ท่ามกลางกระแสข่าวลือจากสื่อต่างประเทศถึงอาการป่วยจนถึงขึ้นอาจจะเป็นเจ้าชายนิทราหรือเสียชีวิตไปแล้วของผู้นำสูงสุดประเทศเกาหลีเหนืออย่าง “คิม จอง-อึน” ก่อนที่ Moon Chung-in ที่ปรึกษาพิเศษด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกมายืนยันสวนกระแสถึงสถานะของผู้นำ คิม จอง-อึน ว่า ยังคงมีชีวิตอยู่อย่างปกติดี โดยได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า คิมอาศัยอยู่ในเมืองวอนซาน เมืองตากอากาศบนชายฝั่งตะวันออกของประเทศตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นความจริงทั้งหมดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่อาจยังไม่รู้จักคนตระกูลคิมทั้งสามรุ่นที่เปรียบดังเสาหลักของประเทศเกาหลีเหนือ โอกาสนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะรู้จักพวกเขา

Play video

จัตุรัสคิม อิล-ซ็อง ในกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ ที่มีภาพของอดีตสองผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ

จัตุรัสคิม อิล-ซ็อง ในกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ ที่มีภาพของอดีตสองผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ

คิม อิล-ซ็อง (1912-1994)

เริ่มจาก “คิม อิล-ซ็อง” ที่ลูกชายและคนเกาหลีเหนือขนานนามว่า “ประธานาธิบดีตลอดกาล” เขาเป็นผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1949 ถึงปี 1972 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1972 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ปี 1994 ดำรงตำแหน่งอยู่ในอำนาจในฐานะผู้นำของประเทศเกาหลีเหนือทั้งสองตำแหน่งเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี คิม อิล-ซ็องนิยมการบริหารประเทศในแบบของ “โจเซฟ สตาลิน” ผู้นำของสหภาพโซเวียตจนเริ่มการสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) ของเขาเองขึ้นมา เริ่มมีการเรียกคิม อิล-ซ็อง ว่า “ท่านผู้นำ” (Great Leader) และสร้างรูปปั้นเสมือนของคิม อิล-ซ็องปรากฎให้เห็นทั่วประเทศ

คิม อิล-ซ็อง ผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือที่ปกครองประเทศมานานถึง 45 ปี

คิม อิล-ซ็อง ผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือที่ปกครองประเทศมานานถึง 45 ปี

คิม อิล-ซ็อง ประสบข่าวลือก่อนจะเสียชีวิตเช่นเดียวกับหลานชาย ในยุคนั้นปรากฎว่าเขาป่วยเป็นเนื้องอกขนาดเท่าลูกเทนนิสบริเวณต้นคอด้านหลัง ซึ่งปรากฎให้เห็นในภาพข่าวของต่างประเทศโดยทั่วไป แต่ภาพข่าวภายในเกาหลีเหนือจะต้องถ่ายแบบไม่ให้เห็นภาพเนื้องอกของประธานาธิบดีตลอดกาลโดยเด็ดขาด แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตในปี 1994 แต่ว่าข่าวลือการเสียชีวิตของเขามีมาตั้งแต่ยุค 80s แต่ไม่ใช่เพราะอาการป่วย แต่เพราะมีการปล่อยข่าวว่าเขาเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร หลังจากมีรายงานข่าวเรื่องนี้ไปทั่วโลก 2 วัน คิม อิล-ซ็อง ก็ปรากฎตัวที่สนามบินเปียงยางก่อนจะเดินทางไปยังประเทศมองโกเลีย

คิม อิล-ซ็องป่วยเป็นเนื้องอกขนาดเท่าลูกเทนนิสบริเวณต้นคอด้านหลัง

คิม อิล-ซ็องป่วยเป็นเนื้องอกขนาดเท่าลูกเทนนิสบริเวณต้นคอด้านหลัง

คิม อิล-ซ็องผู้พ่อ และคิม จอง-อิล

คิม อิล-ซ็องผู้พ่อ และคิม จอง-อิล

คิม อิล-ซ็อง หมายมั่นที่จะให้บุตรชายคนโต “คิม จ็อง-อิล” เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำของพรรคแรงงานแห่งเกาหลีต่อไป โดยในปี 1964 คิม จ็อง-อิล ได้รับการแต่งตั้งเข้าทำงานในแผนกจัดระเบียบและวางแนวทาง (Organization and Guidance Department) ของพรรคอันเป็นตำแหน่งปูทางให้เขาขึ้นสู่อำนาจโดยเฉพาะ เขาเติบโตทางการเมืองเรื่อยมาจนปี 1991

คิม จ็อง-อิล ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพประชาชนเกาหลี เตรียมสืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดา จนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1994 ประธานาธิบดีคิม อิล-ซ็อง แห่งเกาหลีเหนือ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเมื่ออายุ 82 ปี หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของคิม อิล-ซ็อง ผ่านไปแล้วกว่า 34 ชั่วโมง รัฐบาลเกาหลีเหนือจึงประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรม ชาวเกาหลีเหนือเข้าร่วมพิธีศพของประธานาธิบดีคิม อิล-ซ็อง กว่าหนึ่งพันคนในวันที่ 17 กรกฎาคม

รูปปั้นขนาดยักษ์ของคิม อิล-ซ็อง และคิม จอง-อึน

รูปปั้นขนาดยักษ์ของคิม อิล-ซ็อง และคิม จอง-อึน

คิม จ็อง-อิล (1942-2011)

หลังจากนั้น คิม จ็อง-อิลใช้เวลา 3 ปีในการรวมอำนาจแก้ไขรัฐธรมนูญในปี1998 ในทางพฤตินัย คิม จ็อง-อิลดำเนินการควบคุมเด็ดขาดเหนือรัฐบาลและประเทศ แม้คิมจะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อรักษาตำแหน่ง เขาได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ไปทำหน้าที่ในสภาประชาชนสูงสุดทุกห้าปี เขายังถูกขนานนามว่า “บิดาที่รัก” “บิดาของเรา” “นายพล” และ “จอมทัพ” ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากเชื่อว่าเขามีความสามารถในการใช้เวทมนตร์ควบคุมลมฟ้าอากาศตามอารมณ์ของเขา

คิม จอง-อิล

คิม จอง-อิล “บิดาที่รัก” ของชาวเกาหลีเหนือ

คิม จ็อง-อิล ครองอำนาจอยู่ 17 ปีก่อนจะเสียชีวิตตามข้อมูลที่ทางการของประเทศเกาหลีเหนือออกมาประกาศเมื่อปี 2011 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เขาขึ้นชื่อเรื่องดื่มหนัก สูบบุหรี่จัด และกินอาหารที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนแม้จะสูงอายุแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็มีความเชื่อว่าอาจมีทฤษฎีสมคบคิดออกมาบิดเบือนความจริงว่า เขาอาจจะเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว ศาสตราจารย์โทะชิมิซึ ชิเงะมุระ แห่งมหาวิทยาลัยวะเซะดะ กล่าวในหนังสือพิมพ์ชูคัง เง็นไดของประเทศญี่ปุ่นว่า คิม จ็อง-อิล นั้นอาจถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วตั้งแต่ปี 2003 เพราะโรคเบาหวาน แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือจัดตัวแทนขึ้นมาสวมรอย โดยสังเกตได้จากลักษณะการกล่าวสุนทรพจน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของคิม จ็อง-อิล

ในเวลานั้นผู้นำทหารระดับสูงขึ้นมามีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น ส่งผลให้นโยบายที่ผ่อนปรนของนายคิม จ็อง-อิลต่อโลกตะวันตกมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ และเขาเคยหายตัวไปจากสื่อ 2 สัปดาห์ในปี 2007 และปรากฎตัวกลับมาในรูปลักษณ์ที่ผอมลงและทรงผมที่ตัดสั้นลงไปมาก คาดว่าเกิดจากการเข้ารับการรักษาโรคหัวใจ

คิม จอง-อิล ตอนยังมีชีวิตอยู่กับลูกชายผู้สืบทอดอำนจของเขา คิม จอง-อึน

คิม จอง-อิล ตอนยังมีชีวิตอยู่กับลูกชายผู้สืบทอดอำนจของเขา คิม จอง-อึน

ในเดือนสิงหาคม ปี 2008 หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ได้รับรายงานว่านายคิม จ็อง-อิล ล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 รัฐบาลเกาหลีเหนือได้เผยแพร่ภาพผู้นำของตนขณะกำลังตรวจกองทัพเพื่อสยบข่าวลือการป่วยของคิม จ็อง-อิล แม้ว่านานาชาติจะตั้งข้อกังขาถึงความเท็จจริงของรูปเหล่านั้น สำหรับผู้สืบทอดอำนาจนั้น คิม จ็อง-อิล ไม่โปรดปราน “คิม จ็อง-นัม” บุตรชายคนโต ในเดือนมิถุนายน ปี 2009 มีการรายงานว่าคิม จ็อง-อิล เลือกบุตรชายคนรอง (ในจำนวน 3 คน คนสุดท้องเป็นผู้หญิง) คือ คิม จ็อง-อึน ให้เป็นทายาทปกครองเกาหลีเหนือต่อไป

คิม จอง-อึน และคิม จอง-อึล ผู้พ่อ

คิม จอง-อึน และคิม จอง-อึล ผู้พ่อ

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 นายคิม จ็อง-อิล เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ  และอีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม ปี 2010 พร้อมกับบุตรชาย คิม จ็อง-อึน ทำให้นานาชาติมั่นใจว่าคิม จ็อง-อึน คือผู้สืบทอดของคิม จ็อง-อิล จนกระทั่งมีการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ในเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2011 ว่า คิม จ็อง-อิล ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อสองวันก่อน (17 ธันวาคม) ด้วยสาเหตุทำงานมากเกินไป จนทำให้ทั้งทางร่างกายและจิตใจรับไม่ไหว

คิม จ็อง-อึน (1984-?)

ได้รับการประกาศเป็นผู้นำสูงสุดอย่างเป็นทางการหลังรัฐพิธีศพบิดา คิม จ็อง-อิล โดยเขาเป็นบุตรคนสุดท้องจากทั้งหมดสามคนของคิม จ็อง-อิล กับโค ยง-ฮี การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของคิม จ็อง-อึน เป็นทางการก็เมื่อเจ้าหน้าที่พรรครัฐสภา และรัฐบาลระดับสูงประชุมกันเพื่อยืนยันการแต่งตั้งเขาเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีและประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของพรรค วันที่ 30 ธันวาคม ปี 2011 โปลิตบูโรของพรรคแรงงานเกาหลีแต่งตั้งคิมเป็นผู้บัญชาการสูงสุด

ประธานาธิบดี Donald Trump และ คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กับภาพเมื่อปี 2019 ที่ชาวโลกไม่นึกว่าพวกเขาจะได้เจอกันในที่สุด

ประธานาธิบดี Donald Trump และ คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กับภาพเมื่อปี 2019 ที่ชาวโลกไม่นึกว่าพวกเขาจะได้เจอกันในที่สุด

ผู้ยิ่งใหญ่ที่จุติจากสวรรค์

ผู้ยิ่งใหญ่ที่จุติจากสวรรค์

ลัทธิบูชาบุคคลในยุคสมัยของคิม จ็อง-อึน ได้ถูกส่งเสริมขึ้นทันทีหลังการถึงแก่อสัญกรรมของคิม จ็อง-อิล คิม จ็อง-อึนได้รับการสรรเสริญว่าเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติจูเช เป็นผู้นำอันโดดเด่นของพรรค กองทัพและประชาชน เขาถูกขนานนามว่าเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่ที่จุติจากสวรรค์” ซึ่งเป็นรูปแบบคำชวนเชื่อด้วยการโฆษณาซึ่งเคยใช้มาแล้วในยุคบิดาและปู่ของเขา

รายงานข่าวล่าสุดจากสำนักข่าว The Sun ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 29 เมษายน (เมื่อวานนี้) อ้างถึงการให้สัมภาณ์ของ “แท ยอง-โฮ” อดีตเจ้าหน้าที่การทูตชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์มาอยู่ประเทศฝั่งเกาหลีใต้ ไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนการที่เขาให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง CNN ก่อนหน้านี้ที่บอกว่าคิม จอง อึน ยืนหรือเดินไม่ได้ โดยเขาได้กล่าวเพียงแค่ว่า  คิม จอง อึน มีปัญหาสุขภาพจากน้ำหนักตัวที่มากเกินเพราะมีน้ำหนักถึง 127 กิโลกรัม ซึ่งรู้กันดีว่า คิม จอง อึน วัย 36 ปี มีวิถีการใช้ชีวิตที่ทำร้ายสุขภาพตัวเองไม่ต่างจากผู้พ่อ

คิม โย-จอง น้องสาวของคิม จอง-อึน มือขวาที่อาจจะได้ขึ้นครองอำนาจแทนหากพี่ชายเสียชีวิต

คิม โย-จอง น้องสาวของคิม จอง-อึน มือขวาที่อาจจะได้ขึ้นครองอำนาจแทนหากพี่ชายเสียชีวิต

คิม โย-จอง น้องสาวของคิม จอง-อึน มือขวาที่อาจจะได้ขึ้นครองอำนาจแทนหากพี่ชายเสียชีวิต

คิม โย-จอง น้องสาวของคิม จอง-อึน

คิม โย-จอง น้องสาวของคิม จอง-อึน มือขวาที่อาจจะได้ขึ้นครองอำนาจแทนหากพี่ชายเสียชีวิต

คิม โย-จอง น้องสาวของคิม จอง-อึน

สำหรับคำถามที่ว่า หากคิม จ็อง-อึน เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (เทียบกับปู่และพ่อของเขา) ขึ้นมาจริง ๆ แล้วใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อ เนื่องจากลูกทั้งสามคน (ชาวโลกรู้แค่ว่าลูกชายคนโต อายุ 10 ขวบของเขาเป็นผู้ชาย ส่วนลูกอีก 2 คนไม่มีใครนอกจากผู้ใกล้ชิดของคิม จ็อง-อึน รู้ว่าเป็นเพศอะไร) สื่อต่างประเทศจึงจับจ้องไปที่ “คิม โย-จอง” น้องสาวของคิม จ็อง-อึน (อายุของเธอไม่ถูกเปิดเผย) เธอถูกวางตัวให้สืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ

แต่ตามธรรมเนียม “ลัทธิขงจื้อ” ซึ่งฝังรากลึกในสังคมเกาหลีเหนือ ทำให้ชาวเกาหลีเหนือยึดถือเรื่องลำดับชั้น และ สังคม “ชายเป็นใหญ่” เมื่อผสมเข้ากับระบอบการปกครองแบบเผด็จการเลยยิ่งทำให้ผู้หญิงมีสถานะไม่ต่างจากทาสรับใช้ และอาจทำให้เธอไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงคนแรกของเกาหลีเหนือได้ ทำให้คิม โย-จอง อาจจะอยู่ในสถานะของผู้สำเร็จราชการแทน รอลูกของนายคิม จ็อง-อึน โตขึ้นมาก่อน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส