หลังจากที่ได้ประกาศว่าอาจเลื่อนออกไปจัดในเดือนมิถุนายน 2020 หรือต้นเดือนกรกฎาคม 2020 แทน แต่ท้ายที่สุด เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ครั้งที่ 73 ประจำปี 2020 ซึ่งเดิมทีมีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 12 – 23 พฤษภาคม 2020 ก็ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากวิกฤติไวรัส COVID-19

เป็นที่ทราบกันดีว่า เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นั้น มีเสน่ห์น่าหลงใหล และเปี่ยมไปด้วยความล้ำค่าเชิงศิลปะที่น่าศึกษา ซึ่งเย้ายวนใจผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลก ที่ฝันอยากจะนำภาพยนตร์ของตนมาฉายในงานเทศกาลนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต

ทั้งนี้ The New York Times จึงได้รวบรวมเอาความทรงจำจาก 23 ผู้สร้างภาพยนตร์ระดับโลก ที่เคยสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษนี้มาแล้ว

1. Alejandro González Iñárritu (อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญญาร์ริตู)

ภาพยนตร์ Babel ของเขา ได้เข้าฉายในปี 2006 และคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และ Critics’ Week

Alejandro González Iñárritu
Alejandro González Iñárritu (ภาพจาก Invision/Associated Press โดย Jordan Strauss)

ผมได้มีโอกาสไปงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งแรก เพื่อฉาย “Amores Perros” (2000) ซึ่งเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์คร้้งแรกในชีวิตผมด้วย แต่เนื่องจากเรามีงบจำกัด จึงต้องพักในเมืองที่ห่าง คานส์ ออกไป 25 นาที เพราะว่าราคาห้องพักถูกกว่ามาก

วันแรก ผมได้รับเชิญไปถ่ายภาพร่วมกับผู้กำกับคนอื่น ก่อนที่จะเริ่มฉายภาพยนตร์ใหม่ของ Wong Kar-wai (หว่อง ก๊า ไหว่) เรื่อง In the Mood for Love ในเวลา 19.00 น.

Maria ภรรยาของผม และตัวผม คิดว่านั่งแท็กซีไปตอนเวลา 18.15 น. ก็น่าจะทัน แต่เราไม่ทราบมาก่อนว่าแท็กซี่จะถูกจองหมด เราจึงไม่มีทางเลือกนอกจาก “วิ่ง” ไปทั้งชุดทักซิโด้ และชุดเดรสยาวที่ภรรยาผมสวมใส่

เรามาถึงงานตอนเวลา 19.01 น. ผมสวมเสื้อแจ็กเก็ตที่ผมถอดออกระหว่างวิ่งกลับตามเดิม ผมรู้สึกว่าตัวชุ่มไปด้วยเหงื่อ แต่ผมก็ยังยิ้มให้กับแฟลช และเสียงเชียร์รอบข้าง

สำหรับผู้สร้างภาพยนตร์แล้วนั้น นี่คือประสบการณ์ของการได้เข้ามาในสถานที่ระดับตำนาน (หมายถึง Palais Des Festivals ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์) และได้ชมภาพยนตร์ In the Mood For Love บนจอที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเราถึง 40 เท่า

หนังจากนั้น ผมและภรรยาได้เดินไปด้วยกันอย่างเงียบ ๆ เกือบ 10 นาที เราพลันหยุดเดินเมื่อมาถึงทะเล แล้วเธอจึงสวมกอดและร้องไห้โฮบนไหล่ผม …ผมก็เช่นเดียวกัน

“In the Mood for Love” ทิ่มแทงลึกลงไปในใจจนเราพูดไม่ออก นั่นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมระลึกถึงว่าทำไมผมจึงอยากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ แม้บางครั้งมันจะดูเป็นสิ่งที่โง่และยากเข็ญก็ตาม

  • ปล. In the Mood for Love ชนะเลิศรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และ Technical Grand Prize อีกทั้งยังได้เข้าชิงรางวัล Palme d’Or (รางวัลปาล์มทอง เป็นรางวัลสูงสุดในการประกวดภาพยนตร์ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์) ในปีนั้น

2. Alice Rohrwacher (อลิซ โรห์วเชอร์)

ภาพยนตร์ “Happy as Lazzaro” (2018) และ “The Wonders” (2014) ได้ฉายเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

Alice Rohrwacher
Alice Rohrwacher (ภาพจาก cineuropa.org)

คานส์ ได้เปลี่ยนชีวิตของฉันไป มันทำให้ฉันได้ชมภาพยนตร์ที่ช่วยให้สติปัญญาฉันเปิดกว้างขึ้น และทำให้ฉันเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัว ระหว่างที่ฉันกำลังเขียนอยู่นี้ ฉันก็ได้ยินเสียงเพื่อนบ้านของฉันที่ชื่อ Carlo ตะโกนเรียกอยู่นอกหน้าต่าง

ฉันไม่เคยเสวนากับ Carlo Tarmati ผู้ซึ่งทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก มาก่อน เพราะเขาเป็นคู่แค้นกับพ่อฉัน บ้านของฉันกับ Carlo ตั้งอยู่ติดกันที่เนินเขา และเมื่อพ่อฉันกับ Carlo ตะโกนด่าทอใส่กัน เสียงนั้นจะดังก้องไปทั่วทั้งป่า

ตอนที่ฉันเริ่มคัดตัวนักแสดงเรื่อง “The Wonders” นั้น Carlo ก็มารับการออดิชันด้วย ฉันอายมากเพราะเขาเป็นคนที่บ้านฉันเกลียด แต่เขาก็มีพรสวรรค์ด้านการแสดงเอามาก ๆ

ในขณะที่เราทำงานด้วยกัน เราก็ได้รู้จักกันมากขึ้น และเมื่อภาพยนตร์ของเราได้รับเลือกให้ไปฉายที่คานส์ ก็ทำให้ฉันวิตกมาก ฉันอยากจะพา Carlo ไปงานนี้ แต่ก็ต้องพาครอบครัวฉันไปด้วย

ฉันยังจำวันเดินพรมแดงของภาพยนตร์ “The Wonders” ได้ มีน้องสาวของฉัน Alba ได้กุมมือฉันไว้ พร้อมด้วยเด็กเล็ก ๆ 4 คน จากภาพยนตร์, พ่อและแม่ของฉัน, ลูกสาวของฉัน, สุดยอดนักแสดงสาว Monica Bellucci (โมนีกา เบลลุชชี) และที่เหลือเชื่อที่สุดก็คือ Carlo

ฉันเฝ้ามองดูพ่อด้วยความกังวลอย่างไม่วางตา และในระหว่างที่ฉายภาพยนตร์นั้นเอง Carlo และพ่อฉัน ก็มองเห็นตัวเองในภาพยนตร์แล้วจึงหัวเราะและร้องไห้ไปด้วยกัน พวกเขารักผลงานที่ได้ทำร่วมกัน จากนั้นที่งานเลี้ยงหลังฉายภาพยนตร์จบแล้ว พวกเขาก็พูดคุยหยอกล้อกัน และไม่กี่วันต่อมา พวกเขาก็กลายเป็นคู่หูกันไปเสียแล้ว

พวกเขาไม่ได้ตะโกนด่าทอจนเสียงดังก้องไปทั่วทั้งป่าอีกต่อไป พวกเขาทักทายกันฉันมิตรแทน โดยในช่วงกักตัวและอยู่ที่บ้านในชานเมืองนี้ พ่อกับแม่ฉันได้เจอแต่ Carlo Tarmati แล้วพวกเขาก็ได้ทำฟาร์มด้วยกัน พวกเขารักษามิตรภาพซึ่งกันและกัน และโทรหากันทุกคืนก่อนนอน

นี่คือหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ คานส์ ได้เปลี่ยนชีวิตฉันไป

3. Benny Safdie (เบ็นนี่ แซฟดี้)

ภาพยนตร์ “Good Time” ที่เขากำกับร่วมกับ Josh น้องชายของเขา ได้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อปี 2017

Cannes 2020
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ Jean-Marie Beulaygue ถ่ายรูปคู่กับ Benny Safdie เมื่อปี 2008

มันเป็นช่วงปี 2008 ซึ่งภาพยนตร์ขนาดสั้นของผมได้ฉายในสาย Directors Fortnight ที่คานส์ ตอนนั้นผมกำลังรีบ และเพื่อนผมก็อาสาจะขับสกูตเตอร์ไปส่งผม แต่ผมไม่มีหมวกกันน็อก และต้องซ้อนท้ายเป็นคนที่ 3 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฏหมายที่คานส์ ผมจึงตัดสินใจนั่งด้วยเป็นระยะทางสั้น ๆ และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้จอดจนได้ ซึ่งพวกเขาบอกให้ผมไปจ่ายค่าปรับที่สถานีตำรวจกลาง

ที่นั่น หัวหน้าเจ้าหน้าที่ นามว่า Jean-Marie Beulaygue ต้องการพบผม นั่นทำให้ผมงุนงงมาก Jean-Marie ได้เดินเข้ามาในห้องพักและหากาแฟให้ผมดื่ม ผมตกใจและถามว่าทำไม เขาตอบอย่างตื่นเต้นว่า “เพราะคุณเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ไง”

มันกลับกลายเป็นว่า เขามางานประกวด Fortnight และพยายามชมภาพยนตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และแน่นอนว่าเมืองคานส์ก็เปรียบเสมือนลานบุฟเฟต์สำหรับชมภาพยนตร์ของหัวหน้าตำรวจผู้นี้

หลังจากที่ได้กล่าวลากันไป Jean-Marie ยืนกรานให้ผมกลับมาทักทายถ้าหากได้กลับมาเมืองนี้อีกครั้ง ผมหัวเราะและตอบตกลงไป และแน่นอนว่าผมไม่เคยคิดจะกลับไปอีกเลย

ผมเซอร์ไพรส์มากที่ได้มาที่คานส์ (พร้อมกับน้องชาย) ในปีถัดมา ซึ่งมันยิ่งเป็นอะไรที่บ้ามากกว่าเดิม โดยในตอนที่เรากำลังวิ่งจากงานประชุมหนึ่งไปอีกงานหนึ่ง ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสก็โทรมาหาผมด้วยน้ำเสียงเร่งร้อนว่า “มีตำรวจ 2 นาย มาตามหาคุณที่บ้าน” ผมบอกไปว่าให้ใจเย็น และจากนั้นผมก็ต้องเดินทางไปที่สถานนีตำรวจ

ที่นั่น Jean-Marie ก็ได้เดินเข้ามาหา พร้อมยิ้มกว้าง และทักทาย “ยินดีต้อนรับ”

ข้ามมาในปี 2017 ผมและ Josh ได้กลับมาที่คานส์อีกครั้ง แต่ในคราวนี้เป็นสายการประกวดหลัก ผมไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนมาหาผมอีก ดังนั้นผมจึงเดินทางตรงไปที่สถานีตำรวจเพื่อกล่าวทักทายเพื่อนผมคนนี้ แต่น่าประหลาดใจมากที่ไม่มีใครรู้จักเขาเลย แม้ว่าผมจะเอารูปให้พวกเขาดูก็ตาม

ผมเริ่มสงสัยว่าผมมีความผิดปกติอะไรในความทรงจำของผมหรือเปล่า และเมื่อเริ่มที่จะคิดหาคำตอบไม่ออก ผมก็ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งตะโกนเรียกผมจากสำนักงานใหญ่ของ Fortnight เขาคือ Jean-Marie นั่นเอง

เขาได้เกษียณจากกรมตำรวจเมื่อหลายปีก่อน และได้ทำงานให้กับเทศกาลภาพยนตร์นี้ เขาลากผมเข้าไปในอาคารและยิ้มกว้าง “เห็นไหม เราได้รู้จักกันแล้ว”

กลับกลายเป็นว่า ตลอดระยะเวลาหลายปี เขาได้เล่าเรื่องเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นให้พวกเจ้าหน้าที่ฟัง แต่ไม่มีใครเชื่อเขา และนี่คือภาพที่เราถ่ายคู่กันในปี 2008

4. Josh Safdie (จอช แซฟดี้)

Josh Safdie
Josh Safdie และ Benny Safdie

แด่พ่อของเรา (ผู้ซึ่งเกิดในอิตาลี และเติบโตในฝรั่งเศส) งานเทศกาลนี้เปรียบเสมือนสิ่งแทนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่ตอนเราเป็นเด็ก เราต้องคอยฟังเสียงพ่อตะโกนว่า “มีหนังฉายเทศกาลเมืองคานส์ มันเป็นหนังคลาสสิก” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า คานส์ได้เข้ามาอยู่ในความคิดของเรามาโดยตลอด

ในปี 2008 ผมได้ไปทุกงานเลี้ยง และเรา (หมายถึงพ่อของผมด้วย) ไปชมภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยตั๋วที่ได้มา ในปีต่อมา (2009) ผมไม่สามารถไปได้ และนั่นทำให้พ่อของผมผิดหวังมาก และเมื่อเรากลับมาในอีก 8 ปีต่อมา สิ่งที่แน่นอนคือ เขาจะไม่มากวนใจเราระหว่างเดินทาง เขาจะบอกเราแค่ว่า “พ่อจะอยู่ตรงนั้นนะ ไม่ต้องห่วงพ่อ”

หลังจากที่มีเหตุกลุ่มผู้ก่อการร้าย Isis การรักษาความปลอดภัยก็มีความเข้มงวดอย่างมาก ก่อนที่จะเริ่มงานเดินพรมแดง เจ้าหน้าที่ย้ำเราเกี่ยวกับกฏและระเบียบ พวกเขาบอกว่าตำรวจจะเข้มงวดกับงานเดินพรมแดงมากกว่างานชุมนุมทางการเมืองเสียอีก แต่อย่างไรเสีย พ่อก็แอบเจ้าหน้าที่ตำรวจออกไปได้อยู่ดี เขาไปหาที่บนสุดของบันไดเพื่อเขาจะดูภาพยนตร์อย่างเงียบ ๆ ได้

5. Wes Anderson (เวส แอนเดอร์สัน)

ภาพยนตร์ “Moonrise Kingdom” ของเขา ได้ฉายที่คานส์ เมื่อปี 2012

Wes Anderson
Wes Anderson (ภาพจาก wmagazine.com)

คุณมีความทรงจำอันดี หรือเกร็ดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ คานส์ ไหม ?

ผมเคยไปแค่ครั้งเดียว ตอนที่ประกวด Moonrise Kingdom ซึ่ง Thierry Frémaux (เธียร์รี เฟรโมซ์) ผู้อำนวยการเทศกาล รู้วิธีการดำเนินงานเป็นอย่างดี ที่นั่นมีภาพยนตร์ดี ๆ ทุกแนวจากทั่วทุกมุมโลก และอะไรจะดีไปกว่าได้ชม Once Upon a Time in America ฉบับรีมาสเตอร์ ความยาว 251 นาที ที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ของเมืองคานส์

ผมพาลูกสาววัย 4 ขวบ ไปด้วย และทำให้ผมกลายเป็นคุณครูยามจำเป็นตามเคย ผมต้องคอยอ่านหนังสือให้ฟัง ทั้งเกี่ยวกับอียิปต์โบราณ, ไดโนเสาร์, แมลง, ป่าฝนแอมะซอน และหนังสือเกี่ยวกับโรคระบาด

เราชมภาพยนตร์กันทุกคืน และภาพยนตร์โปรดก็คือ Alice Adams, Beat the Devil, Nothing Sacred, Do the Right Thing, The Long Voyage Home, A Story From Chikamatsu, La Grande Bouffe, The Passionate Friends, Station Six-Sahara, What Price Hollywood และ Winter Kills

6. Clint Eastwood (คลินต์ อีสต์วูด)

ผู้สร้างภาพยนตร์ที่มางานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นประจำ โดยภาพยนตร์ 5 เรื่อง ของเขาได้เข้าชิง และตัวเขาเองก็ได้รับรางวัล ผู้ประสบความสำเร็จตลอดอาชีพการทำงาน Palme d’Or ในปี 2009

clint eastwood
Clint Eastwood ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 70 ปี 2017 (ภาพจาก apnews.com)

ผมเคยไปงานเทศกาลนี้มา 2 – 3 ครั้ง และไปครั้งสุดท้ายเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งฉาย Unforgiven ฉลองครบ 25 ปี มันเป็นเรื่องดีมากที่มีผู้ชมรุ่นใหม่มาชมภาพยนตร์เก่า ๆ กัน

มันเป็นเรื่องน่าสนใจมากในครั้งแรกที่คุณไปเทศกาลนี้ (เขาไปพร้อมกับภาพยนตร์ Pale Rider เมื่อปี 1985) เพราะจะมีการเตรียมงานหลาย ๆ อย่าง รอบตัวคุณ, ผู้คน และทุกอย่าง จะต้องพร้อมสรรพ เมื่องานดำเนินไป คุณจะรู้สึกว่ามันง่าย และจะไม่ตึงเครียดกับมันมาก และคุณจะต้องตอบคำถามกับนักข่าวมากมายเลยทีเดียว

7. Jia Zhangke (เจียจางเค่อ)

อีกหนึ่งผู้กำกับที่มางานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นประจำ โดยผลงานอย่าง “A Touch of Sin” (2013), “Ash Is Purest White” (2018) และอีกหลาย ๆ เรื่อง ได้ฉายในเทศกาลนี้

Jia Zhangke
Jia Zhangke (ภาพจาก chinafilminsider.com)

ผมได้รับเชิญไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันของเทศกาลเมื่อปี 2013 ตอนนั้นผมพูดภาษาอังกฤษได้แย่มาก ผมไปปรากฏตัวและคิดว่าอาจจะปลีกตัวออกไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อผมไปถึงงาน ผมได้เห็น Thierry Frémaux ยืนอยู่กับ Ang Lee (อังลี) และชายคนหนึ่งที่นั่งรถเข็น ผมเดินเข้าไปทักทาย จากกนั้นออกมาสูบบุหรี่ข้างนอก

ไม่นาน ผู้ช่วยของ Ang Lee ก็มาตามตัวผม จากนั้น Ang Lee ก็กล่าวกับผมว่า ชายบนรถเข็นอยากคุยกับคุณหน่อย “คุณ Bertolucci อยากคุยกับคุณ” (หมายถึง Bernardo Bertolucci: เบอร์นาโด แบร์โตลุคชี่ ผู้กำกับระดับตำนาน เจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Last Emperor เมื่อปี 1987)

ผมตะโกนออกไปว่า “ไม่ได้ล้อกันเล่นนะ” ดวงตาผมเบิกกว้าง “Old B เนี่ยนะ”

ตอนที่ Bernardo Bertolucci ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ The Last Emperor ในประเทศจีน เมื่อปี 1987 นั้น พวกผู้สร้างภาพยนตร์ชาวจีนจะเรียกเขาว่า Old B ซึ่งในภาษาจีนมีความหมายว่าเขาเป็นพวกเดียวกับเรา

Bertolucci ได้จับมือผม และเริ่มคุย โดยที่ Ang Lee เป็นผู้แปลให้ผมฟังว่า “นี่ผมไม่เคยดู Useless เลยหรือนี่ มันเป็นหนึ่งในผลงานของคุณที่ผมยังไม่เคยดู” ผมรู้สึกปลื้มปิติที่เขาให้ความสำคัญกับผม และมันสร้างแรงบันดาลใจในทุก ๆ ทางเลยก็ว่าได้

ในปี 2008 ผมได้พบกับผู้กำกับ Abbas Kiarostami ที่งานแถลงข่าว “24 City” และในปี 2015 ก็ได้พบกับ Agnès Varda (อาเญส วาร์ดา) ในการถ่ายภาพหมู่ “Mountains May Depart”

ตอนนี้ ผู้กำกับทั้ง 3 คน ได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่ที่คานส์ พวกเขายังคงส่งต่อความมุ่งมั่น และความอบอุ่น ต่อผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ต่อไป

8. Michael Moore (ไมเคิล มัวร์)

สารคดีของเขาเรื่อง “Fahrenheit 9/11” ได้รับรางวัล Palme d’Or ในปี 2004

michael moore
Michael Moore (ภาพจาก wikimedia.org)

ในปี 2004 สารคดี Fahrenheit 9/11 ของผมชนะรางวัล Palme d’O และสิ่งที่วิเศษสุดที่เกิดขึ้นในคืนนั้นก็คือ Quentin Tarantino (เควนติน ทารันติโน) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน เป็นคนมอบรางวัลนี้แก่ผมบนเวที เขาได้โน้มตัวลงมาและกล่าวว่า “ผมอยากบอกอะไรคุณสักหน่อย ซึ่งผมยังไม่เคยบอกใคร ผมไม่เคยไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลย จริง ๆ แล้วผมไม่เคยลงทะเบียนที่จะไปลงคะแนนด้วยซ้ำ แต่เมื่อผมได้ชมสารคดีของคุณในสัปดาห์นี้ ผมตัดสินใจว่าเมื่อกลับไปถึงลอสแอนเจลิส ผมจะไปลงทะเบียน และจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปีนี้แน่นอน”

ผมได้ตอบไปว่า “ที่คุณบอกผมนี่มันน่าปลื้มใจมาก ถ้าหากมีคนล้านคนพูดเช่นนี้ และมีคนล้านคนตัดสินใจไปลงคะแนนเสียง มันจะมีค่าต่อผมมากกว่ารางวัล Palme d’Or หรือรางวัลใด ๆ เสียอีก นั่นคือรางวัลที่แท้จริง”

9. Kleber Mendonça Filho (เอลเบ เมนดอนซา ฟิลฮ์)

ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวบราซิเลียน ได้เป็นนักวิจารณ์ในงานนี้มาหลายปี และมีผลงานได้เข้าร่วมประกวด อย่าง “Bacurau” (2019) และ “Aquarius” (2016)

Kleber Mendonça Filho
Kleber Mendonça Filho (ภาพจาก atarde.uol.com.br)

ที่ผมจำได้ก็ …

  • เสียงดังอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นั่ง ในโรงภาพยนตร์ Debussy หรือ Lumiere
  • การฉายรอบพิเศษของ “The Leopard” ในปี 2010 ผมได้นั่งที่นั่งด้านหลังนักแสดงอย่าง Alain Delon (อแลง เดอลอง) และ Claudia Cardinale (คลอเดีย คาร์ดินาล) เนื่องจากมีตราอนุญาต มันเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุดมากสำหรับผมที่คานส์
  • ผู้ชมยืนปรบมือแสดงความชื่นชมให้กับภาพยนตร์ “Aquarius” และ “Bacurau” มันเป็นโมเมนต์สุดวิเศษเฉพาะที่คานส์ และไม่มีที่ใดเหมือน

10. Abel Ferrara (อาเบล เฟอร์รารา)

ภาพยนตร์ของเขาเรื่อง “Bad Lieutenant” (1992), “Body Snatchers” (1993) และ “The Blackout” (1997) ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

Abel Ferrara
Abel Ferrara ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 72 (ภาพจาก neweurope.eu)

ในคืนที่ฉายรอบพรีเมียร์ของ Body Snatchers นั้น ผมจัดแจงเรื่องเวลาเป็นอย่างดี ว่าจะเดิน 5 นาที จากโรงแรมไปที่ Palais แต่ผมกลับหาเน็กไทไม่เจอ ผมกระวนกระวายมาก แต่แล้วฝ่ายประชาสัมพันธ์ก็ได้บอกกับผมว่า “คุณเป็นผู้กำกับ คุณไม่ต้องผูกเน็กไทก็ได้” แล้วผมก็เกิดไอเดียบรรเจิดขึ้นมา ผมโทรหาบริกรบอกว่าผมต้องการโบว์ไทแบบติดคอเสื้อของเขา และจะให้เงิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเขาได้ปฏิเสธ แต่เมื่อให้ไปอีก 50 ฟรังก์ ผมก็ได้โบว์ไทมาใช้จนถึงเที่ยงคืน แล้วเราก็ได้ไปงานเดินพรมแดงตรงเวลา 5 นาทีเป๊ะ

ต่อมา ในการฉาย The Blackout ผมก็มีเวลาว่างค่อนข้างมาก และมานั่งคอยนักแสดง ผมได้ยินเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์คุยต่อเนื่องผ่านโทรศัพท์ว่า “โอเค Béatrice (หมายถึง Béatrice Dalle) ยังอยู่ในห้องน้ำ, โอเค เธอยังไม่ยอมออกมา, Claudia (หมายถึง Claudia Schiffer: คลาวเดีย ชิฟเฟอร์) ใส่รองเท้าสักที, เธอถอดรองเท้านั่นออกอีก”

45 นาทีต่อมา นักแสดงทั้ง 2 คน ก็มาถึง และไม่มีใครเอ่ยอะไรถึง Béatrice หรือ Claudia เลย จากนั้นทั้ง 2 คน ก็ก้าวเดินบนพรมแดง แล้วแสงแฟลชก็พรั่งพรูมาที่พวกเธอราวกับเป็นแสงไฟจากทั้งโลก

11. James Gray (เจมส์ เกรย์)

เขาเคยมีผลงานที่เข้าร่วมประกวด นั่นคือ “The Yards” (2000)

James Gray
James Gray ใน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 66 ปี 2013 (ภาพจาก AP)

ความสัมพันธ์ของผมกับเทศกาลภาพยนตร์นี้ค่อนข้างประหลาด ผู้จัดงานนี้ดีกับผมมาก คณะกรรมการคัดสรรทุกคนก็ดีกับผมเช่นกัน แต่สิ่งที่พวกเขาแสดงออกมาต่อภาพยนตร์ของผมนั้นกลับดูแปลกออกไป เพราะพวกเขาดูไม่จริงจัง, พวกเขาเกลียดมัน และมักจะแสดงอาการเบื่อหน่าย

ผมกล่าวว่า “ทำไมผมต้องมาที่นี่? นี่มันเป็นอะไรที่งี่เง่ามาก” ผมคิดว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ฉายในงานนี้จะไม่ชนะรางวัลใด ๆ แต่ผมไม่ได้ไปงานนี้เพื่อคว้ารางวัลอะไร ผมชนะรางวัลของตัวผมเองไปแล้วเมื่อภาพยนตร์ของผมได้ฉายที่คานส์ เป็นครั้งแรก

12. Chloë Sevigny (โคลอี เซเวอนี)

นักแสดงหญิงที่เคยมาเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์หลายครั้ง และผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดสั้นของเธอก็ได้รับรางวัล Critic’s Week

Chloë Sevigny
Chloë Sevigny (ภาพจาก screendaily.com)

ครั้งแรกฉันไปคานส์ กับภาพยนตร์ “Trees Lounge” (1996) ซึ่งกำกับโดย Steve Buscemi (สตีฟ บูเซมี) ฉันจำตอนที่นั่งเครื่องไปได้ จำได้ว่าอยู่กับผู้อำนวยการสร้าง Chris และ Roberta Hanley จากนั้นกระเป๋าเดินทางฉันก็หาย (จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นที่คานส์ เนื่องจากกระเป๋าสักใบหนึ่งของทุกคนมักจะหายไป) และฉันจำได้ว่าต้องยืมของใช้จาก Roberta

จากนั้นเราได้เดินทางไปพักที่โรงแรม Hotel du Cap ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่ดูประหลาด ฉันยังจำได้อีกว่าได้ไปถ่ายภาพในสุสานสัตว์เลี้ยง แล้วฉันกับ Roberta ก็ค่อย ๆ เดินออกมาอย่างช้า ๆ แล้วรู้สึกเหมือนกับว่า เราอยู่ที่ไหนกันนี่

13. Jean-Pierre Dardenne และ

14. Luc Dardenne

2 พี่น้องผู้กำกับมีผลงานฉายที่คานส์ ไม่ว่าจะเป็น “Rosetta” (1999) และ “Two Days, One Night” (2014)

Jean-Pierre and luc Dardenne
Jean-Pierre Dardenne และ Luc Dardenne (ภาพจาก festival-cannes.com โดย Christine Plenus )

เดือนพฤษภาคมปีนี้จะมีบางสิ่งที่ผู้รักภาพยนตร์จะไม่ได้เห็นมัน สำหรับเราแล้วมันเป็นการสูญเสียเลยก็ว่าได้ เพราะคานส์เป็นบ้านหลังที่ 2 ของเรา และต้อนรับภาพยนตร์ของเราเสมอ เราหวังว่าจะได้กลับไปในปีหน้า โดยที่มี Spike Lee (สไปก์ ลี) เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน (จริง ๆ ต้องเป็นปีนี้)

ในระหว่างที่รอนี้ เรารู้สึกว่าควรใช้การที่ต้องหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ในการสะท้อนผลงานของเราออกมาเป็นภาพยนตร์ และการดำเนินไปของสังคม

15. Olivier Assayas (โอลิเวียร์ อัสซายาส)

ผลงานของเขาเรื่อง “Personal Shopper” (2016) และ “Clouds of Sils Maria” (2014) ได้ฉายที่คานส์

 Olivier Assayas
Olivier Assayas ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 67 ปี 2014 (ภาพจาก afp.com)

ผมไปที่คานส์ครั้งแรกเมื่อปี 1977 กับเพื่อนของผม Laurent Perrin ซึ่งเป็นนักสร้างภาพยนตร์ เราไปพักที่บ้านเล็ก ๆ ของแม่เขา ซึ่งห่างจากคานส์ออกไป 20 ไมล์ เรามักจะโบกรถไปตอนเช้าและกลับมาตอนดึกมาก ๆ ผมจำได้ว่าได้เห็น Fassbinder (หมายถึง Rainer Werner Fassbinder ผู้สร้างภาพยนตร์) ในชุดหนังเต็มยศ อยู่ที่คาเฟ่ Le Petit Carlton

16. Christophe Honoré (คริสตอฟ ออนอเร)

เขามีผลงานที่ได้ฉายที่คานส์ เรื่อง “Sorry Angel” (2018)

Christophe Honoré
Christophe Honoré (ภาพจาก newsbeezer.com)

ผมเกิดในเดือนเมษายน โดยในช่วงนี้ของปี ทั่วทั้งกรุงปารีสจะเริ่มพูดคุยถึงภาพยนตร์ที่จะได้รับเลือกให้มาฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สำหรับผมแล้วนั้น ช่วงฤดูใบไม้ผลิมักจะเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์อยู่เสมอ ผมสูญเสียวัยเยาว์ไปกับการชมภาพยนตร์ต่าง ๆ ในโรงภาพยนตร์ เมื่อผมเติบโตขึ้นมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ ผมก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการที่ภาพยนตร์ของผมได้รับคัดเลือกให้มาฉายที่คานส์

17. Debra Granik (เดบรา กรานิก)

ภาพยนตร์ของเธอเรื่อง “Leave No Trace” ได้ฉายในสายประกวด Directors Fortnight เมื่อปี 2018

Debra Granik
Debra Granik (ภาพจาก telegraph.co.uk)

ในกำหนดการไปคานส์ จำนวน 3 วันของฉันนั้น คำกล่าวที่ว่า “Sound Check” เป็นคำสำคัญสำหรับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่จะฉายที่คานส์ ซึ่งผู้คนมากมายเดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ เพื่อมาชมมัน

คำว่า “Sound Check” เป็นการเน้นให้แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาด แต่มันตรงกันข้ามกันเลย …เราจะทำให้มันสมบูรณ์แบบได้มากขนาดไหนกัน

ช่างเทคนิค 4 คน เดินมาหาฉันที่โรงภาพยนตร์ เราลองเดากันว่าควรจะปรับ Volume ในระดับไหน เริ่มแรกเราลองที่ Dolby 6.8 จากนั้นลองฟังเสียงทั้งหมด ทั้งฉากเสียงดังและเงียบ ซึ่งฟังแล้วดีมาก แต่พวกเขาก็บอกว่าเราควรฟังที่ 6.7 จากนั้นก็ตามด้วย 6.9 และ 7.0

ตอนนี้ฉันเริ่มหงุดหงิดที่เราต้องมาเสียเวลาตั้งค่า Volume ของภาพยนตร์เพียงแค่เรื่องเดียวอยู่เป็นเวลานาน และจริง ๆ ฉันน่าจะหมดความอดทนและคิดว่าจะทำให้มันเสร็จ ๆ ไป แต่ฉันกลับมองเห็นว่าช่าง 4 คน ที่ทุ่มเทเวลาเพื่อปรับเสียงออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ฉันจึงนั่งเอนกายบนเก้าอี้ในโรงภาพยนตร์ที่แสนจะสบาย และรับรู้ความเป็นจริงว่าตอนนี้ฉันอยู่ที่คานส์แล้วนะ

18. Hirokazu Kore-eda (ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ)

เขามีผลงานที่ได้ฉายที่ คานส์ ไม่ว่าจะเป็น “Distance” (2001) และ “Shoplifters” (2018)

Hirokazu Kore-eda
Hirokazu Kore-eda (ภาพจาก observatoriodocinema.uol.com.br)

ผมจำตอนเดินพรมแดงครั้งแรกได้เสมอ มันเป็นช่วงปี 2001 และผมอายุ 38 ปี ตอนนั้นผมรู้สึกเพียงแค่ภาคภูมิใจ และสัมผัสได้ถึงความสำเร็จ

แต่ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้ผมตะลึงได้มากกว่านั้น ก็คือการได้สัมผัสกับโรงภาพยนตร์ที่กว้างมาก และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย ผมรู้สึกมีความสุข และเหมือนไหลไปกับสายน้ำอันสวยงามของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ผมรู้สึกได้ว่าเชื่อมโยงถึงโลกใบนี้ นอกเหนือจากความรู้สึกเปลี่ยวเหงาในตอนที่ผมสร้างภาพยนตร์

นั่นคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปีนั้น

19. Mohammad Rasoulof (โมฮัมมัด ราซูลอฟ)

ภาพยนตร์ของเขาอย่าง “Manuscripts Don’t Burn” (2013) และ “A Man of Integrity” (2017) ได้ฉายในสายประกวด Un Certain Regard ที่คานส์

Mohammad Rasoulof
Mohammad Rasoulof (ภาพจาก iranhumanrights.org)

หนึ่งวันก่อนที่ Manuscripts Don’t Burn จะฉาย ผมพักอยู่ที่ฝั่งทะเลของคานส์ ผมรีบเร่งวิ่งมาที่โรงภาพยนตร์เพราะมีคนเรียกหาผม เขาคือ Kaveh Farnam ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งเรายังไม่เคยได้พบกันจริง ๆ สักที

ในวันต่อมาตอนที่ภาพยนตร์ฉายจบลง ผมก็พบเขาอีก เขาขอให้ผมติดต่อเขาถ้าหากผมจะสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่

สองปีต่อมา ผมได้ติดต่อไปหาเขา และอยากจะสร้าง A Man of Integrity เราจึงได้สร้างภาพยนตร์ร่วมกัน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผมกับ Kaveh Farnam ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน โดย A Man of Integrity ของเรา ได้รับรางวัล Un Certain Regard Award จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 70 และ “There Is No Evil” ของเรา ก็ได้รางวัล Golden Bear (รางวัลสูงสุด) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 70 ด้วย

การร่วมงานกันอย่างยอดเยี่ยมของเรานั้น เป็นผลมาจากการที่เราได้พบกันที่คานส์

20. Asif Kapadia (อาซิฟ คาปาเดีย)

ผลงาน 2 เรื่องของเขา ได้ฉายในเทศกาลนี้ รวมถึงสารคดี Amy Winehouse สุดโด่งดัง เมื่อปี 2015

Asif Kapadia
Asif Kapadia (ภาพจาก AFP Photo)

ถ้าคุณโชคดี คุณก็จะได้มีโมเมนต์อันน่าจดจำที่ คานส์ สำหรับผมก็คือสารคดี Amy Winehouse ที่ทำให้ผมได้เริ่มผจญภัยอย่างน่าอัศจรรย์ มันเป็นการฉายรอบดึกซึ่งจบประมาณตี 3 แล้วคำวิจารณ์ก็ออกมาดีมากจริง ๆ

สำหรับผมแล้ว สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ นี่เป็นเทศกาลของภาพยนตร์จริง ๆ มันเต็มไปด้วยผู้ชมมากมายที่ต่อคิวยื่นตั๋วเข้าชม ผมได้มาอยู่ในประเทศที่เต็มไปด้วยผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์ และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมด้านศิลปะ ถ้าคุณชอบภาพยนตร์ คุณจะต้องอยากมาที่นี่แน่นอน และถ้าคุณโชคดีมากพอ คุณก็จะมีภาพยนตร์ได้ฉายที่นี่ด้วย

21. Arnaud Desplechin (อาร์โน เด-เปล-แชง)

ภาพยนตร์ของเขา 6 เรื่อง เคยเข้าประกวด รวมถึง “A Christmas Tale” เมื่อปี 2008

Arnaud Desplechin
Arnaud Desplechin (ภาพจาก AFP โดย Christophe Simon)

การพูดถึงคานส์ เป็นเรื่องยากสำหรับผมเสมอ ไม่ว่าผมจะเคยไปที่นั่นหลายครั้งหรือไม่ก็ตาม เรารู้ว่ามีการปฏิวัติการชมภาพยนตร์ครั้งใหญ่ โดย Thierry Frémaux (เธียร์รี เฟรโมซ์) ผู้อำนวยการเทศกาล เป็นคนที่ปฏิเสธจะฉายภาพยนตร์ที่สร้างโดย Netflix ในขณะที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสยอมรับว่า “Roma” เป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยม เรารู้ว่าจะเข้าไปอยู่ตรงกลางของวิกฤติโลกภาพยนตร์ และเชื้อไวรัสร้ายนี้จะบีบบังคับให้เราต้องหาทางแก้ไขทุกปัญหา

การที่ Roma ไม่ได้ฉายที่คานส์น่ะ มันเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะว่านี่คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี และมันควรคู่กับการฉายที่คานส์

22. Robert Eggers (โรเบิร์ต เอ็กเกอส์)

ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของเขา นั่นคือ “The Lighthouse” (2019) ได้ฉายในสายประกวด Directors’s Fortnight

Robert Eggers
Robert Eggers (ภาพจาก siff.net)

ประสบการณ์ทั้งหมดสำหรับผมนั้นมันสุดเหวี่ยงมาก เห็นได้ชัดว่าผมไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างที่คานส์ และ Rob (Robert Pattinson) และ Dafoe (Willem Dafoe) ที่เคยมาแล้วหลายครั้ง ได้บอกกับผมหลายเรื่อง ผมค่อนข้างตื่นเต้นมากจริง ๆ และต้องเข้าใจว่ามิได้มีเพียงแค่คนที่ยอมรับภาพยนตร์ของเรา แต่จะมีคนที่ไม่เข้าใจด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่เหลือเชื่อมาก

23. Claire Denis (แคลร์ เดนิส)

ภาพยนตร์ของเธอหลายเรื่อง ได้ฉายในเทศกาลนี้ รวมถึง “Chocolat” (1988)

Claire Denis
Claire Denis (qnewshub.com)

คานส์ สำหรับฉันในช่วงก่อนเกิดเชื้อไวรัสแพร่ระบาดนั้น คือ ช่วงที่อบอุ่นในฤดูใบไม้ผลิ ถึงแม้ว่าฉันจะไม่ได้ไปที่นั่น ฉันก็รู้รายชื่อภาพยนตร์ทั้งหมดที่เข้าร่วมประกวด ฉันคอยติดตามข่าว และอ่านบทความอยู่เสมอ

ตลอดเดือนพฤษภาคม ฉันจะรับรู้ความเป็นไปของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ตลอดเวลา

ข้อมูลอ้างอิง : The New York Times

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส