จะบอกว่าเป็นเรื่องฮาก็ไม่กล้าฮาอย่างเต็มที่ เพราะคิดๆไปแล้วก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน สำหรับ Dee Gallant หญิงแคนาดาวัย 45 ปีที่เข้าป่าไปแล้วเจอเสือคูการ์ที่กำลังจะเข้ามาขย้ำเธอเข้าให้ แต่เดชะบุญที่ในโทรศัพท์ของเธอมีเพลงของ “Metallica” ที่เธอเชื่อว่ามันเดือดและดังพอที่จะไล่เจ้าเสือคูการ์ไปได้ แล้วมันก็เวิร์กซะด้วย และบทเพลงเพลงนั้นก็คือเพลงจากอัลบั้มฮิตที่ชื่อว่า “Metallica” ในปี 1991 นั่นคือ “Don’t Tread On Me”  ก่อนจะมาทำความรู้จักเพลงนี้เรามาอ่านเรื่องราวสุดหวาดเสียวนี้ก่อนดีกว่า

เรื่องมีอยู่ว่า Dee Gallant  หญิงแคนาดาวัย 45 ปีและหมาฮัสกีของเธอที่ชื่อว่าเมอร์ฟี กำลังออกไปเดินเล่นยามเย็นตามปกติในราวป่าของ Cowichan Valley เมืองดันแคน รัฐบริติชโคลัมเบียในแคนาดา ในขณะที่ Gallant และหมาของเธอเลยเข้าไปในป่าได้เพียงไม่กี่ไมล์ เธอก็รู้สึกได้ว่า “เหมือนมีบางสิ่งบางอย่างกำลังจ้องมองชั้นอยู่” ซึ่งเจ้าสิ่งนั้นก็คือเจ้าเสือคูการ์นั่นเอง

ในตอนแรกเธอยังไม่รู้สึกตกใจเพราะเธอไม่เคยเจอเสือคูการ์ใกล้ๆมาก่อน เธอเล่าให้ฟังว่า

“ฉันมองไปทางขวาและมันอยู่ที่ตรงนั้น ตอนแรกฉันไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพียงแค่คิดว่า ‘โอ้ทำไมตรงนั้นมันมีสีแปลกๆและมันก็ไม่ใช่ต้นไม้นี่’ “

เธอยืนงงอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งเจ้าเสือคูการ์ค่อยค่อยเดินเข้ามาใกล้จนทำให้เธอมั่นใจแล้วว่ามันคือเสือ !!!

“ตอนแรกฉันยังไม่รู้สึกกลัว ฉันจำได้ว่าฉันกำลังคิดในใจว่า ‘ว้าวเจ๋งไปเลยนั่นมันเสือคูการ์นี่’ แต่หลังจากนั้นฉันก็คิดขึ้นมาว่าแล้วทำไมมันมาอยู่ตรงนี้ล่ะ และก่อนที่ฉันจะหันหนีฉันก็อุมานในใจว่า ‘โอ้พระเจ้ามันกำลังวิ่งเข้ามาหาฉันฉันจะทำยังไงให้มันหยุดเนี่ย’” เธอเล่าให้ฟังต่อ

เมื่อเธอรู้ว่าเจ้าเสือคูการ์กำลังวิ่งเข้าใส่เธอ เธอก็ร้องตะโกนจากนั้นเจ้าคูการ์ก็หยุดเคลื่อนไหวแต่มันยังไม่หันหนีกลับไป เธอพยายามโบกไม้โบกมือแล้วตะโกนไปที่เจ้าเสือคูการ์แล้วพูดอะไรมั่วๆไปก่อน อย่างเช่น “ไป ! ไอ้แมวชั่ว!”  หรือ “ไสหัวไปไกลๆเลย !!!” แต่เจ้าคูการ์ก็ยังหยุดยืนอยู่ตรงนั้น เธอบอกว่ามัน “ยืนนิ่งราวกับรูปปั้น” ดวงตาจับจ้องมองมาที่เธอและเมอร์ฟี ไม่หันหนีไปไหน

เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไรแล้ว เธอก็เลยเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วเลือกหาวงที่เธอคิดว่ามีเพลงที่เสียงดังที่สุด แล้วเธอก็เจอ “เมทัลลิกา” เธอเลยเลือกเปิดเพลงฮิตของจากอัลบั้มในปี 1991 ซึ่งเพลงนั้นก็คือ “Don’t Tread On Me” ( หรือ “อย่ามาข่มขี่ชั้น !!!”) ซึ่งเธอให้เหตุผลว่า

“ฉันคิดว่ามันเป็นเพลงที่เดือดและดังที่สุดในโทรศัพท์ของฉันแล้วซึ่งฉันคิดว่าจะทำให้เจ้าเสือคูการ์กลัวได้ แล้วมันก็เหมือนเป็นข้อความจากฉันที่อยากจะส่งผ่านไปที่เจ้าเสือคูการ์ด้วย”

และทันใดที่โน้ตไม่กี่ตัวแรกดังขึ้น เจ้าเสือคูการ์ก็วิ่งเผ่นแน่บเข้าป่าไปเลย เหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่ามานี้เกิดขึ้นภายในเวลาแค่ 5 นาที ซึ่งเธอได้เล่าให้ฟังว่า

“ฉันคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมไปเลยนะที่ฉันเห็นเสือคูการ์อยู่ตั้ง 5 นาที ฉันคิดว่ามันตื่นเต้นดี” (หรอออ !)

จากนั้นเธอก็เปิดเพลงนี้ให้มันดังวนเป็นลูปไปเรื่อยๆและพยายามไม่เดินออกนอกเส้นทางและให้เจ้าเมอร์ฟีอยู่ใกล้ๆแล้วเธอก็เดินต่อไปเรื่อยๆจนออกจากป่าในที่สุด หลังจากที่กลับถึงบ้านเธอได้ระลึกขอบคุณถึงวงเมทัลลิกาที่ทำให้เธอกลับบ้านได้โดยปลอดภัยซึ่งเธอได้บอกว่า “ฉันอยากจะติดต่อกับพวกเขาในวันใดวันหนึ่งและบอกกับ James Hetfield ว่าเค้าได้ช่วยชีวิตฉันไว้” แล้วเธอก็หัวเราะ

สำหรับเพลง “Don’t Tread On Me”นั้นเป็นแทร็กที่หกจากอัลบั้มในปี 1991 ของเมทัลลิกา ที่ชื่อว่า “Metallica” (หรือ “The Black Album” เพราะหน้าปกเป็นสีดำล้วนๆและมีชื่อวงอยู่ด้านซ้านบนและมีรูปงูอยู่ตรงขวาล่าง) โดยในอัลบั้มนี้มีเพลงฮิตๆอยู่มากมายอาทิเช่น “Enter Sandman” “The Unforgiven” หรือ “Nothing Else Matters” เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ Gallant  เลือกที่จะเปิด “Don’t Tread On Me”แทนที่จะเปิดเพลงอื่นๆ  ดังนั้นเรามาทำความรู้จักเพลงนี้กันมากขึ้นดีกว่า

“Don’t Tread On Me” เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสื่อถึงเรื่องสงครามซึ่งหลังจากที่มันปล่อยออกมาก็ก่อให้เกิดกระแสต่างๆนานา ซึ่ง James Hetfield ได้เคยพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพลงนี้ไว้ว่า

“สำหรับ “Don’t Tread On Me” ผมรักเพลงนี้มาก แต่ว่ามันทำให้ใครหลายคนต้องช็อกเพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นเพลงสนับสนุนสงครามในขณะที่พวกเขาคิดว่าพวกเราเมทัลลิกาเป็นวงต่อต้านสงคราม แต่สิ่งที่พวกเราทำ เราก็แค่เขียนเพลงเท่านั้นเราไม่ได้อยู่ตรงฝั่งไหนของขั้วการเมืองทั้งนั้นแหละ”

“ผมจัดให้ “Don’t Tread On Me”  เป็นเพลงที่อยู่ในหมวด “อย่ามาจุ้นกับกูเว่ย!!!” ซึ่งอ้างอิงมาจากธงที่มีรูปงู และความหมายที่เกี่ยวข้องกับมัน และทั้งหมดนี้ก็โยงไปถึงหน้าปกของอัลบั้มที่มีรูปงูด้วย และผมคิดว่าเพลงนี้มันจะเจ๋งมากๆถ้าเราได้เล่นสดๆ”  (พี่จะรู้สึกเจ๋งกว่านี้อีกถ้ารู้ว่ามันไล่เสือได้ด้วย)

ปกซิงเกิล “Don’t Tread on Me”

นอกจากนี้ในเนื้อเพลงยังมีการอ้างอิงไปถึงจดหมายของเบนจามิน แฟลงคลินที่เขียนลงในวารสารของรัฐเพนซิลวาเนียในปี 1775 ที่กล่าวถึงความเป็นมาของธง “Gadsden Flag” และนี่คือบางส่วนของเนื้อเพลงที่ปรากฏอยู่ในเนื้อความของจดหมายฉบับนี้

เบนจามิน แฟลงคลิน

 

“Shining with brightness

 Always on surveillance

 Eyes that never close

 Emblem of vigilance”

 

“ฉานฉายด้วยความสว่างไสว

เปี่ยมไปด้วยความระวังระไว

กับดวงตาที่ไม่เคยปิด

คือสัญลักษณ์แห่งความเฝ้าระแวดระวัง”

 

และ

 

“Never begins it,

 Never, but once engaged

 Never surrender

 Showing the fangs of rage.”

 

“อย่าเริ่มต้นมัน

 อย่า , หากเริ่มมายุ่งกับมันเมื่อไหร่

 มันจะไม่เคยยอมแพ้

 พร้อมแยกเขี้ยวแห่งความคลั่งแค้นใส่”

 

จริงๆแล้วประวัติความเป็นมาของเพลง “Don’t Tread On Me” นี้มีที่มาเกี่ยวกับสัตว์ด้วย ซึ่งก็คือเจ้างูหางกระดิ่งที่ปรากฎอยู่บนธง “Gadsden Flag”  (หรือที่มีชื่อเรียกเล่นๆว่า ธงงูหางกระดิ่ง) ซึ่งก็คือ ธงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกัน มีพื้นหลังเป็นสีเหลือง มีรูปงูหางกระดิ่งที่กำลังแลบลิ้นฟ่อเตรียมจะฉกอยู่ตรงกลางด้านใต้ของงูมีคำว่า “Don’t Tread On Me” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเพลงนี้ และความหมายของมันก็ถูกใช้เป็นความหมายของเพลงนี้ด้วยเช่นกัน  เหตุที่ธงผืนนี้มีชื่อว่า “Gadsden Flag”  ก็เพราะมันมีที่มาจาก Christopher Gadsden นักการเมืองชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1724-1805 ซึ่งเป็นคนออกแบบธงนี้ด้วยตัวเองในปี 1775 ในช่วงระหว่าง “การปฏิวัติอเมริกา” หลังจากนั้นมันก็ถูกใช้โดย กองทัพเรืออเมริกันในช่วงสงครามปฏิวัติ (Continental Marines) โดยใช้คำว่า “Don’t Tread On Me” บนผืนธงนี่ล่ะเป็นมอตโต้ของกองทัพ เคียงคู่กับธง “Moultrie Flag” หรือ “ธงแห่งอิสรภาพ” ซึ่งมีคำว่า “อิสรภาพ หรือ Liberty” อยู่บนผืนธง

Gadsden Flag

 

Moultrie Flag

ถือว่าเป็นเพลงที่น่าสนใจไม่เบาเลยนะครับ พอได้รู้ประวัติความเป็นมาแบบนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นตัวเลือกที่ดีในการขับไล่เจ้าเสือคูการ์เลยจริงๆ ต่อแต่นี้ไปเพลงนี้ก็จะมีตำนานมากขึ้นแล้ว นอกจากจะเป็นเพลงที่พูดถึงสงครามมันก็ยังเป็นเพลงที่ใช้ขับไล่เสือคูการ์ได้อีกด้วย (555) และคงทำให้ใครหลายคนรีบเอาเพลงเมทัลใส่ไว้ในลิสต์เพลงของตัวเองเลยล่ะ

Play video

 

Source

msn

genius

Gadsden Flag

goodnewsnetwork

vancouversun

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส