ในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 11.35 น. หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลเปาโล สิริรวมอายุ 93 ปี

ม.ร.ว. ถนัดศรี คือหนึ่งในบุคคลสำคัญของประเทศไทย ท่านเป็นทั้งศิลปินแห่งชาติ  นักแสดง นักร้อง นักเขียน และนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแนะนำและจัดระดับความอร่อยของร้านอาหาร ในชื่อ “เชลล์ชวนชิม” อันมีสัญลักษณ์เป็นรูปชามลายผักกาดพร้อมลายเซ็นของท่านอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องการันตีความอร่อยที่หากร้านอาหารใดมีตรา “เชลล์ชวนชิม” แล้วล่ะก็เป็นอันสบายใจได้เลยว่าอร่อยแน่  นอกจากนี้ท่านยังทำรายการโทรทัศน์ “การบินไทยไขจักรวาล” และ “ครอบจักรวาล” (ซึ่งมีรายการวิทยุด้วย)

ด้วยความสามารถรอบตัวและการทำงานอย่างต่อเนื่องมายาวนานจึงทำให้ผลงานของ ม.ร.ว. ถนัดศรี เป็นที่ประทับใจและรู้จักของชาวไทยมานานแสนนาน และสมควรที่จะได้รับฉายาว่า “ศิลปินครอบจักรวาล” ซึ่งหนึ่งในความสามารถอีกด้านของท่านที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ ความสามารถด้านการขับร้องนั่นเอง

ด้วยเลือดศิลปินการขับร้องเพลงไทยเดิมจากคุณตา หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) พรสวรรค์จากสายเลือดได้ทำให้ ม.ร.ว. ถนัดศรี ได้กลายเป็นนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นแรก และออกแผ่นเสียง และอัลบั้มโด่งดังอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีเพลงโด่งดังระดับตำนานมากมาย เช่น สีชัง ยามรัก หวงรัก วนาสวาท จนได้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2551 ในที่สุด

และในวันนี้เราจะมารำลึกถึงน้ำเสียงนุ่มนวลชวนประทับใจของ ม.ร.ว. ถนัดศรี ผ่านงานเพลงสุดไพเราะทั้ง 10 บทเพลงที่เราคัดสรรมาฝากในวันนี้พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแต่ละบทเพลงเหล่านี้กันครับ


วนาสวาท

Play video

“ฉันคิดถึงเธอ ตั้งแต่หัวค่ำจนอุษาสาง”

บทเพลง “วนาสวาท” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “วนาลี” กำกับการแสดงโดย “พันคำ” นำแสดงโดย อาคม มกรานนท์ และ เกศริน ปัทมวรรณ ออกฉายในปี  พ.ศ.2502 เพลงนี้เป็นบทเพลงร้องคู่ขับร้องโดย ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ร้องคู่กับ รวงทอง ทองลั่นทม คำร้องและทำนองแต่งโดย ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร ซึ่งถูกติดต่อให้ช่วยแต่งเพลงประกอบ “ฉากรักในป่า”ที่พระเอกกับนางเอกจะร้องเพลงคู่กัน โดยถ่ายทำกันที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ครูแจ๋วไปพัก ณ สถานที่ถ่ายทำเพียงหนึ่งคืนก็สามารถแต่งเพลงนี้เสร็จได้เลย วันรุ่งขึ้นก็กลับไปที่กรุงเทพฯเพื่อบันทึกเสียง

ด้วยภาษาที่สวยงามและน้ำเสียงที่ไพเราะของ ม.ร.ว. ถนัดศรี  กับ คุณ รวงทอง จึงทำให้บทเพลงนี้กลายเป็นบทเพลงที่โด่งดังและถูกนำมาบันทึกเสียงใหม่หลายครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นเวอร์ชันดั้งเดิมที่เป็นเสียงร้องของ ม.ร.ว. ถนัดศรี  กับ คุณ รวงทอง ก็ไม่เคยถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาเลย เพียงเมื่อแรกขึ้นประโยคแรกของบทเพลงที่ร้องว่า “ฉันคิดถึงเธอ ตั้งแต่หัวค่ำจนอุษาสาง” ใจของเราก็หลุดไปในเรื่องราวและท่วงทำนองของบทเพลงอันไพเราะนี้แล้ว

(คอหนังคงจำกันได้ว่า เพลงนี้เคยถูกนำไปร้องในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “สัตว์ประหลาด” ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ด้วย ซึ่งช่วยให้ฉากนั้นเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้)


ยามรัก

Play video

“ยามเช้าพี่ก็เฝ้า คิดถึงน้อง

ยามสาย พี่หมายจ้อง เที่ยวมองหา

ยามบ่าย พี่วุ่นวาย ถึงกานดา

ยามเย็นไม่เห็นหน้า ผวาทรวง”

เพลง “ยามรัก” เป็นบทเพลงสะท้อนอารมณ์รักของชายหนุ่มที่เฝ้าคิดถึงคนรักของตนในทุกชั่วยาม ไม่ว่าจะยามเช้า ยามสาย ยามบ่าย ยามเย็น จนค่ำเช้าก็ยังคิดถึง ไม่ว่าจะยามไหนๆก็กลายเป็น “ยามรัก” คำร้องโดย ครูน้อย สุรพล โทณะวณิก (ภายใต้นามปากกาว่า “วังสันต์” ) ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน บันทึกเสียงครั้งแรกปี พ.ศ.2503

ตอนแรกเพลงนี้ครูน้อยจะให้คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวาร้อง แต่ว่าเกิดเที่ยวเพลินจนเงินหมดจึงขายเพลงนี้ให้กับครูเอื้อ สุนทรสนาน เอาเงินเที่ยวต่อ แล้วแต่ง “เธอคือนางฟ้า” ให้คุณทนงศักดิ์ขับร้องแทนเพลงนี้  ผู้ขับร้องเพลงนี้จึงได้กลายเป็น ม.ร.ว.ถนัดศรี ในที่สุด

บทเพลง “ยามรัก” เป็นบทเพลงที่มีความไพเราะทั้งในท่วงทำนองและภาษาอันงดงามของบทเพลง ยิ่งได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและการสื่ออารมณ์ของ ม.ร.ว. ถนัดศรีแล้วจึงทำให้ “ยามรัก” เป็นหนึ่งในเพลงรักลูกกรุงที่ไพเราะงดงามมากๆเพลงหนึ่งเลยทีเดียว


หวงรัก

Play video

“ของๆใคร ของใครก็ห่วง

ของใคร ใคร ก็ต้องหวง

ห่วงใย รักใคร่ ถนอม”

เมื่อมี “ยามรัก” ก็ต้องมี “หวงรัก” เพลงนี้แค่ขึ้นท่อนแรกมาเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเพลงนี้กับท่อน “ของๆใคร ของใครก็ห่วง” สุดคลาสสิก เพลงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในเพลงสร้างชื่อที่สุดของ ม.ร.ว.ถนัดศรี แต่งเนื้อร้องโดย สมศักดิ์ เทพานนท์ ส่วนทำนองนั้นดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิมชื่อ “ลาวเจ้าซู”


สีชัง

Play video

“สีชัง ชังชื่อแล้วอย่าชัง

อย่าโกรธพี่จริงจังจิตข้อง

ตัวไกลจิตก็ยังเนาว์แนบ

เสน่ห์สนิทน้องนิจผู้อาดูร”

บทเพลง “สีชัง” เป็นเพลงที่นำเนื้อร้องมาจากบทละคอนร้องเรื่อง “พระร่วง” หรือ “ขอมดำดิน” บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2457 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือที่สัตหีบ ได้พระราชนิพนธ์ “กาพย์เห่เรือยุคใหม่” พระราชทานแก่หนังสือสมุทรสาร ซึ่งเป็นวรรณคดีปลุกใจให้รักชาติ ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร อัญเชิญมาใส่ทำนองเพลงและบรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องครั้งแรกโดย ม.ร.ว. ถนัดศรี

เพลง “สีชัง” นี้นับว่ามีความสำคัญต่อ ม.ร.ว.ถนัดศรี มากเพราะได้ส่งให้ ม.ร.ว.ถนัดศรี ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ นักร้องชายรองชนะเลิศ งานแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 พ.ศ.2507


สวรรค์ค้าง

Play video

“วาดสวรรค์วิไล ไว้ในอุรา

เมื่อใจน้องแย้มมา พบพาเยื่อใย

เหมือนสะพานสวรรค์อำไพ

สะพานน้องวางให้ ดวงใจรักเดิน”

อีกหนึ่งบทเพลงไพเราะ จากการขับร้องของ ม.ร.ว. ถนัดศรี  ผ่านปลายปากกาของ ธาตรี และทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน

เสน่ห์ของเพลงนี้คือการเล่าเรื่องแบบมีต้น กลาง ปลาย หลอกให้เราคิดว่าเพลงนี้จะเป็นเพลง “สมรัก” แต่สุดท้ายกลับกลายเป็น “ช้ำรัก” โดยในท่อนแรกของเพลงเป็นการเปรียบเปรยว่า​”รอยยิ้ม” ของหญิงผู้เป็นที่รักนั้นเปรียบดั่ง “สะพานสวรรค์” เป็นเหมือนสัญญาณของการ “ทอดสะพาน” ให้เราข้ามไปหาเธอได้ แต่แล้วเมื่อยิ่งใกล้เข้าไปกลับพบว่า “เห็นสวรรค์ไม่ห่าง / พริบตาพี่คว้าง ลอยหวิวปลิวร่วง /ไร้มือน้อง เหนี่ยวหน่วง/ เห็นเพียงกึ่งสรวง ทรวงช้ำแค่ไหน” สิ่งที่เห็นนั้นหาใช่เธอมีใจไม่ สุดท้ายเธอดึงสะพานกลับไป “ถอนสะพานทอดสรวงดวงใจ /ถอนสวรรค์ไป พาให้พี่ตรม” ภาพสวรรค์ที่เคยวาดไว้เลยถูกทิ้งให้กลายเป็นสวรรค์ค้างเลย


ตราบสิ้นลม

Play video

“ฟ้าประทานรักมาให้พี่

แล้วใยหนอไม่ปรานี

สาปพี่ให้ช้ำระทม

พรากน้องไปไกลร้าวใจเหลือข่ม

รักเลือนเหมือนลม

โชยไปไม่หวนคืนมา”

“ตราบสิ้นลม” แต่เดิมชื่อเพลง “ฟ้าประทาน” ทำนอง โดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง โดย นิตย์ อารี (มานิตย์ ธรรมอารี) เพลงนี้มีเสน่ห์อยู่ตรงที่เสียงไวโอลินกรีดอารมณ์ในท่อนอินโทรที่บรรเลงโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน  ก่อนที่ ม.ร.ว. ถนัดศรีจะเข้ามารับในท่อนร้องแรกที่ว่า “ฟ้าประทานรักมาให้พี่” แล้วจึงร้องไปด้วยท่วงทำนองที่เนิบช้าแต่นุ่มนวล หนักแน่นในอารมณ์ไปจนจบเพลงแบบรวดเดียวไปมีการซ้ำท่อนเลย


มณีหยาดฟ้า

Play video

“สวยจริงแม่เอย  ฉันมิเคยได้เห็น

หัวอกฉันเต้น  ฮือ… เมื่อได้เห็นเต็มตา

สวยเลิศเฉิดฉันท์  ดั่งเหมือนจันทร์แจ่มหล้า

สวยจริตกิริยา  สวยทั้งวาจาใจ”

ฟังแต่เพลงช้ามาตลอด คราวนี้ตัดมาที่เพลงที่มีทำนองชวนขยับกันบ้างนะครับ

“มณีหยาดฟ้า” เป็นเพลงที่ชมเชยโดยการเปรียบเปรยหญิงสาวที่เราหลงรักคนนี้ให้มีความงดงามดั่ง “มณีหยาดฟ้า” ผู้มี “สองตาขำคมวะวาว  ดุจดังแสงดวงดาวแจ่มใส / เอวอ่อนอกงามอำไพ  แลวิไลละลานตา / ผิวพรรณผ่องฉวี  ดังมณีหยาดฟ้า / เหมือนเทพธิดา  จุติมาแดนดิน”

นอกจากใช้คำเปรียบเปรยได้อย่างงดงามแล้วเพลงนี้ยังมาพร้อมจังหวะ “แทงโก้” ที่ชวนให้อยากลุกขึ้นมาเต้นลีลาศมากๆเลยครับ


พรานเบ็ด

Play video

“ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง

(ฮืม ฮืม ฮืม ฮืม)

แปลกใจฉันจริงปลาไม่กินเหยื่อ

นั่งตกอยู่นานจนฉันนึกเบื่อ (ฮืม ฮืม)

ปลาไม่กินเหยื่อน่าแปลกใจ”

เพลงนี้น่าจะเป็นอีกเพลงที่คุ้นหูผู้ฟังกันอย่างมาก เนื่องจากเคยถูกใช้ประกอบในโฆษณารวมไปถึงสื่อต่างๆหลายครั้งหลายครา จริงๆแล้วเพลงนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตกปลาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการเปรียบเปรยการตกปลากับการ “ตก” ผู้หญิงด้วยการใช้เหยื่อที่เรียกว่า​”เงิน” นั่นเอง “ผู้หญิงนั้นตกง่ายกว่าปลา (ฮืม ฮืม) / พอมองเห็นเงินทำตาลุกวาว (ฮืม ฮืม)  / ผู้ชายแก่แล้วยังเห็นเป็นงาม (ฮืม ฮืม) / ไม่ต้องหาบหามตามไปอยู่เอง” โดยดูเหมือนว่าจะมุ่งเหน็บแนมเฉพาะเจาะจงไปที่ “คนแก่” ผู้มีอำนาจเงินเสียด้วย ประมาณว่าหนุ่มๆอย่างฉันไม่สนแต่ไปสนคนแก่เพราะเขามีเงินสินะก็เลยทิ้งท้ายไว้อย่างเจ็บแสบว่า “คนหนุ่มมากมายมินึกเกรง / ไปมัวหลงแก่เหี่ยวอยู่นั่นเอง /เพลงนี้จะบอก/ไม่หลอกให้หลง… /โง่…ตาย…” 

งานนี้เป็นฝีมือการแต่งเนื้อร้องและทำนองของ ล้วน ควันธรรม ส่วนเสน่ห์ในการร้องของเพลงนี้นั้นก็อยู่ที่การมีท่อนฮัม “ฮืม ฮืม” ซึ่งให้อารมณ์เพลิดเพลินเจริญใจเหมือนกำลังนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่งยังไงยังงั้นเลย ม.ร.ว. ถนัดศรี ร้องได้นุ่มนวล เนิบนิ่ง แต่กลับเจือไว้ด้วยน้ำเสียงประชดประชันเล็กๆ อย่างพองาม


วานลมจูบ

Play video

เพลง “วานลมจูบ” แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร เป็นอีกหนึ่งเพลงโรแมนติกจากปลายปากกาของครูสง่าที่มีลีลาอารมณ์เพลงออดอ้อนรำพึงรำพันถึงสาวคนสวยว่า ก็อยากจะรัก อยากจะจูบ แต่ก็ทำได้ลุล่วงเสียที เลยนึกคิดจินตนาการ ฝากวานให้ลมไปจูบแทนซะเลย

“อยากจะจูบก็ได้แต่ห่วงก็ได้แต่หวง

ไม่เคยลุล่วง (ฮัม) แม้ในความฝัน

ฉันคนจนยาก (ฮัม) ได้แต่รำพัน

เฝ้าวอนลมนั้น (ฮัม) ให้ช่วยจูบแทน”

ส่วนที่มาของเพลงนี้เกิดขึ้นจากตอนที่ ม.ร.ว. ถนัดศรี ได้ชวน ครูแจ๋ว ซึ่งเป็นผู้ที่สนิทชิดเชื้อกันดี ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด จนคนเขาแซวว่าติดกันเป็น ​”คอหอยกับลูกกระเดือก”  ให้ไปร่วมงานเลี้ยงนักเรียกนอก ซึ่งในงานก็มีสาวๆมารอรับ ม.ร.ว. ถนัดศรีมากมาย และพอเห็นว่ามีครูแจ๋วมาด้วยก็พากันขอให้แต่งเพลงให้เสียยกใหญ่ ทีนี้ครูแจ๋วพอเห็นสาวๆมาอ้อนแบบนั้น ก็จัดการแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเลย พอเสร็จก็ส่งต่อให้ ม.ร.ว. ถนัดศรีร้องตามระเบียบจนออกมาเป็นอีกหนึ่งเพลงที่เกิดขึ้นจากศิลปินคู่ ​”คอหอยกับลูกกระเดือก” สองท่านนี้ ที่ควรค่าแก่การจดจำยิ่งนัก


สักวาลาจาก

Play video

“เอย สักวา ฟังเพราะ เสนาะเหลือ
มิรู้เบื่อ บทกลอน อาวรณ์หวัง
อันวาจา ลาไป แต่ใจยัง
เป็นห่วงหลัง เออ…
เป็นห่วงหลัง จำลา เอ๋ย โศกอาลัย”

ส่งท้ายกันด้วยบทเพลงเพลงนี้ที่ ม.ร.ว. ถนัดศรี ได้ขับร้องเอาไว้ ฝีมือการแต่งคำร้องและทำนอง โดย ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร ซึ่งท่านได้ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม “ลาวดำเนินทราย 2 ชั้น”

บทเพลงนี้ถึงแม้จะเป็นบทเพลงเศร้าแต่ก็มีท่วงทำนองที่ไพเราะ และ ยิ่งได้เสียงร้องและลูกเอื้อนของหม่อมถนัดศรีด้วยแล้วยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงเศร้าที่ควรค่าแก่การจดจำยิ่ง

สุดท้ายนี้ทาง What The Fact ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ หม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ต่อการจากไปของท่าน และขอมอบบทความนี้ไว้เพื่อเป็นสิ่งรำลึกถึงคุณงามความดีและความสามารถของ “ศิลปินครอบจักรวาล” ท่านนี้ ที่จะอยู่ในใจเราตลอดไป

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส