ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัล Grammy Awards ในปี 2020 นี้ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 62 แล้วซึ่งในปีนี้ก็มีอัลบั้มเจ๋ง ๆ เข้าชิงกันเพียบ แต่ละสาขาก็สูสีเป็นอัลบั้มที่ดีและน่าจะได้รางวัลกันทั้งนั้น แต่สุดท้ายแล้วผู้ชนะต้องมีหนึ่งเดียวและในวันนี้เราก็ได้รู้ผลกันเสียที เชื่อว่าหลายคนที่ทราบผลแล้วคงดีใจไม่น้อย เพราะมีศิลปินขวัญใจของใครหลายคนได้รับรางวัลด้วยอย่าง บิลลี อายลิช (BIllie Eillish) ที่สร้างปรากฏการณ์กวาดรางวัลไปทั้งหมด 5 สาขาด้วยกัน คือ “Best New Artist” , “Song of the Year”  และ “Record of the Year” จากเพลง “Bad Guy” และ คว้ารางวัลในสาขา “Album of the Year” และ “Best Pop Vocal Album” จากอัลบั้ม “When We All Fall Asleep, Where Do We Go?” ซึ่งเมื่อปลายปีเราก็เพิ่งคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มแห่งปีจาก what the fact ด้วย ดีใจกับน้องด้วยจริง ๆ สุดยอดมาก ๆ  นอกจากนี้ก็ยังมี “Ventura” จาก Anderson .Paak ที่ได้รางวัลในสาขา “Best R&B Album”  , “No Geography” จาก The Chemical Brothers ในสาขา “Best Dance/Electronic Album” , “Father of the Bride” จาก Vampire Weekend ในสาขา “Best Alternative Music Album” และอีกมากมาย แต่ละอัลบั้มว้าว ๆ ทั้งนั้นและเชื่อว่าน่าจะเป็นอัลบั้มโปรดของใครหลายคนจากในปีที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการทำความรู้จักกับอัลบั้มรางวัลแกรมมี่เหล่านี้สำหรับใครที่ยังไม่เคยฟัง หรือได้กลับไปทบทวนคุณงามความดีของอัลบั้มเหล่านี้อีกทีสำหรับใครที่เคยลิ้มลองมาแล้ว วันนี้เราจะมารีวิวอัลบั้มยอดเยี่ยมจากรางวัลแกรมมี่ปี 2020 เหล่านี้กันครับ


Album of the Year / Best Pop Vocal Album

When We All Fall Asleep, Where Do We Go? — Billie Eilish

นาทีนี้คงไม่มีใครกังขาที่ “When We All Fall Asleep, Where Do We Go อัลบั้มแรกในชีวิตของสาวอินดี้สุดแนว บิลลี อายลิช (Billie Eilish) จะได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขา Album of the Year” และ “Best Pop Vocal Albumหากจะมีก็คงเป็นความอัศจรรย์ใจมากกว่าที่  บิลลี อายลิช ซึ่งปัจจุบันเพิ่งจะมีอายุแค่ 18 ปี กลับทำผลงานออกมาได้แปลกใหม่และน่าตื่นใจมากขนาดนี้ จนล่าสุดน้องก็ได้ทำเพลงประกอบหนังบอนด์ภาคล่าสุด “No Time To Die” และกลายเป็นศิลปินที่อายุน้อยที่สุดที่ทำเพลงให้หนังบอนด์ ออกสตาร์ทได้งดงามแบบนี้ รับรองเลยว่าอายลิชจะเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่อนาคตไกลของวงการอย่างแน่นอน ส่วน “When We All Fall Asleep, Where Do We Go” นี่ก็สมศักดิ์ศรีอัลบั้มแห่งปีและอัลบั้มเพลงพอปยอดเยี่ยมเสียจริง ๆ  เพราะมันได้เปิดเปลือยและสะท้อนตัวตนของเธอออกมาในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะด้านงดงาม แปลกประหลาด  โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว และการหมกมุ่นครุ่นคิดในตัวตน ผ่านงานดนตรีและภาพลักษณ์ของความเป็นศิลปินพอปในอารมณ์แบบโกธิคเล็ก ๆ อันมีส่วนผสมของความงามและความดาร์กผสานกันไป

ในขณะที่วัยรุ่นทั่วไปมักทำเพลงเกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แต่บิลลี อายลิช กลับทำเพลงที่สะท้อนถึงความหลอกหลอนยามค่ำ การด่ำดิ่งในภาวะหม่นเศร้า ปัญหาการใช้ยา หรือ แม้กระทั่งปัญหาสภาวะอากาศผ่านดนตรีที่มีกลิ่นอายผสมผสานกันหลากหลายแนวตั้งแต่ อัลเทอร์เนทีฟ พอป  ฮิปฮอป ดั๊บสเตป แถมยังมีการใส่เสียงประหลาด ๆ อย่างเสียงมีดทำครัวของพ่อ สว่านเจาะฟัน อะไรแบบนี้เข้ามาในเพลงด้วย ส่วนการเรียงร้อยถ้อยคำและวิธีการเล่าเรื่องของเธอนั้นเล่าก็เปี่ยมเสน่ห์เหลือ ยิ่งมันถูกเล่าผ่านเสียงกระซิบกระซาบแผ่วราวกับเสียง ASMR ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เธอดูเป็นเด็กสาวผู้มีโลกเร้นลับอันลุ่มลึกที่เชื้อเชิญให้เราอยากเข้าไปสัมผัสเสียเหลือเกิน

เยี่ยมยอดแบบนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับน้องด้วย แล้วเราจะคอยติดตามผลงานอันสุดยอดของน้องต่อไปคร้าบบบ !!!

Play video


Best Traditional Pop Vocal Album

Look Now — Elvis Costello & The Imposters

 

อัลบั้มชุดที่ 30 ของเอลวิส คอสเทลโล นักร้องนักแต่งเพลงรุ่นเก๋าจากลอนดอนผู้บุกเบิกแนวดนตรีพังก์และนิวเวฟของอังกฤษ คราวนี้คอสเทลโลกลับมาพร้อมวงของเขา “The Imposters” หลังจากหยุดไปกว่า 5 ปี งานนี้คอสเทลโลเขียนเพลงเองและโปรดิวซ์เองเกือบทั้งหมด โดยมี Sebastian Krys มือโปรดิวซ์รางวัลแกรมมี่มาร่วมโปรดิวซ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีศิลปินโฟล์กระดับตำนานอย่าง Carole King มาทำเพลงร่วมกันใน “Burnt Sugar Is So Bitter” หลังจากทั้งคู่รู้จักกันเมื่อ 20 ปีที่แล้วจากการกินซูชิด้วยกันที่แมนฮัตตัน แถมงานนี้ยังมี Burt Bacharach นักเปียโนและนักแต่งเพลงพอปชื่อดังมาร่วมทำด้วยอีกสามเพลง

งานเพลงในอัลบั้มนี้มีความพอปนำแต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่แนวใดแนวหนึ่ง หากแต่มีส่วนผสมของแนวดนตรีที่หลากหลายมาผสมให้มันกลมกล่อม โทนอารมณ์โดยรวมชี้ชวนให้คิดถึงงานในยุค 80-90 ของคอสเทลโทอย่างอัลบั้ม “Imperial Bedroom” (1982) ที่ออกมาในแนวบาโรคพอป หรือ “Painted from Memory” (1998) ที่คอสเทลโลร่วมงานกันกับ Burt Bacharach (จะไม่ให้คิดถึงได้ไงเพราะอัลบั้มนี้ก็ร่วมงานกับ Bacharach ตั้งสามเพลง)

ต้องบอกว่าความเก๋าของคอสเทลโลนั้นไม่เก่าเลย เรายังรู้สึกอิ่มเอมกับการฟังเพลงของคอสเทลโลที่ชอุ่มไปด้วยท่วงทำนองและเมโลดี้ที่ไพเราะกับเสียงร้องที่มีพลังน่าประทับใจไม่เสื่อมคลาย แถมท้ายด้วยการเขียนเพลงอันเชี่ยวชาญ ช่ำชองและโชกโชนอันเป็นจุดเด่นในงานของคอสเทลโลเสมอมาแล้วแบบนี้จะไม่มอบแกรมมี่ให้ได้ยังไงล่ะ

Play video


Best Dance/Electronic Album

No Geography — The Chemical Brothers

รันวงการมา 20 กว่าปีแล้วแต่เดอะเคมิคอลบราเธอร์ส คู่ดูโอสายอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์คู่นี้ ก็ไม่เคยเสื่อมความเก๋าอันเร้าใจเลย

กลับมาคราวนี้ใน  No Geographyสตูดิโออัลบั้มลำดับที่เก้าของวง Tom Rowlands และ Ed Simons ได้พาพวกเราย้อนกลับไปยังช่วงเวลากลางทศวรรษที่ 90 ในช่วงยามที่พวกเขากำลังพยายามหว่านเมล็ดพันธุ์ของดนตรีแดนซ์ในอังกฤษ  พวกเขาได้ลองเอา sampler จากงานเพลงเก่า ๆ ที่พวกเขาเคยใช้ในงานเพลงสองอัลบั้มแรกมาทดลองทำอะไรให้น่าสนใจในอัลบั้มนี้

พวกเขาย้อนนึกไปถึงวันเก่าเมื่อครั้งยังทำเพลงอยู่ในห้องนอน อุปกรณ์ทั้งหลายไม่ได้มีอะไรมาก ใช้ทรัพยากรเท่าที่มี สร้างสรรค์บทเพลงออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งความจำกัดจำเขี่ยนี่ล่ะคือตัวกระตุ้นการสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด ในทุกวันนี้พวกเขาก็ยังเชื่อแบบนั้นและพยายามสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ๆด้วยวิถีทางที่ท้าทายแบบนี้อยู่เสมอ

ด้วยบรรยากาศแห่งความหลอนลอย  บีทที่สนุกเร้าใจ  ผสานความลุ่มลึกในท่วงทำนอง ได้ทำให้บทเพลงทั้ง 10 และช่วงเวลา 46 นาทีที่ “No Geography” มอบให้เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจ ซึ่งนอกจากอัลบั้มจะชนะรางวัลในสาขา Best Dance/Electronic Albumแล้ว เพลง Got to Keep On” ก็ยังได้รางวัลในสาขา Best Dance Recording อีกด้วยนะ เยี่ยมจริง ๆ !!!

Play video


Best Contemporary Instrumental Album

Mettavolution — Rodrigo y Gabriela

 

ถ้าญี่ปุ่นมี DEPAPEPE เม็กซิโกก็มี “Rodrigo y Gabriela” นี่ล่ะ  !!

“Rodrigo y Gabriela” คือคู่ดูโออะคูสติกกีตาร์ Rodrigo Sanchez และ Gabriela Quintero ที่มาพร้อมงานดนตรีสุดเร่าร้อนในสไตล์เผ็ดร้อนแบบเม็กซิกันที่ผสมผสานแนวดนตรี นูโวฟลาเมงโก  ร็อก และ เฮฟวี่เมทัลเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งคู่เคยร่วมงานกับ Hans Zimmer ทำเพลงประกอบ Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides และเคยทำเพลงประกอบให้กับ Puss in Boots นอกจากนี้ยังเคยหวดกีตาร์โชว์กันสด ๆ ต่อหน้าอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาที่ทำเนียบขาวด้วย

สิ่งที่ทั้งคู่ได้ทำตลอดมาคือการพิสูจน์ว่ากีตาร์เพียงสองตัวนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง และคำตอบที่ออกมาก็คือผลงานอันน่าทึ่งจากสุ้มเสียงสำเนียงกีตาร์ที่ทั้งบ้า น่าทึ่ง เร้าใจ อันแฝงไว้ด้วยความงามแห่งเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีขวัญใจชาวโลกชิ้นนี้  ถ่ายทอดเสียงดนตรีอันมีรากฐานมาจากอิทธิพลทางดนตรีที่ทั้งคู่สั่งสมมา อย่างในอัลบั้ม “11: 11” (ที่มีเพลง “Hanuman” อันลือลั่น) ทั้งคู่ก็อุทิศเสียงดนตรีให้แด่สองนักดนตรีในดวงใจ Carlos Santana และ Jimi Hendrix   อัลบั้ม “Area 52” นั้นไปอัดเสียงกันถึง Havana ในคิวบาและได้นักดนตรีคิวบามาเสริมทัพ ส่วนใน “9 Dead Alive” ก่อนหน้าอัลบั้มชุดนี้ทั้งคู่ก็กลับไปสู่รากเหง้าของดนตรี “ฟลาเมงโก” อีกครา

และใน  “Mettavolution” ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ทั้งคู่ได้พาเอาประสบการณ์ทางดนตรีที่สั่งสมมา นำพาไปสู่จุดสูงสุดอันเปี่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์ของกีตาร์ผ่านทุกตัวโน้ตและท่วงทำนองที่เรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งที่เราพบคือความตื่นใจในทุกสิ่งที่ทั้งคู่ได้บรรเลงลงไปบนกีตาร์

นอกจากนี้อัลบั้มยังปิดท้ายด้วย “Echoes” ในเวอร์ชัน 19 นาที !!! ผลงานอันน่าตะลึงพรึงเพลิดระดับมาสเตอร์พีซจากวงโพรเกรสซีฟร็อกระดับตำนาน Pink Floyd อีกด้วย สุดยอดแบบนี้ก็เอาแกรมมี่ไปเลยคร้าบบบ

Play video


 Best Rock Album

Social Cues — Cage the Elephant

อัลบั้มที่ห้าจากวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกแห่งเคนตั๊กกี้ “Cage The Elephant” ที่ยังคงอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง เป็นการเพลงที่ยังฟังเพราะ ฟังเพลิน แต่ก็อาจทำให้แฟนๆเบื่อได้ ในขณะที่เพื่อนร่วมวงการอย่าง Arctic Monkeys  ได้พาตัวเองไปไกล (ไกลมาก) ด้วยการแปรสภาพจากวงอัลเทอร์เท่ ๆ โจ๊ะ ๆ กลายเป็นวงสุขุมนุ่มลึกที่มาพร้อมดนตรีแบบเลาจน์มิวสิคในอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” ส่วน Vampire Weekend ก็ทะเยอทะยานก้าวหน้าด้วยการกลับมาประกาศศักดาออกดับเบิ้ลอัลบั้ม “Father of the Bride” (ซึ่งคว้ารางวัลในสาขาอัลบั้มอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยมในที่สุด)

การที่​ ” Social Cuesเป็นเจ้าของรางวัล “อัลบั้มเพลงร็อกยอดเยี่ยม” นั้นแสดงว่ามันต้องมีดี ! ซึ่งหากเราได้รู้ถึงแรงพลังเบื้องหลังงานเพลงชิ้นนี้ มันจะทำให้เราสนใจที่จะตั้งใจฟังและสัมผัสทุกเรื่องราวในแต่ละบทเพลงเลยล่ะ เพราะว่า Matt Shultz นักร้องนำของวงได้ผ่านช่วงเวลาอันหนักหน่วงมากในชีวิตระหว่างที่กำลังทำงานเพลงชิ้นนี้ เรื่องแรกก็คือการหย่าร้างกับภรรยา เรื่องต่อมาก็คือการสูญเสียเพื่อนรักสองคนจากการฆ่าตัวตาย แต่แทนที่ Matt Shultz จะจมอยู่กับความเศร้า เขากลับเลือกที่จะเปลี่ยนมันให้เป็นพลังความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพลงชิ้นนี้ให้ดีและหันไปมองด้านที่สวยงามของประสบการณ์ในชีวิตแทนที่จะจมจ่อมกับเรื่องเศร้าเหล่านั้น

“เมื่อเราจมดิ่งกับปัญหานานา หลายคนคิดว่า โอ้ เราจะต้องแต่งเพลงเศร้าแล้วล่ะ แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังพลาดสีสันของชีวิตที่เรากำลังจะละเลยไปและมันเป็นสิ่งที่ช่างสำคัญนัก” Matt ได้กล่าวไว้เช่นนั้น

ด้วยเหตุนี้งานเพลงใน “Social Cues” จึงไม่ได้มีแต่เพลงเศร้าเคล้าน้ำตาแต่อย่างใด หากแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพลง upbeat  ชวนขยับทั้งนั้น เหมือนกำลังจะบอกว่า เศร้าใจไปทำไมมาทำใจให้สนุกสดใสกันดีกว่า แต่ถึงอย่างนั้นเพลงไหนที่ดิ่งมันก็ดิ่งเลยนะแต่เป็นความดิ่งที่งดงามและสง่า ซึ่งอัลบั้มนี้มีหลายเพลงที่น่าสนใจใช่เล่นเลย อย่างเพลง “House of Glass” เป็นการาจพังก์ ที่มีส่วนผสมของความหลอนเหมือนกำลังฟังเพลงประกอบหนังสยองที่แต่งโดยจอห์น คาร์เพนเตอร์ แต่เป็นในเวอร์ชันอินดี้พอป ส่วน “Love’s the Only Way” บัลลาดนุ่ม ๆ มีบรรยากาศเคลิ้มฝันและแฝงไว้ด้วยความเศร้าเหงาลึก ซึ่งน่าจะเป็นเพลงเศร้าเหงาที่สุดในอัลบั้มแล้ว  รองลงมาก็คงจะเป็น “Goodbye” เพลงสุดท้ายของอัลบั้มที่เหงาลึก  สงบงัน งามสง่า เหมาะแก่การจบอัลบั้มลงอย่างนุ่มนวล

Play video


Best Alternative Music Album

Father of the Bride — Vampire Weekend

 

“Father of the Bride” คืออัลบั้มแรกในรอบ 6 ปีจาก Vampire Weekend หลังจาก “Modern Vampires of the City” ในปี 2013  6ปี ถือว่าเป็นเวลาที่มากพอดู มากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ๆในชีวิตใครสักคน และสำหรับฟรอนแมนท์ของวง เอซร่า โคนิก (Ezra Koenig) มันก็เป็นเช่นนั้น เขาได้แต่งงานมีครอบครัว กลายสภาพจากหนุ่มโสด กลายเป็นคุณพ่อ ย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดจากนิวยอร์คไปลอส แองเจลิส และคลอดแอนิเมชันที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ เรื่อง “Neo Yokio”

กลับมาคราวนี้ โคนิกและ Vampire Weekend เหมือนจะมีเรื่องเล่าอยู่มาก จึงปล่อยออกมาเป็นอัลบั้มคู่ที่บรรจุไว้ด้วยบทเพลง 18 เพลง ซึ่งมีความยาวรวม 58 นาที  ชวนให้นึกไปถึงอัลบั้มสุดคลาสสิค “The Beatles’ White Album” ของสี่เต่าทองเดอะ บีทเทิลส์เลย อัลบั้มนี้มีการร่วมงานกับศิลปินมากมายอาทิเช่น Rostam Batmanglij สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งวงที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว , Danielle Haim จากวง HAIM ในแทร็คแรกของอัลบั้ม “Hold You Now” และอีกสองเพลง, และ Steve Lacy จากวง The Internet

และเป็นที่แน่นอนว่า คนเราเมื่อเติบโตขึ้น ความร้อนแรงแห่งวัยวันมันก็จะลดน้อยถอยลงไป จากวัยรุ่นวัยร้อนมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ใจนิ่ง ทั้งตัวดนตรีและเนื้อหาที่พูดในบทเพลงจึงเป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นทั้ง 18 บทเพลงก็มีความกลมกล่อม มีลูกล่อลูกชน และ มีรสชาติหลากหลายให้เราได้ลิ้มลองกันไป เผลอแป๊ปเดียวก็ฟังจนจบแล้วล่ะ

Play video


Best Urban Contemporary Album

Cuz I Love You (Deluxe) — Lizzo

“Cuz I Love You” อัลบั้มชุดที่สามแต่เป็นอัลบั้มแรกกับค่ายใหญ่ของแรปเปอร์และนักร้องสาวนาม “ลิซโซ (Lizzo)” มี “Juice” และ “Tempo” ที่ฟีเจอริ่งกับ Missy Elliott เป็นซิงเกิลเปิดตัว และ “Truth Hurts เป็นซิงเกิลอันดับหนึ่งใน Billboard Hot 100 จนในที่สุดอัลบั้มนี้ก็ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขา “Best Urban Contemporary Albumจนได้รับรางวัลมาในที่สุด แถมพ่วงรางวัล “Best Traditional R&B Performanceจากเพลง “Jerome” มาด้วยอีกหนึ่งรางวัล

งานเพลงชุดนี้ของลิซโซมีรากฐานคือความพอป แต่มันถูกผสมไปด้วยรากเหง้าทางดนตรีที่เธอสั่งสมมาซึ่งมีทั้งแจ๊ส ฮิปฮอป R&B ฟังก์ แทรป และนีโอโซล ที่หลอมรวมจนกลมกล่อมและถูกหูคนฟังในวงกว้างจนทำให้ตัวตนของเธอได้เปล่งประกาย ดังเราจะเห็นได้จากภาพปกของอัลบั้มที่เห็นเธอเปลือยเปล่าพร้อมผมดำสลวยท่ามกลางฉากหลังสีดำ หลายครั้งคำว่า “อ้วน” หรือ “ดำ” มักเป็นคำบูลลี่ที่ใครต่อใครใช้ล้อกัน ลิซโซไม่กลัวในสองสิ่งนี้แต่กลับนำเสนอมันออกมาเต็มที่ด้วยความภาคภูมิใจเพราะเธอนั้นมองเห็นว่ามันคือความงามตามธรรมชาติและเป็นความงามที่แท้ของเธอ เฉกเช่นเดียวกับตัวตนทางดนตรีที่เธอกลั่นมันออกมาอย่างเต็มที่ตลอดทั้งอัลบั้มเราจะได้ฟังดนตรีอเมริกันอย่างแท้ที่ผสานไปกับความร่วมสมัยผสานไปกับน้ำเสียงที่กลั่นออกมาจากข้างในอันไพเราะ ลื่นไหลและอิ่มเอม จนในที่สุดแล้วตัวตนของเธอก็ได้ถูกฉายฉานผ่านงานเพลงในชุดนี้และได้ทำให้ความงดงามเหล่านั้นเปล่งประกายออกมาได้จริง ๆ ทำให้ลิซโซนั้นเซ็กซี่ทั้งในตัวตนและผลงาน และ Cuz I Love You ก็คือบทพิสูจน์และสิ่งการันตีความงามนี้อย่างแท้จริง

Play video


Best R&B Album

Ventura — Anderson .Paak

จากประสบการณ์ทางดนตรีและชีวิตตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ที่เล่นกลองอยู่ในโบสถ์และทำงานในไร่กัญชาเมื่อวัยหนุ่มล่วงเลยมาตราบจนวันนี้ หนุ่มแอฟริกัน อเมริกัน ลูกครึ่งเกาหลี (ที่มีภรรยาเป็นคนเกาหลี) วัย 33 ปีนามว่า แอนเดอร์สัน พาร์ค (Anderson .Paak)  ได้หลอมรวมเอาความทรงจำ ประสบการณ์ และอารมณ์สัมผัสจากห้วงเวลาทั้งหลายในชีวิตกรั่นกรองออกมาเป็นงานดนตรีที่มีเอกลักษณ์อันสะท้อนให้ตัวตนของเขาที่มีอิทธิพลทางดนตรีอันมีรากเหง้ามาจาก ‘black music’ ที่เปี่ยมเสน่ห์

“Ventura” เป็นอัลบั้มที่สี่ของ แอนเดอร์สัน พาร์ค นักร้อง, แร็ปเปอร์, โปรดิวเซอร์, มือกลอง  จากอ็อกซ์นาร์ดแคลิฟอร์เนีย เจ้าของเพลงฮิตอย่าง “Come Down” หรือ “Bubblin’” และเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่ได้ตั้งตามชื่อเมืองที่เกี่ยวพันกับชีวิตของเขา เช่น  อัลบั้มก่อนนี้ที่ใช้ชื่อว่า Oxnard อันเป็นเมืองเกิดของเขานั่นเอง (ก่อนนี้มี Malibu กับ Venice)

จริงๆแล้วพาร์คทำ “Ventura” กับ “Oxnard” ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ปล่อย “Oxnard” ออกมาก่อนหลังจากนั้นห้าเดือนให้หลังจึงปล่อย “Ventura” ออกมา ซึ่งพาร์คบอกว่าจุดต่างระหว่างสองอัลบั้มนี้คือ “อัลบั้มหนึ่งเพื่อความกล้า อีกอัลบั้มหนึ่งเพื่อน่ารัก”  (“I felt like one was made to be gritty, one was made to be pretty.”)  แน่นอนว่าในอัลบั้มทั้งสองต่างมีองค์ประกอบของความ กล้า” และความ น่ารัก” อยู่ด้วยกันทั้งคู่ แต่เมื่อหากเปรียบกันแล้วดูเหมือน Ventura จะมีความเป็นวินเทจโซลที่ฟังง่าย ฟังสบายนุ่มนวล ชวนเพลินกว่าเมื่อเทียบกับ Oxnard ที่ออกจะมีความกล้าบ้าบิ่นและพลังอันมุทะลุไร้ที่สิ้นสุด ซึ่งพาร์คก็เปรียบเปรยไว้อย่างคมคายว่า “อัลบั้มหนึ่งไว้ใช้ฟังตอนคุณเดินทางไปเวกัสอีกอัลบั้มไว้ใช้ฟังตอนขากลับ”  และเขายังเสริมต่ออย่างเห็นภาพอีกว่า “มันเหมือนกับว่าหลังจากคุณได้ไปทำเรื่องบ้า ๆ เอาไว้ และ คุณได้เห็นภาพสะท้อนในสิ่งเหล่านั้นที่คุณทำลงไป”  อารมณ์แรกคือ Oxnard ส่วนอารมณ์หลังนั่นก็คือ Ventura นั่นเอง  เฉียบ !

แถมในอัลบั้มนี้พาร์คยังได้ร่วมงานกับศิลปินเจ๋งๆอีกเพียบทั้งรุ่นใหญ่อย่าง Smokey Robinson , Andre 3000 , Lalah Hathaway , Jazmine Sullivan , Sonyae Elise , Brandy และ Nate Dogg ในอัลบั้มนี้มีเพลงเจ๋ง ๆ อยู่เพียบเลย แถมเพลง “Come Home” ที่ฟีเจอริ่งกับ André 3000 ก็ยังได้รางวัลแกรมมี่ในสาขา “Best R&B Performance” อีกด้วยนะ !!

Play video


Best Rap Album

“IGOR” — Tyler, the Creator

นี่คืออัลบั้มที่น่าสนใจที่มีการใช้ตัวละครสมมติมาเป็นแรงบันดาลใจในอัลบั้ม “Igor” อัลบั้มที่ห้าของแรปเปอร์ชาวอเมริกันนายไทเลอร์ ผู้รังสรรค์ (Tyler, the Creator) ได้นำเอาตัวละคร “Igor” ตัวละครโกธิคผู้ช่วยวายร้ายมาถ่ายทอดอารมณ์ด้านมืดฝั่งดาร์กของไทเลอร์ผู้เจ็บช้ำแต่ยังคงถวิลในรักอันร้างลาจากคนรักเก่า ทำให้งานเพลงในอัลบั้ม “Igor” เป็นบทเพลงโรแมนติกแต่ไม่ได้เศร้าหรือซึ้งแบบเฝือ ๆ แต่เจือไปด้วยคอนเซปต์และแนวคิดที่น่าสนใจ พร้อมลูกล่อลูกชนในงานดนตรีที่ทำให้มันมีมิติ

แถมงานนี้ยังมีผองเพื่อนนักดนตรีมาปาร์ตี้กันในอัลบั้มนี้เพียบทั้ง Playboi Carti, Lil Uzi Vert, Solange, Kanye West, Jerrod Carmichael, Santigold, Jessy Wilson, La Roux, CeeLo Green, Charlie Wilson, Slowthai, และ Pharrell Williams ซึ่งต้องชื่นชมว่านายไทเลอร์นั้นจัดสรรบทบาทของผองเพื่อนได้เป็นอย่างดีและช่วยสร้างสีสันให้กับอัลบั้มนี้ได้ดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็น Solange Knowles ที่มอบอารมณ์ลอยฟุ้งด้วยการฮัมในเพลง I THINK , I DON’T LOVE YOU ANYMORE รวมไปถึงไอดอลของไทเลอร์อย่าง Kanye West และ Pharrell Williams ที่เหมือนแวะมาให้นายไทเลอร์ได้คารวะและเจิมอะไรลงไปในอัลบั้มนี้เสียหน่อย

“Igor” คือส่วนผสมทางดนตรีที่ลงตัวระหว่าง R&B ฟังก์ และ แรป แถมยังมีส่วนผสมของซินธ์อย่างจัดจ้านท่ามกลางเมโลดี้แบบนีโอโซลและเสียงร้องผสมออโตจูน เหมือนไทเลอร์จะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไรเลยพูดสรุปสั้น ๆ พร้อมวิธีการฟังเพลงในอัลบั้มนี้ที่เขาลงแรงกายแรงใจเขียนเนื้อ เรียบเรียงและโปรดิวซ์ด้วยตัวเองทั้งหมดนี้ว่า “อย่าคาดหวังว่านี่จะเป็นอัลบั้มเพลงแรป อย่าคาดหวังอะไรทั้งนั้น อย่ากดข้ามเพลง อย่าให้สิ่งใดมารบกวน อย่าเล่นโทรศัพท์มือถือ อย่าคุยกับใคร อย่าดูทีวี จงตั้งใจฟังให้ดี ตั้งใจฟังความเห็นความคิด ตั้งใจฟังความรู้สึกของคุณที่มีต่ออัลบั้มนี้”

อัลบั้มนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี อย่าง “Eartquake” ซิงเกิลนำของอัลบั้มนี้ก็ไต่ไปถึงอันดับ 13 ของบิลบอร์ดชาร์ต แถมอัลบั้มนี้ยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ของปี 2020 ในสาขาอัลบั้มแรปจนได้รับรางวัลในที่สุด ขอแสดงความยินดีด้วย เย้ !!!

Play video

 

สามารถเข้าไปดูรายชื่อผู้เข้าชิงและผู้ชนะในสาขาอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมที่ Grammy Awards 62nd

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส