดีไว้ 3 คน รายแรกคือ วาเลรี เลกาซอฟ รายที่ 2 คือ บอริส เชอร์บีนา รองประธานคณะมนตรีบริหาร ที่เป็นตัวแทนจากรัฐบาลที่กุมอำนาจใหญ่สุดในการกู้วิกฤติการณ์นี้ และ อุลานา คอมยุค นักฟิสิกส์นิวเคลียร์หญิงที่เสนอตัวใช้ความรู้ความสามารถมาร่วมแก้ปัญหา เมื่อเจอปัญหาแต่ละขั้นตอน ทั้ง 3 ก็ต้องช่วยกันใช้สมองมาวิเคราะห์ปัญหาทั้งความรู้ด้านนิวเคลียร์และกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เพื่อผ่านปัญหาไปทีละขั้น ยิ่งผ่านไปแต่ละขั้นตอนก็ยิ่งยากขึ้น ความสนุกอีกอย่างของหนังก็คือการได้รับฟังเรื่องราวความน่ากลัวของนิวเคลียร์ที่ออกมาจากปากของเลกาซอฟ และ คอมยุค ที่สำคัญทั้งหมดที่เราได้ฟังมันคือเรื่องจริง

ตอนที่ 5 ดับไฟได้และควบคุมการรั่วไหลของรังสีได้ เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาล เป็นตอนที่สรุปทุกอย่างละเอียดยิบ มีผู้ขึ้นให้การ 3 คน เริ่มจาก บอริส เชอร์บีนา ที่ทำการบ้านมาอย่างละเอียดยิบ ออกมาอธิบายถึงที่มาของปัญหาและชี้ตัวคนผิดผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติการณ์นี้ ตามด้วยคอมยุค ที่มาเล่าปัญหาทางด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่เธอถนัดอย่างคร่าว ๆ และปิดท้ายด้วยรายสำคัญคือเลกาซอฟ ที่ลงลึกถึงสาเหตุที่โรงไฟฟ้าระเบิดแบบละเอียดวินาทีต่อวินาที ต่อยาวไปถึงไคลแมกซ์ของหนังที่ต้องลุ้นกันว่าเลกาซอฟ จะตัดสินใจพูดประเด็นสำคัญที่ตีแผ่ความผิดพลาดที่รัฐบาลรู้ถึงปัญหานี้อยู่ก่อนแล้วแต่เพิกเฉยไว้กว่า 10 ปี ถ้าเลกาซอฟ พูดถึงประเด็นนี้เท่ากับตราหน้าว่ารัฐบาลคือผู้ต้องหาอีกรายหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ครั้งนี้ และนั่นหมายถึงอาจจะต้องแลกกับชีวิตของเขา

เส้นเรื่องหลักของหนังคือการเล่าถึงการกู้สภาวะวิกฤตของ 3 ฮีโร่ แต่หนังก็ยังเจียดเวลาไปเล่าเรื่องรองของหนัง เป็นเรื่องของ วาสิลี อิกนาเตนโค เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ผู้เคราะห์ร้ายแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี และ ลุดมิลลา ภรรยาของเขาที่กำลังตั้งท้อง ส่วนอีกเรื่องคือกลุ่มทหารที่ได้รับมอบหมายให้กำจัดบรรดาสัตว์เลี้ยงในปริปยัต หลังอพยพผู้คนไปหมดแล้ว เพื่อควบคุมการไม่ให้สัตว์เหล่านี้เป็นพาหะในการแพร่เชื้อออกไปนอกพื้นที่ควบคุม ในส่วนนี้ได้ แบร์รี่ คีโอแกน ดาราดาวรุ่งจาก dunkirk มารับบทพาเวล เกรมอฟ เรื่องราวส่วนแยกนี้ถูกใส่มาเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นบรรยากาศความโศกเศร้าที่บรรดาชาวบ้านที่ต้องสูญเสียคนรัก เด็กหนุ่มที่อาสามาช่วยชาติก็ต้องเจอกับภารกิจที่เขากล้ำกลืนฝืนทนทำ กับการฆ่าหมาแมวที่วิ่งมาหาด้วยความหิวโหย

ด้วยความที่เป็นมินิซีรีส์หนังจึงเล่าวิกฤตการณ์นี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนควบคุมได้ขมวดทุกอย่างไว้ในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง ตลอดทั้ง 5 ตอนเรื่องราวจึงเดินหน้าเร็ว และอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระ และจบไปแบบสร้างความประทับใจไว้ให้มากมาย มีหลาย ๆ จุดที่อยากเอ่ยถึงด้วยความชื่นชม

การแคสติ้ง

แม้ว่า 2 ตัวละครหลักของหนังอย่าง วาเลรี เลกาซอฟ และ บอริส เซอร์บีนา จะไม่ละม้ายกับตัวจริงนัก (ตอนจบของหนังมีภาพฟุตเตจตัวตนจริง ๆ ให้ชม) แต่ก็เข้าใจว่าทีมงานต้องคำนึงบุคลิกและความสามารถของนักแสดงเป็นหลักก่อน คือถ้าไม่เห็นหน้าตัวตนจริง ๆ ของ 2 คนนี้ ก็ต้องบอกว่าหนังมีการคัดเลือกนักแสดงที่ได้บุคลิกลักษณะเหมาะมาก

แจเร็ด แฮร์ริส ดาราเบอร์รองที่หลายคนคุ้นหน้ามากแน่ ๆ เพราะเขาผ่านงานแสดงมาแล้วถึง 85 เรื่อง ดูเหมาะมากกับบทศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางนิวเคลียร์ ดูเป็นคนมีความรู้จริงและภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ เวลาที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ เราสามารถดูได้จากสีหน้าของเลกาซอฟได้เลยว่ากำลังแย่แล้วจริง ๆ

สเตลแลน สการ์สการ์ด ดาราเชื้อสายสวีเดนตัวร้ายขาประจำของฮอลลีวู้ด หลายคนน่าจะจำเขาได้จากบท ศาสตราจารย์เอริก เซลวิก จาก Thor และ Avengers สเตลแลน มารับทเป็นบอริส เซอร์บีนา ที่เปิดตัวมาให้ผู้ชมรู้จักในภาพลักษณ์ของตัวร้าย เขาดำรงตำแหน่งสูงในคณะรัฐมนตรี มีความดุดันเกรี้ยวกราด ได้รับรายงานตอแหลมาจากเชอร์โนบิลว่าสถานการณ์ควบคุมได้แล้วเลยอยากจะจบเรื่องง่าย ๆ แต่โดนคำสั่งจากกอร์บาชอฟ ให้ไปที่เกิดเหตุเพื่อแก้ไขปัญหากับเลกาซอฟ ในสายตาของบอริสนั้น เลกาซอฟคือศาสตราจารย์สติเฟื่องที่เต็มไปด้วยทฤษฏีมากมายและตีความสถานการณ์เลวร้ายเกินจริง แล้วพาให้เขาเดือดร้อนไปด้วย เขาก็เลยตั้งท่าเป็นศัตรูกับเลกาซอฟตั้งแต่แรก ด้วยสายตาที่ดุดันเลยทำให้สเตลแลน ได้บทตัวร้ายเป็นประจำ และด้วยความสูงที่ 191 เซนติเมตรของเขา บวกกับการตีหน้านิ่วคิ้วขมวด สเตลแลน เลยเป็นตัวเลือกที่เหมาะมากกับบทบอริส เขาสามารถถ่ายทอดให้บอริส ดูเป็นนายทหารที่ดูเกรี้ยวกราดและทรงพลัง น่าเกรงขาม

เอมิลี วัตสัน ในบท อุลานา คอมยุค ตัวละครเดียวที่ไม่มีตัวตนจริง ตามเหตุการณ์จริงนั้นเลกาซอฟมีเพื่อนนักวิทยาศาสตร์มากมายคอยให้ความช่วยเหลือในการกู้วิกฤตครั้งนี้ บทหนังเลยใช้วิธีการรวมวีรกรรมของเหล่านักวิทยาศาสตร์นั้นลงไปในตัวคอมยุคเสียคนเดียว เพื่อการเล่าเรื่องได้ง่ายขึ้น บทนี้ได้เอมิลี วัตสัน ดาราสายขายฝีมืออีกคนหนึ่ง เอมิลี เล่นหนังมาเยอะมากกว่า 60 เรื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสายรางวัลและหนังย้อนยุค ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง เอมิลี วัตสัน ในวัย 51 ปีจึงดูเหมาะสมกับบทนักเคมีฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญ และมีความกล้าบ้าบิ่น เธอมาจากสายวิชาการเช่นเดียวกับเลกาซอฟ เลยทำงานเข้าขากันได้เร็ว และกลายเป็นมือขวาของเลกาซอฟที่ทรงประสิทธิภาพ เป็นทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋น เลกาซอฟประจำการที่เชอร์โนบิล ส่วนคอมยุคนี่เปรียบเสมือนหน่วยลาดตระเวณ ที่ออกสืบหาต้นตอหาตัวคนผิดในคดีนี้

ส่วนผู้อำนวยการบรูคานอฟ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้า , ฟอร์มิน หัวหน้าวิศวกร และ ดีอัตลอฟ รองหัวหน้าวิศวกร 3 ตัวร้ายประจำเชอร์โนบิลนั้น ทีมงานหาตัวแสดงมาได้เหมือนตัวจริงมาก

บทภาพยนตร์

หนังเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลหมายเลข 4 ตามด้วยความจริงที่โซเวียตจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งนี้ จากนั้นหนังเดินหน้าไปใน 2 แนวทาง ทางหนึ่งคือการแก้ปัญหาที่โคตรยาก เพราะต้องสู้กับรังสีที่รุนแรงที่สุดในโลก พร้อมฆ่าทุกชีวิตที่เข้าไปใกล้ และต้องยับยั้งในเวลาที่จำกัดก่อนที่จะเกินการควบคุม อีกทางหนึ่งคือการสืบหาสาเหตุและผู้อยู่เบื้องหลังภัยพิบัตินี้

จุดที่ประทับใจมากคือพัฒนาการของตัวละคร ก็ต้องชื่นชมทั้งคนเขียนบทและนักแสดง เราจะเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเป็นการกู้วิกฤตของคู่กัด วาเลรี เลกาซอฟ และ บอริส เซอร์บีนา ก็ได้นะ เพราะบอริสตั้งท่าไม่ชอบหน้าเลกาซอฟตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เมื่อลงพื้นที่จริง เขาได้เห็นพิษสงของกัมมันตภาพรังสีที่ร้ายแรงจริงอย่างที่เลกาซอฟกล่าวไว้ ยิ่งทำงานไปยิ่งเจอความร้ายแรงของวิกฤตการณ์ที่หนักหนามากขึ้น เขาก็เริ่มยอมรับความรู้ความสามารถของเลกาซอฟมากขึ้น จากที่ตั้งแง่มาแต่แรก ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นรับฟังและเชื่อมั่นในตัวเลกาซอฟไปที่สุด หนังใส่ใจรายละเอียดในบุคลิกท่าทางของบอริสเป็นอย่างมาก การปรับเปลี่ยนตั้งแต่ทีท่า , น้ำเสียงไปจนถึงสายตาที่มองเลกาซอฟ หลัง ๆ พอแก้ปัญหาได้สำเร็จก็เข้ามาโอบเลกาซอฟด้วยความดีใจ ขนาดว่าเลกาซอฟหลุดยิ้มด้วยความดีใจ บอริสสังเกตเห็นยังเอาพูดล้อเลย เป็นโมเมนต์น่ารักในหนัง จนท้ายที่สุดก็เป็นการทำงานร่วมกันที่เข้าขากันอย่างดี หมดซึ่งข้อกังขาในใจ และให้เกียรติเลกาซอฟในฐานะผู้รู้เสมอในที่ประชุม ฉากที่น่ารักและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์อย่างที่สุด คือตอน 5 ที่บอริสเปิดใจเผยความคิดความรู้สึกทั้งหมดกับเลกาซอฟว่าเขารู้สึกท้อแท้เพียงไร แล้วเลกาซอฟก็ตอบกลับมาว่าเขามองบอริสอย่างไร บอริสมีความสามารถเพียงใด และมีความสำคัญอย่างมากต่อปฏิบัติการนี้ เป็นฉากสั้น ๆ แต่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกครับ หนอนจิ๋ว ๆ ตัวนึงในฉากนี้ยังทำหน้าที่สื่อความหมายอะไรได้ตั้งมากมาย คนเขียนบทโคตรละเอียด

เห็นได้ชัดว่าคนเขียนบททำการบ้านมาอย่างละเอียดมาก ใน 5 ตอนเล่าได้ครบทั้งสาเหตุระเบิด ไปจนถึงการแก้ปัญหาในแต่ละขั้นตอน ที่โคตรยากในทุก ๆ ขั้น ลามไปถึงเรื่องการเมืองของประเทศม่านเหล็ก ที่ความลับของประเทศมาเป็นอันดับหนึ่ง จบด้วยการอธิบายถึงสาเหตุการระเบิดด้วยชาร์ต ทฤษฎีทางฟิสิกส์เคมีด้วยภาษาที่พยายามให้คนดูเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว ตีแผ่ถึงตัวคนผิด ลามไปถึงคณะรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลัง

คำคม

หลาย ๆ คำที่ออกมาสื่อความหมายได้ชัด เข้าใจง่าย ชัดเจน สวยงามไม่ประดิดประดอย ตรงประเด็น และมีความอมตะ ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดของเลกาซอฟ มีของคอมยุคบ้าง บอริสบ้าง ไว้จะทำอีกบทความรวมคำคมจาก Chernobylเนี่ยล่ะ

ฉาก

เรื่องนี้ต้องขอบคุณความเปิดกว้างของประเทศยูเครน ลิธัวเนีย ที่ยอมให้ทีมงานเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่จริง เชื่อว่าทางการต้องได้อ่านบทก่อนเซ็นอนุญาตก่อนแล้วเป็นแน่ เพราะเนื้อหาของหนังตีแผ่ความฉ้อฉลในกลเกมการเมืองของโซเวียตอย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับบน แต่สุดท้ายหนังก็ยังได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำได้ ผลประโยชน์เลยกลับมาที่คนดู ที่ได้ดูหนังที่มีความสมจริงมาก และนี่คือหนังที่ย้อนหลังไป 33 ปีก่อน ทีมงานจึงต้องทำการบ้านหนัก ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม พาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ และที่สำคัญมันเป็นข้าวของในโซเวียต ก็เอาของประกอบฉากที่ฮอลลีวู้ดมาใช้ไม่ได้อีก

แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถ่ายทำในสถานที่จริง แต่ฉากโรงไฟฟ้าที่ระเบิดก็ต้องจำลองขึ้นมาใหม่และใช้ซีจีช่วยเพื่อความสมจริง แต่ภาพที่ออกมาทั้งภายนอกและภายในของโรงไฟฟ้าก็ทำได้ออกมาอย่างไร้ที่ติ

โทนสี

เพราะนี่คือหนังที่ว่าด้วยภัยพิบัติ หายนะครั้งสำคัญของโลกมนุษย์ หนังมีแต่เรื่องของความโกหก หวังในอำนาจ ปกปิดมดเท็จ หายนะ และความตาย แทบไม่มีด้านสวยงามให้เห็นเลย คือเอาแค่เนื้อหาหนังก็เครียดพอดูแล้ว ทีมงานยังทำการแก้สีหนังให้หม่นหนักขึ้นไปอีก สีทั้งเรื่องนี้จึงไม่มีความสดใสให้เห็น หม่น ทึม ครึ้ม ทั้งเรื่อง ดีแล้วล่ะที่มีแค่ 5 ตอน ไม่งั้นจะหม่นตามหนัง

ตัวละครที่ชอบที่สุด

อเล็กซ์ เฟิร์น ดาราชาวสก็อต มาในบท แอนเดร กลูคอฟ ภาพลักษณ์ไม่น่าดูเล้ย เตี้ย พุงพลุ้ย สกปรก เขาเป็นหัวหน้าคนงานเหมือง เป็นผู้นำทัพกองกำลังนับร้อย ในขั้นตอนหนึ่งของการแก้ปัญหาเชอร์โนบิล จำเป็นต้องใช้กำลังคนขุดลงไปใต้ดินของแท่นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทางรัฐมนตรีจึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากคนงานเหมือง มาซิน เขียนบทให้ กลูคอฟ ได้เท่มาก ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือเลย ออกมาไม่มากแต่ทุกฉากที่กลูคอฟโผล่ออกมานี่โคตรเท่ นักเลง พูดน้อยฉะฉาน ได้ใจ เขาเป็นที่ได้รับการยอมรับนับถือจากลูกน้อง เขาบอกว่าหยุดลูกน้องหยุด แต่เมื่อเขาเดินนำลูกน้องเดินตาม โดยไม่มีคำถามว่าไปไหนทำอะไร หัวหน้าตัดสินให้แล้ว ไม่ได้เป็นผู้นำที่ออกคำสั่ง แต่ลงมือทำ และที่สำคัญ เขารักและปกป้องลูกน้อง

หนังประสบความสำเร็จที่ส่งให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่ช่อง HBO ในวันที่คู่แข่งบนจอทีวีเพิ่มมากขึ้น และแต่ละรายน่ากลัวทั้งนั้น ทั้งNetflix และที่กำลังจะมาก็คือ Disney+ ก็เป็นผลดีของคนดูที่จะได้ดูผลงานคุณภาพที่แต่ละช่องต้องแข่งกันสร้างออกมา

ผู้สร้างน่าจะปลื้มใจสุดกับคำชื่นชมจากผู้ชมรายหนึ่งที่อยู่ในปริปยัต ที่ออกมาชื่นชมซีรีส์นี้อย่างมาก และที่สำคัญเขาเป็นชาวปริปยัตโดยกำเนิด เขาเล่าว่าตอนเกิดเหตุก็ไม่ได้รับรู้อะไรมากมายเพราะอายุเพียง 4 ขวบ แต่พอได้ดู Chernobyl ถึงได้รู้ว่ามันน่ากลัวขนาดนี้ น่ากลัวกว่าตอนที่เขาได้อยู่ปริปยัตจริง ๆ เสียอีก ภัยพิบัติจากกัมมันตภาพรังสีน่ากลัวกว่าพายุเฮอร์ริเคน เพราะประชาชนไม่มีทางตระหนักรู้เองได้เลย บรรยากาศทุกอย่างก็ดูปกติ แต่แล้วทางการก็มาสั่งอพยพออกจากพื้นที่ Chernobyl คืองานระดับมาสเตอร์พีซ ทำออกมาแบบไร้ที่ติ

ชาวรัสเซียที่ได้ดูเรื่องนี้ต่างบ่นกันว่า ทำไมไม่ให้ตัวละครพูดรัสเซีย ไม่สมจริงเลย แต่เขาไม่เห็นด้วยว่าที่ต้องให้ตัวละครพูดรัสเซีย นี่ไม่ใช่หนังสารคดี มันคือทีวีซีรีส์ที่สร้างเพื่อความบันเทิงย่อมต้องมีปรุงแต่งเพื่ออรรถรสทางความบันเทิง และภาษาที่ตัวละครสื่อออกมาก็ให้ข้อมูลได้ครบถ้วน รายละเอียดทุกอย่างที่ถ่ายทอดออกมาถูกต้องและสมจริง จนทำให้ลืมคิดไปได้ว่าตัวละครพูดภาษาอะไรอยู่ หนังยังสะท้อนให้เห็นความรุนแรงของภัยพิบัติและผลกระทบต่อชีวิตของชาวเมือง สุดท้ายซีรีส์นี้ก็สามารถสื่อให้เห็น ผลร้ายที่น่ากลัวที่สุดจาก “คำโกหก”

อ่านเพิ่มเติม: 15 เกร็ดน่ารู้จากภัยพิบัติ “เชอร์โนบิล” ที่กลายมาเป็นซีรีส์ฮิต “Chernobyl”

Play video